สุขภาพจิตเด็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันเด็กจำนวนมากถูกเลี้ยงดูมากับโทรศัพท์มือถือจนส่งผลเสียต่อพัฒนาการลูก งานวิจัยของประเทศอินเดียได้เผยว่าการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ตั้งแต่เด็กนั้น นอกจากจะส่งต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วย บทความนี้จะพามาดูว่าการ ให้ลูกเล่นมือถือก่อนวัย ส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กอย่างไร ไปดูกันค่ะ
ให้ลูกเล่นมือถือก่อนวัย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตจริงไหม
งานวิจัยจากประเทศอินเดียได้เผยว่า การให้ลูกเล่นมือถือก่อนวัยส่งผลต่อสุขภาพจิตตอนโตของลูกโดยตรง ผลสำรวจจากผู้ใหญ่ 27,969 คน ในประเทศอินเดียเผยว่า 74% ของผู้หญิงที่เล่นโทรศัพท์ตอน 6 ขวบ มีปัญหาด้านสุขภาพจิตตอนโตอย่างรุนแรง
ขณะที่ 52% ของผู้หญิงที่เล่นโทรศัพท์ตอน 15 ปีก็มีปัญหาสุขภาพจิตเช่นเดียวกัน ซึ่งดูเหมือนว่าเด็กผู้หญิงที่ติดโทรศัพท์นั้น จะได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงจะมีความกระตือรือร้นในการเข้าสังคมมากกว่า ในด้านของเด็กผู้ชายที่เล่นโทรศัพท์ตอน 10-14 ปีนั้น ก็มีปัญหาสุขภาพจิตตอนโตสูงถึง 83% นักวิจัยจึงสรุปได้ว่า อินเดียมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตขั้นรุนแรงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ในประเทศอินเดียเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อเด็กทั่วโลก เพราะการที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกใช้โทรศัพท์ตั้งแต่เด็ก ก็จะทำให้การเข้าสังคมของเด็กน้อยลง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และไม่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมได้ ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะซึมเศร้า ความรู้สึกโดดเดี่ยว การใช้สารเสพติด ปัญหาการฆ่าตัวตาย และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมาภายหลังเมื่อเด็กโตขึ้น
ควรให้ลูกดูโทรศัพท์ตอนไหน
ปัจจุบันการใช้โทรศัพท์มือถือมีการใช้งานแพร่หลายแทบทุกบ้าน เมื่อพ่อแม่ใช้มือถือก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลูกจะมองเห็นแล้วอยากใช้โทรศัพท์มือถือตาม และยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงสิ่งบันเทิงและให้ความรู้ได้ง่าย ๆ หากให้ลูกดูโทรศัพท์มากเกินไป ก็อาจทำให้เขาติดมือถือจนส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคมและพัฒนาการได้ ซึ่งอายุที่เหมาะสมสำหรับการให้ลูกใช้โทรศัพท์จะแตกต่างกันตามช่วงวัย
เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการและจินตนาการของเด็ก สำหรับเด็กที่อายุ 3-6 ปี คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือได้ไม่เกิน 30 นาที ส่วนเด็กที่อายุ 6 ขวบขึ้นไป ถือเป็นวัยที่เริ่มมีพัฒนาการและสามารถมีวิจารณญาณในการรับรู้ได้ แต่ถ้าปล่อยให้ลูกเล่นมือถือมากเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ สายตาเสีย เกิดโรคอ้วน และส่งผลต่อสุขภาพจิตตามมา เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การให้ลูกห่างจากหน้าจอมากย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขา คุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดเวลาในการเล่นโทรศัพท์ และไม่ควรใช้มือถือเพื่อให้ลูกหยุดนิ่งหรือหยุดร้องไห้ เพราะแม้ว่าจะช่วยให้ลูกหยุดงอแงก็จริง แต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ จนไม่สามารถจำกัดเวลาในการเล่นของเขาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกอายุเท่าไหร่ให้เล่นมือถือได้ ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดจอ?
