สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็คือ การฝากครรภ์ค่ะ ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีสวัสดิการให้คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถ ฝากครรภ์ฟรี ได้เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวและส่งเสริมให้หญิงไทยตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ใครที่มีสิทธิฝากครรภ์ฟรีบ้าง และต้องดำเนินการอย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำมาฝากค่ะ
ฝากครรภ์ฟรี คืออะไร?
ฝากครรภ์ หรือบางคนก็เรียกกันว่าฝากท้อง ก็คือการเข้ารับการดูแลสุขภาพครรภ์ โดยว่าที่คุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้การ ฝากครรภ์ฟรี หรือ ฝากท้องฟรี คือสิทธิ์ที่รัฐมอบให้คุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่จำเป็นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถฝากครรภ์ได้ที่โรงพยาบาลรัฐ ศูนย์อนามัย คลินิกชุมชน หรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการตามสิทธิ์ที่มี เช่น บัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิ์ข้าราชการ
เมื่อฝากครรภ์ฟรี คุณแม่จะได้รับบริการตรวจสุขภาพ วัคซีน ยาเสริม และการคัดกรองโรคที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งช่วยให้ทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ฝากครรภ์ฟรีใช้สิทธิ์อะไรได้บ้าง?
สิทธิบัตรทอง ฝากครรภ์ฟรีไหม?
สิทธิบัตรทองคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งสิทธิบัตรทองคือ สิทธิพื้นฐานของคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิด ไปจนตลอดชีวิต สามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขด้านต่างๆ รวมถึง การฝากครรภ์ด้วย
ทั้งนี้ สิทธิบัตรทองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ครอบคลุมการดูแลสุขภาพแม่และลูกในครรภ์ ตั้งแต่ฝากครรภ์จนถึงคลอดบุตร โดยในการฝากครรภ์สิทธิจะครอบคลุมด้านต่างๆ คือ
- ฝากครรภ์ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)
- ตรวจปัสสาวะทุกครั้งที่รับบริการ
- ตรวจคัดกรองความเสี่ยง เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และธาลัสซีเมีย (สามีสามารถตรวจพร้อมกันได้)
- คัดกรองดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ (Quadruple test) ได้ทุกอายุของแม่
- สิทธิ์คลอดบุตรครอบคลุมทั้งการคลอดธรรมชาติและผ่าคลอด แต่หากเป็นการผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ผู้รับบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
นอกจากนี้ สิทธิบัตรทองยังมีบริการสุขภาพเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (สำหรับอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป)
- รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
- รับยาบำรุงธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน
- ยาต้านไวรัสเอชไอวี (กรณีพบการติดเชื้อ)
- ตรวจสุขภาพช่องปากและขัดทำความสะอาดฟัน
หลังคลอด คุณแม่ยังได้รับสิทธิ์คุมกำเนิด ประเมินสุขภาพจิต คัดกรองโรคซึมเศร้า และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก วางแผนครอบครัว และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยนะคะ อย่างไรก็ตาม สิทธิ์นี้ไม่ครอบคลุมการรักษาภาวะมีบุตรยาก การผสมเทียม และบริการที่เกินข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ค่ะ
เดิมสิทธิบัตรทอง 30 บาทกำหนดให้ประชาชนรักษาในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน หากไปรักษาหรือคลอดบุตรนอกพื้นที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง หรือขอใบส่งตัวก่อน แต่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา สปสช. ได้ปรับระบบให้ผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน และศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และหากย้ายหน่วยบริการสามารถใช้สิทธิ์ได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน

สิทธิประกันสังคม ฝากครรภ์ฟรีไหม?
