โรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งร้ายที่พบได้อันดับหนึ่ง ในผู้หญิงทั่วโลก และจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้บอกเอาไว้ว่า ผู้หญิงไทย ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มากถึง 13,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บทความนี้จึงได้นำเอาสาระ ความรู้ เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมมาฝากสาว ๆ กัน
โรคมะเร็งเต้านม คืออะไร?
โรคมะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติในเต้านม ทำให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง และขยาย ลุกลาม ไปจนกลายเป็นเนื้อร้าย ก่อนจะแพร่กระจาย ไปยังเซลล์อื่นของร่างกาย ซึ่ง 90% ของมะเร็งเต้านมที่พบ มักเกิดจากต่อมน้ำนม และ ท่อน้ำนม ทั้งนี้ มะเร็งเต้านม สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย แต่อัตราการตรวจพบในเพศชาย มีน้อยมาก
ระยะของมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ วัดจากขนาดของก้อนเนื้อ และระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนี้
- ระยะที่ 0-1 เป็นระยะที่ตรวจพบเซลล์ผิดปกติ ในเนื้อเยื่อเต้านม ตรวจพบก้อนเนื้อ ขนาดไม่เกิน 2 ซม. และ ยังจำกัดการเกิดเซลล์ภายในเต้านม ยังไม่พบการลุกลามไปยังส่วนอื่น ซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตถึง 5 ปี เกือบ 100%
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ก้อนเนื้อร้าย จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีโอกาสที่จะแพร่กระจาย ไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือ อาจไม่พบก้อนเนื้อที่รักแร้ แต่พบเซลล์มะเร็ง บริเวณต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ในระยะนี้มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ ประมาณ 93%
- ระยะที่ 3 ในระยะนี้ เป็นระยะที่เนื้อเยื่อบริเวณเต้านม จะถูกทำลายเป็นวงกว้าง ก้อนเนื้อร้าย จะมีขนาดใหญ่โตมากกว่า 5 ซม. และมีการแพร่กระจาย
อาการของมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมในระยะแรง ไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็นนัก ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ มักมาด้วยสาเหตุที่คลำพบก้อนบริเวณหน้าอก และรักแร้ ซึ่งอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ มักเป็นรูปร่างของเต้านม ที่อาจพบความผิดปกติ เช่น หัวนมบุ๋ม เป็นแผล หรือ มีของเหลวออกมาจากหัวนม เป็นต้น
อาจพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ได้ ดังนี้
- เจอก้อนหนา ๆ ใต้นม หรือ บริเวณใต้แขน
- มีน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม
- หัวนมมีแผล
- เต้านมมีผื่น ผื่นผิวส้ม ผื่นแดง ผื่นร้อน
- มีอาการปวดบริเวณเต้านม
การตรวจมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตนเอง
เราสามารถตรวจมะเร็งเต้านม เบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งการตรวจเบื้องต้นด้วยตนเอง จะทำให้พบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ทำให้การรักษา สามารถเริ่มต้นได้ไวและมีโอกาสรักษาหายสูงกว่า โดยเราสามารถตรวจเบื้องต้น ด้วยตัวเองได้ ดังนี้
วิธีที่ 1 สามารถทำได้ โดยการยกมือขึ้นสูง ใช้นิ้วมือวางราบบนเต้านม จากนั้นคลำ และเลื่อนนิ้วเบา ๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม ทำทีละข้าง ให้ครบทั้งสองข้าง
วิธีที่ 2 ยืนตัวตรง เอามือแนบลำตัว แล้วยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ให้ส่องกระจกแล้วสังเกตลักษณะเต้านม ทั้งสองข้าง จากนั้นยกมือเท้าเอว กดบริเวณสะโพกแรง ๆ ไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็ง และหดตัว ให้สังเกตลักษณะของหน้าอก ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
วิธีที่ 3 วิธีนี้ให้ทำขณะนอนราบไปกับพื้น โดยให้ยกมือข้างหนึ่งไว้ใต้ศีรษะ (นอนทับมือ 1 ข้าง) ใช้มืออีกข้าง คลำบริเวณเต้านมของข้างที่ยกมือ โดยให้เริ่มคลำจากส่วนนอก และเหนือสุดของเต้านม เวียนไปรอบ ๆ เต้านม แล้วค่อย ๆ เคลื่อนมือเข้าด้านในรอบ ๆ หัวนม จนทั่วบริเวณ
การตรวจมะเร็งเต้านมเบื้องต้นวิธีอื่น ๆ
- แมมโมแกรม เป็นวิธีที่ผู้หญิง อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 1-2 ปี
- อัลตราซาวด์ และ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะใช้ในกรณีเมื่อผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติ และ ต้องการที่จะตรวจละเอียดมากขึ้น
เต้านมผิดปกติ เป็นอย่างไร?
