อาจมีบางช่วง บางเวลา ที่คุณแม่พบว่าน้ำนมออกมาเป็นสีชมพู หรือสีแดง อาจเป็นเพราะน้ำนมที่ปั๊มออกมานั้นมีเลือดปนมาด้วย ซึ่งแน่นอนค่ะ อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่ “ไม่เหมือนเดิม” หรือ “ผิดแปลกไป” ย่อมทำให้คุณแม่รู้สึกกังวลใจมาก แต่กรณีนี้อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ เพราะเป็นการปั๊มนมเป็นเลือดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุหลายปัจจัย มาดูกันค่ะว่า ปั๊มนมเป็นเลือด อันตรายมั้ย ลูกกินได้หรือเปล่า แล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง
สาเหตุที่คุณแม่ ปั๊มนมเป็นเลือด
ภาวะที่มีเลือดอยู่ในน้ำนมสามารถพบได้ในคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูกค่ะ โดยสังเกตได้จากสีของนมที่ปั๊มออกมา หรือบางครั้งอาจรู้ได้จากการที่ลูกน้อยแหวะนมผสมเลือดออกมา หรือเห็นเลือดในอุจจาระของลูก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการปั๊มนมเป็นเลือดมีดังนี้
เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว คุณแม่บางคนในช่วงแรกของการให้นมจะมีน้ำนมสีชมพู ส้ม น้ำตาล หรือสีสนิม ซึ่งมาจากมีเลือดปริมาณน้อย ๆ ผสมอยู่กับ colostrum โดยที่คุณแม่ไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ และอาจเกิดเต้าเดียวหรือสองเต้าก็ได้ เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมสร้างน้ำนม มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น เลือดบางส่วนจึงค้างอยู่ในท่อน้ำนม ทำให้มีเลือดปนออกมากับน้ำนมนั่นเอง ซึ่งกรณีนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะเป็นภาวะที่ดีขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
-
เส้นเลือดฝอยฉีกขาดจากการใช้เครื่องปั๊มนม
เกิดจากการใช้เครื่องปั๊มนมผิดวิธี ขนาดของกรวยปั๊มนมไม่พอดี ใช้แรงในการปั๊มสูงเกินไป หรือปั๊มนมบ่อย จนส่งผลให้เต้านมระบมและเกิดการบาดเจ็บ เส้นเลือดฝอยในเต้านมฉีกขาด น้ำนมที่ปั๊มได้มีจึงมีเลือดปนออกมา
-
การบาดเจ็บที่หัวนมและลานนม
อาการที่พบได้บ่อย หัวนมแตก (Cracked nipple) มีผื่น แผล รอยกัด จึงทำให้มีเลือดปนออกมา มักเกิดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากลูกน้อยยังไม่รู้จังหวะเข้าเต้า หรือคุณแม่อาจยังจัดท่าให้นมไม่ถูกต้องนัก ซึ่งรอยแผลที่เกิดขึ้นจะส่งผลแรงดูดจากเครื่องปั๊มทำให้มีเลือดปนออกมาผสมกับน้ำนมได้ โดยส่วนใหญ่ถ้ารักษาแผลหายเลือดก็จะหายไป
การมีภาวะท่อน้ำนมอุดตัน อาจทำให้เต้านมเกิดการอักเสบและมีเลือดออกได้
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมน้ำนม โดยการมีเลือดปนออกมาเป็นอาการหนึ่งของภาวะนี้ นอกจากนี้ยังมีภาวะเต้านมอักเสบ มีการติดเชื้อขึ้นภายในเต้านม มีอาการปวด บวม แดงร้อน มีไข้ร่วมด้วย
-
เนื้องอกในท่อน้ำนม (Intraductal papilloma)
กรณีมีเลือดออกจากหัวนมโดยที่ไม่มีประวัติมีแผลหรือบาดเจ็บที่หัวนม ต้องคำนึงถึงภาวะเนื้องอกในท่อน้ำนมไว้ด้วย กรณีนี้ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ให้แน่ใจ และไม่ควรให้ลูกกินนมที่มีเลือดปน เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคบางชนิดที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกผ่านทางน้ำนมได้
อย่างไรก็ตาม อาจยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้คุณแม่ปั๊มนมเป็นเลือดได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือภาวะที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นและอันตรายหากคุณแม่ละเลย นั่นคือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งที่หัวนมและลานนม (Paget’s disease) ซึ่งอาจจะมีอาการเลือดออกจากหัวนม มีก้อนที่เต้านม หรือมีแผลเรื้อรังที่หัวนมและลานนม
