โรคยอดฮิตหน้าฝน นับเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนกังวลใจ เป็นเพราะว่าช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ลูกสามารถแสดงอาการป่วยได้ไว และบางคนก็อาจมีอาการที่หนัก สำหรับวันนี้ theAsianparent จะพาไปหาคำตอบกับโรคที่ลูกสามารถเป็นได้ โดยคุณหมอจูนจูน พญ.ณัฐพร ชุมคง กุมารเวชศาสตร์ จากแอปพลิเคชัน Good Doctor ในรายการ TAP Ambassador
แต่รู้หรือไม่คะ ว่าเมื่อครั้งอดีตมักมีความเชื่อโบราณที่มากับช่วงหน้าฝน ไม่ว่าจะเป็นไข้หรือไม่เป็น เพียงแค่โดนละอองฝนน้อยนิด พ่อแม่มักให้ลูกกินยาดักไว้ ตั้งแต่ยังไม่มีการแสดงอาการป่วยแต่อย่างใด โดยเรื่องนี้ไม่แนะนำให้ทำในเด็ก สิ่งที่ควรทำทันทีหลังจากที่โดนฝน ควรจะเป็นการเปลี่ยนเสื้อผ้า หรืออาบน้ำมากกว่า เพื่อที่จะไม่ให้เชื้อโรคเป็นต้นกำเนิดของการเกิดไข้หวัด ในช่วงฤดูฝนมักมีการระบาดของไวรัสทั้งหลายและแบคทีเรียบางชนิด แต่ว่าในเรื่องของการกินยาไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นยาประเภทไหนก็ไม่ควรค่ะ เพราะยาบรรเทาอาการเป็นยาถ้ากินไม่ถูกวิธี อาจส่งผลต่อตับหรือไตเด็กได้
โรคยอดฮิตหน้าฝน ที่ต้องระวัง
- โรค RSV : มักพบในการติดเชื้อของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบอาจจะมีอาการไข้สูงหอบเหนื่อย
- โรคไข้หวัดใหญ่ : ในแต่ละปีจะพบโรคระบาดที่แตกต่างกันไปแต่ละสายพันธุ์ในทุกปี
- โรคมือ เท้า ปาก : โรคที่ทำให้เด็กมีไข้สูง มักมีผื่นตามมือ เท้า ปาก หรือมีอาการคันตามร่างกาย
- โรคไข้เลือดออก : โรคไข้ระบาดที่มาจากยุงลาย พบได้ทุกปีและยังเป็นโรคที่น่ากังวลมาโดยตลอด
- โรคท้องร่วง : อาจจะมีการระบาดในเรื่องของทางเดินอาหาร ที่อาจจะมีอาการไข้ หรืออาเจียนร่วมด้วย
อาการเบื้องต้นของโรค RSV
โรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไอ เจ็บคอ น้ำมูก แต่ในช่วง 3-4 วันแรกอาจจะมีอาการไข้สูงได้ มีโอกาสที่จะทำให้เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี มีอาการหอบเหนื่อยหรือเสมหะได้ ต้องเฝ้าระวังกว่าไข้หวัดทั่วไป ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเพื่อป้องกันมาโดยเสมอตลอดกว่า 10 ปีทำให้การป้องกันเบื้องต้นก็คือการล้างมือเพราะเป็นโรคที่ติดต่อโดยการสัมผัสรวมไปถึงสารคัดหลั่งต่าง ๆ
สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคปอด โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เมื่อติดเชื้อ RSV อาจจะมีความน่ากังวลมากกว่าเด็กทั่วไปที่อาจจะเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงปอดทำให้หอบเหนื่อยได้มากกว่าเดิม
หากเด็กคนไหนที่เคยติดเชื้อ และได้รับการรักษาจนหายแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถเป็นซ้ำได้ ถึงแม้ว่าการติดเชื้อจะทำให้มีภูมิคุ้มกันในระยะที่ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะลดลงจนสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก นอกจากนั้นอาการแทรกซ้อนระหว่างเป็นก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากเด็กที่ระหว่างการรักษาเหมือนจะดีขึ้น แต่กลับมีอาการที่แย่ลง ต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ป้องกันภูมิแพ้ ตั้งแต่วัยทารกได้อย่างไร ภูมิแพ้เด็ก ดูแลดี ก็หายได้
อาการเบื้องต้นของโรคไข้หวัดใหญ่
ในการสังเกตโรคไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดทั่วไป สามารถสังเกตได้จากความไข้สูง ที่อาจวัดได้ถึง 39-40 องศา ในช่วง 2-3 วันแรกแต่ในขณะเดียวกันถ้าเกิดลูกเป็นไข้หวัดธรรมดาจะพบว่ามีอาการไข้ต่ำ ตัวรุม ๆ แต่อาการจำพวกเจ็บคอไอน้ำมูกเสมหะสามารถมีได้เหมือนกัน
อีกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดคืออาการปวดเมื่อตามตัวปวดหัวปวดกระบอกตาที่มักพบในไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าอีกทั้งยังพบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก
ในทางเดียวกันสำหรับพ่อแม่ที่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ลูก สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพียงแต่ในปีแรกของการฉีดต้องรับวัคซีนให้ครบทั้ง 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน และควรกระตุ้น 1 เข็มในทุกปี
อาการเบื้องต้นของโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก โรคนี้จะมีความแตกต่างกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ กับโรค RSV โดยโรคนี้เป็นโรคที่ติดเชื้อจากไวรัส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร เชื้ออาจจะแพร่กระจายจากการติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง
หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก บริเวณเพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ ในโรคนี้ที่น่าห่วงคือ หากเป็นการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ อาจจะต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงแทรกซ้อนที่เรียกว่า เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือปัญหาทางเดินประสาทได้
อาการเบื้องต้นของโรคท้องร่วง
จริงอยู่ที่ประเทศไทยเป็นประเทศร้อนชื้น ที่สามารถพบอาการท้องร่วงหรือถ่ายฉับพลันในหน้าร้อนเป็นส่วนมาก แต่ในช่วงหน้าฝนก็มีแบคทีเรียบางตัว ที่เจริญเติบโตได้ดี จนกลายเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพ ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ กลุ่มเสี่ยงอาจจะมีภาวะขาดน้ำรุนแรง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุจำเป็น
โดยเด็กที่ไม่เคยได้รับไวรัสป้องกัน อาจมีอาการเสี่ยงอย่างการถ่ายเหลวเกิน 3 ครั้งต่อวัน มีมูกเลือดปน มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเบ่ง ร่างกายอ่อนเพลีย ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะน้อยลง ที่น่าห่วงก็คือหากมีอาการดังกล่าวครบแล้วอาจจะมีภาวะช็อกหรือภาวะไตวายตามมาได้
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียหรือถ่ายต่อเนื่องจนรู้สึกเพลียไม่แนะนำให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ ในช่วงที่มีอาการถ่ายไม่หยุดควรทานเป็นน้ำชงเกลือแร่มากกว่าเพื่อเป็นการทดแทนน้ำเกลือแร่และน้ำตาลในร่างกายที่เสียไป
นอกจาก 5 โรคยอดฮิตช่วงหน้าฝนที่สามารถพบได้ในเด็กเล็ก ยังมีโรคอื่น ๆ ที่น่าห่วง เนื่องจากช่วงฤดูฝนอีกนะคะ แต่ทางดีที่ไม่ต้องแก้ไขหรือป้องกัน ควรดูแลลูกน้อยของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ หรือเลี่ยงการอยู่นอกบ้านในช่วงฝนตก ก็จะเป็นเรื่องที่ดีกว่าค่ะหากใครที่ต้องการรับฟังคำตอบของหมอจูนจูนแบบเต็ม ๆ สามารถเข้าไปรับชมต่อได้ที่ Facebook : theAsianparent Thailand ต่อได้เลยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คราบฟันเหลือง ปัญหาเริ่มต้นสำหรับสุขภาพช่องปาก พร้อมวิธีดูแลฟันลูกน้อย
ป้องกันภูมิแพ้ ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์
ความเครียดกับผู้หญิง เพราะผู้หญิงอย่างเราเป็นทุกอย่างก็เครียดนะ
ที่มา : facebooktheAsianparentTH
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!