เป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่จะสงสัยว่า ลูกพัฒนาการช้า หรือไม่ จะเติบโตสมวัยหรือเปล่า ซึ่งปกติแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลเลยค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน เช่น เริ่มพูดเอง ปีนป่าย หรือฝึกเข้าห้องน้ำเอง แต่หากลูกทำได้ช้ากว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีลูกมีพัฒนาการช้าก็ได้ วันนี้ theAsianparent จะพามาดู 8 สัญญาณเตือนที่ลูกอาจมีปัญหาด้านพัฒนาการค่ะ
ลูกพัฒนาการช้า คืออะไร
ทารกมีพัฒนาการช้า คืิอ ภาวะที่เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยเมื่อเทียบกับเด็กปกติ ซึ่งเด็กอาจมีพัฒนาการล่าช้าในหลาย ๆ ด้าน หรือบางด้านเท่านั้น อาการผิดปกติจะส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการช้า เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น พันธุกรรมจากพ่อแม่ สุขภาพของแม่ขณะตั้งครรภ์ ปัญหาในช่วงการคลอด สุขภาพของเด็กหลังคลอด และปัจจัยแทรกซ้อนหลังคลอด รวมไปถึงการดูแลและโภชนาการที่ลูกจะได้รับอีกด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนว่าลูกมีพัฒนาการช้าหรือไม่
สัญญาณเตือนลูกพัฒนาการช้า
อาการผิดปกติที่ส่งผลทำให้ลูกพัฒนาการช้านั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อีกทั้งหากลูกมีร่างกายที่ผิดปกติ ก็จะส่งผลไปถึงพฤติกรรมของลูกได้อีกด้วย ซึ่งอาการผิดปกติที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด ที่ต้องคอยระวัง ได้แก่
1. ศีรษะ
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูกมีศีรษะที่เล็ก หรือใหญ่เกินไป นั่นก็อาจบ่งบอกได้ว่า ลูกอาจจะมีการเจริญเติบโตทางสมองที่ผิดปกติได้ ส่วนขนาดเส้นรอบศีรษะโดยปกติของเด็กนั้นจะมีขนาดโดยประมาณดังนี้
- แรกเกิด-3 เดือน : 35 เซนติเมตร
- 4 เดือน : 40 เซนติเมตร
- 1 ปี : 45 เซนติเมตร
- 2 ปี : 47 เซนติเมตร
2. หู
อย่างแรกเลยคือสังเกตว่า ใบหูของลูกผิดรูปหรือไม่ อยู่ต่ำ หรือสูงเกินไปอย่างเห็นได้ชัดหรือเปล่า ติ่งหูยาวผิดปกติ รูหูอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ หลังจากนั้นเมื่อลูกอายุได้ประมาณ 6 เดือน ให้ลองสังเกตดูว่า ลูกสามารถหันหน้าตามทิศทางของเสียงได้หรือไม่ การให้ลูกฟังเสียงที่มีโทนเสียงแตกต่างกัน รวมถึงการพูดคุยโต้ตอบ จะเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการฟังของลูกได้ในระดับหนึ่ง แต่หากลูกไม่ตอบสนองกับเสียงที่ได้ยินรอบข้าง เช่น ไม่หัน ไม่สะดุ้งหรือตกใจเมื่อมีเสียงดัง ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ดูแลสุขภาพหู ของลูกน้อยของคุณอย่างไร ให้ถูกวิธี และถูกสุขอนามัย
3. ตา
หากว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้า ตาของลูกจะห่างจนผิดปกติ ตาเหล่เข้า-ตาเหล่ออก หรือหากมองเห็นแสงสะท้อนจากรูม่านตาลูกเป็นสีขาว แสดงว่ามีความผิดปกติอยู่ด้านหลังรูม่านตา อาจจะเป็นต้อ มีเนื้องอก หรือจอประสาทตาลอกได้
