ผิวลูกน้อยนั้นบอบบางและอ่อนโยนกว่าผิวผู้ใหญ่ ดังนั้น ลูกผิวแห้งสาก ผิวแห้ง ผิวแตก ผิวแดงจึงเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ส่งผลให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว ร้องไห้งอแง นอนหลับไม่สนิท วันนี้เราจะมาร่วมกันหาสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีดูแลรักษาป้องกัน เพื่อให้ลูกน้อยของคุณกลับมามีผิวที่เรียบเนียนอีกครั้ง
อาการของผิวแห้งในเด็ก
ผิวแห้งในเด็กนั้น พบได้บ่อย โดยเฉพาะในทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน เนื่องจากผิวหนังของเด็กในวัยนี้ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ยังมีต่อมไขมันน้อย ผิวหนังจึงบางกว่าผู้ใหญ่และสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย โดยสามารถสังเกตอาการได้ง่าย ๆ ดังนี้
- ผิวแห้งสาก สัมผัสแล้วรู้สึกหยาบกร้าน ไม่เรียบเนียน
- ผิวลอก ลอกเป็นขุยเล็ก ๆ สีขาว โดยเฉพาะบริเวณแก้ม หน้าผาก ข้อศอก เข่า และส้นเท้า
- ผิวแตก เกิดรอยแตกบนผิว มักพบที่ปลายนิ้วมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก มุมปาก และส้นเท้า
- ผิวแดง บางครั้งผิวแห้งอาจมีรอยแดงร่วมด้วย
- คัน เด็กอาจรู้สึกคันผิว โดยเฉพาะตอนอากาศเย็นหรือหลังอาบน้ำ
โดยบริเวณที่พบผิวแห้งบ่อยในเด็ก ได้แก่ แก้ม หน้าผาก ข้อศอก เข่า ส้นเท้า ปลายนิ้วมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก และมุมปาก
บทความที่น่าสนใจ: 11 อาหารป้องกันผิวแห้ง อร่อยได้ประโยชน์ เพื่อผิวฉ่ำวาว นุ่มเด้ง !!
สาเหตุที่ทำให้ลูกผิวแห้งสาก
1. ผิวเด็กบอบบาง
ผิวเด็กนั้นบอบบางและอ่อนโยนกว่าผิวผู้ใหญ่มาก โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด เพราะว่าผิวหนังยังพัฒนาไม่เต็มที่ ขาดชั้นไขมันตามธรรมชาติ และต่อมเหงื่อที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้หากไขมันที่เคลือบตัวเริ่มหลุดออก ส่งผลทำให้ผิวชั้นนอกสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ทำให้แห้งสาก ระคายเคืองง่าย ได้ง่ายกว่า เช่น ผดผื่นแพ้ อักเสบ แผลเปื่อย เป็นต้นและเกิดปัญหาผิวต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าผิวผู้ใหญ่
2. อาบน้ำอุณหภูมิสูง
การอาบน้ำอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานส่งผลเสียต่อผิวเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ผิวแห้งสาก สืบเนื่องมาจากน้ำร้อนจะขจัดไขมันธรรมชาติบนผิวลูก ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น แห้งกร้าน เกิดรอยแตก ลอกเป็นขุย เกิดการระคายเคืองของผิว เพราะความร้อนของน้ำจะกระตุ้นให้ผิวลูกเกิดอาการแดง คัน อักเสบ ได้อีกด้วย
ดังนั้นการอาบน้ำให้ลูกด้วยน้ำอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมกับทารกคือ 37-38 องศาเซลเซียส ผู้ปกครองควรตรวจสอบอุณหภูมิน้ำก่อนอาบน้ำทุกครั้ง และไม่ควรใช้ระยะเวลาเกิน 10 นาที หากลูกของคุณรู้สึกไม่สบายตัว ไม่ผ่อนคลาย และร้องไห้ควรรีบอาบและเช็ดตัวให้แห้งในทันที นอกจากนี้การดูแลผิวอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ลูกมีสุขภาพผิวที่ดี แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย
3. สบู่และผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ทำร้ายผิว
