บล็อคหลัง คลอดลูก คืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร คุณแม่หลายท่านมีความกังวลในเรื่องของผลข้างเคียงของการบล็อคหลังคลอดลูก หรือมีความกังวลใจในเรื่องของการบล็อคหลังคลอดลูกต่าง ๆ เรามาดูกันดีกว่าว่าการบล็อคหลังนั้นมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ระหว่างการดมยาสลบและการ บล็อคหลัง วิธีไหนดีกว่ากัน
บล็อคหลัง คืออะไร
การบล็อคหลัง หรือ Spinal block คือ การฉีดยาชาเข้าไปในช่องไขสันหลัง โดยคุณแม่ท้องจะต้องนอนตะแคง และขดตัว โดยมีลักษณะคล้ายกุ้ง เพื่อให้กระดูกสันหลังเปิดกว้างที่สุด ก่อนที่วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาเข้าไป โดยหลังจากบล็อคหลังแล้ว คุณแม่จะรู้สึกชาบริเวณส่วนล่างของร่างกายไปจนถึงบริเวณขาทั้งสองข้าง ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะนิยมใช้วิธี บล็อคหลังคลอดลูก เนื่องจากความเสี่ยงโดยรวมต่ำ
บล็อคหลังคลอดลูก มีข้อดีอย่างไร
- คุณแม่จะรู้สึกตัวตลอดเวลาที่คลอดลูก แต่ไม่มีความเจ็บปวด สามารถพูดคุยโต้ตอบ กับแพทย์ พยาบาล หรือคนรอบข้างได้
- คุณแม่สามารถได้ยินเสียงร้อง และเห็นหน้าของลูกน้อยทันที ที่คลอดออกมา ซึ่งเป็นความประทับใจ ที่คุณแม่ทุกคนอยากจะรับรู้ความรู้สึกของวินาทีแรกที่ลูกออกมาลืมตาดูโลก
- เจ็บแผลผ่าตัด น้อยกว่าการดมยาสลบ เนื่องจากฤทธิ์ของยาชาจะไปกดประสาท ทำให้คุณแม่ไม่เจ็บแผลในทันที
ข้อเสียและผลข้างเคียงของการบล็อคหลัง
- คุณแม่จะยังไม่สามารถขยับร่างกายส่วนล่างได้ จนกว่ายาชาจะหมดฤทธิ์ในอีก 2-4 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกรำคาญ หรือไม่สบายตัว
- มีอาการปัสสาวะ ไม่ออกในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ซึ่งแพทย์จะใช้การสวนสายปัสสาวะช่วย
- อาจมีอาการปวดเมื่อย ที่บริเวณหลังในช่วงวันแรกหลังคลอด
- หากคุณแม่บางท่าน มีอาการแพ้ยาชามาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และคันตามร่างกายร่วมด้วย ซึ่งในกรณีนี้ แพทย์จะสอบถามอาการเป็นระยะ ๆ คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ดมยาหรือบล็อกหลัง ข้อดีหรือผลร้ายที่แม่ท้องต้องรู้ก่อนคลอด
นอกจาก วิธีการบล็อคหลังแล้ว มีการระงับปวดโดยวิสัญญีแพทย์ สำหรับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องอีก 1 วิธี คือ การดมยาสลบ ซึ่งแต่ละวิธี ก็จะมีข้อเด่น ข้อด้อยต่างกัน แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป แต่โดยส่วนใหญ่สูติแพทย์ และวิสัญญีแพทย์มักนิยมใช้วิธีบล็อคหลังมากกว่า เนื่องด้วย มีความปลอดภัยสูง และยาที่ใช้ไม่กดการหายใจของเด็กทารกแรกเกิด ในขณะที่การดมยาสลบอาจมียาสลบส่งผ่านรกไปยังเด็กทารกในครรภ์ได้
การดมยาสลบคลอดลูก เป็นอย่างไร
