ความเครียด (Stress) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันนี้พบว่า คนส่วนใหญ่มักมีอาการเครียดสะสม อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่ตึงเครียด บางรายมีความกดดันมาก และมีความคาดหวังในชีวิตสูงซึ่งพอไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้มีอาการเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ในบางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือ โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) ได้ในอนาคต แต่เมื่อพูดถึงความเครียดแล้ว อย่างที่รู้กันว่าเมื่อมีเรื่องของเพศสภาวะเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเครียดกับผู้หญิง ย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไปไม่ได้ วันนี้ theAsianparent จะพาทุกคนไปเข้าใจคุณผู้หญิงมากขึ้น เพื่อเข้าใจว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงก็เครียดได้เช่นกัน
ความเครียดเป็นอย่างไร ?
ความเครียดก็มีระดับ โดยสามารถแบ่งเป็นระดับอย่างเข้าใจง่าย ได้ 3 ระดับ ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้เรียกว่าความเครียดโดยตรง นั่นก็คืออาการของความเครียดระดับเล็กน้อย หรือน้อยมาก ๆ อาจจะเป็นความเครียดที่หลายคนกังวล หรือประหม่าก็ได้ หรือความอยู่ไม่สุข ที่ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ฉะนั้นข้อนี้จึงอาจเป็นความเครียดในระดับที่โอเคอยู่
ความเครียดระดับที่ 2 ที่กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับเราเพิ่มขึ้น ซึ่งในระดับปานกลางนี้สำหรับบางคน อาจจะรู้สึกว่าเป็นความเครียดที่หนักหนาแล้วก็ได้ เพราะคำว่าปานกลางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งในบางคนอาจจะเริ่มรู้สึกว่าความเครียดนั้น เป็นสิ่งที่กระทบกับตัวเราแล้วก็เป็นได้ อาจส่งผลต่อการทำงาน หรือไม่มีสมาธิมากเท่าเดิม ซึ่งข้อนี้อาการที่เห็นได้ชัดคือการคิดในเรื่องเดิมซ้ำ ๆ หรือคิดแต่ในเรื่องเดิมอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถคิดหาทางออกได้ แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถใช้ชีวิตได้ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม
ความเครียดมาก หรือความเครียดระดับที่ 3 ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัดของระดับนี้ อาจจะแสดงผลออกมาในเชิงที่ ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหานั้นได้ด้วยตัวเอง ในบางคนอาจจะกระทบกับการทำงาน จนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น อาการนอนไม่หลับ นอนไม่พอ รู้สึกง่วงตลอดเวลา รวมไปถึงอาการเบื่ออาหาร หรืออยากกินอาหารอยู่ตลอดเวลา โดยพฤติกรรมการแสดงออกนั้นอาจพ่วงมาด้วยการไม่อยากเจอผู้คน ต้องการอยู่คนเดียว
ซึ่งความเครียดทั้ง 3 ระดับ อาจจะมีการแสดงออกที่ไม่ดีตามมา เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมอื่นที่ทำลายสุขภาพตัวเองมากขึ้น การแสดงออกเหล่านี้ไม่ได้นับว่าเป็นวิธีที่ผิดเสียทีเดียว เพียงแต่ว่าเป็นการจัดการความเครียดที่แตกต่างกัน แต่วิธีเหล่านี้ไม่ใช่วิธีจัดการความเครียดที่ถูกวิธี และอาจทำให้กลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ที่ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพจิตอื่นตามก็เป็นได้ เช่น
- อาการนอนไม่หลับเพิ่มขึ้น
- อาการเบื่ออาหารเพิ่มขึ้น
- รู้สึกซึมเศร้า จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า
- ภาวะ Burn Out
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาสุขภาพจิต ปรึกษาปัญหาทางใจ มีเรื่องเครียด อยากระบาย คุยกับใครดี?
