โรคมะเร็ง โรคที่ขึ้นชื่อว่าคร่าชีวิตคนมากที่สุด และในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ในทุก ๆ ปี จะมีการวินิจฉัย พบผู้ป่วยโรคมะเร็งใหม่ มากกว่า 9 ล้านคนต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นอีกโรคหนึ่ง สร้างความสูญเวีย ให้กับชีวิตคนเราเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เราควรศึกษา หาข้อมูลเกี่ยวกับ โรคมะเร็ง เพื่อป้องกัน และรู้เท่าทัน ลดโอกาสการเสียชีวิตได้
โรคมะเร็ง คืออะไร?
โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ เซลล์เหล่านี้จึงเกิดการเจริญลุกลาม แพร่กระจายทั่วร่างกาย ทำให้เซลล์ปกติในเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของเรา ล้มเหลว และไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ
ปัจจุบันนี้ มีการพบมะเร็งมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ในเรื่องของความรุนแรง ที่มีผลต่อโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย
เนื้องอกคืออะไร?
เนื้องอก คือ ตุ่ม หรือก้อน ที่ปรากฎขึ้นมา เนื่องจากเซลล์ หรือ เนื้อเยื่อในร่างกาย เกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถแบ่งได้ เป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกร้าย หรือที่คนเรียกกันว่า มะเร็ง นั่นเอง
ความแตกต่างระหว่าง มะเร็ง และ เนื้องอก
มะเร็ง คือโรคที่มีก้อนเนื้อ หรือ แผล ซึ่งจะโตไว และลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแพร่กระจาย ไปสู่อวัยวะข้างเคียงต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น กระแสเลือด หลอดเลือด กระแสน้ำเหลือง หลอดน้ำเหลือง ซึ่งจะไหลไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วทุกส่วนในร่างกาย โดยส่วนมากจะมีการแพร่ เข้าสู่ ปอด ตับ ไขกระดูก กระดูก สมอง เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคมะเร็ง
ในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า โรคมะเร็ง มีสาเหตุมาจากอะไร เพราะมะเร็งในแต่ละบุคคล อาจมาจากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้
ปัจจัยส่วนบุคคล
- อายุเพิ่มขึ้น เมื่อคนเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งได้มากขึ้น
- การสูบบุหรี่ เป็นบ่อเกิดของโรคหลายชนิด โรคมะเร็ง ก็เช่นกัน ซึ่งโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
- การดื่มแอลกอฮอล์ มีผลต่อการเกิดของมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ เป็นต้น
- กรรมพันธุ์ มะเร็งบางชนิด มีความเกี่ยวข้องกับ ยีน และพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้ครอบครัว มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาจทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งโพรงมดลูก และ มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
- ความอ้วน อาจทำให้เกิด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต และมะเร็งโพรงมดลูก เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจ มาสำรวจตัวเองกัน ว่าคุณมี “พฤติกรรมเสี่ยงมะเร็ง” หรือไม่?
สารเคมี และรังสี
- สารเคมีในควันบุหรี่
- สารเคมีในควันจากรถยนต์
- สารพิษจากเชื้อรา
- สารพิษ ที่เกิดจากควัน เช่น ควันปิ้ง ย่าง รมควัน หรือ ทอด
- สีย้อมผ้า
- สารเคมีจากการอุตสาหกรรม
- รังสี UV
- รังสีอื่น ๆ
การติดเชื้อเรื้อรัง
- ไวรัสตับอักเสบบี อาจทำให้เกิดมะเร็งตับ
- ฮิวแมน แพพิโลมา ไวรักส (HPV) อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งของเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ
- เอบไสตน์ บาร์ ไวรัส (Epstein Barr Virus) อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ มะเร็งโพรงหลังจมูก
- เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลรัย (Helicobacter Pylori) อาจทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งมีกี่ระยะ?
