ปัญหาลูกนอนน้อย เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องเผชิญ เพราะการที่ลูกนอนหลับยาก ตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง ทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยเองพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อพัฒนาการและสุขภาพของลูกได้ การได้นอนหลับสนิทยาวนานในช่วงกลางคืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทุกคน เพราะการนอนหลับช่วยให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนและซ่อมแซมตัวเอง ทำให้เด็กเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาที่ดี เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาลูกนอนน้อย พร้อมทั้งนำเสนอ วิธีช่วยให้ลูกหลับง่าย มีพัฒนาการที่ดี และยังทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นอีกด้วย
การนอนของเด็กในแต่ละช่วงวัย
การนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของลูกน้อย การเข้าใจพัฒนาการการนอนหลับของเด็กในแต่ละช่วงวัย จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างเหมาะสมและตอบสนองความต้องการในการนอนของลูกได้ดี เด็กแต่ละวัยมีลักษณะการนอนที่เป็นปกติแตกต่างกัน รวมถึงมีปัจจัยที่ทำให้ ลูกหลับง่าย หรือ หลับยาก แตกต่างกันไปด้วย
-
การนอนของทารกแรกเกิด – 2 เดือน
ทารกแรกเกิดถึง 2 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ทารกยังปรับตัวในเรื่องของการกินกับการนอน ดังนั้น การนอนหลับของทารกในช่วงวัยนี้จึงยังไม่เป็นเวลาและค่อนข้างสั้นๆ จะต้องการเวลานอนประมาณ 16-18 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากทารกยังไม่สามารถควบคุมการนอนหลับได้เอง และมีความต้องการในการกินนมบ่อยครั้ง อาจจะทุกๆ 2-3 ชั่วโมง จึงทำให้ตื่นบ่อยและนอนหลับไม่เป็นเวลานั่นเอง
-
การนอนของทารกวัย 3 – 6 เดือน
เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงอายุ 3-6 เดือน จะเริ่มมีพัฒนาการด้านการนอนหลับมากขึ้น ทั่วไปเด็กวัยนี้จะต้องการนอนหลับประมาณ 14-15 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการพัฒนาการของสมองและร่างกาย และเริ่มสามารถนอนหลับติดต่อกันในช่วงกลางคืนได้นานขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณ 6 ชั่วโมง ส่วนช่วงกลางวันจะนอนประมาณ 2-3 ครั้ง และระยะเวลาในการนอนก็จะสั้นลงด้วยเช่นกัน
-
การนอนของทารกวัย 6 เดือน – 1 ปี
เด็กในวัย 6 เดือนถึง 1 ขวบ ถือเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการด้านการนอนเป็นเวลามากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ววัยนี้จะต้องการนอนประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน และนอนหลับในช่วงกลางคืนจะนานติดต่อกันประมาณ 10 ชั่วโมง และการนอนในช่วงกลางวันจะน้อยลง ซึ่งในเด็กบางคนการนอนในช่วงกลางคืนอาจจะนอนได้น้อยกว่าหรือมากกว่า 10 ชั่วโมงก็เป็นได้
ทำไมลูกน้อยถึงนอนหลับยาก ?
