ลูกหัวกระแทกพื้น ล้มหัวฟาดพื้น หัวโน เล่นแล้วลูกล้มหัวโน หรือหงายหลังหัวฟาดพื้น นี่เป็นเรื่องเล็กที่เด็ก ๆ แค่หัวโน หรือมีอันตรายมากกว่านั้น แล้วแม่จะรู้ได้อย่างไร มาดูวิธีสังเกตอาการแบบไหนอันตรายต้องไปหาหมอ และ 5 ข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกน้อยวัยเตาะแตะหัวกระแทก
เด็กหัวโน ลูกหัวกระแทกพื้นแบบไหนอันตราย ต้องไปหาหมอ
5 ข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกน้อยวัยเตาะแตะหัวกระแทก
คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกน้อยอยู่ในวัยเตาะแตะเริ่มหัดเดิน หลายท่านคงเคยประสบปัญหาลูกน้อยล้มหัวกระแทก หรือลูกหัวกระแทกพื้นกันใช่ไหมคะ ปัญหานี้อาจนำมาซึ่งความกังวลใจเป็นอย่างมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หมอขอแนะนำ 5 ข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกน้อยหัวกระแทกดังนี้ค่ะ
1. พิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ในอุบัติเหตุหัวกระแทกนั้น หากมีปัจจัยดังนี้ต้องรีบนำลูกไปพบคุณหมอโดยทันที ได้แก่
- ตกจากที่สูง มากกว่าความสูงของเด็ก
- กระแทกกับพื้นที่มีความแข็ง
- กระแทกกับสิ่งของหรือขอบที่มีเหลี่ยม มุม ที่มีโอกาสเกิดแผลฉีกขาด
- มีบาดแผลที่ลึก หรือกว้าง เช่น ขอบปากแผลปิดเข้าหากันไม่ได้
- มีบาดแผลที่เลือดออก ไหลไม่หยุด
เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการบาดเจ็บ กระทบกระเทือนศีรษะมากขึ้น
2. สังเกตอาการของลูกว่ามีอาการซึ่งบ่งถึงความผิดปกติของเนื้อสมองหรือเส้นเลือดในสมองจากการกระทบกระเทือน ดังนี้หรือไม่
- หมดสติ
- ง่วงซึมผิดปกติ
- ชัก เกร็ง กระตุก ทั่วทั้งตัวหรือมีอาการเฉพาะที่
- ดูกระสับกระส่ายผิดปกติ
- ปวดศีรษะรุนแรง
- คลื่นไส้และอาเจียนมาก
- เวียนศีรษะ
- ตามัว เห็นภาพซ้อน
- คอแข็งผิดปกติ ก้มศีรษะลำบาก
- แขนขาอ่อนแรงหรือไม่ค่อยขยับแขนขา
- มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหูหรือจมูก
ทั้งนี้ หากลูกมีอาการอื่น ๆ ที่ดูผิดปกติไปจากเดิม ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความกังวลและไม่แน่ใจ ก็ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลทันทีนะคะ
3. หากลูกไม่มีปัจจัยเสี่ยงซึ่งบ่งถึงอันตรายจากการบาดเจ็บกระทบกระเทือนศีรษะและสมอง ในข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ลูกก่อน ดังนี้
- ประคบศรีษะบริเวณที่กระแทกด้วยความเย็น โดยใช้ถุงเย็น (cold pack) หรือน้ำแข็งห่อผ้าสะอาดโปะไว้อย่างน้อยครั้งละ 15 นาทีจะช่วยลดอาการบวมของศีรษะบริเวณที่กระแทกได้
- สังเกตบริเวณศีรษะของลูกให้ทั่วว่ามีบาดแผลหรือมีอาการบวมในบริเวณใดบ้าง ทั้งนี้หากศีรษะบวมมาก หรือ มีบาดแผลที่ไม่แน่ใจว่าต้องเย็บหรือไม่ ก็ควรไปปรึกษาคุณหมอค่ะ
4. หากลูกดูปกติดี คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสังเกตอาการของลูก โดยต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลลูกอยู่อย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
ไม่ให้ลูกอยู่ตามลำพังโดยเด็ดขาด และคอยสังเกตอาการ หากมีความผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ก็ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะบางครั้งความผิดปกติต่าง ๆ จากการกระทบกระเทือนของสมอง เช่นอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก เกร็งกระตุก อาจไม่ได้เกิดทันที แต่มักจะเกิดขึ้นได้หลังจากการที่หัวกระแทกแล้วภายใน 24 ชั่วโมง
5. ระหว่างการสังเกตอาการลูกหลังหัวกระแทกภายใน 24 ชั่วโมง อยู่ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกฏิบัติตัว ดังนี้
- ทานอาหารอ่อนๆ
- งดออกกำลังกาย
- งดทานยาที่ทำให้ง่วงซึม เพราะจะทำให้เราไม่ทราบว่าหากลูกซึมลง จะเกิดจากการกระทบกระเทือนของสมองหรือจากผลข้างเคียงของยา จึงสังเกตอาการได้ลำบาก
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับ 5 ข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกน้อยหัวกระแทกที่หมอได้สรุปมา หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่มีลูกน้อยวัยเตาะแตะ ได้สังเกตเวลาลูกหัวกระแทกพื้น ทั้งนี้ การป้องกันอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ไม่ควรให้ลูกน้อยวัยนี้คลาดจากสายตาผู้ใหญ่แม้เพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ตลอดเวลาค่ะ
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อินดี้วัยเตาะแตะชอบหยิก กัด จัดการอย่างไรดี
เด็กไทยแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกินตัว อันตราย! ร่างกายบาดเจ็บ มีผลต่อการเรียนรู้
ลูกเป็นหวัด ทำอย่างไรให้หายป่วยเร็ว แม่สงสารจับใจ ตัวเล็กแค่นี้ป่วยบ่อยเหลือเกิน เมื่อไหร่จะหาย
พ่อแม่กดดันลูก คาดหวังลูกมากเกินไป ระวังลูกป่วยเป็นจิตเวช
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!