เพราะในช่วงแรกๆ หลังลืมตาดูโลก ลูกน้อยจะถ่ายบ่อยถึงวันละ 3-4 ครั้ง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่จะเกิดความกังวลเมื่อ ลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูกหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้ว รูปแบบการขับถ่ายของทารกแต่ละคนจะแตกต่างกันไป การจะบอกว่าลูกท้องผูกหรือถ่ายผิดปกติไหม ไม่ใช่แค่อ้างอิงจากความถี่ในการขับถ่ายเท่านั้น แต่จำเป็นต้องสังเกตจากหลายปัจจัยค่ะ ทั้งสีของอุจจาระ และอาการอื่นๆ ของลูกประกอบกันด้วย มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง แล้วไม่ถ่ายนานแค่ไหนถึงจะน่ากังวล
ลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูกรึเปล่า
ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่า ในช่วงหลังคลอด 1-2 เดือนแรก “นมแม่” จะมีสารที่ช่วยให้ลำไส้ลูกน้อยเคลื่อนไหวตัวได้เร็ว เพื่อเร่งการขับถ่ายสารสีเหลือง (บิลิรูบิน) ออกจากร่างกาย ทำให้ลูกน้อยถ่ายบ่อย วันละหลายครั้ง แต่เมื่อนานวันเข้าสารดังกล่าวจะลดลงไป ลูก 1 เดือน กินนมแม่ จึงอาจถ่ายเพียงวันละ 1 ครั้ง หรือหลายวันถึงจะถ่าย
โดยในเด็กบางคนนั้นอาจนานถึง 2-3 สัปดาห์ เพราะสารอาหารในนมแม่ดูดซึมไปใช้ได้เกือบหมด เหลือของเสียที่ต้องเร่งกำจัดออกจากร่างกายไม่มาก จึงทิ้งช่วงการขับถ่ายได้หลายวันโดยที่อุจจาระไม่แข็ง ซึ่งลักษณะนี้ไม่จัดว่ามี “ภาวะท้องผูก” ค่ะ ไม่จำเป็นต้องกินยาระบายหรือน้ำผลไม้แต่อย่างใด เพียงแต่คุณแม่ต้องสังเกตว่า เวลาที่ลูกน้อยถ่ายแต่ละครั้งนั้นถ่ายสะดวกหรือไม่ ถ้าถ่ายสะดวกลักษณะอุจจาระจะดูนิ่ม หรืออาจมีส่วนแข็งเล็กน้อยในช่วงแรกๆ เท่านั้น
ลูกไม่ยอมถ่าย นานแค่ไหนถึงเรียกว่า ท้องผูก
อย่างที่บอกค่ะว่านอกจากเรื่องถ่ายหรือไม่ถ่าย และความถี่ในการถ่ายเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมการขับถ่ายของลูกน้อยร่วมด้วย จึงจะสามารถบอกได้ว่าลูกน้อยมีอาการท้องผูกหรือไม่ ซึ่งการขับถ่ายของทารกจะแตกต่างกันไปตามช่วงวัย โดยสำหรับทารกที่กินนมแม่ ควรถ่ายอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงคุณแม่ต้องสังเกตลักษณะอุจจาระและอาการขณะถ่ายของลูกน้อยด้วย ดังนี้
- ทุกครั้งของการขับถ่าย ลูกควรขับถ่ายได้ง่าย ไม่งอแง อุจจาระมีลักษณะนิ่ม ไม่แข็งและแห้ง
- หากลูกน้อยถ่ายตรงตามเวลาที่เหมาะสม แต่อุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก หรือไม่ถ่ายนานกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ร่วมด้วย ก็เป็นไปได้ว่าลูกอาจมีอาการท้องผูก
- หากอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ต้องออกแรงเบ่งมาก ในเด็กเล็กอาจถึงกับหน้าดำหน้าแดง กรีดร้อง ก่อนจะถ่ายออกมาเหนียว แข็ง แบบนี้ก็อนุมานได้ว่าลูกมีอาการท้องผูกค่ะ