ปัจจัยความเครียด
แบ่งได้เป็นชนิดหลัก ๆ ทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน
- ปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยภายนอกตัวเรา
ซึ่งปัจจัยภายนอกรวมไปถึงคนอื่น คนรอบข้าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้น และบรรยากาศแวดล้อม ที่สร้างอารมณ์ให้กับผู้ถูกกระทำ ก็สามารถตีเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดได้ ซึ่งปัจจัยภายนอกนั้นรวมไปถึงปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจอีกด้วย
- ปัจจัยภายใน หรือปัจจัยภายในตัวเรา สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่
- ปัจจัยทางกายภาพ : ยกตัวอย่างเช่นฮอร์โมนที่เป็นเรื่องที่ทำให้อ่อนไหวได้กว่าปกติ หรืออาการซึมเศร้าหลังคลอด ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นความเครียดภายในที่มาจากทางกายภาพ
- ปัจจัยทางทัศนคติ : อาจจะเป็นทัศนคติบางอย่างในตัวเรา ที่ทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้น โดยมีผลมาจากพฤติกรรมที่ขาดการดูแลตัวเองที่ดีพอ ทำให้อารมณ์เปลี่ยนไป และเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว
วิธีสังเกตว่ากำลังเครียด
อย่างที่บอกว่าความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย ขั้นเริ่มต้นอาจจะต้องหมั่นเช็กสภาพจิตใจของตัวเอง ด้วยการหมั่นถามตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่กำลังรับมือหรือเผชิญอยู่ เป็นระดับที่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเองหรือไม่ แต่สำหรับคนไม่รู้ว่าความเครียดที่ตัวเองเจอนั้น เป็นระดับที่ร้ายแรงหรือไม่ อาจจะเริ่มต้นด้วยการทำแบบประเมินจากในอินเทอร์เน็ตดูก่อน เพื่อเป็นการตรวจเช็กว่าอยู่ในระดับไหน ควรที่จะต้องพบแพทย์หรือไม่ และถ้าหากในแบบประเมินระบุว่าควรต้องพบแพทย์ ควรทำการนัดหมอโดยเร็ว เพราะความเครียดที่เจอ อาจจะปะทุได้โดยที่ไม่ทันตั้งตัว และเป็นต้นเหตุการเป็นโรคซึมเศร้าต่อไปได้ในอนาคต
ความเครียดกับผู้หญิง ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ
ด้วยสภาพร่างกายที่เป็นผู้หญิง ทำให้ไม่อาจเลี่ยงหน้าที่ของภรรยา และความเป็นแม่ไปได้ ซึ่งสถานการณ์นี้อาจสร้างความเครียด หรือความกังวลในแต่ละคนได้ในหลาย ๆ ระดับ เช่น ความเครียดในแม่ตั้งครรภ์แรก ย่อมมีความเครียดถึงเรื่องน้ำหนักตัวของลูก การใช้ชีวิตในหน้าที่แม่ หรือแม้แต่กระทั่งเครียดเรื่องน้ำนม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ส่งผลกับผู้หญิงโดยเฉพาะ นอกจากนั้นในหญิงตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงของเรื่องฮอร์โมน ที่ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและสภาวะจิตใจ ซึ่งบางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่า มีความหงุดหงิดที่เพิ่มขึ้น หรือตัวเองมีความเครียดมากกว่าเดิม
