พัฒนาการทารกวัยแรกเกิด ถึงช่วง 1 ปี ลูกน้อยจะเริ่มตอบสนองต่อสัมผัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้น และจะมีหลากหลายพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อย นั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อควรจะหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูกน้อย ดังนั้นวันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง พัฒนาการทารกวัยแรกเกิดถึง 1 ปี มีสิ่งไหนบ้าง ที่พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต ไปพร้อมกับคุณ พญ. ณัฐพร ชุมคง กุมารเวชศาสตร์ ในรายการ TAP Ambassador ของเราในสัปดาห์นี้กันเลยค่ะ
พัฒนาการทารกแรกเกิด ถึง 1 ปี มีอะไรบ้าง
พัฒนาการเด็กแรกจนถึงช่วงเริ่มโตจะมีทั้งหมด 4 ด้าน ซึ่ง 4 ด้านหลัก ๆ ที่เราจะสามารถดูได้ก็คือ เรื่องของกล้ามเนื้อมัดใหญ่, กล้ามเนื้อมัดเล็ก, ภาษา และเรื่องของสังคมการตอบสนอง ซึ่ง 4 ด้านนี้ ในช่วงหนึ่งเดือนแรกจะสามารถดูได้จากการตอบสนองของลูกจากการเข้าเต้า เขาจ้องหน้าเราไหม เขายิ้มให้เราไหม ซึ่งตัวของคุณแม่ก็จะต้องมีการตอบสนองเล่นร่วมกับลูกด้วย ซึ่งเด็กจะสามารถรับรู้ได้ในช่วงตั้งแต่วัยแรกเกิดเลย
พอเข้าสู่ช่วงสองเดือนก็จะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดขึ้นว่าเขาจะดูร่าเริงมากขึ้น บางคนก็สามารถที่จะชันคอได้ประมาณ 45 องศา อาจจะไม่ได้แข็งมากแต่ก็สามารถเริ่มทำได้ แล้วก็ในส่วนช่วงวัยนี้อาจจะไม่ได้มีการขยับอะไรเยอะแยะมากมาย แต่พยายามให้สังเกตว่าเขาเคลื่อนไหวแขนและก็ขาได้เท่า ๆ กัน ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ส่วนในช่วง 3 – 4 เดือน เป็นช่วงที่ค่อนข้างจะมีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดขึ้น เช่น ชันคอได้แข็งขึ้น และสามารถเล่นตอบสนองกับเราได้มากขึ้น และช่วงต่อมาจะเป็นช่วง 6 เดือน ก็จะสังเกตเห็นได้ว่าบางคนก็จะสามารถนั่งได้โดยมีพนักพิง
แต่ถ้าพอเข้าสู่ 7 – 8 เดือน ก็จะสามารถเริ่มนั่งได้แบบแข็งขึ้น สามารถนั่งได้เอง สามารถคลานได้ แล้วก็เริ่มออกเสียงเป็นพยางค์แบบไม่มีความหมายได้บ้าง แล้วก็ช่วง 9 เดือน ก็จะสามารถเห็นพัฒนาการที่ชัดขึ้นทางด้านของพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น เกาะยืนได้ และก้าวได้บ้างเล็กน้อย แล้วก็จะมีการเริ่มเล่นน้ำลาย ส่วนในช่วง 10 – 11 เดือน ก็ยังอยู่ในช่วงที่พัฒนาการในเรื่องของการเดิน ก็สามารถเกาะเดินไปได้ ส่วนในช่วงหนึ่งปี ก็จะสามารถเริ่มเดินได้ และเริ่มพูดได้บางคำ เป็นต้น
เด็กแรกเกิดไม่สามารถที่จะบังคับร่างกายตัวเองจริงไหม
พัฒนาการทารกวัยแรกเกิด ไปจนถึง 2 – 6 เดือน ในเด็กกลุ่มนี้ ปกติการเคลื่อนไหวต่าง ๆ มักจะเกิดจากภาวะที่เรียกว่ารีเฟล็กซ์ หรือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ จริง ๆ แล้วการควบคุมไม่ได้มันเกิดจากสมองของเด็กในแรกเกิด ยังไม่สามารถจะพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอันนี้เป็นภาวะปกติ และรีเฟล็กซ์เหล่านี้อาจจะมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การเคลื่อนไหวของทารกในช่วงไหล่และแขนในกรณีที่ลูกน้อยเกิดการตกใจ ได้ยินเสียงดัง หรือในกรณีที่เขาตื่นตระหนกกับอะไรบางอย่าง เขาก็จะมีการขยับร่างกายแขนขา เป็นต้น ซึ่งภาวะรีเฟล็กซ์เหล่านี้ เมื่อลูกอายุหนึ่งเดือนขึ้นไปอาการก็จะค่อย ๆ หายไป เนื่องจากสมองที่ส่วนหน้าก็จะเริ่มพัฒนาขึ้นมาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาเรื่อง ฟันผุ ปวดฟัน ส่งผลเสียต่อการพัฒนาการของลูกหรือไม่
เด็กแรกเกิดแยกกลางวันและกลางคืนได้ช่วงกี่เดือน ?
