กุนเชียง หรือไส้กรอกจีน ที่ในอดีตมักจะทำมาจากเนื้อหมู และมันหมู เป็นหลัก ในภายหลังมีการแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้มีทั้งกุนเชียงไก่ กุนเชียงปลา และกุนเชียงอื่น ๆ แล้วแต่จะสามารถครีเอทออกมาได้ และยังเป็นที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คนอีกด้วย แล้ว คนท้องกินกุนเชียงได้ไหม ? จะมีประโยชน์ มีโทษอย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะ
กุนเชียง คืออะไร?
กุนเชียง มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายว่าไส้กรอก ซึ่งคำว่า กุน หรือกุ๊ง ในภาษาจีน จะหมายถึงการบรรจุ เราจึงเรียกกุนเชียงนี้ว่า ไส้กรอกจีน หรือ Chinese Sausage
ซึ่งไส้กรอกแบบจีนนั้น มักจะนิยมใช้เนื้อหมูติดมันนำมาสับ หรือบดหยาบ ๆ นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสให้มีรสชาติเค็มหวาน จากนั้นนำไปกรอกใส่ลงในไส้หมูที่ล้างสะอาด แล้วนำไปอบ หรือผึ่งแดดจนแห้ง ซึ่งวิธีนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ในการถนอมอาหารให้อยู่ได้นานเป็นแรมปี
ปัจจุบันมีการผลิตกุนเชียงจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไก่ ปลา เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้บริโภค
ส่วนผสมของกุนเชียง
การทำกุนเชียงนั้น นอกจากจะใช้เนื้อหมูติดมันแล้ว การใส่เครื่องปรุงรส เพื่อให้เกิดรสชาติกลมกล่อม ซึ่งเครื่องปรุงประกอบไปด้วย น้ำตาลทรายแดง เหล้าจีน ผงพะโล้ แป้งข้าวโพด เกลือ และไส้สำหรับยัดหมู ถ้าต้องการให้กุนเชียงออกมาสวยงาม การหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ช่วยในการบรรจุ จะทำให้สะดวก และได้รูปทรงของกุนเชียงที่ดีกว่า แต่ที่สำคัญที่สุด คือการนำเข็ม หรือไม้แหลม มาเจาะที่ไส้ให้เป็นรู รอบ ๆ กุนเชียง เพื่อให้น้ำระเหยออกได้ ทำให้เราสามารถเก็บกุนเชียงได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ? มาดู 24 อาหารที่คนท้องห้ามกิน!
วัตถุเจือปน ในกุนเชียง
เนื่องจากกุนเชียงถูกผลิตขึ้นมา เพื่อเก็บรักษาอาหารให้ได้นานที่สุด และคงสภาพน่ารับประทาน จึงทำให้ผู้ผลิตบางราย อาจเติม เกลือไนไตรต์ และเกลือไนเตรตเข้าไปด้วย เพื่อเป็นสารกันเสีย และตรึงสี ทำให้กุนเชียงมีสีแดงน่าทาน อยู่ตลอดเวลา และอาจเติมวัตถุกันเสีย ประเภทกรดเบนโซอิกและซอร์บิก เพื่อให้อาหารคงสภาพได้นานขึ้น
ไนไตรต์ เป็นวัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มสารกันเสีย และสารตรึงสี มักจะพบในกลุ่มอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง แม้ว่าคุณสมบัติของไนไตรต์นั้นจะสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า “คลอสตริเดียม บูโทลินัม” (Clostridium botulinum) ได้ แต่หากใช้ในปริมาณที่เกินกว่ากำหนด จะส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง จนทำให้เป็นลมหมดสติได้
ในแต่ละวัน ร่างกายคนเราไม่ควรได้รับปริมาณสารกันบูดเกินกว่า 5 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. เช่น หากคุณมีน้ำหนักตัว 50 กก. คุณไม่ควรได้รับสารกันบูดเกิน 50 x 5 = 250 มก./วัน เพราะหากร่างกายได้รับสารกันบูดมากเกินไป จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น
- พิษเฉียบพลัน จะมีอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก และหมดสติในที่สุด
- พิษกึ่งเรื้อรัง และพิษเรื้อรัง เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดในปริมาณที่มาก และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เป็นมะเร็งลำไส้ได้ รับทั้งทำให้ตับ และไต มีประสิทธิภาพในทางทำงานที่ลดลง
บทความที่เกี่ยวข้อง : อันตรายจากสารกันบูด ภัยเงียบที่มากับของอร่อย
คนท้องกินกุนเชียงได้ไหม ?
