คุณแม่ที่มีภาวะ “หัวนมสั้น” อาจมีความเครียดจนกลัวว่าปัญหานี้จะส่งผลต่อการให้นมลูกน้อย ผ่อนคลายแล้ววางความกังวลลงก่อน ปัญหานี้มีทางออก หัวนมสั้น ให้นมลูก ได้ไหม? เรามีวิธีแก้ไขและท่าให้นมของแม่หัวนมสั้น มาบอก ซึ่งน่าจะพอช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกน้อยได้อย่างมีความสุขค่ะ
หัวนมสั้น คืออะไร
องค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นมีความพยายามในการรณรงค์ให้เด็กทารกแรกเกิด 50% ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน ให้ได้ภายในปี 2025 ซึ่งมีผลสำรวจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย เมื่อปี 2565 พบว่า มีทารกเพียง 29% ที่ได้กินนมแม่ล้วนในช่วง 6 เดือนแรก โดยสาเหตุประการหนึ่งเกิดจากปัญหาหัวนมคุณแม่ไม่พร้อม หัวนมสั้น บอด หรือไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้
ซึ่งภาวะหัวนมสั้น หมายถึง หัวนมคุณแม่ที่สั้นกว่าปกติ ทำให้ลูกน้อยดูดนมได้ยากขึ้น เนื่องจากปากของลูกไม่สามารถอ้ากว้างพอที่จะครอบคลุมทั้งบริเวณลานนม (ส่วนที่เป็นสีเข้มรอบหัวนม) ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ลูกน้อยดูดได้เพียงหัวนม คุณแม่จึงเจ็บเต้านม และอาจทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้
รู้ได้ยังไงว่า หัวนมสั้น
การจะรู้ได้ว่าหัวนมปกติ หรือมีภาวะหัวนมสั้นหรือไม่ คุณแม่สามารถประเมินเบื้องต้นได้เองจากการสังเกตลักษณะของเต้านมและหัวนม โดยการวัดความยาวของหัวนม จากฐานลานนม
- หัวนมปกติ จะมีหัวนมยาว 0.7 – 1 เซนติเมตร
- หัวนมสั้น คือ หัวนมยาวน้อยกว่า 0.7 เซนติเมตร
- หัวนมบอด คือ หัวนมของคุณแม่จะไม่ยื่นออกมา หรือบุ๋มลงไป
นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถเช็กลักษณะและภาวะหัวนมสั้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- วางหัวแม่มือและนิ้วชี้ไว้ที่ฐานของหัวนม ใกล้กับขอบลานนม จากนั้นค่อย ๆ กดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าหากัน เพื่อบีบหัวนมเบา ๆ ให้หัวนมยื่นออกมาจากลานนม ซึ่งหัวนมปกติจะยื่นออกมาจากลานนมปกติ ประมาณ 1 เซนติเมตร หัวนมสั้นจะอยู่กับที่หรือเคลื่อนเล็กน้อย แต่ถ้าหัวนมบอดหัวนมของคุณแม่จะหดตัวกลับและจมลงไป
- วางมือบนเต้านม นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้วางราบไปกับผิวหนัง ให้นิ้วทั้งสองอยู่ชิดหัวนมตรงรอยต่อระหว่างหัวนมและลานหัวนม จากนั้นกดทั้งสองนิ้วเข้าหากัน เป็นการเลียนแบบการดูดนมตามธรรมชาติของลูก หากคุณแม่จับหัวนมได้ แสดงว่าลูกน้อยสามารถดูดนมแม่ได้ แต่ถ้าหัวนมผลุบลงไปจับไม่ติด แสดงว่าหัวนมแบนราบเกินไป หรือหัวนมบุ๋ม จะทำให้ลูกดูดนมแม่ไม่ได้
หัวนมสั้น ให้นมลูก ได้ไหม?