ลูกติดโทรศัพท์ ทำไงดี
การแก้ปัญหาลูกติดโทรศัพท์อาจเป็นเรื่องที่ยาก เมื่อคุณพ่อคุณแม่เองต้องใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว และเพื่อน ๆ ของลูกเองก็มีโทรศัพท์เหมือนกัน สิ่งสำคัญที่ทำได้คือการพูดคุยกับลูกและจำกัดเวลาในการโทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันผลเสียที่อาจกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเมื่อเขาโตขึ้น ซึ่งวิธีในการแก้ปัญหาลูกติดหน้าจอนั้น มีดังนี้
- กำหนดเวลาในการเล่นโทรศัพท์มือถือตามแต่ละช่วงวัยที่เราได้กล่าวไปข้างต้น โดยอาจให้ลูกเล่นหลังจากทำกิจกรรมที่จำเป็นแล้ว เช่น การทำการบ้าน การทำงานบ้าน หรือการรับประทานอาหาร เป็นต้น
- มองหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกได้ทำ เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การพาลูกออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น หรือพาไปพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้ออกไปเรียนรู้นอกบ้าน และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับชีวิต
- เปิดโอกาสให้ลูกได้เข้าสังคม โดยอาจพาไปหาญาติ เช่น ลุงป้า ปู่ย่า ตายาย หรือพาไปเที่ยวกับเพื่อนที่โรงเรียน เช่น นัดเพื่อนลูกออกไปเที่ยวศูนย์วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้รู้จักพูดคุยและเข้าสังคม
- จำกัดเนื้อหาของการเล่นโทรศัพท์ลูก โดยอาจให้ลูกดูเนื้อหาที่มีประโยชน์ การ์ตูนที่มีความรู้หรือเหมาะสม เพื่อช่วยให้ลูกไม่ดูสิ่งที่ไร้สาระมากเกินไป พร้อมช่วยเสริมความรู้ให้แก่เด็ก ๆ ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ที่สุดของอันตราย! โทรศัพท์ระงับพัฒนาการเด็ก ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์
เทคนิคการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตแข็งแรง
แม้งานวิจัยจะเผยว่า การปล่อยให้ลูกเล่นมือถือก่อนวัยจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตตอนโต แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของลูกตอนเด็กอีกด้วย โดยอาจทำให้ลูกมีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น เก็บตัว ไม่เข้าสังคม และไม่ชอบออกกำลังกาย วันนี้เรามีเทคนิคการเลี้ยงลูกที่จะช่วยดูแลร่างกายและสุขภาพจิตของลูกให้เติบโตแข็งแรงมาฝากค่ะ
1. ควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือ
แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือของลูก โดยไม่ควรห้ามให้ลูกเล่นมือถือเลย แต่ใช้เวลาจำกัดในการเล่นแต่ละครั้งแทน และส่งเสริมการทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เพื่อช่วยให้ลูกได้ขยับร่างกายและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น นอกจากนี้ การเล่นคอมพิวเตอร์หรือการดูโทรทัศน์ก็ควรจำกัดเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นเด็กจะไปติดหน้าจออื่นแทนการเล่นมือถือ
2. ให้ลูกฟังเพลงหรือเล่นดนตรี
รู้หรือไม่ว่าดนตรีมีผลต่อสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก เพราะการฟังดนตรีจะทำให้สมองหลั่งสารโดพามีนออกมา ทำให้เด็กมีความสุขภาพ มีสมาธิและความจำดี รวมถึงยังช่วยลดความเครียดได้ ยิ่งถ้าให้ลูกได้เล่นเครื่องดนตรี ก็จะทำให้เขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่อยู่แต่กับหน้าจอมือถือเพียงอย่างเดียว และส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย
3. ปล่อยให้ลูกได้เล่นอิสระ
การเล่นอิสระ (Free Play) คือ การปล่อยให้ลูกได้เล่นด้วยตัวเองโดยไร้ขอบเขต มีเพียงคุณพ่อคุณแม่ที่ช่วยดูแลความปลอดภัยของลูกเท่านั้น เด็กสามารถกำหนดวิธีการเล่นด้วยตัวเอง เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้ นอกจากนี้ การให้อิสระการเล่นกับลูกจะช่วยให้เด็กมีความสุข เพลิดเพลิน และมีสุขภาพจิตที่ดีได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 วิธีแก้เด็กติดจอ ดูแลลูกอย่างไรไม่ให้ติดโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์
4. พาลูกไปออกกำลังกาย
การออกกำลังกายนอกจากจะดีต่อสุขภาพกายแล้ว ยังดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย เพราะเมื่อลูกได้ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุขออกมา ช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข และลดความเครียด คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปเล่นกีฬาต่าง ๆ ตามความชอบของเด็กได้ เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ ว่ายน้ำ เทนนิส และบาสเกตบอล เป็นต้น
5. ส่งเสริมโภชนาการที่ดี
รู้หรือไม่ว่าอาหารที่ดีก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตลูกได้ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยเพิ่มโดพามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) อาหารเหล่านี้ช่วยให้ลูกมีความสุข ไม่เครียด และป้องกันสมาธิสั้น โดยอาหารเหล่านี้มักพบได้บ่อยในช็อกโกแลต อัลมอนด์ ไข่ แซลมอน กล้วยหอม ผักใบเขียว และเมล็ดฟักทอง เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานเหล่านี้บ่อย ๆ เพื่อสุขภาพที่ดี
ทั้งนี้ ให้ลูกเล่นมือถือก่อนวัย ย่อมส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของลูก คุณพ่อคุณแม่จึงควรจำกัดเวลาเล่นโทรศัพท์ของเด็ก และส่งเสริมให้ลูกหันมาทำกิจกรรมอื่นแทน เพื่อช่วยให้ลูกได้มีพัฒนาการที่ดีและรู้จักการเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พ่อแม่ต้องระวัง เช็กพฤติกรรม “ลูกติดโทรศัพท์” ส่งผลสมาธิสั้น
เกมมือถือ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง? ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดเกม
ลูกเล่นโทรศัพท์จนตาอักเสบหวิดตาบอด เคยได้ยินมาไม่อยากเชื่อ จนลูกเป็น!
ที่มา : linkedin, siamglasses, enfababy, it24hrs
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!