บ่อยครั้งที่เด็กหลายคน มักมีอาการหมดสติ เป็นลม และหน้ามืดฟุบลงไป เวลาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรม จนคุณพ่อคุณแม่อดกังวลใจไม่ได้ว่า ลูกเป็นลม จะเป็นอันตรายไหม เพราะการที่เด็กเป็นลมนั้น บางทีอาจเป็นสัญญาณของโรคที่เป็นอันตรายได้ อย่าพึ่งกังวลใจไปนะคะ วันนี้ theAsianparent Thailand จะพาคุณพ่อคุณแม่มาดูกันว่า เด็กเป็นลม รับมือได้อย่างไร มีอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้บ้าง
ลูกเป็นลม เกิดจากอะไร
ลูกเป็นลมอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเด็กจะแข็งแรง มีสุขภาพดี แต่ก็สามารถเป็นลมได้ทุกเมื่อ โดยสาเหตุที่เด็กเป็นลม อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ : สาเหตุหลัก ๆ ที่เด็กเกิดอาการหน้ามืด เป็นลม มักเกิดจากการดื่มน้ำที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน ๆ อาจทำให้เด็กเกิดภาวะขาดน้ำจนส่งผลให้เกิดการหมดสตินั่นเอง นอกจากนี้ การดื่มน้ำที่ไม่เพียงพอยังส่งผลให้เลือด และความดันโลหิตลดลงอีกด้วย
- ยืนนิ่งนาน ๆ : เมื่อลูกยืนนิ่งนาน ๆ ก็อาจทำให้เลือดไปสะสมอยู่ที่ขา ทำให้เด็กสูญเสียแรงโน้มถ่วงจนเกิดอาการหมดสติ และหน้ามืดฟุบไปเอง
- สภาพอากาศที่ร้อนจัด : หากเด็กยืนอยู่ในที่ร้อน ๆ เป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดอาการเป็นลมได้ โดยเฉพาะการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อึดอัด และอากาศร้อน ก็ยิ่งส่งผลให้เด็กเป็นลมได้ง่ายขึ้น
- กลัวหรือตกใจอย่างรุนแรง : บ่อยครั้งที่เรามักเห็นได้ว่า การที่ลูกตกใจ หรือกลัวอย่างรุนแรง เช่น กลัวเลือดมาก ก็สามารถเป็นลมได้ เนื่องจากสมองส่วนที่ควบคุมความดันโลหิต อัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจทำงานไม่สัมพันธ์กันนั่นเอง
- หายใจเร็วเกินไป : นอกจากการกลัวหรือตกใจอย่างรุนแรงแล้ว การที่ลูกหายใจเร็วจนเกินไปก็สามารถทำให้เป็นลมได้ เพราะการที่ลูกหวาดกลัวจนเกินไป ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกหมดสติเองค่ะ
- กลั้นหายใจ : การที่ลูกกลั้นหายใจ ถือเป็นเรื่องที่ปกติสำหรับเด็กเล็ก เมื่อลูกเกิดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวก็อาจทำให้ลูกกลั้นหายใจ จนเกิดอาการเป็นลม หมดสติได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อลูกเป็นลมชัก โดยที่ไม่เคยชัก สัปหงกวูบเหมือนคนง่วง คล้ายเหม่อ นี่หรืออาการของโรค
อาการเมื่อ ลูกเป็นลม
อาการเมื่อลูกเป็นลมนั้น เด็กจะเกิดอาการหมดสติ หน้ามืด แขนขาไม่มีแรง และล้มฟุบลงไป แต่จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดยเมื่ออาการเป็นลมนั้น ระบบประสาทจะทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และเส้นเลือดดำที่ขาขยายตัว การสูบฉีดเลือดไปสมองน้อยลง ทำให้สมองขาดออกซิเจนชั่วขณะนั้น แต่เมื่อหัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ และเส้นเลือดดำที่ขาขยายกลับมาเป็นปกติ สมองก็จะกลับมาทำงานเหมือนเดิม เด็กก็จะฟื้นขึ้นมาได้เองนั่นเองค่ะ
ประเภทของอาการเป็นลม
อาการเป็นลมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ตามระดับความรุนแรง ดังต่อไปนี้
- เป็นลมหมดสติที่ไม่รุนแรง : อาการเป็นลม หมดสติอย่างไม่รุนแรง เป็นอาการแบบทั่วไปชั่วขณะ เกิดจากการทำงานของระบบประสาทหัวใจ และเส้นเลือดที่ขาทำงานได้ไม่สมดุลกัน
- เป็นลมหมดสติอย่างรุนแรง และเป็นอันตราย : อาการเป็นลมหมดสติอย่างรุนแรง ส่วนมากเกิดจากโรคหัวใจ ความผิดปกติของสมอง และความผิดปกติจากต่อมไร้ท่อ เป็นต้น เด็กที่เป็นลมหมดสติอย่างรุนแรง อาจฟื้นตัวได้ช้า และแสดงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ชัก เสียสติ แขนขาอ่อนแรง หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการชัก และ โรคลมชักในเด็ก ส่งผลอย่างไรกับสมองของลูก
ลูกเป็นลม อาจเป็นสัญญาณของโรคร้าย
บางครั้งการที่ลูกเป็นลม ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ร้ายแรงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรรู้จักโรคต่าง ๆ ที่อาจแฝงมากับอาการเป็นลม เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับโรคเหล่านี้ค่ะ
- โรคหัวใจทำงานผิดปกติจากกระแสไฟฟ้าที่หัวใจทำงานผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นพริ้ว หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือหัวใจผิดปกติ เป็นต้น หากลูกป่วยอาการดังกล่าวก็อาจส่งผลให้หมดสติ หรือเสียชีวิตได้