สบู่และผลิตภัณฑ์อาบน้ำบางชนิดอาจทำร้ายผิวของลูกน้อย ทำให้ผิวแห้งแตก สาก และระคายเคือง ทำให้ผิวแห้งแดง ผิวลอกเป็นขุย สาเหตุหลัก ๆ มาจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ดังนี้
- สารเคมีที่รุนแรง สบู่ทั่วไปมักมีสารเคมีที่รุนแรง เช่น ซัลเฟต (sulfates) ซึ่งทำหน้าที่ชะล้างสิ่งสกปรกและน้ำมันออกจากผิว แต่สารเหล่านี้ก็สามารถขจัดน้ำมันตามธรรมชาติของผิวออกไปด้วย ทำให้ผิวแห้งและระคายเคือง
- น้ำหอม ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีน้ำหอมอาจมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองต่อผิวของลูกน้อย
- สี สีสังเคราะห์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองต่อผิวของลูกน้อย
- แอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการละลายไขมัน ชั้นไขมันบนผิวเปรียบเสมือนกำแพงป้องกันผิวไม่ให้สูญเสียน้ำ เมื่อแอลกอฮอล์สัมผัสผิว จะละลายชั้นไขมันนี้ ทำให้ผิวสูญเสียน้ำง่ายขึ้น ผิวแห้งตึง
4. อากาศแห้ง
อากาศแห้งสามารถทำให้ผิวเด็กสากได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว หรือในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากความชื้นในอากาศต่ำ ทำให้ผิวสูญเสียความชื้นที่จำเป็นไป นอกจากนี้ อากาศแห้งยังสามารถทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและแห้งเป็นพิเศษในบางบริเวณ เช่น ใบหน้า มือ และเท้า ดังนั้นการดูแลผิวเด็กในช่วงที่อากาศแห้งจึงสำคัญมาก
5. โรคผิวหนัง
มีโรคผิวหนังหลายชนิดที่สามารถทำให้ลูกผิวแห้งสากได้ โรคที่พบบ่อย มีดังต่อไปนี้
- โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ หรือ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อย มักพบในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน โรคนี้ทำให้ผิวแห้ง แดง คัน และอักเสบ ผิวหนังอาจหนาและแตกเป็นร่อง
- กลากน้ำนม หรือ เกลื้อนน้ำนม (Pityriasis Alba) เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก พบได้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย มักพบในเด็กที่มีผิวคล้ำ โดยจะปรากฏเป็นผื่นสีขาวหรือสีซีดกว่าผิวปกติ ลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี ขอบเขตไม่ชัดเจน มักเกิดบริเวณใบหน้า แก้ม คาง คอ ต้นแขน แผ่นหลัง หน้าอก และอาจพบได้ที่แขนขา ผื่นกลากน้ำนมมักขึ้นในช่วงหน้าร้อน อาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ และมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้นจนหายไปเองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
- โรคสะเก็ดเงินในเด็ก เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายส่งสัญญาณให้เซลล์ผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติ ส่งผลต่อผิวหนัง หนังศีรษะ และเล็บ โดยเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคสะเก็ดเงินมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กทั่วไป และปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้โรคกำเริบ ได้แก่ การติดเชื้อ เครียด อากาศหนาว และการใช้ยาบางชนิด
บทความที่น่าสนใจ: กลากน้ำนม บนหน้าลูกคืออะไร ป้องกันยังไง รักษายังไงให้หาย!!
