บ้านไหนที่เป็น “ทาสแมว” ช่วงฝนตก อากาศชื้น แบบนี้ คงต้องระมัดระวังเรื่อง “เชื้อรา” กันมากหน่อยค่ะ เพราะการที่น้องแมวสุดที่รักติดเชื้อรานั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเชื้อราเหล่านี้แพร่กระจายมาสู่ลูกน้อยด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องน่ากังวลใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ และต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพราะเชื้อราบางชนิดที่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนได้ไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจค่ะ ดังนั้น ช่วงที่ฝนตก อากาศชื้น ต้องระวังลูกน้อยเสี่ยงเป็น เชื้อราแมว นะคะ ซึ่งวันนี้เรามีวิธีป้องกันลูกจากเชื้อราแมวมาฝากค่ะ
ทำความรู้จัก เชื้อราแมว ภัยแฝงที่มากับ อากาศชื้น
เชื้อราแมว คือ เชื้อราที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง ทำให้ขนร่วง โดยมากจะมีอยู่ 2 ประเภท และมีชื่อจำเพาะว่า Microsporum spp. ได้แก่ M. canis, M. gypseum และ Trichophyton spp. แต่ส่วนใหญ่เชื้อราแมวที่พบบ่อยคือ Microsporum canis
โดยแมวที่ติดเชื้อราจะมีอาการขนหลุดออกมาเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังแดง มีผื่นแห้งๆ สีเทาบริเวณผิวของแมว ซึ่งจะลอกเป็นขุย ๆ และมีการตกสะเก็ดร่วมด้วย โดยนอกจากแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เช่น สุนัข กระต่าย แฮมสเตอร์ ก็สามารถพบการติดเชื้อรานี้ได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้แมวติดเชื้อราเป็นเพราะการสะสมความชื้นบนร่างกายของแมว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแมวพันธุ์ขนยาว เช่น เปอร์เซีย สก๊อตติช
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการพบผู้ป่วยเชื้อราแมวสู่คนเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ใช่การติดเพียงแค่จุดเดียว เพราะมีผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อราแมวกระจายตามแขน ขา และบางครั้งโรคนี้สามารถกลายเป็นโรคติดต่อภายในบ้านได้ด้วย
|
กลุ่มเสี่ยงที่จะติด เชื้อราแมว
|
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้เลี้ยงสัตว์หลายชนิด
- คนที่คลุกคลีใกล้ชิดกับแมว
|
อาการของลูกน้อยที่ติด เชื้อราแมว
โดยทั่วไปลูกน้อยที่เป็นเชื้อราแมวมักจะมีผื่นคันบริเวณผิวหนัง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาผื่นนี้สามารถลุกลามกระจายทั้งตัว และเมื่อผื่นหายไปก็อาจทิ้งรอยดำไว้โดยใช้เวลานานกว่าผิวลูกน้อยจะกลับสู่สภาพปกติ ทั้งนี้ คุณแม่สามารถสังเกตลักษณะของผิวลูกน้อยที่ติดเชื้อราแมวได้ดังนี้
- มีลักษณะเป็นผื่นกลม มีขุย สีแดง ขอบเขตชัด และมีอาการคัน เกิดขึ้นได้ในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งใบหน้า มือ เท้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่สัมผัสกับแมว
- อาจมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กเกิดขึ้นบนผิวหนัง
- ผื่นแดงสามารถเพิ่มขึ้นได้เมื่อเกาบริเวณผื่นแดงแล้วไปสัมผัสจุดอื่น ๆ บนร่างกาย
- หากเชื้อราลุกลามไปบริเวณศีรษะ อาจทำให้มีอาการผมร่วงเป็นหย่อมได้
- กรณีติดเชื้อราแมวบริเวณเล็บ อาจทำให้เล็บมีสีที่เปลี่ยนไป หรือทำให้เล็บหลุดได้
|
ทำไม เชื้อราแมว จึงแพร่สู่ลูกน้อยได้
|
การสัมผัสโดยตรง |
การที่ลูกสัมผัสกับผิวหรือขนของแมวผ่านการลูบคลำน้องแมว เล่นกับของเล่นที่แมวใช้ หรือสัมผัสบริเวณที่น้องแมวมีเชื้อรา ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เชื้อราแมวจะแพร่สู่ผิวหนังของลูกน้อยได้ |
สปอร์เชื้อราลอยอยู่ในอากาศ |
สปอร์ของเชื้อราแมวอาจลอยอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายของลูกผ่านทางการหายใจหรือการสัมผัส โดยสปอร์นี้จะหลุดร่วงมาจากผิวหรือขนของแมว และสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานนับเดือน หรือเป็นปี |
วิธีรับมือและรักษาโรคเชื้อราแมว
จริงๆ แล้ว เมื่อคุณแพบว่าลูกน้อยมีอาการของการติดเชื้อราแมว ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาโดยการจ่ายยา ทั้งยากินและยาทาฆ่าเชื้อ
- ติดเชื้อราที่ผิวหนัง : ควรทายาฆ่าเชื้อราที่ได้รับจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยอาการต่างๆ จะดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์
แต่หากพบผื่นจำนวนมาก แพทย์อาจให้กินยาต้านเชื้อราควบคู่กับการทายาฆ่าเชื้อราไปด้วย
- การติดเชื้อบนหนังศีรษะ : ควรกินยาต้านเชื้อราตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง การใช้ยาทาหรือแชมพูฆ่าเชื้อราเพียงอย่างเดียวอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ในการรักษาของแพทย์จะเป็นการรักษาอาการที่เกิดจากเชื้อราแมวเท่านั้น กรณีรอยดำที่ถูกทิ้งไว้บนผิวที่เชื้อราหายแล้ว คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะรอยดำจะหายเองภายในวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม นอกจากพาลูกน้อยไปพบแพทย์แล้ว ยังจำเป็นต้องพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาเชื้อราด้วยนะคะ และระหว่างการรักษาควรแยกแมวไว้อีกห้องหนึ่ง แล้วทำความสะอาดบริเวณบ้านเพื่อกำจัดเชื้อค่ะ
