วิธีปั๊มหัวใจ ทำ CPR ผายปอดที่ถูกต้อง
แม่ ๆ ต้องรู้ วิธีปั๊มหัวใจ ทำ CPR ผายปอดที่ถูกต้อง เมื่อทารกหมดสติหรือลูกหยุดหายใจ จะได้ช่วยเหลือลูกได้ทันท่วงที
วิธีช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในเด็กทารก
1. ประเมินการตอบสนองของลูก ด้วยการตบที่หัวไหล่ของลูกเบาๆ และตะโกนเรียกดังๆ (ควรระวังหากได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกต้นคอ) หากไม่มีการตอบสนองให้โทรขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์กู้ชีพหมายเลข 1669 ทันที
2. ทำตามสเต็ป C-A-B
C: Chest compression – กดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจ เพื่อเพิ่มความดันภายในช่องทรวงอก เพิ่มแรงดันที่หัวใจโดยตรง ทำให้มีการไหลเวียนโลหิต ส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจและสมอง
ในกรณีเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้ใช้มือข้างหนึ่งจับที่หน้าผากลูก ส่วนอีกข้างใช้นิ้วสองนิ้วกดตรงกึ่งกลางหน้าอก กดลึกประมาณ 1.5 นิ้ว และกดเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที จำนวน 30 ครั้ง
ในกรณีเด็กโต ให้ใช้ส้นมือกดตรงกึ่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนม 2 ข้าง ลึกประมาณ 2 นิ้ว และกดเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที จำนวน 30 ครั้ง
A: Airway – เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยการเชิดหัว-เชยคาง (head tilt-chin lift) หรือยกกราม (jaw thrust)
B: Breathing – ช่วยหายใจ เพื่อรักษาระดับออกซิเจนให้เพียงพอ และขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออก
ในกรณีเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ช่วยหายใจโดยประกบปากของคุณแม่หรือคุณพ่อครอบทั้งปากและจมูกของลูก
ในกรณีเด็กโต เป่าปากได้โดยประกบปากของคุณแม่หรือคุณพ่อบนปากลูกเท่านั้น (ไม่รวมจมูก)
เป่าลมหายใจออก 2 ครั้ง แต่ละครั้งยาว 1 วินาที และสังเกตว่าหน้าอกของลูกขยายตามการเป่าลมหรือไม่ จากนั้นเริ่มกดหน้าอกต่อ โดยให้อัตราการกดหน้าอกต่อการช่วยหายใจ = 30:2
ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึงค่ะ
ดูตารางสรุปวิธีปั๊มหัวใจ ผายปอด ทำ CPR ช่วยชีวิตเด็กและผู้ใหญ่ที่ถูกต้อง ด้านล่างนี้
เครดิต redcross.org
ที่มา redcross.org, csip.org, thaicpr.com
5 ป. การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในเด็กทารก
นอกจากวิธีปั๊มหัวใจ ทำ CPR ผายปอดที่ถูกต้อง ตามรายละเอียดด้านบนแล้ว เรายังมีคลิปวิดีโอ การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในเด็กทารก มาให้ความรู้พ่อแม่ ผู้ปกครอง กันด้วยค่ะ
สมาชิก YouTube ชื่อ Pronthana Chunsawang ได้เผยแพร่คลิป การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในเด็กทารก (CPR – เด็กทารก) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2015 เป็นการสาธิตช่วยชีวิตทารก โดยให้ใช้หลัก 5 ป. ในการฝึกปฏิบัติ การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในเด็กทารก คือ มีอายุต่ำกว่า 1 ปี
ป 1 คือ ประเมิน
เราต้องประเมินสถานการณ์ดูความปลอดภัยโดยรอบของเด็กทารกที่หมดสติ
ป 2 คือ ปลุก
เป็นการตรวจสอบว่าเด็กทารกหมดสติ ไม่หายใจจริง ภายใน 10 วินาที ใช้มือตบที่ฝ่าเท้าแรงๆ เรียก หนู หนู หนู จับแขนยกแล้วปล่อย จับขายกแล้วปล่อย เพื่อดูการตอบสนอง สังเกตที่สีหน้า หน้าจะซีดเขียว สังเกตหน้าอก และหน้าท้องนิ่งไม่มีการกระเพื่อมขึ้นลง
ป 3 คือ ปั๊ม
สันมือวางเหนือคิ้ว ใช้ 2 นิ้ว คือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง หรือ นิ้วกลางและนิ้วนาง กดที่ครึ่งล่างกระดูกหน้าอก หรือกึ่งกลางระหว่างราวนม กดหน้าอก 30 ครั้ง กดให้หน้าอกยุบลงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของความหนาทรวงอกเด็กทารก กดด้วยอัตราความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที
ป 4 คือ เป่า
เป่าปาก จำนวน 2 ครั้ง เป่าครั้งละ 1 วินาที ปากครอบปากและจมูกของเด็กทารก เป่าปากครั้งที่ 1 ถอนปาก แล้วก้มปากครอบปากและจมูกของเด็กทารก เป่าปากครั้งที่ 2 กด หน้าอก สลับกับการเป่าปาก ครบ 5 รอบ
ป 5 คือ ประกาศ
เป็นการขอความช่วยเหลือ เมื่อกดกน้าอก สลับกับการเป่าปากครบ 5 รอบ แล้วจึงโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ แจ้งสถานที่เกิดเหตุสั้นและชัดเจน จำนวนผู้บาดเจ็บ พร้อมทั้งแจ้งชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ที่โทรขอความช่วยเหลือ
เครดิต Pronthana Chunsawang
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเด็กสำลักอาหารฉบับการ์ตูน เข้าใจง่าย! มีคลิป
10 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เด็กรอดพ้นอันตราย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!