เมื่อทดสอบแล้วคุณแม่พบว่าตัวเองมีภาวะหัวนมสั้น แล้วจะให้นมลูกได้ไหม คำตอบคือ หัวนมสั้น ให้นมลูก “ได้ค่ะ” เพราะปัญหานี้ส่งผลต่อการดูดนมของลูกน้อยไม่มาก อาจทำให้การให้นมลูกเป็นเรื่องที่ท้าทายขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนสำคัญที่ลูกจะต้องอมและงับให้ได้ก็คือ ลานนม และส่วนใหญ่หัวนมกับลานนมจะยืดหยุ่นและนุ่มลงในช่วงหลังคลอด ลูกน้อยจึงดูดนมได้ไม่ยาก เพียงแต่คุณแม่ต้องฝึกท่าให้นมที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคืออย่าให้ลูกดูดจุกนมก่อน เพราะหากลูกน้อยติดจุกนมแล้วการฝึกดูมนมแม่หัวนมสั้นจะยากขึ้นค่ะ
วิธีแก้ไขปัญหาคุณแม่ที่มี หัวนมสั้น ให้นมลูก
คุณแม่ที่มีปัญหา หัวนมสั้น และต้องการ ให้นมลูก สามารถแก้ไขได้ด้วยการนวดคลึงและดึงหัวนมด้วยตัวเอง ซึ่งมีวิธีการดังนี้ค่ะ
จับด้านข้างของหัวนมตรงส่วนที่ติดกับลานนมด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ คลึงเบา ๆ ไปมา พร้อมจับหัวนมดึงยืดออกมาเล็กน้อย แล้วปล่อย ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง วันละ 2 ครั้ง
วางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างให้ชิดโคนหัวนม จากนั้นกดนิ้วและดึงแยกออกจากกันไปทางด้านข้างสองด้านเบา ๆ ทำทั้งจากด้านข้าง ทิศบน และด้านล่าง ให้รอบบริเวณหัวนม ทำซ้ำ 10-20 ครั้งต่อข้าง หลังอาบน้ำ
-
การใช้ที่ครอบหัวนม (Breast Shell หรือ Breast Cup)
โดยครอบให้หัวนมอยู่ตรงกลางรูของฐานที่ครอบ หัวนมจะยื่นขึ้นมาที่ขอบรู และส่วนของที่ครอบที่นาบกับลานหัวนม โดยใส่ไว้ใต้เสื้อชั้นในเฉพาะเวลากลางวันหลังอาบน้ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ วันละ 2-3 ชั่วโมง ประมาณ 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน
ทั้งนี้ กรณีคุณแม่อยู่ระหว่างช่วงตั้งครรภ์ไม่ควรกระตุ้นด้วยการนวดจับ หรือสัมผัสเต้านมและหัวนมนานนะคะ ควรเริ่มเมื่ออายุครรภ์ 14 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากร่างกายจะส่งสัญญาณการกระตุ้นเต้านมไปที่สมองซึ่งอาจทำให้มดลูกบีบรัดตัวจนเกิดภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือภาวะแท้งได้ค่ะ
ที่ครอบหัวนมดียังไง?
การเลือกที่ครอบหัวนมที่เหมาะสมจะช่วยทำให้การให้นมลูกเป็นเรื่องง่ายขึ้นค่ะ โดยที่ครอบหัวนมจะช่วยเพิ่มขนาดของหัวนม ลูกน้อยจึงดูดนมได้สะดวกขึ้น ลดอาการเจ็บเต้านมของคุณแม่ เนื่องจากลดแรงกดทับที่หัวนมคุณแม่จึงรู้สึกสบายขึ้น นอกจากนี้การที่ลูกน้อยดูดนมได้ดีจะสามารถกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจซื้อที่ครอบหัวนมทุกครั้ง เพื่อการเลือกขนาดและชนิดของที่ครอบหัวนมที่เหมาะสม โดยต้องเลือกวัสดุที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ มีขนาดพอดีกับหัวนมของคุณแม่ ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป รวมถึงสามารถถอดประกอบและทำความสะอาดได้ง่าย
|
ข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ที่ครอบหัวนม |
ข้อดี |
ข้อเสีย |
ช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้ง่ายขึ้น |
อาจทำให้ลูกน้อยติดที่ครอบหัวนมหากใช้บ่อยเกินไป หรือใช้ตลอดเวลา |
ลดอาการเจ็บเต้านม |
อาจทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงในระยะยาว |
เพิ่มปริมาณน้ำนมในระยะสั้น |
อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากทำความสะอาดไม่ดี มีรอยร้าวหรือชำรุด |
ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย |
อาจทำให้เกิดปัญหาในการให้นมโดยตรงในอนาคต |
เคล็ด(ไม่ลับ)ลับเพิ่มเติม สำหรับคุณแม่หัวนมสั้น