- คล้ำพบก้อน หรือ ไต แข็งผิดปกติบริเวณเต้านม
- หัวนมมีความตึง รั้ง ผิดปกติ
- มีน้ำเหลือง หรือ เลือด ไหลออกบริเวณหัวนม
- เต้านมมีขนาด หรือ รูปร่างผิดปกติ
หากสาว ๆ คล้ำพบความผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
การรักษามะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็ง รวมถึง โรคมะเร็งเต้านม มีหลายวิธี ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยฮอร์โมน และการรักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นต้น ซึ่งแต่ละวิธี ก็มีความเหมาะสม ข้อดี และข้อเสีย แตกต่างกันออกไป ด้วยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย และให้การรักษา ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษา มีดังนี้
- ขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง
- ระยะของมะเร็ง
- การแพร่กระจายของมะเร็ง
- สุขภาพของผู้ป่วย
- ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง
- ความรุนแรงของเนื้องอก
เจ้าก้อนน้อย คือ ก้อนมะเร็ง กันแน่ ?
หากคุณคลำเจอก้อนบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ อย่าเพิ่งตกใจว่าคุณมี อาการมะเร็งเต้านม จ้า เพราะก้อนที่อยู่บริเวณที่กล่าวไว้ จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
ซีสเต้านม
เจ้าก้อนซีสนี้ส่วนมาก จะทำให้เกิดอาการเจ็บ และก้อนนี้มักจะโตขึ้นก่อนรอบเดือนจะมา และจะมีขนาดเล็กลง เมื่อรอบเดือนหมด ก้อนซีสนี้ มักจะถูกกระตุ้นด้วยอาหาร และโฮโมนในร่างกาย ทำให้โตขึ้น และเล็กลง ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจ หากพบว่ามีเจ้าก้อนเนื้อนี้อยู่ ก็ควรไปพบแพทย์ และ ทำการรักษาเพื่อไม่ให้เจ้าก้อนซีสนี้ จะโตขึ้นมากไปกว่านี้ค่ะ
เนื้องอกเต้านม(ไม่ใช่เนื้อร้าย)
เจ้าก้อนนี้ หากเป็นก็จะ ไม่มีอาการเจ็บ ทำให้เราไม่ค่อยสนใจ และปล่อยปละละเลยไป แต่… หากคุณปล่อยทิ้งเอาไว้นาน เจ้าก้อนนี้ก็จะกลายร่างเป็นเนื้อร้าย และจะกลายเป็นก้อนมะเร็งได้เช่นกัน
มะเร็งเต้านม
ตัวฉกาจที่เราต้องคอยระวัง ก้อนมะเร็งนี้จะไม่ทำให้เราเกิดอาการเจ็บเช่นเดียวกับเนื้องอก นั่นทำให้คนที่พบเจอก้อนนี้ก็จะนิ่งนอนใจ กว่าจะไปพบแพทย์ก็คือ ต้องตัดทิ้งซะแล้ว
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
- สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือ หากคุณมี ญาติพี่น้อง พ่อแม่ เคยเป็นโรคนี้มาก่อน เราเองก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
- อายุ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน โดยมากคนที่อายุเยอะ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่า
- ความอ้วน คนที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ มักจะมีความเสี่ยงมากกว่า อาจจะเป็นเพราะ ถูกกระตุ้นด้วย อาหารที่ทานเข้าไป หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่ทำให้เกิดความเสี่ยง มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์
- ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้เราห่างไกลจากโรค คำนี้มักจะใช้ได้เสมอ เพราะเมื่อเราไม่ได้ออกกำลังกาย ร่างกายเราจะอ่อนแอ และไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคต่าง ๆ ได้
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่เยอะเกิน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การทานอาหารจำพวกอาหารขยะ หรือ Fast Food มากเกินไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดการกระตุ้น ให้เกิดก้อนมะเร็งเต้านมได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในประเทศไทย โรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคที่พบบ่อยมาก ๆ บ่อยที่สุดในผู้หญิง ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก ซึ่งยังมีแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้น ของผู้ป่วยอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นสาว ๆ อย่างเรา ควรดูแลตนเอง และหมั่นตรวจหามะเร็งอยู่เสมอ ยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงมาก ควรตรวจเป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีนะคะสาว ๆ
ที่มาข้อมูล : pobpad wattanosothcancerhospital bumrungrad
บทความที่น่าสนใจ :
10 สัญญาณโรคมะเร็งที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้
มะเร็งมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง คุ้มครองอะไรได้บ้าง
เช็คด่วนก่อนจะสาย! 5 สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ที่หญิงไทยต้องรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!