เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงคนที่ เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง ว่า การตั้งครรภ์ขณะที่คุณแม่เป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย ก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้หลายประการ เช่น
- คุณแม่อาจจะเกิดภาวะหัวใจวายได้ ในขณะที่ลูกในครรภ์ก็มักจะมีการเจริญเติบโตไม่ค่อยดี
- คุณแม่ที่เป็นโรคนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและอย่างระมัดระวังทั้งในขณะที่ตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด
ทั้งนี้ ชนิดของโรคหัวใจ มีมากมายหลายชนิด ทั้งชนิดที่เป็นความพิการมาตั้งแต่เกิด หรือเป็นโรคที่เกิดขึ้นในภายหลัง
โรคหัวใจกับการตั้งครรภ์
ปกติการตั้งครรภ์ก็ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงต่อการที่จะเจ็บท้องแล้วไม่ยอมคลอด ตกเลือดหลังคลอด เสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด ฯลฯ แต่ถ้ามีโรคหัวใจร่วมด้วยความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
โรคหัวใจมีผลต่อตัวแม่ท้อง
ขณะตั้งครรภ์ปริมาณเลือดในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มมากขึ้นถึงประมาณ 1 ลิตร เพื่อนำส่วนหนึ่งไปเลี้ยงลูก การเพิ่มปริมาณของเลือดเช่นนี้ในคุณแม่ที่ปกติจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ในคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง การที่ต้องแบกรับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสหัวใจวายและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น
โรคหัวใจมีผลต่อลูกในครรภ์
สำหรับลูกน้อยในครรภ์ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นทุกวัน ก็มีความต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผลดังกล่าวทำให้หัวใจของคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจแล้วท้องต้องพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกมากขึ้น ในคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง ประสิทธิภาพของหัวใจจะลดลง ทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกในท้องได้ไม่มากพอ ลูกของคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจจึงมักมีการเจริญเติบโตได้น้อยกว่า ลูกของคุณแม่ที่ปกติ ซึ่งผลดังกล่าวจึงมักทำให้ลูกของคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจคลอดออกมาตัวเล็กกว่าปกติ
ความรุนแรงของโรคหัวใจ เมื่อเป็นโรคหัวใจแล้วท้อง แบ่งเป็น 4 ระดับ
- เป็นโรคหัวใจแล้วท้องแต่ยังทำงานได้ตามปกติ
- เป็นโรคหัวใจแล้วท้องแต่ทำงานตามปกติแล้วเหนื่อย
- เป็นโรคหัวใจแล้วท้องแต่ทำงานเพียงเล็กน้อยก็เหนื่อย
- เป็นโรคหัวใจแล้วท้องแม้ไม่ทำงานอะไรก็ยังเหนื่อย กรณีนี้ถือว่าโรคเป็นรุนแรงที่สุด
เป็นโรคหัวใจแล้วท้องเลือกคลอดแบบไหน
วิธีดูแลคนที่เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง
- การดูแลแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจ คุณหมอจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเป็นราย ๆ ไปโดยมักจะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของโรคหัวใจที่เป็น และระดับความรุนแรงของโรคมาประกอบในการพิจารณาด้วยเสมอ
- ถ้าความรุนแรงของโรคไม่มากนัก คืออยู่ในระดับ 1-2 คุณหมอก็มักจะแนะนำให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ทำงานหนักหรือหักโหมมากเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารเค็ม (เพราะจะทำให้มีการดึงน้ำเข้ามาในหลอดเลือดมาก ทำหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น )