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 สามารถรับสิทธิฝากครรภ์ รวมถึงคลอดบุตรได้ โดยการใช้สิทธิฝากครรภ์กับประกันสังคมนั้น เป็นการที่ผู้ประกันตนจะต้องสำรองจ่ายเงินก่อน แล้วสามารถนำใบเสร็จกับใบรับรองแพทย์มายื่นขอรับสิทธิผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมบนระบบ e-Self Service หรือที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศที่สะดวก และสามารถยื่นขอรับค่าตรวจ ค่าฝากครรภ์ได้โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตรก่อน หรือสามารถขอรับพร้อมกับการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรได้ด้วย บางกรณีอาจไม่ฟรี 100% เพราะยอดการเบิกของประกันสังคมในการฝากครรภ์นั้นจำกัดไว้เพียง 1,500 บาท แต่การฝากครรภ์โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนอาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านั้น สิทธิฝากครรภ์กับประกันสังคมจึงเป็นการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายบางส่วน มากกว่าออกให้ทั้งหมด
เงื่อนไขการขอรับสิทธิฝากครรภ์ประกันสังคม
- ต้องจ่ายประกันสังคมไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือน
- หากทั้งพ่อและแม่เป็นผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิ์เบิกค่าคลอดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่จำกัดจำนวนบุตรและครั้ง
- ค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,500 บาท ดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
นอกจากนี้ คุณแม่ที่มีสิทธิ์ประกันสังคมสามารถเบิกค่าคลอดบุตร แบบเหมาจ่าย 15,000 บาทต่อครั้ง (ต้องจ่ายประกันสังคมไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอด) พร้อม เงินสงเคราะห์หยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย สูงสุด 15,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 90 วัน จำกัดสิทธิ์เฉพาะบุตร 2 คนแรก หากเกิดภาวะแท้งบุตรและอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ สามารถเบิกค่าชดเชยกรณีแท้งบุตรได้
ฝากครรภ์ฟรี ปี 2568 ได้ที่ไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง
คุณแม่ที่ใช้สิทธิบัตรทอง สามารถตรวจสอบสิทธิรับบริการ ที่หน่วยบริการในระบบ สปสช. ที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ
- คุณแม่ใน กรุงเทพฯ สามารถจองคิวผ่านแอปฯ เป๋าตัง และเข้ารับบริการที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
- คุณแม่ใน ต่างจังหวัด สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการได้ทางเว็บไซต์ สปสช.
โดยเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน
- กรณีที่อยู่ไม่ตรงตามบัตรประจำตัวประชาชน ให้ใช้หนังสือรับรองการพักอาศัย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่แสดงว่าตนเองอาศัยอยู่จริง เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ สัญญาเช่าที่พัก ฯลฯ
- แบบคำร้องขอลงทะเบียน สามารถขอได้ ณ จุดรับลงทะเบียน ต่างจังหวัดที่ หน่วยบริการในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ สถานีอนามัยศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลของรัฐ / สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด / สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-12 สำหรับกทม. ติดต่อได้ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. / สำนักงานเขต 19 เขตของกรุงเทพฯ
- กรณีให้ผู้อื่นลงทะเบียนแทน ต้องเพิ่มหนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจด้วย

กรณีใช้สิทธิประกันสังคม สามารถฝากครรภ์ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคลินิก โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน เพราะผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วจึงนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลไปเบิกที่สำนักงานประกันสังคมภายหลัง โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- สำหรับผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอมีธนาคาร ดังนี้
1) พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน
2) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
4) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
6) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
7) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
สวัสดิการ ฝากครรภ์ฟรี เป็นสิทธิประโยชน์ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ให้สามารถเข้าถึงการดูแลที่จำเป็นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้สิทธิ อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดและเงื่อนไขของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อดำเนินการขอรับสิทธิได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น ป้องกันการเสียเวลาเพื่อที่คุณจะได้เตรียมตัวดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่
ที่มา: Rsa Thai , HealthSmile, สำนักการแพทย์, สนง.ประกันสังคม
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
12 วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง แพ้ท้อง ทำไงดี? ให้สุขภาพดีทั้งแม่และลูก
พ่อแม่ทำได้! กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ สร้างลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง
รวมแพ็กเกจคลอด ปี 2568 ค่าคลอดเหมาจ่าย รพ.เอกชน ในกรุงเทพฯ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!