สำหรับกุนเชียง จัดอยู่ในกลุ่มของอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแปรรูป ที่ส่วนมากจะมีส่วนผสมของสารกันบูด หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ผงชูรส บอแรกซ์ โซเดียมไนเตรต โซเดียมฟอสเฟต โซเดียมซัคคาริน และโซเดียมตัวอื่น ๆ
ซึ่งแน่นอนว่า สารเคมีต่าง ๆ เหล่านั้นส่งผลเสียให้กับสุขภาพโดยรวม ซึ่งต้องแลกมากับความอร่อย โดยเฉพาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่จำเป็นจะต้องระมัดระวังเรื่องของอาหารที่ทานเข้าไปมากเป็นพิเศษ
แต่ไม่ถึงกับห้ามไม่ให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารประเภทนี้ โดยเฉพาะกุนเชียง เพียงแค่ พยายามทานแต่น้อย และไม่ควรที่จะรับประทานบ่อยครั้ง จนเป็นเหตุให้เกิดการสะสมของสารเคมีต่าง ๆ ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ และสุขภาพของตัวคุณแม่เอง
แต่หากตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ รู้สึกอยากกินกุนเชียงมากจนรู้สึกว่าตนเองขอชิมซักหน่อย การประกอบอาหารก็เป็นเรื่องที่คุณแม่ไม่ควรละเลยน้อยไปกว่าตัววัตถุดิบ คุณแม่ท้องควรทานอาหารที่ปรุงสุก เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และการปนเปื้อนของพยาธิต่าง ๆ รวมถึงการปรุงอาหารให้สุกนั้น ขั้นตอน และกระบวนการประกอบอาหาร ก็เป็นตัวตัดสินคุณภาพอาหารอีกทางหนึ่งเช่นกัน เช่นการต้ม การนิ่ง ก็ย่อมดีกว่าการทอด นั่นเอง
และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การซื้อกุนเชียงจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือในมาตรฐานการผลิต เนื่องจากปัจจุบัน มีหลายร้าน หลายโรงงาน และหลายแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ที่ให้ข้อมูลในการผลิตไม่ชัดเจน รวมถึงส่วนผสมที่ใช้ในการผลิต ดังนั้นการหาแบรนด์ที่เชื่อถือได้ และมีขั้นตอนการผลิตที่สะอาด ตรวจสอบวันผลิต และวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ได้ดี ก็จะทำให้คุณได้รับความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เพื่อไม่ให้เกิดผลที่ไม่คาดฝันตามมาได้ในภายหลัง
เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวของคุณแม่ตั้งครรภ์ กับกุนเชียงที่แสนอร่อย การทานอาหารแปรรูป แม้ว่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่บางครั้งความอยากทาน ก็บังคับกันยาก โดยเฉพาะคนท้องที่อารมณ์แสนจะแปรปรวน ดังนั้น อาหารแปรรูป คุณแม่ท้อง สามารถทานได้ค่ะ แต่ควรทานเพียงน้อย และไม่ทานบ่อย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณแม่เอง และลูกน้อยในครรภ์ของคุณนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 เมนูไส้กรอก สำหรับลูกน้อย อร่อย ทำง่าย อิ่มได้ทั้งมื้อเช้า และมื้อกลางวัน
สูตรเด็ด! 5 เมนูกุนเชียง อร่อย หลากหลาย ทำเองง่าย ๆ ถูกใจลูกรัก
ระวัง! แม่ท้องกินอาหารแปรรูป เป็นปริมาณมาก เสี่ยงลูกเกิดมาเป็นออทิสติก
ที่มา : consumerthai, paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!