เมื่อหลังจากผ่านช่วงคลอดบุตรไปแล้ว ความเครียดที่ผู้หญิงต้องเจอ ตามมาด้วยเรื่องของการเลี้ยงลูก ซึ่งความเครียดหรือความกังวลเหล่านี้ อาจส่งผลให้น้ำนมไม่ไหล และเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ก็ยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม จนเกิดกลายเป็นความเครียดที่วนลูปนั่นเอง จากนั้นเมื่อลูกโตขึ้นแล้วนอกจากความเครียดในการเลี้ยงลูกให้โตขึ้นอย่างดีที่สุดแล้ว ผู้หญิงมักมีความเครียดที่ต้องสร้างสมดุลในการเป็นทั้งแม่และภรรยา ซึ่งในแต่ละครอบครัวก็ต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นความเครียดที่ผู้หญิงต้องเจอ และเครียดอยู่ภายในใจ แม้กระทั่งผู้หญิงโสดที่ไม่ได้มีแฟนหรือสามี แต่ในฐานะการเป็นผู้หญิงทำงานในยุคสมัยนี้ ก็มีความเครียดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน หรือเรื่องของการดูแลครอบครัว ที่อาจจะรู้สึกเหมือนกับแบกรับความเครียดอยู่คนเดียว ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้
ความเครียดจากการด้อยค่าในตัวเอง
ในผู้หญิงบางคน ก่อนที่จะเปลี่ยนจากการทำงานนอกบ้าน มาเป็นแม่บ้านหรือภรรยาเต็มตัว ที่ดูแลครอบครัวและสามีแทนการทำงาน บางคนอาจจะเกิดการด้อยค่าตัวเอง เพราะในบางคนอาจรู้สึกได้ว่า ตัวเองเสียสละการมีชีวิตส่วนตัว และต้องมาดูแลส่วนอื่น ในบางคนอาจจะรู้สึกว่าการเป็นแม่บ้านดูแลบ้านหรือครอบครัว ในฐานะแม่และภรรยา อาจเหมือนคนที่มีภาระต้องดูแลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก การดูแลบ้าน การดูแลสามี รวมไปถึงการดูแลครอบครัวของสามี ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเสียสละหลายอย่าง ในส่วนที่เป็นสังคมภายนอก เพราะในการลาออกจากงานที่เคยทำ และต้องมาดูแลกิจวัตรเดิมซ้ำ ๆ อาจสร้างความเครียด หรือความรู้สึกที่ต้องแบกรับ โดยผู้หญิงบางคนอาจจะรู้สึกซึมเศร้าก็ได้
ซึ่งปัญหานี้อาจเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันภายในครอบครัว ตั้งแต่ตอนแรกเริ่ม โดยเฉพาะการคุยกับสามี อาจจะเป็นการพูดถึงการแบ่งหน้าที่ในการดูแลลูก หน้าที่อื่นในบ้าน รวมไปถึงการจัดการเรื่องเงิน โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ความใส่ใจและการพูดคุยระหว่างสามีภรรยา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะเพื่อนคนเดียวของภรรยา ก็อาจจะเป็นสามีก็ได้ บางครอบครัวอาจจะเกิดปัญหาความเครียดขึ้นได้ เนื่องจากมุมมองในการทำงานที่ไม่ตรงกัน เพราะบางคนอาจจะรู้สึกว่าการอยู่บ้านดูแลลูก หรือการดูแลบ้าน ไม่ใช่การทำงาน ซึ่งการมองเช่นนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ผู้หญิงด้อยค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้การทำหน้าที่เป็นแม่หรือภรรยาได้อย่างดีเยี่ยม แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะละเลยการมีชีวิตเพื่อตัวเอง ไม่แปลกที่ผู้หญิงจะรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง เนื่องจากเกิดความรู้สึกขาดหาย และไม่สามารถเติมเต็มความสุขในตัวเองได้ ดังนั้นก่อนที่จะเกิดการด้อยค่าในตัวเอง แต่ละครอบครัวจึงควรที่จะพูดคุยกัน เพื่อที่จะหาสมดุลตรงกลาง ทั้งในเรื่องของการดูแลสามี การดูแลลูก และการดูแลตัวเอง คนรอบข้างที่เข้าใจกันจึงเป็นส่วนที่สำคัญ
วิธีสังเกตว่าลูกเครียดหรือไม่ ?
