เรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพบเจอแน่ ๆ เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยหัดเดิน คือ การเห็นลูกขว้างปาสิ่งของรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อาหาร หรือแม้แต่จานชาม แก้วน้ำ ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่ลูกน้อยกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับโลกและสิ่งรอบตัวค่ะ แต่อาจเป็นพัฒนาการที่เป็นเรื่องน่าหงุดหงิดและกังวลใจไม่น้อยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ วันนี้เราจะมารับมือการที่ ลูกชอบโยนของ พร้อมแชร์เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูกน้อย กันค่ะ
ทำไม? ลูกชอบโยนของ
ถ้าถามถึงเหตุผลว่า ทำไม? ลูกชอบโยนของ ต้องตอบว่า เป็นไปตามพัฒนาการตามธรรมชาติของลูกค่ะ ซึ่งในช่วงวัยขวบปีแรก ลูกเริ่มมีการแสดงอารมณ์มากขึ้น สื่อสารแสดงออกความต้องการที่ตัวเองชอบและไม่ชอบได้อย่างชัดเจน เป็นสัญญาณว่าลูกน้อยโตขึ้น สมองมีการพัฒนา จดจำ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกน้อยจะมีการพัฒนามากขึ้นด้วย เรื่องการโยนของ ขว้างปาอาหาร จึงเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในวัยนี้ ซึ่งเหตุผลที่ ลูกชอบโยนของ นั่นก็เป็นเพราะ
-
เป็นการสำรวจโลกใบเล็กของลูก
โดยลูกน้อยวัยหัดเดินกำลังเรียนรู้และสนุกกับการทดลองและสังเกตผลลัพธ์ จึงทดสอบว่าเมื่อทำแบบนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ขยำถุงแล้วมีเสียงดังก๊อบแก๊บ เคาะหรือขว้างของแล้วเกิดเสียงดัง โยนบอลแล้วกระเด้งไปมา ซึ่งหากทำแล้วรู้สึกสนุก ลูกมักจะทำซ้ำแล้วซ้ำอีก
การที่ลูกชอบโยนของอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ลูกใช้เพื่อดึงดูดความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ โดยเมื่อเริ่มโตขึ้นลูกจะมีอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้น อาจมีการโยนหรือขว้างปาสิ่งของเพื่อเรียกร้องความสนใจ
บางครั้งพฤติกรรมโยนของอาจเป็นการแสดงออกถึงความเบื่อหน่าย หรือความต้องการบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ลูกอาจทำเมื่อรู้สึกโกรธ หงุดหงิด ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองต่อการขว้างปา โยนสิ่งของของลูกอย่างไม่เหมาะสม พฤติกรรม ลูกชอบโยนของ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
นอกจากการโยนและขว้างปาสิ่งของของลูก เป็นเพราะอยากทดสอบการมีอยู่จริงของสิ่งของนั้นๆ ว่าโยนไปแล้ว ของตกแล้ว จะเด้งกลับมาไหม ยังมีความเป็นไปได้ค่ะว่า เป็นการทดสอบปฏิกิริยาและอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ว่าจะเป็นอย่างไร จะยิ้ม หัวเราะ หรือสนุกไปกับตัวลูกน้อยด้วยหรือเปล่า
ลูกชอบโยนของ รับมือยังไง ?
การจะรับมือกับพฤติกรรมลูกชอบโยนของ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มจากการ “เข้าใจ” พัฒนาการลูกค่ะ ว่าพฤติกรรมลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ตามช่วงวัยของเด็ก เพราะการไม่เข้าใจหรือตื่นตระหนกเกินไปจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงได้ และนอกจากการทำความเข้าใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจลองนำวิธีรับมือลูกชอบโยนของต่อไปนี้ ไปปรับใช้กับลูกน้อยได้ค่ะ
-
สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
โดยเก็บสิ่งของที่แตกง่าย หรืออันตราย ออกจากบริเวณที่ลูกสามารถเอื้อมถึงได้ รวมถึงควรเลือกของเล่นที่เหมาะสม ปลอดภัย และเหมาะสมกับช่วงวัยของลูก เช่น ลูกบอลนิ่ม ตุ๊กตาผ้า หรือของเล่นที่น้ำหนักเบา สามารถจับได้ง่าย
-
เปลี่ยนทิศทางพลังงานของลูก
การเปลี่ยนทิศทางพลังงานในที่นี้ก็คือ การเบี่ยงเบนให้ลูกน้อยใช้พลังงานที่มีเหลือเฟือนั้นกับกิจกรรมอื่นๆ โดยเมื่อลูกน้อยเริ่มโยนหรือปาของ ให้ลองชวนลูกไปทำกิจกรรมสนุกๆ อย่างอื่น เช่น วิ่งเล่นในสวน เตะบอลลูกโตกับคุณพ่อ
-
สอนให้ลูกรู้จักคำว่า “ไม่”
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกน้อยว่าการขว้างของบางอย่างเป็นสิ่งที่ “ไม่ควรทำ” เช่น อาหาร ของใช้ จานชาม แก้วน้ำ หรือของเล่นของใช้ส่วนตัวของคนอื่น
ควรกำหนดกฎที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ โดยให้เหตุผลที่เข้าใจง่าย เช่น “เราไม่ขว้างของเล่น” เพราะ… มีการพูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อลูกขว้างปาสิ่งของ เพื่อให้ลูกได้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อาทิ ถ้าหนูทำบ้านเลอะ หนูจะต้องช่วยแม่ทำความสะอาด หากหนูทำให้สิ่งของพัง จะไม่ได้ใช้หรือเล่นของเล่นชิ้นนั้นช่วงเวลาหนึ่ง
เมื่อลูกน้อยทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอกให้ทำได้ เช่น หยิบอาหารเข้าปาก หรือวางช้อนในจานได้ ควรให้คำชื่นชม เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกน้อยทำดีต่อไป