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ในสถานที่ที่คนมาก ๆ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เป็นต้น เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อหัวใจวายได้ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องรับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ในคุณแม่บางรายที่อาการของโรครุนแรงมาก เช่น อยู่ในระดับที่ 4 และเพิ่งจะตั้งครรภ์ไม่นานคุณหมอก็มักจะแนะนำให้ทำแท้ง เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป คุณแม่อาจเสียชีวิตจากหัวใจวายได้
เป็นโรคหัวใจแล้วท้องจะเลือกคลอดแบบไหนดี
- ระหว่างเจ็บครรภ์คลอด คุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจจะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้ง่ายจากอาการเหนื่อยอ่อน และจากความเจ็บปวด ดังนั้น สูติแพทย์จึงมักต้องให้ยาระงับปวดแก่คุณแม่ โดยอาจจะให้ด้วยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือโดยการฉีดเข้าสันหลังก็ได้ และเมื่อถึงเวลาเบ่งคลอดเพื่อจะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องเบ่งมาก สูติแพทย์ก็มักจะใช้เครื่องมือในการช่วยคลอด เช่น ใช้คีมช่วยคีบศีรษะลูกน้อยออกมา
- มีข้อน่าสังเกตว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจมักจะคลอดง่าย เนื่องจากเหตุผล 2 ประการคือ ประการแรกลูกมักจะตัวเล็ก และประการที่ 2 การที่เลือดในตัวคุณแม่มีการไหลเวียนไม่ค่อยดีจากหัวใจทำงานไม่ได้เต็มที่ จะทำให้เลือดไปคั่งอยู่ในบริเวณอุ้งเชิงกราน ผลดังกล่าวจะทำให้ปากมดลูกและปากช่องคลอดนุ่มมากและเปิดขยายได้ง่ายกว่าปกติ
- โดยปกติแล้วคุณหมอมักไม่ค่อยอยากที่จะผ่าตัดคลอด เพราะจะทำให้คุณแม่เสี่ยงหัวใจวายจากการเสียเลือดมากด้วยการผ่าตัด และจากการดมยาสลบได้ง่ายกว่าคุณแม่ปกติ คุณหมอจึงมักจะสงวนการผ่าคลอดไว้ทำเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่น ลูกหัวใจเต้นไม่ดี
วิธีดูแลแม่หลังคลอด
คุณแม่ซึ่งเป็นโรคหัวใจที่ผ่านการตั้งครรภ์และการคลอดมาแล้ว ก็มิได้หมายความว่าหลังคลอดแล้วจะปลอดภัยเสมอไป แม้จะคลอดแล้วคุณแม่ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายได้จากภาวะต่างๆ อีกหลายประการ เช่น
- หลังคลอดถ้าให้ลูกดูดนมแม่ การดูดนมจะมีการกระตุ้นทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อให้น้ำนมไหล ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะไปกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวด้วยในบางรายมดลูกมีการบีบรัดตัว จนคุณแม่รู้สึกเจ็บมากก็อาจส่งผลให้เกิดหัวใจวายได้
- คุณแม่บางรายแผลฝีเย็บมีการติดเชื้อหรือบางรายเต้านมมีการอักเสบ ผลดังกล่าวจะกระตุ้นให้หัวใจวายได้เช่นกัน ดังนั้น คุณแม่จึงต้องหมั่นคอยสังเกตอาการเจ็บมดลูก ดูแลเรื่องแผลฝีเย็บและเต้านมให้ดี หากรู้สึกผิดปกติต้องรีบบอกคุณหมอเพื่อการรักษาได้ทันท่วงที
ในกรณีที่เป็นการคลอดครั้งหลังและคุณแม่ต้องการทำหมัน ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้ดีก่อนรวมทั้งต้องเลือกให้ยาระงับความเจ็บปวดที่เหมาะสม มิฉะนั้นคุณแม่อาจเกิดหัวใจวายขณะทำหมันได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คุณหมอมักจะไม่อยากให้คนเป็นโรคหัวใจตั้งครรภ์ ถ้าเป็นขั้นรุนแรงมักจะไม่ให้ตั้งครรภ์เลย แต่ในกรณีที่เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง แต่อาการไม่รุนแรง ก็ต้องฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพราะคนที่เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง จะมีความเสี่ยงมากมาย ทั้งต่อตัวแม่ท้องและทารกในครรภ์
ที่มา :https://www.si.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ก่อนตั้งครรภ์ต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง เรื่องจำเป็นที่คนท้องต้องรู้
ทายเพศลูกแบบอียิปต์โบราณ ท้องนี้หญิงหรือชาย ดูได้จากอะไร?
ฝากครรภ์พิเศษ ต่างจาก ฝากครรภ์ธรรมดาอย่างไร ฝากครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้าง
เคล็ดลับ หลังคลอดทำอย่างไรให้สวย หุ่นเช้ง เอวคอด กลับมาสวยตอนยังไม่ท้อง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!