อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งของโรคภูมิแพ้ อาจมาจาก “ภูมิแพ้ไรฝุ่น” มาดูสาเหตุ อาการ และ วิธีป้องกัน เพื่อรู้เท่าทัน ป้องกัน และลดอาการของโรค
ไรฝุ่นคืออะไร?
ไรฝุ่น คือ แมลงขาดเล็กมาก เล็กจนเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา มีขนาดเพียง 0.1-0.3 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งจะอยู่ปะปนกับฝุ่นภายในบ้าน เป็นตัวที่คอยกัดกินผิวหนังที่ถูกผลัดออกมาของมนุษย์เรา คนที่แพ้ไรฝุ่น หากหายใจเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ในระบบทางเดินหายใจได้ โดยไรฝุ่นที่พบได้บ่อย และทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่
- Dermatophagoides Pteronyssinus (DP)
- Dermatophagoides Farinae (DF)
ไรฝุ่น สามารถพบได้ที่ไหน?
ไรฝุ่นเป็นสัตว์ตัวเล็ก มีขนาดไม่เกิน 0.03 มิลลิเมตร ลักษณะมีสีขาวคล้ายกับฝุ่น วิ่งเร็ว และอยู่ปะปนกับฝุ่น ทำให้มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก ต้องใช้กล้องขยายดูถึงจะเห็นได้อย่างชัดเจน ไรฝุ่นเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับการเกิดภูมิแพ้ และห้องนอนคือแหล่งที่พบไรฝุ่นอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก เพราะมีอุณหภูมิความชื้นที่พอเหมาะ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ในห้องนอนจะมีตัวไรฝุ่นอาศัยอยู่เป็นล้าน ๆ ตัว พบได้มากในที่นอน ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม ผ้าม่าน หรือ อุปกรณ์ที่ทำจากผ้าต่าง ๆ ซึ่งตัวไรฝุ่นจะอาศัยการกินผิวหนังที่หลุดลอกของคน ขี้ไคล และ รังแค เป็นต้น
โรคภูมิแพ้ไรฝุ่นคืออะไร?
โรคภูมิแพ้ไรฝุ่น เกิดจากที่ร่างกายถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ (ไรฝุ่น) เข้าไปในร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้อีกครั้งในภายหลัง ภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นให้ร่างกายมีความไวต่อสารนั้น ทำให้เกิดการตอบสนองที่มากผิดปกติ โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มที่แสดงอาการได้หลายระบบในร่างกาย โดยอาการภูมิแพ้ จะขึ้นอยู่กับชนิดและโรคของภูมิแพ้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดการตอบสนองที่ผิดปกติของอวัยวะนั้น ๆ เช่น
- เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis)
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)
- โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ หอบหืด (Astma)
- โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis)
- โรคแพ้อาหาร (Food Allergy)
ภูมิแพ้ไรฝุ่น มีอาการอย่างไร?
อาการที่พบบ่อยทั่วไป ได้แก่ คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คันจมูก คันตา เคืองตา คันคอ คันผิวหนัง เป็นผื่น เป็นต้น
อาการที่พบในคนที่เป็นโรคหอบหืด ได้แก่ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสืยงวี๊ด ๆ และมีอาการหอบหืดในช่วงกลางคืน หรือ ตื่นนอน
วิธีรักษาภูมิแพ้ไรฝุ่น
การรักษาภูมิแพ้ไรฝุ่น สามารถทำได้โดยการป้องกันที่ต้นเหตุ และการรักษาด้วยการใช้ยา ดังนี้
1. กำจัดไรฝุ่น เพื่อการรักษาที่ต้นเหตุ
- หมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะห้องนอน เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น
- ใช้เครื่องกรองอากาศ เครื่องฟอกอากาศ ชนิด HEPA Filter
- หลีกเลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน
- ซักทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง และซักด้วยน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที เพื่อฆ่าไรฝุ่น
- หมั่นนำเครื่องนอนมาตากแดดจัด ๆ อย่างน้อยทุก ๆ สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องนอน ที่มีคุณสมบัติป้องกันไรฝุ่น หรือ ผ้าที่มีเส้นใยถี่ แน่น เพื่อลดการเล็ดลอดของไรฝุ่น
อ่านเพิ่มเติม หยุดปัญหา ไรฝุ่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้วยเคล็ดลับทำความสะอาดบ้านอย่างทรงพลัง
2. การรักษาด้วยการใช้ยา
- ยาแก้แพ้(Antihistamines) เพื่อลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และผื่นแพ้ผิวหนัง
- ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก(Nasal Corticosteroids) เพื่อลดอาการบวมในโพรงจมูก ลดการคัดจมูก
- ยาสเตียรอยด์ชนิดทา(Topical Corticosteroids) เพื่อลดอาการคัน การอักเสบบริเวณผิวหนัง
- ยาสเตียรอยด์แบบรับประทาน(Oral Corticosteroids) กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้รุนแรง
- ยาฆ่าเชื้อ(Antibiotics) ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น
แพทย์จะตรวจร่างกาย ร่วมกับการดูอาการของโรค โดยอาจใช้วิธีการตรวจเพิ่มเติมด้วยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test : SPT) หรือ ใช้การเจาะเลือดเพื่อตรวจภูมิต่อการก่อภูมิแพ้ (Specific IgE Blood Test) ภูมิแพ้ไรฝุ่น สามารถป้องกันได้โดยการหมั่นทำความสะอาดแหล่งที่มีตัวไรฝุ่นบ่อย ๆ เช่น ที่นอน ห้องนอน เตียงนอน เป็นต้น โดยสามารถทำความสะอาดทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อความสะอาด และป้องกันการสะสมของไรฝุ่นนั่นเอง
ที่มาข้อมูล โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
บทความที่น่าสนใจ
ข้อเท็จจริง 8 ประการเกี่ยวกับ ภูมิแพ้และวิธีรักษา ทำได้อย่างไร?
โรคภูมิแพ้ อาการภูมิแพ้เป็นอย่างไร โรคภูมิแพ้สามารถรักษาได้อย่างไร สาเหตุของโรคภูมิแพ้คืออะไร?
สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นภูมิแพ้ เมื่อไรที่ควรสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ มีวิธีทดสอบอย่างไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!