ระยะของโรคมะเร็ง เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรค และแพทย์จะใช้เพื่อเป็นเกณฑ์ ในการให้การรักษา โดยทั่วไป มะเร็งจะมีทั้งหมด 4 ระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 1-4 ซึ่งในแต่ละระยะ จะแบ่งย่อยได้อีก เป็น เอ บี ซี หรือ 1 2 แต่มะเร็งระยะ 0 ยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะยังไม่มีการรุกราน
มะเร็งระยะที่ 0 : มะเร็งระยะต้น ๆ ที่อยู่บนชั้นของเซลล์ปกติ และยังไม่มีการแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อ ซึ่งสามารถตรวจพบเซลล์ผิดปกติบริเวณผิวนอก แต่ยังไม่เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง
มะเร็งระยะที่ 1 : ตรวจพบเนื้องอก หรือ แผลมะเร็งขนาดเล็ก ที่มีขนาด 3-5 เซนติเมตร แต่ยังไม่มีการลุกลาม
มะเร็งระยะที่ 2 : เนื้องอก หรือ แผลมะเร็ง มีขนาดเริ่มใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการลุกลาม แพร่ไปยังอวัยวะใกล้เคียง หรือ ต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งระยะที่ 3 : มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง อาจแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองไกล ๆ ได้
มะเร็งระยะที่ 4 : เป็นระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ที่ออกไปสู่อวัยวะอื่นอย่างสมบูรณ์ มักแพร่ออกไปยังช่องท้อง ลำไส้ ตับ ปอด กระดูก ไขกระดูก ซึ่งสามารถเติบโต ลุกลามโดยเข้ากระแสเลือด และต่อมน้ำเหลือง
อาการบ่งชี้โรคมะเร็ง
- ตรวจพบสิ่งผิดปกติบริเวณร่างกาย เช่น คลำพบก้อนเนื้อ หรือ ตรวจพบการหนาตัวของผิวหนัง
- เจ็บปวดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย หรือ ร่างกายอ่อนเพลียผิดปกติ แขนขาอ่อนแรง
- มีไฝเกิดใหม่ หรือ ไฝที่ร่างกายมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ แตก กลายเป็นแผล หรือ มีเลือดออก
- ไอเรื้อรัง เสียงแหบ คออักเสบ
- การขับถ่ายผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะปนเลือด อุจจาระมีมูกเลือด อุดจาระมีเลือดปน ปวดหน่วงทวารหนักเมื่อขับถ่าย เป็นต้น
- การรับประทานอาหารผิดปกติ เช่น กลืนลำบาก กลืนแล้วมีอาการเจ็บ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลงผิดปกติ ลดลงกว่า 10% ของน้ำหนักตัว ในระยะเวลา 6 เดือน
- มีสารคัดหลังออกมาผิดปกติ เช่น ตกขาวปนเลือด เลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวผิดปกติ เป็นต้น
การรักษามะเร็ง
- การผ่าตัด เพื่อนำเนื้องอกร้ายออกไป
- การฉายรังสี เป็นการใช้รังสีกำลังสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
- เคมีบำบัด เป็นการให้ยาเคมี เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
- ฮอร์โมนบำบัด เป็นการใช้ฮอร์โมนเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- การรักษาแบบผสมผสาน เป็นการรักษาด้วยวิธีหลากหลาย แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษา
เกณฑ์การพิจารณาการรักษา
- ระยะของโรค
- ชนิดของมะเร็ง
- บริเวณของมะเร็ง
- สามารถผ่าตัดได้หรือไม่
- ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อ หลังผ่าตัดเป็นอย่างไร
- อายุของผู้ป่วย
- สุขภาพของผู้ป่วย
โอกาสรอดที่ 5 ปี ภายหลังทำการรักษา ของโรคมะเร็ง
มะเร็งระยะที่ 0 คือ 90-95%
มะเร็งระยะที่ 1 คือ 70-90%
มะเร็งระยะที่ 2 คือ 70-80%
มะเร็งระยะที่ 3 คือ 20-60%
มะเร็งระยะที่ 4 คือ 0-15%
การป้องกันโรคมะเร็ง
การป้องกันโรคมะเร็ง คือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง หรือ ตรวจสุขภาพประจำปี
- หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งต่าง ๆ
การตรวจคัดกรองมะเร็ง
การตรวจคัดกรองมะเร็ง คือ การตรวจหาเชื้อมะเร็ง ตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ เพราะโรคมะเร็งมีอัตราการรักษาให้หายได้ในช่วงระยะแรก (ระยะที่ 0 หรือ 1) ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็ง ควรทำเป็นประจำ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ
โรคมะเร็ง แม้ฟังดูเป็นโรคที่อันตราย ร้ายแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่หากเรามีการตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ จะทำให้เรารู้ทัน และทำการรักษาได้ตั้งแต่มะเร็งระดับแรก ๆ ทำให้มีโอกาสหายสูงนั่นเอง
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต , โรงพยาบาลมะเร็งกรุงทพ วัฒโนสถ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
มะเร็งมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง คุ้มครองอะไรได้บ้าง
10 สัญญาณโรคมะเร็งที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้
เช็คด่วนก่อนจะสาย! 5 สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ที่หญิงไทยต้องรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!