ลูกน้อยที่นอนหลับยากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ การที่ลูกนอนยาก ลูกตื่นกลางดึก อาจมีสาเหตุได้หลากหลาย เช่น
ในช่วง 2 เดือนแรก ลูกยังเล็กเกินไปที่จะมีรูปแบบการนอนที่สม่ำเสมอ เพราะการนอนของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ยังไม่สามารถแยกแยะกลางวันกลางคืน และต้องตื่นมากินนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ส่งผลให้การนอนหลับยังไม่ต่อเนื่อง
เกิดจากการที่ลูกน้อยชินกับการกินนมเป็นประจำและบ่อยครั้ง เมื่อลูกน้อยตื่นขึ้นมาร้องไห้ คุณแม่มักจะเข้าใจว่าลูกหิว จึงให้นมลูก ซึ่งเมื่อคุณแม่ทำแบบนี้บ่อยๆ จะให้ลูกเรียนรู้ว่า ถ้าร้องไห้ก็จะได้กินนมทุกครั้ง จึงทำให้ร่างกายปรับตัวให้ตื่นขึ้นมาเพื่อกินนมตามเวลาที่เคยชิน ทำให้การนอนของลูกไม่ต่อเนื่อง
เพื่อที่จะให้ลูกหลับ ไม่ว่าจะก่อนนอนหรือทุกๆ ครั้งที่ลูกตื่น ร้องไห้ คุณแม่มักจะให้ลูกกินนมทุกครั้ง ลูกจึงได้รับนมเยอะและบ่อยเกินไป อาจทำให้ระบบย่อยอาหารของลูกน้อยทำงานหนัก ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับของลูกได้
-
นอนกลางวันมากหรือน้อยเกินไป
เด็กในแต่ละวัยมีความต้องการในการนอนหลับที่แตกต่างกัน ในเด็กทารกหรือเด็กเล็กความต้องการงีบหลับในช่วงกลางวันจะมีหลายครั้ง ซึ่งหากลูกนอนช่วงกลางวันไม่พอ ก็อาจส่งผลให้ช่วงกลางคืนลูกจะเข้านอนยาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่นอนได้ แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นการที่ลูกนอนกลางวันมากเกินไป อาจทำให้ช่วงกลางคืนลูกไม่ยอมนอน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูก เพื่อปรับเปลี่ยนตารางนอนให้เหมาะสมซึ่งเป็น วิธีช่วยให้ลูกหลับง่าย และยาวต่อเนื่องในช่วงกลางคืน
บรรยากาศในการนอนก็มีส่วนสำคัญมาก ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนหลับของลูกน้อย เช่น แสงสว่าง อาจจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกตื่นตัวและไม่ง่วงนอน เสียงดัง เสียงรบกวนต่างๆ อุณหภูมิภายในห้องอาจจะร้อนหรือเย็นเกินไป กลิ่นฉุนต่างๆ หรือความสะอาดในห้องนอน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกนอนหลับได้ยาก
หากลูกน้อยมีอาการไม่สบาย เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ เป็นหวัด ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว เจ็บปวด อึดอัด หรือไม่สบายใจ ส่งผลให้การนอนหลับของลูกเป็นไปได้ยาก
ถ้าลูกเคยฝันร้ายมาก่อน อาจทำให้กลัวที่จะเข้านอน เพราะกลัวว่าจะฝันร้ายอีก ซึ่งความกลัวนี้ก็อาจจะทำให้ลูกนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทได้ ยิ่งถ้าลูกนอนไม่เพียงพอ หรือไม่เป็นเวลาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาการนอนหลับแย่ลงไปอีก
การที่พ่อแม่ให้ลูกเข้านอนดึกหรือนอนไม่เป็นเวลา ทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมก่อนนอน เช่น ให้ลูกดูทีวี เล่นโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือที่น่ากลัว น่าตื่นเต้น กินขนมหรือนมก่อนนอน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกนอนยากได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกนอนในเวลาเดียวกันทุกคืน และทำกิจกรรมหรือกิจวัตรต่างๆ ก่อนนอนให้เรียบร้อย
การที่ลูกตื่นขึ้นมาไม่เจอหน้าคุณพ่อคุณแม่ จึงทำให้ลูกรู้สึกกลัวและกังวลและเกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คน ลูกจึงไม่กล้าที่จะนอนคนเดียว ดังนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่คอยนั่งอยู่ข้างๆ จนกว่าลูกจะหลับ จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลายและหลับได้ง่ายขึ้น
-
ยังไม่รู้ว่าช่วงเวลานอนคือเมื่อไหร่
หากคุณพ่อคุณแม่มีกิจวัตรที่ทำเป็นประจำก่อนนอน เปรียบเสมือนสัญญาณบอกเวลาให้ลูกน้อยรู้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว เช่น การอ่านนิทาน หรือการพูดคุยกันเบาๆ เมื่อทำกิจวัตรเหล่านี้เป็นประจำทุกคืน ลูกจะเรียนรู้และเข้าใจว่าถึงเวลาที่ต้องนอนแล้วเป็น วิธีช่วยให้ลูกหลับง่าย ทำให้การเข้านอนเป็นเรื่องง่ายและธรรมชาติที่สุด