ปั๊มนมเป็นเลือด น้ำนมมีเลือดปน ลูกกินได้หรือเปล่า
สำหรับคำถามว่า ปั๊มนมเป็นเลือด น้ำนมมีเลือดปน ลูกกินได้หรือเปล่า ต้องบอกว่าหากน้ำนมที่ปั๊มออกมากมีเลือดปนไม่มาก สีของน้ำนมจะมีสีชมพูอ่อน ๆ คล้ายนมเย็น กรณีนี้สามารถให้ลูกกินได้ค่ะ แต่ควรให้กินทันที ไม่แนะนำให้แช่เย็นหรือเก็บเป็นสต๊อก แต่ถ้าน้ำนมมีสีชมพูเข้ม หรือสีแดง แนะนำว่าควรทิ้ง เพราะมีส่วนผสมของเลือดในน้ำนมมากเกินไป อาจมีกลิ่นคาวและรสเค็มจัดค่ะ
|
น้ำนมมีเลือดปน ลูกกินได้หรือเปล่า
|
สีของน้ำนมที่ปั๊ม |
กิน |
เก็บ |
มีเลือดปน เป็นสีชมพูอ่อน ๆ |
√ |
ꓫ |
มีเลือดปน เป็นสีชมพูเข้ม |
ꓫ |
ꓫ |
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ต้องต้องใจกับการมีเลือดออกขณะปั๊มนมให้ลูกจนไม่อยากให้ลูกกินนมแม่นะคะ เพราะไม่ใช่ภาวะที่จะเกิดกับทุกคน ดังนั้น หากเต้านมข้างหนึ่งไม่มีปัญหาปั๊มนมแม่แล้วมีเลือดปนออกมา คุณแม่ยังสามารถปั๊มนมอีกเต้าหนึ่งแทนไปก่อน เพื่อให้ได้น้ำนมสีขาวให้ลูกน้อยค่ะ
รับมือยังไง? เมื่อคุณแม่ ปั๊มนมเป็นเลือด
หากคุณแม่ปั๊มนมเป็นเลือดโดยที่ไม่ได้มีแผลที่หัวนม อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการที่เส้นเลือดฝอยฉีกขาด หรือเปิดเครื่องปั๊มนมแรงไป ซึ่งวิธีแก้ง่าย ๆ ก็คือ ให้หยุดปั๊มนมก่อน แต่ยังคงให้ลูกกินนมแม่ตามปกติ โดยเปลี่ยนเป็นการบีบนมด้วยมือประมาณ 1-2 วัน พอเลือดหยุดออกก็สามารถปั๊มนมได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม มีวิธีรับมือการปั๊มนมเป็นเลือดจากสาเหตุต่าง ๆ เพิ่มเติมดังนี้
- หากกลับมาปั๊มนมได้แล้ว ควรปรับขนาดของกรวยปั๊มนมให้เหมาะสม และลดแรงปั๊มจากเครื่องปั๊มลง แต่หากลดแล้วรู้สึกว่าปั๊มไม่เกลี้ยงเต้า ให้ใช้การบีบมือตามหลังจากการปั๊มค่ะ
- ถ้าการมีเลือดปนออกมากับน้ำนมเกิดจากการที่คุณแม่มีแผลบริเวณหัวนม ซึ่งเป็นผลมาจากท่าทางการให้นมที่ยังไม่ถูกต้อง ให้ทำการรักษาแผล หรือปรึกษาคลินิกนมแม่เพื่อดูแลท่าทางการให้นม เพื่อลดแรงกดทับที่หัวนม
- ประคบเย็น การประคบเย็นบริเวณเต้านมจะช่วยลดอาการปวดและบวมได้ ที่สำคัญคือ คุณแม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แล้วอย่าลืมดื่มน้ำมาก ๆ รวมทั้งต้องดูแลความสะอาดของเต้านมและอุปกรณ์ปั๊มนมอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รู้สึกว่าผิดปกคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดค่ะ
|
ปั๊มนมเป็นเลือด แบบไหน ควรไปพบแพทย์
|
- มีเลือดปนในน้ำนมปริมาณมาก
|
|
- มีอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติ เช่น หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน
|
- เลือดไม่หยุดไหล แม้จะดูแลตัวเองรวมถึงปรับพฤติกรรมการให้นมลูกแล้ว
|
การให้นมแม่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากนะคะ หากไม่ถึงที่สุดคุณแม่ไม่ควรหยุดให้นมลูกค่ะ แต่ควรพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้นมลูกต่อไปได้ ซึ่งการมีเลือดปนในน้ำนมเป็นเรื่องที่พบได้และสามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง แต่หากคุณแม่มีข้อสงสัยหรือมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์หรือคลินิกนมแม่เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมนะคะ
ที่มา : premierehomehealthcare.co.th , www.thaihealth.or.th , สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ , www.namarak.com , พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ให้นมลูกกินยาแก้อักเสบได้ไหม ส่งผลต่อน้ำนมและลูกน้อยหรือเปล่า
ให้นมลูกน้ำหนักไม่ลด ทำไงดี ลดน้ำหนักแม่หลังคลอดอย่างปลอดภัย
หัวนมสั้น ให้นมลูก ได้ไหม? วิธีแก้ไขและท่าให้นมของแม่หัวนมสั้น
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!