- สำหรับ ลูก 1 เดือน กินนมแม่ หากอุจจาระนิ่มดี แต่ไม่ยอมถ่ายหลายวัน รวมถึงไม่ได้แสดงอาการอึดอัดท้อง ไม่ถือว่าท้องผูกนะคะ
ลักษณะอุจจาระที่ควรจะเป็นของ “เด็กนมแม่”
อุจจาระของ “เด็กนมแม่” จะมีสีและลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของทารกและอาหารที่คุณแม่กินเข้าไป โดยส่วนใหญ่ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจะมีอุจจาระค่อนข้างเหลว บางครั้งถึงกับเป็นน้ำ ไม่ต้องกังวลนะคะ ลูกน้อยไม่ได้ท้องเสียค่ะ โดยคุณแม่สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอุจจาระทารกแรกเกิดที่กินนมแม่ได้ดังนี้
|
ลักษณะอุจจาระของ “เด็กนมแม่”
|
1-2 วันแรกหลังคลอด |
- ทารกจะถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง
- อุจจาระจะเหนียว มีสีเขียวเข้มถึงดำ คล้ายน้ำมันดิน เรียกว่า ขี้เทา (meconium)
|
วันที่ 2 หลังคลอด |
- อุจจาระจะเริ่มเป็นสีเขียวจางลง มีน้ำปนมากขึ้น
- บางคนจะมีสีน้ำตาลปนเม็ดๆ ในอุจจาระ
|
วันที่ 3- 4 หลังคลอด |
- เป็นช่วงที่ลูกได้ดูดนมแม่บ่อยขึ้น สีอุจจาระจะค่อยๆ จางลงจากเขียวเข้มเป็นสีเขียวปนเหลือง
- ลักษณะอุจจาระจะเหนียวน้อยลงและมีน้ำปนมากขึ้น (transitional stool)
- อุจจาระมีปริมาณมากขึ้น โดยลูกจะถ่ายเฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อวัน
|
หลังจากวันที่ 4 |
- เด็กนมแม่จะมีอุจจาระสีเหลืองทอง นิ่มจนถึงเหลว คล้ายโจ๊กใส่ฟักทอง
- อุจจาระจะมีน้ำปนค่อนข้างมาก โดยจะเห็นเนื้ออุจจาระอยู่ตรงกลางและมีน้ำแผ่ออกโดยรอบ
|
ช่วงอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ |
- โดยเฉลี่ยจะถ่ายมีเนื้ออุจจาระมากพอควร 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อวัน
- บางคนอาจถ่ายกะปริบกะปรอยจำนวนน้อยๆ หลังจากดูดนมแม่ทุกครั้ง เป็นสัญญาณที่ดีว่าทารกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอ
- อุจจาระอาจเป็นสีเหลืองทองมีลักษณะคล้ายเม็ดมะเขือปนอยู่
|
อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป |
- อุจจาระจะมีเนื้อมากขึ้น จากลักษณะเละเป็นโจ๊กกลายเป็นเหมือนยาสีฟันเหนียวๆ
- สีอาจมีตั้งแต่ สีเหลืองทอง จนถึงสีออกเขียวปนเหลือง ขึ้นกับอาหารที่แม่กิน
- ลูกจะถ่ายจำนวนครั้งลดลง เหลือวันละ 1-2 ครั้ง
|
ทั้งนี้ บางครั้งอุจจาระของลูกน้อยที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจจะเป็นน้ำสีเขียวๆ ปนเม็ดมะเขือ เป็นน้ำสีเหลือง หรือน้ำสีเขียวจำนวนไม่มากติดออกมากับผ้าอ้อม บางคนมีมูกเขียวๆ ปนออกมาด้วย โดยที่ยังคงมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ต่างจากกลิ่นเหม็นเน่าหรือเหม็นเปรี้ยวของอุจจาระทารกที่ท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสค่ะ
ลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ถ่ายหลายวัน ควรทำอย่างไร ?
หากลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ถ่ายหลายวัน และมีอาการอึดอัดแน่นท้องร่วมด้วย คุณแม่อาจช่วยให้ลูกขับถ่ายง่ายขึ้น ด้วยการที่คุณแม่ให้นมลองเลือกกินผักผลไม้ที่ช่วยระบาย เช่น ส้ม พรุน มะละกอ มะขาม รวมทั้งดื่มน้ำมากๆ และเน้นให้ลูกน้อยได้กินนมส่วนหน้า (น้ำนมส่วนแรกที่ออกมาตอนที่ลูกเริ่มกินนมจากเต้า) ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกน้อยขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือ คุณแม่ไม่ควรสวน หรือเหน็บอุจจาระให้ลูก เพราะจะทำให้ลูกน้อยเคยตัวและไม่ยอมถ่ายด้วยตัวเอง
- อาจใช้วิธีแช่น้ำอุ่นและนวดท้องให้ลูกน้อย เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ลูกขับถ่ายได้ง่ายขึ้น และการนวดบริเวณท้องของลูกน้อยเบาๆ จะกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้มากขึ้นค่ะ
|
วิธีนวดท้องลูก แบบ I LOVE YOU เพื่อช่วยระบายลม เคลื่อนไหวลำไส้
|
1. ท่า I |
ใช้ฝ่ามือลูบเป็นเส้นตรงจากใต้ราวนมด้านซ้ายของลูก ถึงบริเวณท้องน้อยเป็นตัว I |
2. ท่า LOVE |
ใช้ฝ่ามือลูบเป็นตัว L กลับหัว บริเวณท้อง โดยเริ่มลากมือจากซ้ายไปขวาตามแนวนอนถึงใต้ชายโครงซ้าย แล้วลากลงตรงๆ ถึงบริเวณท้องน้อย |
3. ท่า YOU |
ใช้ฝ่ามือลูบบริเวณท้องเป็นรูปตัวยูคว่ำ โดยเริ่มจากขวาของลูกน้อยไปทางซ้าย |
4. ท่าปูไต่ |
ปิดจบด้วยท่าปูไต่พุง โดใช้นิ้วมือข้างขวาเดินไต่บริเวณท้องน้อย เริ่มจากขวาของลูกเหมือนกับการเล่นปูไต่ |
- ช่วยลูกออกกำลังกาย เพราะการเคลื่อนไหวมากขึ้นจะส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ดี คุณพ่อคุณแม่จึงควรเล่นกับลูกน้อยโดยให้ลูกได้เคลื่อนไหว หรือช่วยลูกทำท่าปั่นจักรยานอากาศ (Air Cycling) โดยให้ลูกน้อยนอนหงายราบไปกับพื้น แล้วจับขาของลูกชูขึ้นด้านบน และเคลื่อนไหวคล้ายท่าปั่นจักรยานเพื่อกระตุ้นลำไส้ หรือให้ลูกนอนราบแล้วยกขาเข้าหาหน้าอก อาจช่วยให้ลูกขับอุจจาระออกมาง่ายมากขึ้นด้วยค่ะ
- ปรึกษาแพทย์ หากลองทุกวิธีเพื่อบรรเทาอาการลูกไม่ยอมถ่าย แล้วไม่ประสบความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับช่วงวัยค่ะ
การที่ลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ยอมถ่ายหลายวัน โดยไม่ได้มีลักษณะอาการอื่นใดที่น่าเป็นห่วง ถือได้ว่าไม่ได้เป็นปัญหาที่น่ากังวลใจนะคะ ซึ่งเป็นอาการที่มักหายได้เอง เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกด้วยวิธีที่เหมาะสม หรือตามคำแนะนำแพทย์ แต่หากลูกน้อยไม่ถ่ายนาน 5–10 วัน อุจจาระมีเลือดปน หรือมีสีดำ มีอาการงอแงมากกว่าปกติ ไม่ยอมกินนม ท้องบวม อาเจียน เป็นไข้ หรือดูซึมกว่าปกติ แบบนี้ต่างหากที่เป็นอาการรุนแรงและควรพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
ที่มา : worldmed.center , สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ , www.pobpad.com , hdmall.co.th , thaibf.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อากาศชื้น ระวัง! ลูกน้อยเสี่ยงเป็น เชื้อราแมว
วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย ทำยังไงให้ลูกน้อยถ่ายง่าย ท้องไม่ผูก
ลูกชอบโยนของ รับมือยังไง ? พร้อมแชร์เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูกน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!