สิ่งสำคัญที่สุดของคุณแม่ให้นมคือการดูแลร่างกายตัวเองค่ะ คุณแม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอซึ่งจะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ควบคู่กับการสร้างพลังงานให้ร่างกายในการผลิตน้ำนมด้วยอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำในปริมาณที่มากเพียงพอ และต้องไม่ลืมดูแลรักษาความสะอาดของเต้านมเพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วยค่ะ นอกจากนี้ยังมี Tips เพิ่มเติมสำหรับคุณแม่หัวนมสั้นที่ต้องการให้นมลูก ดังนี้
- เริ่มให้นมลูกเร็วที่สุด โดยให้นมลูกทันทีหลังคลอด จะเป็นการช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณแม่
- ให้นมลูกบ่อย ๆ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม
- ควรให้ลูกดูดนมทั้งสองข้าง สร้างความสมดุลในการน้ำนมของทั้งสองเต้า
- ลูกน้อยควรต้องดูดหรืออมทั้งลานนม ไม่ใช่แค่หัวนมเท่านั้น เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม
- ฝึกท่าให้นมที่ถูกต้อง จะช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอาการเจ็บเต้านม และช่วยให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น และควรเปลี่ยนท่าให้นมบ่อย ๆ เพราะจะช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้ทั่วถึง ป้องกันปัญหาเต้านมอักเสบ
“ท่าให้นม” สำหรับคุณแม่ หัวนมสั้น
ท่าให้นมที่ถูกต้องนั้นมีส่วนสำคัญต่อผลลัพธ์การให้นมของคุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมสั้นนะคะ เนื่องจากจะช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้เต็มปากทั้งน้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลังซึ่งมีสารอาหารสำคัญ ลดอาการเจ็บเต้านมลดแรงกดทับที่หัวนม และกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้นด้วย โดยท่าที่แนะนำสำหรับคุณแม่ หัวนมสั้น ให้นมลูก มีดังนี้
-
ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Clutch hold หรือ Football hold)
เป็นท่าที่ลูกน้อยอยู่ในลักษณะกึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย ขาชี้ไปทางด้านหลังของแม่ มือแม่จับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดลูกให้กระชับกับสีข้างแม่ ลูกน้อยดูดนมจากเต้าข้างเดียวกับมือที่จับลูก ส่วนมืออีกข้างประคองเต้านมไว้ ท่านี้จะช่วยให้คุณแม่มองเห็นปากของลูกได้ชัดเจน และควบคุมการให้นมได้ง่ายขึ้น
-
ท่านอนตะแคงข้าง (Side lying position)
คือ แม่ลูกนอนตะแคงเข้าหากัน แม่นอนศีรษะสูงเล็กน้อยหลังและสะโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านล่างประคองตัวลูกให้ชิดลำตัวแม่ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดีก็ขยับออกได้
-
ท่าตั้งตรง (Upright or Standing Baby)
อุ้มลูกน้อยตัวตั้งตรง ขาลูกคร่อมต้นขาคุณแม่ ศีรษะและลำตัวของลูกเอนเล็กน้อย โดยใช้มือคุณแม่ประคองศีรษะของลูกและเต้านม
การให้นมลูกเป็นช่วงเวลาที่สวยงามและมีความสุข แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ด้วยความรัก ความอดทน และการดูแลตัวเองอย่างดี คุณแม่ก็สามารถให้นมลูกได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือ อย่าท้อแท้และอย่ากังวลเกินไปปัญหาหัวนมสั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยความอดทนและการฝึกฝน ถ้าคุณแม่มีความตั้งใจและมีการขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม การให้นมลูกน้อยไปจนถึงอายุครบ 6 เดือน หรือยาวนานกว่านั้น ย่อมประสบความสำเร็จอย่างสวยงามแน่นอน
ที่มา : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย , www.unicef.org , www.princsuvarnabhumi.com , www.phukethospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เป็นมั้ย? ให้นมลูกหิวบ่อย เปิดเหตุผลที่คุณแม่หลังคลอดหิวง่าย กินบ่อย
คุณแม่อัพไซส์ เสริมหน้าอก ให้นมลูกได้ไหม น้ำนมจะน้อยหรือเปล่า
แม่ให้นม เต้าไม่คัด ทำไงดี ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!