คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย และอยู่ในช่วงให้นมลูกหลังคลอดกำลังเป็นกังวลกันอยู่ไม่น้อยสินะคะสำหรับโรคที่กำลังแพร่ระบาดกันอย่างหนักในตอนนี้ วันนี้เราได้รวบรวมคำตอบจาก แพทย์หญิงพิมลพรรณ ต่างวิวัฒน์ สูตินรีแพทย์ กรมอนามัย เพื่อมาตอบคำถามว่า แม่ติดโควิดหลังคลอด ให้นมบุตรได้หรือไม่ อย่างไร? ให้คุณแม่เรียบร้อยแล้ว เผื่อจะคลายความกังวลของคุณแม่ได้บ้าง ลองมาอ่านกันดูนะคะ
หากติดโควิดช่วงไตรมาสสุดท้าย ควรทำอย่างไร?
ในขณะนี้ที่สถานการณ์ไม่ได้ดีมากนัก หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้ายพบว่าตนเองติดเชื้อโควิดควรแยกออกจากบุคคลอื่นภายในบ้านทันที และติดต่อขอเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลให้ไว้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากคุณแม่ที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์นั้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดก็เป็นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ติดอื้อ! หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด ยอดทะลุ 420 คน สถานการณ์น่าเป็นห่วง
แม่ติดโควิด เมื่อคลอดแล้ว ควรทำอย่างไร ให้นมลูกได้หรือไม่
ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด ให้แยกไว้สังเกตอาการก่อน กรณีที่แม่มีอาการไม่มาก อาจให้ลูกนอนอยู่ในห้องเดียวกันกับแม่โดยเว้นระยะห่างจากแม่อย่างน้อย 2 เมตร อาจใช้ม่านบางๆกั้นให้แม่เห็นได้ และสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด ล้างมืออย่างถูกวิธีก่อนสัมผัสลูก สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ระวังไม่สัมผัสบริเวณใบหน้า ปาก และจมูก รวมทั้งงดหอมแก้มลูกด้วย
หากแม่มีไข้ หรืออาการเหนื่อยเพลียมาก ไม่สามารถให้ลูกเข้าเต้าได้ อาจใช้วิธีบีบน้ำนมแล้วให้ผู้ช่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นผู้ป้อนให้ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์การให้นมก่อนและหลังให้นมลูกทุกครั้ง หากเป็นไปได้ ควรจัดให้แม่ลูกอยู่ในห้องเดียวกันตลอดเวลา
แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย กรณีที่แม่มีอาการหนักมาก อาจพิจารณาให้นมผสมตามความจำเป็น ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ จะได้รับการตรวจหาเชื้อหลังจากคลอดแล้ว 24 ชั่วโมง หากไม่พบเชื้อ จะตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อ 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด เพื่อเป็นการยืนยัน
เชื้อไวรัสสามารถส่งผ่านน้ำนมของแม่ได้หรือเปล่า?
ยังไม่มีหลักฐานว่าทารกติดเชื้อไวรัสจากแม่โดยผ่านทางน้ำนม ส่วนใหญ่แล้ว การติดเชื้อจะผ่านมาทางละอองเสมหะ น้ำมูกหรือน้ำลายของแม่ที่ติดเชื้อ คุณแม่สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติเหมือนกับคุณแม่คนอื่นที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัส แต่จะต้องระวังและปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสอย่างเคร่งครัด เพราะว่าในน้ำนมแม่ นอกจากจะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันที่สามารถปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้ออื่นๆได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ให้นมลูกได้ไหม ส่งผลกระทบถึงลูกหรือไม่
คุณแม่ควรปฏิบัติตัวในยุคโควิดนี้อย่างไร?
ช่วงหลังมีการรายงานการติดเชื้อไวรัสของคุณแม่จำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั่วประเทศแล้วประมาณ 600 คน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นก็สามารถติดเชื้อโควิดได้เช่นเดียวกัน และอาจมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป หรือเทียบเท่ากับ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงเลยก็ว่าได้ ดังนั้นคุณแม่ควรปฏิบัติตัวในยุคโควิด ดังต่อไปนี้
1. ไม่พาตนเองไปในพื้นที่แออัด
การที่คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่อยู่ในช่วงของการให้นมบุตรนั้นออกไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือที่ชุมชนที่มีผู้คนแออัด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ หากมีความจำเป็นต้องออกไปจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และหมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆและเมื่อกลับถึงบ้านให้มือและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีก่อนที่จะสัมผัสตัวของทารก
2. เข้ารับการฉีดวัคซีน
คุณแม่ที่อยู่ในช่วงอายุครรภ์หลัง 12 สัปดาห์สามารถเข้ารับการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิดได้ คุณแม่หลังคลอดหรือให้นมลูกก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เช่นกัน แต่ร่างกายของคุณแม่จะต้องแข็งแรง หากเจ็บป่วย ไม่สบาย ควรรอให้หายก่อน อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
3. ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการเข้าพบ
ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาด การไปโรงพยาบาลอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้คุณแม่ และทารกแรกเกิดเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ว่าตนเองสามารถเลื่อนนัด หรือมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องเข้าพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อมากยิ่งขึ้น
ข้อจำกัดของ การดูแลรักษาแม่ติดโควิดหลังคลอด
ในช่วงของสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ที่มีอาจเรียกได้ว่า ยากต่อการควบคุม ทำให้พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอเข้ารับการรักษาตัว ซึ่งในขณะนี้เตียงในโรงพยาบาลบางแห่งอาจมีการเต็ม หรือไม่สามารถรับผู้ป่วยได้เพิ่มแล้ว การที่คุณแม่ติดเชื้อโควิดในช่วงก่อนคลอดนั้นจะถือว่าเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นเดียวกับกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้ายได้รับเชื้อจะต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ ที่อาจทำให้คุณแม่ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนามได้ เนื่องจากอาจไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็เสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด ทั้งนี้หลังจากการคลอดบุตรขณะเข้ารับการรักษาตัว อาจทำให้คุณแม่และทารกถูกจับแยกออกจากกัน ซึ่งถ้าหากโรงพยาบาลมีพื้นที่มากเพียงพอก็จะสามารถให้คุณแม่และบุตรอยู่ร่วมกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละพื้นที่ที่คุณแม่อยู่นะคะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับ การตอบคำถามของผู้เชี่ยวชาญกับหัวข้อเรื่อง แม่ติดโควิดหลังคลอด ให้นมบุตรได้หรือไม่ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมคุณแม่สามารถเข้าไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ที่ช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน รู้ก่อน ป้องกันก่อน ลดความเสี่ยง เพื่อคุณ เพื่อลูกนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดแล้วอันตรายหรือเปล่า ฉีดได้ตอนไหน
แม่ท้องอยากรู้ ฉีดวัคซีนโควิดตอนท้อง มีข้อห้ามและข้อระวังอะไรบ้าง ?
เป็นประจำเดือนฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม? วัคซีนมีผลยังไงกับประจำเดือนของผู้หญิง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!