5 วิธีช่วยให้ลูกหลับง่าย ไม่ตื่นกลางดึก
เพื่อให้ลูกน้อยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และเติบโตอย่างแข็งแรง วิธีช่วยให้ลูกหลับง่าย ไม่ตื่นกลางดึก จะมีอะไรบ้าง
1. สร้างตารางนอนที่สม่ำเสมอ
-
- เวลานอนและตื่น กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ลูกเป็นประจำทุกวัน แม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์
- สัญญาณบอกเวลานอน ก่อนถึงเวลานอนประมาณ 30 นาที ให้เริ่มทำกิจกรรมที่เงียบสงบ เช่น อ่านนิทาน อาบน้ำ หรือฟังเพลงเบาๆ เพื่อบอกให้ร่างกายของลูกเข้าสู่โหมดพักผ่อน
- ห้องนอนที่เงียบสงบและมืดมิด ห้องนอนของลูกควรมีความมืดมิดและเงียบสงบ เพื่อส่งเสริมการหลับสนิท
2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอนหลับ
-
- อุณหภูมิที่เหมาะสม ควบคุมอุณหภูมิในห้องนอนให้เย็นสบาย ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป
- แสงสว่าง ปรับแสงไฟให้สลัว เพื่อให้เหมาะกับการพักผ่อน ช่วยทำให้ลูกหลับได้ง่ายยิ่งขึ้น
- เสียงรบกวน ลดเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงรถ เสียงคนเดิน หรือเสียงสัตว์เลี้ยง
- ที่นอนและหมอน เลือกที่นอนและหมอนที่นุ่มสบายและมีขนาดเหมาะสมกับตัวลูก
3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
-
- เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว คุณแม่ควรให้ลูกกินนมให้อิ่มพอดีก่อนนอน อย่าให้อิ่มมากเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องอืดและทำให้นอนหลับไม่สนิทได้
- เด็กที่กินอาหารเสริมหรือของว่างได้บ้าง หากลูกหิวก่อนนอน ให้เลือกอาหารว่างที่เบาๆ เช่น นมอุ่นๆ ผลไม้
- ดื่มน้ำ ให้ลูกดื่มน้ำเพียงพอในระหว่างวัน แต่ควรจำกัดปริมาณน้ำก่อนนอนเพื่อป้องกันการตื่นมาฉี่
4. สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่ผ่อนคลาย
-
- อาบน้ำอุ่น การอาบน้ำอุ่นก่อนนอนจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย
- อ่านนิทาน การอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นกิจกรรมที่สนุกและช่วยให้ลูกผ่อนคลาย
- นวดตัวเบาๆ จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและหลับสบายขึ้น
- กอดและจูบ ก่อนนอนควรให้ลูกน้อยรู้สึกถึงความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ ด้วยการกอด จูบ และพูดคุยกันเบาๆ
5. ปรับกิจกรรมก่อนนอน
-
- หลีกเลี่ยงการใช้จอ หลีกเลี่ยงการให้ลูกดูโทรทัศน์ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะไปรบกวนการนอนหลับของลูก
- หลีกเลี่ยงการเล่นก่อนนอน กิจกรรมที่ตื่นเต้นจะทำให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีน ซึ่งจะทำให้ลูกตื่นตัวและนอนไม่หลับ
- หลีกเลี่ยงการปลุกลูกบ่อยครั้ง การปลุกลูกบ่อยครั้งจะทำให้วงจรการนอนของลูกผิดปกติ
วิธีช่วยให้ลูกหลับง่าย ไม่ตื่นกลางดึกนั้นต้องอาศัยความพยายามในการสร้างนิสัยที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอนหลับ ถึงแม้ว่าปัญหาลูกนอนยากจะเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะสามารถหาทางแก้ไขได้ การที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจสาเหตุที่ทำให้ลูกนอนไม่หลับ จะสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมในการดูแลลูกได้อย่างตรงจุด เมื่อลูกน้อยได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็จะเติบโตอย่างแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดี
ที่มา : Helloคุณหมอ , Pobpad
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมที่ทำให้ลูกหลับสบาย ที่พ่อแม่ไม่ควรพลาด!
วิธีเลี้ยงลูกให้มี Self-esteem ไม่ยอมให้ใครรังแก และไม่เอาเปรียบใคร
เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ 2 ขวบ พูดไม่ได้! หมอชี้สาเหตุเพราะขาดทักษะสำคัญ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!