ในบางครอบครัวอาจจะสังเกตเห็นได้ว่าลูกมีอาการกัดเล็บ มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือร้องไห้เสียงดังเมื่อบอกว่าต้องไปโรงเรียน อาการเหล่านี้เข้าข่ายว่าลูกเครียดหรือไม่ ในบางครั้งอาจจะต้องย้อนกลับไปดูพฤติกรรมในบ้านของคนในครอบครัวก่อน จึงจะหาสาเหตุของความก้าวร้าวเหล่านี้ได้ เช่น พ่อแม่มีปากเสียงหรือไม่ มีปัญหาการเลี้ยงดูหรือเปล่า เพราะในบางครั้งพฤติกรรมการก้าวร้าวของลูกที่แสดงออกมา อาจจะเกิดจากคนในครอบครัวเป็นส่วนประกอบของการเลี้ยงดู การขาดความอบอุ่น ความเอาใจใส่ที่ไม่เพียงพอ จนเกิดเป็นความเครียดภายใน และไม่รู้ตัวว่าเด็กเครียด แต่เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวคนในครอบครัวแสดงออกมา จึงเกิดเป็นการแสดงออกที่ลอกเลียนแบบนั่นเอง
หากบ้านไหนที่สัมผัสได้ว่าลูกมีอาการแปลกไป ขั้นแรกต้องเช็กที่ตัวเองก่อนว่า มีเวลามากพอที่จะอยู่กับลูกหรือไม่ พ่อแม่ควรแบ่งเวลาจากการทำงานมาดูแลลูกที่ชัดเจน เพื่อที่จะแบ่งความรักความอบอุ่นให้ลูก ซึ่งการแบ่งเวลานี้คือหนึ่งในการลดความเครียด หรืออารมณ์ก้าวร้าวของลูกได้ พ่อแม่ต้องเป็นคนแรก ๆ ในการสังเกตว่ารู้มีความรู้สึกหรือต้องการอะไร หากเกิดเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าลูกกำลังเข้าสู่ภาวะความเครียด พ่อแม่อาจจะถามเป็นคำถามชี้นำก่อนก็ได้ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไร
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ปล่อยตัวปล่อยใจ ให้หาเวลาวันละ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง เพื่อลืมงานหรือลดความกังวลทิ้ง ในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน โดยพักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อหาความสุขให้กับตัวเอง
- ตั้งเป้าหมายใหม่ พร้อมทั้งจัดลำดับงานที่ต้องทำตามความสำคัญ บางอย่างที่ไม่รีบก็ไม่ต้องทำ
- ปลดภาระ จัดทำรายละเอียดของงานที่สามารถจะให้ผู้อื่นช่วย เช่น งานที่ให้คนอื่นช่วย งานที่ให้แต่ละคนรับผิดชอบเอง งานที่ต้องทำเป็นประจำ งานที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำ งานที่ทำให้คนอื่นพอใจที่อาจจะไม่ต้องทำก็ได้
- อย่าทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ มักเกิดความเครียดเนื่องจากการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน
- เรียนรู้วิธีปฏิเสธที่สุภาพ รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือในยามจำเป็น
- ให้หาปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด
ความเครียดที่เกิดกับผู้ชาย มักเป็นความเครียดที่เกิดปัจจุบันทันด่วนเกี่ยวกับอันตราย ส่วนผู้หญิงมักจะได้รับความเครียดสะสม และทำให้เกิดโรคที่เกิดจากความเครียด เมื่อมีความเครียดที่งาน ผู้ชายกลับบ้านสามารถพักผ่อนคลายเครียด แต่ผู้หญิงยังต้องกลับมาทำงานบ้าน มารับความเครียด ดังนั้นถ้าไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ควรจะมีแม่บ้านมาช่วยแบ่งเบางานบ้าน งานเลี้ยงเด็ก หรืองานอื่น ๆ หากไม่มีใครช่วยงานผู้หญิง จะมีความเครียดเนื่องจากงานมาก เวลาพักน้อย และไม่มีใครช่วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้ผู้หญิงโกรธง่ายและอาจเป็นปัญหาเชิงทะเลาะ จนส่งผลถึงความเครียดเรื้อรังก็เป็นได้
ยิ่งสังคมปัจจุบันมีความเท่าเทียมกัน ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเหมือนกัน แต่เมื่อกลับบ้านยังต้องทำงานบ้านอีก ต่างกับสมัยอดีตที่ผู้หญิงทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเดียว หากคุณผู้ชายได้อ่านสามารถช่วยคุณผู้หญิง โดยการช่วยงานเท่าที่สามารถทำได้ หรือไม่สร้างงานเพิ่มให้กับผู้หญิง หรืออย่างน้อยก็ให้กำลังใจแก่คุณผู้หญิง เพื่อเป็นการส่งเสริมกันและกันเพื่อความสุขของครอบครัวนั่นเองค่ะ!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
บ้านไม่ใช่เซฟโซน พ่อเมาเหล้าโวยวาย พาแม่ท้องเครียด
เด็กยุคใหม่เครียด เรียนออนไลน์ ไม่รู้เรื่อง ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ห้ามละเลย
คุณแม่เครียด เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะทารกตายคลอดระหว่างตั้งครรภ์
ที่มา : watch
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!