การดมยาสลบ เป็นการฉีดยาสลบ เข้าไปในหลอดเลือดดำ และ ให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อทั่วร่างกายให้เป็นอัมพาต โดยวิสัญญีแพทย์อาจจะให้ยาแก้ปวด ยาดมสลบในรูปของไอระเหยร่วมด้วย จากนั้น จะมีการสอดท่อช่วยหายใจทางปาก เข้าไปในหลอดลม เพื่อช่วยการหายใจ ในระหว่างที่ทำการผ่าตัดคลอด จนเมื่อสิ้นสุดการผ่าตัด คุณแม่ก็จะค่อย ๆ ฟื้นและเริ่มหายใจได้เอง แพทย์จึงจะถอดท่อช่วยหายใจออก
ข้อดีของการดมยาสลบคลอดลูก
- คุณแม่ไม่ต้องรับรู้ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในห้องผ่าตัด เพราะจะไม่รู้สึกตัวเลยขณะที่แพทย์ทำการผ่าคลอด ซึ่งจะเหมาะสำหรับคุณแม่ที่กลัวการผ่าตัด
- แพทย์สามารถควบคุมการหายใจ และระบบไหลเวียนของคุณแม่ได้อย่างเหมาะสม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ่าคลอดแบบบล็อกหลังหรือดมยาสลบ แบบไหนดีกว่ากัน? บล็อกหลังหรือดมยาสลบ ข้อดี ข้อเสีย รู้ก่อนผ่าคลอด
ข้อเสียของการดมยาสลบคลอดลูก
- อาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ระคายคอ ไอ เสียงแหบ ซึ่งเป็นผลมาจากสอดใส่ท่อช่วยหายใจผ่านเข้าไปในหลอดลม อย่างไรก็ตาม อาการนี้อาจพบได้สำหรับบางราย และจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด
- ยาแก้ปวด และยาสลบ อาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เบลอ และมึนงง ในช่วงหลังจากผ่าตัดคลอด
- ปวดแผลมากกว่าการผ่าคลอดโดยการบล็อคหลัง เนื่องจากยาสลบจะไปกดสมองไม่ให้รับรู้ความเจ็บปวด แต่ระบบประสาท ไขสันหลังยังทำงานอยู่ ทำให้เมื่อหมดฤทธิ์ยาสลบจะรู้สึกปวดแผลมาก
- การดมยาสลบ อาจมียาสลบ ส่งผ่านรกไปยังเด็กทารกในครรภ์ได้ ทำให้ การประเมินหลังคลอดทำได้ช้ากว่าปกติ
อย่างไรก็ดี แพทย์จะทำ การประเมินสภาวะของคุณแม่ ว่าเหมาะสมที่จะบล็อคหลัง หรือดมยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติ โรคประจำตัว ความเร่งด่วนในการผ่าตัดคลอด เพียงแต่โดยทั่วไปจะนิยมบล็อคหลังมากกว่า เนื่องจากความเสี่ยงโดยรวมต่ำกว่าดมยาสลบ และคุณแม่มีสติอยู่ สามารถรับรู้เหตุการณ์ในห้องผ่าตัดได้ ได้ยินเสียงลูกร้อง ได้เห็นลูกตั้งแต่แรกคลอด
ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ บวกกับความชำนาญของแพทย์ ทำให้การบล็อคหลังผ่าคลอดนั้นมีความปลอดภัย และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คุณแม่สบายใจได้ และสำหรับคุณแม่ท่านใดที่มีประสบการณ์บล็อคหลังคลอดลูก หรือดมยาสลบคลอดลูก ก็สามารถเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์กับทางทีมงาน และผู้อ่านทางบ้าน ผ่านทางช่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้เลยนะครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รวมเมนูหลังคลอด บำรุงน้ำนม ลดน้ำหนัก พุงยุบ กินอะไรเพิ่มน้ำนม ให้ลูกได้รับสารอาหารเต็ม ๆ
ท้องแข็งแบบต่างๆ แยกอย่างไร แบบไหนลูกโก่งตัว แบบไหนมดลูกบีบ แบบไหนใกล้คลอด
เช็กด่วน 7 สัญญาณใกล้คลอด พร้อมเคล็ดลับดูแลร่างกายหลังคลอด แข็งแรงไว เบาใจเรื่องแผลเป็นจากการผ่าคลอด
ที่มา : Enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!