วิธีการช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกเคลื่อนไหวดวงตา คือการให้ลูกได้มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะให้ลูกเล่นของเล่นที่มีสีสันสดใส หรือเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกก็ได้นะครับ แต่หากลูกมองตามวัตถุแล้วตาแกว่งไม่หยุดนิ่ง ไม่จับจ้องวัตถุ ไม่สบตา นั่นก็อาจมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นได้
4. จมูก
โดยทั่วไปทารกจะเริ่มได้กลิ่นตั้งแต่อายุได้ 3 วันแล้ว ยิ่งถ้าเป็นกลิ่นของคุณแม่ เขาก็จะยิ่งพยายามหันไปหาด้วยความคุ้นเคย แต่หากลูกไม่ตอบสนอง หรือไม่มีปฏิกิริยากับกลิ่นต่าง ๆ เลย เช่น ไม่นิ่วหน้าหรือจามเมื่อมีกลิ่นเหม็นฉุน ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีความผิดปกติ หรือหากดั้งจมูกบี้ หรือเชิดมาก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องดูหน้าตาโดยรวมด้วย เช่น หางตาชี้ กระหม่อมแบน ลิ้นใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นอาการของเด็กดาวน์ซินโดรมได้
5. ปาก
สังเกตง่าย ๆ ว่า ลูกปากแหว่งเพดานโหว่หรือไม่ ลูกพูดไม่ชัด ติดอ่าง เสียงผิดปกติ ไม่เล่นเสียงและส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่โต้ตอบตำพูดตามวัยหรือไม่ หรือหากลูกสองขวบแล้ว ยังพูดคำที่ไม่มีความหมาย ไม่ทำตามคำสั่ง และไม่พยายามพูดกับคนอื่น ก็อาจเป็นไปได้ว่าลูกอาจมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า
ส่วนวิธีกระตุ้นพัฒนาการการพูดของลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้โดยการตอบสนองเสียงอ้อแอ้ของลูก ชวนลูกคุยโต้ตอบให้เหมือนคุยกันรู้เรื่อง ชวนลูกออกเสียงคำง่าย ๆ ให้เด็กได้เลียนเสียง ชวนเล่นเกมเป่าฟองสบู่ เป่าลูกโป่ง หรือเป่าน้ำในแก้ว ซึ่งจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อเพดานช่องคอ และการใช้ลมออกเสียงได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปากแหว่งเพดานโหว่ โรคทางกรรมพันธุ์ในทารกที่ป้องกันได้
6. ลิ้น
อาการผิดปกติ คืออาการที่ลูกมีลิ้นใหญ่ ลิ้นยืดออกมาขณะพูด น้ำลายไหลย้อยอยู่ตลอด อ้าปากกว้างไม่หุบ ไม่กลืนอาหาร ไม่เคี้ยวอาหาร หรือเคี้ยวข้าวนาน หรือไอและสำลักอาหารบ่อย ๆ
สำหรับวิธีกระตุ้นพัฒนาการทำได้โดยการนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก เพื่อให้เกิดการดูด วิธีการนวดก็คือ ให้วางหัวนิ้วแม่มือลงบนคางใต้ริมฝีปากล่าง แล้วลากออกเป็นเส้นตรงจนสุดขอบปากล่างทั้งสองประมาณ 5-10 ครั้ง
7. แขน ขา และลำตัว
เด็กที่มีพัฒนาการผิดปกติ จะมีลักษณะดังนี้
- แขนขายาวไม่เท่ากันทั้งสองข้าง
- นิ้วยึดติด นิ้วเกิน 5 นิ้ว นิ้วกุด
- กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งเกินไป ทำให้เด็กเคลื่อนไหวลำบาก และเคลื่อนไหวผิดปกติ
- ข้อสะโพกหลุด แบะออกมามากเกินไป หรือหนีบติดกันไม่ยอมแบะ
- มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งเป็นสัญญาณของการเคลื่อนไหวลำไส้มีปัญหา หรืออาจจะมีปัญหาเรื่องการย่อยและการดูดซึม
หรือหากลูกมีกล้ามเนื้อแขนขานุ่มนิ่ม อ่อนปวกเปียก จนไม่มีแรงในการเคลื่อนไหว ยกแขนยกขาลำบาก ไม่สามารถควบคุมลำตัวเพื่อทรงตัวให้มีความสมดุลขณะถูกอุ้ม เช่น