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เด็กที่มีลิ้นหัวใจตีบ หากออกกำลังกายมาก ๆ ก็จะทำให้เลือด และออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ จนทำให้เกิดลมชัก หรือเสียชีวิตเลยก็ได้
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ เด็กที่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ เวลาออกกำลังกาย จะทำให้หัวใจปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณสมอง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางผิดปกติ หากเด็กป่วยเป็นโรคนี้ อาจทำให้เวลาออกกำลังกาย หัวใจจะบีบตัวได้ไม่แรงพอ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นลม หรือถึงขั้นเสียชีวิต
- โรคสมอง เช่น โรคลมบ้าหมู อาจมีอาการชักร่วมด้วย หรือมีอาการอื่น ๆ แสดงหลังจากเป็นลม
- โรคทางต่อมไร้ท่อ หลัก ๆ ของโรคนี้มักจะมีน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้ผู้ป่วยมักหมดสตินั่นเอง
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเด็กหมดสติ
เมื่อลูกเกิดอาการเป็นลม หมดสติ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตกใจมากเกินไปนะคะ ควรรีบปฐมพยาบาลลูก ดังต่อไปนี้
- ให้เด็กนอนตะแคง และนอนบนพื้นราบ
- อย่าล้วงคอลูก หรือนำสิ่งแปลกปลอมเข้าคอเด็ก เพราะอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจลูก และทำให้ลูกเกิดอาการสำลักได้
- คลายเสื้อ ปลดกระดุม และนำสิ่งของที่รัดร่างกายลูกออก เพื่อทำให้ลูกหายใจสะดวกมากขึ้น
- ตรวจลมหายใจ และวัดชีพจรของลูก
- เรียกให้ลูกรู้สึกตัว
- พาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการดังต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปั๊มหัวใจ ทำ CPR ผายปอดที่ถูกต้อง เมื่อทารกหมดสติ ลูกหยุดหายใจ
วิธีป้องกันเด็กเป็นลม
หน้ามืด เป็นลม มักเกิดขึ้นบ่อยกับเด็ก ๆ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักวิธีการป้องกันเด็กเป็นลม ดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ : คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้ ควรให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และควรจำกัดปริมาณคาเฟอีน เพราะอาจทำให้เกิดอาการวูบหรือหมดสติได้
- พาลูกไปวัดความดันโลหิต : พาลูกไปตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ หากพบว่าความดันโลหิตของลูกต่ำกว่าปกติ อาจปรึกษากับแพทย์ เพื่อเข้ารับคำแนะนำในการรับประทานอาหาร
- ให้ลูกขยับร่างกายบ่อย ๆ เมื่อต้องนาน ๆ : พยายามให้ลูกยืดเส้นยืดสาย ขยับแขนขา หรืองอเอวเป็นบางครั้ง เมื่อต้องยืนอยู่นิ่งนาน ๆ เพราะหากลูกเกิดยืนนิ่งเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้ขาอ่อนแรง จนเกิดล้มฟุบหมดสติไปได้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการยืนอยู่ในที่ร้อนเป็นเวลานาน : การให้ลูกยืนอยู่กลางแดด หรือบริเวณที่แออัด อากาศร้อน อาจทำให้เป็นลมได้ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกจากแดด หรืออยู่ในที่มีผู้คนพลุกพล่านมาก ๆ นะคะ
เมื่อไหร่ควรพาลูกไปพบแพทย์
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าการที่ลูกเป็นลมนั้น เกิดจากสาเหตุใด มีอันตรายหรือไม่ ก็ควรพาลูกมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย เนื่องจากผู้ปกครองหลายคนมักคิดว่าการที่ลูกเป็นลมนั้น เกิดจากลมแดด ซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่เด็กบางคนหมดสตินั้น ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้ ทางที่ดี หากลูกเกิดอาการหมดสติ เป็นลม ก็ควรพาเขาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูสาเหตุ การรักษา และวิธีการป้องกันค่ะ
ลูกเป็นลม อาจเป็นอันตรายกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด เพื่อความปลอดภัยของลูก ผู้ปกครองควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนเสมอ เพราะอาจทำให้ลูกเกิดอาการหมดสติท่ามกลางอากาศร้อนได้ ทางที่ดี หากลูกเป็นลม ก็ควรพาเขาไปตรวจร่างกาย เพื่อตรวจดูสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมรับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกช็อก ลูกชัก ลูกมีอาการชักแบบไม่รู้ตัว ต้องทำอย่างไร
คนท้องหน้ามืด วูบบ่อย ปกติไหม? ทำอย่างไรดี ถึงจะหาย
ลูกหกล้ม หัวโน ดูแลอย่างไร ควรปล่อยให้ลูกลุกด้วยตัวเองดีไหม?
ที่มา : healthychildren, Phyathai, MED CMU
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!