-
เป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model)
โดยธรรมชาติแล้วลูกน้อยนั้นมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกทางอารมณ์และการแก้ปัญหา ไม่ขว้างปาสิ่งของเมื่อมีอารมณ์โกรธ หรือหงุดหงิด และหากลูกขว้างปาสิ่งของขณะที่กำลังโกรธ หรือถูกขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น พูดกับลูกด้วยถ้อยคำและท่าทีที่สงบว่าลูกจะทำแบบนี้ไม่ได้ เช่น แม่เข้าใจความรู้สึกที่หนูโกรธ ซึ่งหนูสามารถโกรธได้ แต่จะลงความโกรธทั้งหมดที่สิ่งของซึ่งไม่มีความผิดไม่ได้ เป็นต้น
การรับมือกับพฤติกรรมลูกชอบโยนหรือขว้างปาสิ่งของนี้ จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับลูกน้อยนะคะ และบางครั้งการให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้ รวมถึงมีส่งที่ควรหลีกเลี่ยงบางประการ ดังนี้
|
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อลูกโยนสิ่งของ
|
ลงโทษโดยไม่อธิบายเหตุผล |
การลงโทษที่รุนแรง โดยไม่ได้ทำความเข้าใจถึงเหตุและผลกับลูกน้อย อาจทำให้ลูกเกิดความกลัว และไม่กล้าแสดงออกได้ |
เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น |
การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่ดีและเสียความมั่นใจ |
ดุหรือต่อว่า |
การดุว่าหรือต่อว่าจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกเสียใจ ไม่เข้าใจ และไม่กล้าเข้าใกล้คุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ |
เคล็ดลับปรับพฤติกรรม ลูกชอบโยนของ
แม้การโยนของจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการของลูก แต่หากปล่อยให้การโยนของ ขว้างปาอาหาร เกิดขึ้นเป็นเวลานาน วางเฉยเมื่อลูกทำบ่อยๆ ก็อาจกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมตามมาได้ แล้วจะแก้ปัญหายังไงดี มาดูเคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูกชอบขว้างปาและโยนสิ่งของกันค่ะ
1. ปฏิบัติการเชิงรุก ชวนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์
คุณพ่อแม่ต้องต้องชวนลูกให้ใช้มือทำงานสร้างสรรค์ให้บ่อยขึ้น ทุกกิจกรรมในบ้าน ชวนลูกมาทำให้มากที่สุด เช่น เก็บของใส่กล่อง เก็บผ้าใส่ตะกร้า เก็บหนังสือใส่ชั้นวาง ตักอาหารใส่จาน รวมทั้งการเล่นต่างๆ เพราะลูกในช่วงวัยนี้กำลังพัฒนาทักษะการใช้มือทำงานที่มีประโยชน์ รวมถึงต้องการเสียงตอบสนองเชิงบวกว่าลูกใช้มือทำสิ่งต่างๆ ได้ดีจริงๆ ค่ะ
2. ตอบสนองด้วยความชื่นชมอย่างจริงใจ
ในความพยายามลงมือทำหรือช่วยงานสิ่งใดก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองการลงมือทำของลูกน้อยด้วยสีหน้าชื่นชมและรอยยิ้มที่จริงใจ พร้อมกับถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกยินดี เช่น “ว้าว ลูกทำได้เสร็จหมดเลย” หรือ “ดีจัง ลูกตักอาหารเอง” “ขอบคุณนะคะ ลูกมีน้ำใจมาก ที่ช่วยแม่จัดโต๊ะอาหารอย่างเป็นระเบียบ” ฯลฯ รสชาติของการได้รับคำชม จะทำให้ลูกอยากทำอยากช่วยเพิ่มขึ้นอีก โอกาสที่ลูกจะหันเหไปโยนของ ให้โดนดุ ก็จะน้อยลงไปเองค่ะ
3. ชัดเจนเรื่องเวลา “เล่น”
บางครั้งลูกวัยหัดเดินยังไม่สามารถแบ่งเวลาได้ค่ะว่าเป้นช่วงเล่น ช่วงกินข้าว หรือช่วงทำกิจวัตรประจำวัน หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือทำให้การแบ่งเวลาเหล่านี้ชัดเจนว่า จะ “ให้ทำ” หรือ “ไม่ให้ทำ” และหาก “ไม่ให้ทำ อะไรที่จะทำแทนได้” เช่น โยนบอลได้คือเวลาเล่น แต่เวลากินข้าวไม่โยน ไม่ขว้าง ไม่ปาของ
การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจนะคะ เพราะเด็กทุกคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน การให้กำลังใจและสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตเป็นเด็กที่มีความสุขและพัฒนาการที่ดีค่ะ อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมลูกชอบโยนหรือขว้างปาสิ่งของ แบบนี้รุนแรงขึ้น หรือสร้างความรู้สึกกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่มากขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อการปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้องเหมาะสมกับลูกน้อยค่ะ
ที่มา : www.phyathai.com , Junji’s Story by หมอรวงข้าว , หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำไมเด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น หรือ “พ่อแม่ Toxic” มีส่วนทำลูกจิตป่วย?
ลูกไม่ยอมเลิกขวดนม ทำไงดี วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยติดขวดนม
ชมเชยลูกยังไง ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก ส่งเสริมการพัฒนาตัวเองของลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!