- 3 เดือนคอยังไม่แข็ง
- 9 เดือนยังไม่คว่ำหรือยังไม่คลาน
- 1 ขวบแล้วยังหยิบขอเล่นไม่ได้ กำมือไม่ได้
หากลูกมีภาวะเหล่านี้ก็อาจเป็นสัญญาณว่าลูกพัฒนาการผิดปกติได้
8. ผิวหนัง
สังเกตว่าลูกมีสีผิวผิดปกติหรือไม่ เช่น
- มีปานเป็นริ้ว เป็นแนวสีขาวหรือสีดำเป็นแถบใหญ่
- มีปานตามผิวหนังมากกว่า 6 จุด
- หลังมีปานลายเป็นต้นคริสต์มาส บวกกับกล้ามเนื้อนิ่ม
- ผิวหนังแห้งอย่างมาก คันและต้องเกาอยู่ตลอดเวลา
บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 วิธีบำรุงผิวทารก ให้อ่อนนุ่ม เสริมปราการผิวให้แข็งแรง
นมแม่ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้
นอกจากนมแม่จะเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแล้ว ยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกไปด้วยได้ เพราะระหว่างที่ลูกดูดนม เด็กจะเกิดการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง อีกทั้งสารอาหารในน้ำนมยังช่วยเสริมพัฒนาการควบคู่ไปกับการพัฒนาประสาทสัมผัสด้วย คุณแม่จึงควรให้ลูกดื่มนมตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนเป็นอย่างน้อย
เพราะนมแม่สารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย อย่างเช่น MFGM (Milk Fat Globule Membrane) หรือเยื่อหุ้มอนุภาคไขมันที่พบได้ในน้ำนมแม่ ผลิตจากต่อมน้ำนม ทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มอนุภาคไขมันในนมให้คงรูปอยู่ได้ ประกอบไปด้วยไขมันและโปรตีนชีวภาพกว่า 150 ชนิด อาทิ สฟิงโกไมอีลิน ฟอสโฟไลปิด และแกงกลิโอไซด์ ที่มีส่วนช่วยสร้างปลอกหุ้มเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) เพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งสัญญาณประสาท ช่วยในเรื่องการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี อีกทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกแข็งแรงอีกด้วย โดยสารอาหารใน MFGM เมื่อทำงานร่วมกับ DHA แล้วจะช่วยเพิ่มโอกาสเชื่อมต่อเซลล์สมองได้มากกว่าการได้รับ DHA เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม อาการทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่ทั้งหมดของอาการที่บ่งบอกถึงพัฒนาการช้า เพราะเด็กแต่ละคนก็อาจมีอาการแตกต่างกันออกไป เพียงแต่อาการข้างต้นนั้น เป็นอาการที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้ง่ายเท่านั้น ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการผิดปกติหรือมีข้อสงสัย ควรรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 อาหารบำรุงสมองใน 1,000 วันแรก ให้ลูกกินอะไร แล้วลูกฉลาด พัฒนาการสมองไว
10 วิธีเล่นเพื่อพัฒนาสมองลูก เล่นอะไรกับลูกแล้วลูกฉลาดบ้าง
วิธีสังเกต พัฒนาการทารกวัยแรกเกิด ถึง 1 ปี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ตารางพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-6 ปี ด้านการเคลื่อนไหว มองเห็น และสื่อสารภาษา
ที่มา : oknation, synphaet, สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!