ลูกผิวแห้งสาก ทำอย่างไรดี
การรักษาผิวแห้งในเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผิวของเด็กมักจะบอบบางและมีแนวโน้มที่จะแห้งง่ายกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดยวิธีการรักษาผิวแห้งในเด็ก มีดังต่อไปนี้
เลือกสบู่และแชมพูที่อ่อนโยน
การเลือกสบู่และแชมพูสำหรับเด็กนั้น มีหลายปัจจัยที่ควรพิจารณา ดังนั้นควรเลือกผลิตภัณฑ์อาบน้ำและสบู่ที่เหมาะสำหรับลูกน้อยของคุณ อาทิ
- สบู่อ่อนโยน เลือกสบู่ที่ไม่มี SLS, SLES, น้ำหอม สี และแอลกอฮอล์ สบู่เหล่านี้มักมีค่า pH ใกล้เคียงกับผิวตามธรรมชาติของลูกน้อย
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่มีฟอง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำความสะอาดผิวลูกน้อยได้อย่างอ่อนโยน โดยไม่ต้องใช้ฟองสบู่ที่อาจระคายเคืองผิว
- ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้ ข้าวโอ๊ต หรือคาโมมายล์ ช่วยปลอบประโลมและบำรุงผิวลูกน้อย
ทั้งนี้ควรทดสอบสบู่และแชมพูบนผิวหนังบริเวณท้องแขนของเด็กก่อนใช้จริง และหลีกเลี่ยงการถูผิวแรง ๆ ทาโลชั่นให้เด็กหลังอาบน้ำ
บทความที่น่าสนใจ: 6 สบู่เด็ก โลชั่น ที่เหมาะสำหรับผิวบอบบางของทารกตัวน้อยมากที่สุด
ทาครีมบำรุงผิวเด็กหลังอาบน้ำป้องกันผิวแห้ง
การทาครีมบำรุงผิวเด็กหลังอาบน้ำเป็นวิธีที่ดีในการป้องกันผิวแห้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น หรืออากาศแห้ง โดยการทาครีมบำรุงหลังอาบน้ำช่วยทำให้ลูกน้องของคุณมีสุขภาพผิวที่ดีขึ้นได้ ดังนี้
- ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น ผิวเด็กมีความบอบบางและสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายหลังอาบน้ำ การทาครีมบำรุงผิวจะช่วยสร้างชั้นฟิล์มบาง ๆ บนผิวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในผิวระเหยออก
- ป้องกันผิวแห้ง ผิวแห้งอาจนำไปสู่ปัญหาผิวต่าง ๆ เช่น ผิวแตก คัน ระคายเคือง การทาครีมบำรุงผิวจะช่วยให้ผิวเด็กชุ่มชื้นและนุ่มนวล
- ลดการระคายเคือง การทาครีมบำรุงผิวบางชนิดสามารถช่วยลดการระคายเคืองจากผื่นผ้าอ้อม ผื่นแพ้ หรือผิวแห้ง
นอกจากนี้ควรเลือกครีมบำรุงผิวเด็กที่ปลอดภัยและเหมาะกับลูกน้อย ดังนี้
เลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ปราศจากสารเคมีระคายเคือง
- สังเกตส่วนผสมบนฉลาก หลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจระคายเคืองผิวเด็ก เช่น น้ำหอม สี แอลกอฮอล์ พาราเบน และ SLS
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้ น้ำมันคาโมมายล์ หรือน้ำมันโจโจ้บา
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนังและเหมาะสำหรับเด็ก
เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิวของลูก
- ผิวแห้ง เลือกครีมที่มีเนื้อครีมเข้มข้น ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น
- ผิวมัน เลือกโลชั่นหรือเจลเนื้อบางเบา ซึมซาบเร็ว ไม่เหนียวเหนอะหนะ
- ผิวแพ้ง่าย เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำหอม สี และสารเคมีระคายเคือง ผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนัง
เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ
- ครีมบำรุงผิวเด็กควรช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ปกป้องผิวจากความแห้งกร้านและระคายเคือง
- บางผลิตภัณฑ์อาจมีคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น กันแดด ป้องกันยุง หรือลดผื่นแพ้
ข้อควรระวัง: ควรทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ ทาครีมบำรุงผิวเด็กปริมาณเล็กน้อยที่ท้องแขนของลูก รอ 24 ชั่วโมง สังเกตรอยแดง ผื่นคัน หรืออาการแพ้ หากไม่มีอาการแพ้ แสดงว่าลูกสามารถใช้ผลิตภัณฑ์นี้ได้ หลังการใช้งานปิดฝาผลิตภัณฑ์ให้สนิท และเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง
การดูแลผิวหนังอย่างสม่ำเสมอและการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสมสามารถช่วยลดการเกิดผิวแห้งสากและรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: www.linola.com, www.whattoexpect.com, www.thebump.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การดูแลผิวทารกแรกเกิด : เคล็ดลับและคำแนะนำจากหมอผิวเด็ก
ไขข้อสงสัย เห็นสีผิวทารกชัดเจนตอนไหน ทำไม ทารกสีผิวเปลี่ยน มาดูกัน!
4 วิธีบำรุงผิวทารก ให้อ่อนนุ่ม เสริมปราการผิวให้แข็งแรง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!