ป้องกันอย่างไร? ไม่ให้เชื้อราแมวเกิดซ้ำอีก
การป้องกันตัวเองและลูกน้อยจากเชื้อราแมว เริ่มได้จากการนำน้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา ที่เกิดจากเชื้อ Microsporum canis โดยสามารถฉีดได้เมื่อแมวอายุได้ 2 เดือนขึ้นไปและฉีดวัคซีนหลักครบแล้ว ซึ่งควรฉีดกระตุ้นซ้ำ 3 เข็ม หลังจากนั้นกระตุ้นทุก 1 ปี และหมั่นดูแลทำความสะอาดขนแมว อาบน้ำเป่าขนให้แห้ง หากมีผื่น ขุย หรือขนร่วง ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน รวมถึงควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- หลังจากลูกน้อยสัมผัสกับน้องแมวหรือสัตว์เลี้ยง ควรทำความสะอาดมือและอวัยวะต่าง ๆ ให้ลูกทุกครั้ง
- ไม่ควรให้แมวนอนร่วมเตียงเดียวกันกับลูก หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับลูกมากจนเกินไป
- ทำความสะอาดสิ่งของที่อยู่ในบ้าน ที่น้องแมวคุณสัมผัส เช่น พรมปูพื้น โซฟา รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมขณะสัมผัสกับแมว โดยควรซักเสื้อผ้านั้นๆ ด้วยน้ำร้อน
- ทำลายสปอร์เชื้อราแมวด้วยการใช้สารฟอกขาว ละลายในน้ำในอัตราส่วน 1:10 ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ และของเล่นของน้องแมว และสภาพแวดล้อมโดยรอบ
- การให้อาหารที่มีคุณภาพสูง จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแมวได้
- ควรพาแมวไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้สามารถตรวจพบโรคต่างๆ ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
- อาบน้ำให้แมวเป็นประจำด้วยแชมพูสำหรับแมวโดยเฉพาะ และตัดขนให้แมวสั้นลงในช่วงอากาศร้อนชื้น
- ระหว่างที่แมวกำลังรับการรักษาเชื้อรา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่เป็นแผล และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสแมว
ทั้งนี้ นอกจากโรคติดเชื้อราแล้ว สัตว์เลี้ยงแสนน่ารักอย่างแมวเหมียว ยังอาจแพร่เชื้อที่ส่งผลให้ทาสแมวเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกค่ะ เช่น
|
โรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแมว และสามารถเกิดในคนได้
|
โรคติดเชื้อจากการโดนแมวกัด |
เนื่องจากเชื้อโรคในช่องปากของแมว จะมีเชื้อจำเพาะอยู่ โดยบริเวณที่ถูกกัดจะมีรูเขี้ยว รอบๆ มีอาการปวด บวม แดง อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว
หากติดเชื้อจากแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรงจะมีการปล่อยสารที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนปวดแผลรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผลเป็นแหล่งที่ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือด |
โรคภูมิแพ้ |
ที่มีความเกี่ยวข้องกับขนแมว หรือรังแคของแมว อาจจะกระตุ้นโรคภูมิแพ้ของคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นกัน |
โรคที่เกิดจากหมัดแมวกัด |
ทำให้เกิดความเจ็บปวด ไม่สบายตัว อาจมีตุ่มแดงหรือวงแหวนเกิดขึ้นรอบๆ รอยกัด ซึ่งสามารถเป็นแผลพุพองหรือแผลเปิดได้ กรณีอาการรุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อ เกิดรอยแดง และบวม ทั้งยังส่งผลให้เกิดโรคติดต่อ เช่น กาฬโรคและไข้รากสาดใหญ่ได้ |
โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากแมว |
เช่น โรคแมวข่วน โรคท้องเสียจากเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonellosis) เกิดจากการที่ทาสแมวกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อในกลุ่ม Salmonella เข้าไป |
การติดเชื้อโรค Toxoplasmosis หรือโรคขี้แมว |
โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือ โรคขี้แมว ที่อาจเข้าสู่ร่างกายของแม่ท้องส่งผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ได้ หากไปโดนหรือสัมผัสกับขี้แมวและไม่ทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ลูกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องได้ |
เชื้อราแมวนั้นสามารถสร้างปัญหาให้กับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยได้ก็จริงนะคะ แต่หากมีการทำความเข้าใจ รวมถึงการดูแลป้องกันอย่างถูกต้องเหมาะสม ครอบครัวเล็กๆ ของเราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับน้องแมวแสนน่ารักได้อย่างมีความสุขแน่นอนค่ะ
ที่มา : chulalongkornhospital.go.th , www.udl.co.th , www.iod.go.th , www.rama.mahidol.ac.th , www.thaihealth.or.th , www.samitivejhospitals.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกชอบโยนของ รับมือยังไง ? พร้อมแชร์เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูกน้อย
ทำไมเด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น หรือ “พ่อแม่ Toxic” มีส่วนทำลูกจิตป่วย?
ลูกไม่ยอมเลิกขวดนม ทำไงดี วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยติดขวดนม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!