ในวัยที่แยกกลางวันและกลางคืนไม่ได้จะอยู่ในช่วงวัย 1 – 2 เดือน เพราะลูกน้อยจะต้องกินนมแบบถี่ ๆ ทำให้ไม่สามารถแยกได้ เพราะเขาจะต้องกินนมทุก 2 – 3 ชั่วโมง แต่พอลูกน้อยโตขึ้นสัก 3 – 4 เดือน เราจะสังเกตว่าเด็กสามารถนอนหลับได้นานขึ้น นั่นเท่ากับว่าเขาสามารถรับรู้แล้วว่าช่วงนี้เป็นช่วงกลางคืนที่เขาจะต้องนอน ซึ่งเด็กแต่ละคนกก็จะไม่เหมือนกันความเร็วหรือช้าในกรณีระยะห่างในการนอน แต่โดยส่วนใหญ่ที่สังเกตมาก็จะเป็นช่วงสี่เดือนเป็นส่วนใหญ่ที่จะเริ่มหลับได้นานขึ้น แต่ว่าจะเห็นชัดเจนขึ้นคือช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป
เด็กวัย 1 ขวบ สามารถให้ลูกเลิกดื่มขวดนมได้หรือยัง ?
เด็กอายุ 1 ขวบ สามารถให้ลูกเลิกดื่มขวดนมได้ เนื่องจากเป็นเวลาที่เหมาะสม คุณแม่สามารถใช้แก้ว หรือใช้วิธีการจากตัวแก้วดูดหลอดใหญ่ ๆ ก็ได้เช่นกัน พยายามให้ลูกน้อยเลิกขวดนมได้จะเป็นสิ่งที่ดีมากเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ขวดนมป้องกันโคลิคที่ดีที่สุด เพื่อการดูแลลูกน้อย หลับสบายไม่งอแง
เด็กส่ายหัวบ่อย ๆ ถือว่าผิดปกติหรือไม่
สำหรับเด็ก 1 ขวบ ต้องดูว่าเป็นการส่ายหัวที่ถี่ ๆ บ่อยครั้งเกินไปหรือไม่ เพราะมีโรคบางชนิดที่เกี่ยวกับพัฒนาการนั่นก็คือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ดังนั้นต้องสังเกตลูกน้อยดูว่าในหนึ่งวันลูกส่ายหัวกี่ครั้ง หรือส่ายหัวช่วงไหนบ้าง ซึ่งอาการส่ายหัวถี่ ๆ อาจจะไม่ได้พบเจอบ่อย แต่ถ้าหากเด็กคนไหนส่ายหัวถี่ ๆ ซ้ำ ๆ ต้องระวังพวกทูเร็ตต์ซินโดรม ซึ่งในเรื่องพวกนี้จะต้องพาเด็กไปตรวจสอบอาการดูอีกทีกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่าอาการเคลื่อนไหวแบบนี้มันผิดปกติหรือไม่
ดังนั้นแล้ว พัฒนาการวัยแรกเกิด ไปจนถึงในช่วง 3 ปี แรก จะสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะในแง่ของการได้เวลาจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้าหากมีเวลาว่างจากงานแนะนำว่าควรจะมาเล่นกับลูกบ้าง ก็จะยิ่งส่งเสริมให้พัฒนาการของลูกดีมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งในพัฒนาการของเด็กขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในบ้านแล้วก็จิตใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วย ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่มีปัญหากันเรื่องของชีวิต เรื่องของสภาพสังคมต่าง ๆ ในปัจจุบันก็จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
กิจกรรมสำหรับเด็ก 7 สัปดาห์ ช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยสมวัย ที่พ่อแม่ควรรู้ !!
วิธีส่งเสริมพัฒนาการทารก เคล็ดลับการส่งเสริมพัฒนาการ ด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของทารกน้อย
พัฒนาการสื่อสารเด็กทารก สังเกตสัญญาณต่าง ๆ ของลูกน้อย พัฒนาการสมวัย
ที่มา : โดย คุณ พญ. ณัฐพร ชุมคง กุมารเวชศาสตร์ , phyathai-sriracha
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!