แท้งค้าง คือ ภาวะแท้งลูก ที่หยุดการเจริญเติบโตของตัวอ่อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่คุณแม่หลายท่านไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง ดังนั้น เรามาทราบสาเหตุของการที่ตัวอ่อนไม่พัฒนาต่อ และใครเสี่ยงกับภาวะ แท้งค้าง บ้าง
ทำไมตัวอ่อนจึงหยุดการเจริญเติบโตในครรภ์
แท้งค้าง คือ ภาวะที่การตั้งครรภ์ไม่มีชีวิตรอดค้างอยู่ในมดลูกหลายวันหรือสัปดาห์ โดยที่ปากมดลูกยังปิด ซึ่งการตั้งครรภ์ในระยะต้นโดยทั่วไปจะมีการเจริญเติบโตของตัวอ่อนภายในโพรงมดลูกอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงนี้ตัวอ่อนจะได้รับสารอาหารเกือบทั้งหมดมาจากถุงไข่แดง จนกระทั่งตัวอ่อนเติบโตขึ้นจนอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์เมื่อมีการสร้างรกที่สมบูรณ์ ทารกจึงได้รับสารอาหารและขับของเสียออกผ่านทางรก
ทั้งนี้การที่ตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโต หมายถึง ตัวอ่อนเสียชีวิตในครรภ์ ในสมัยก่อนที่การตรวจอัลตร้าซาวน์ยังไม่แพร่หลายจึงมักวินิจฉัยได้ล่าช้า กว่าจะทราบ ก็ต่อเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นแต่ท้องไม่โตขึ้นตามที่สมควร จึงเรียกว่าสภาพนี้ว่า ภาวะแท้งค้าง (Missed Abortion) ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สำคัญทำให้ตรวจติดตามการเติบโตของตัวอ่อนได้อย่างแม่นยำ คือ การตรวจอัลตร้าซาวน์ โดยมีหลักการทำงานดังนี้
- สามารถตรวจสอบภาพทารกที่เกิดจากการสะท้อนของคลื่นเสียง
- ไม่มีความเสี่ยงใดใดต่อตัวอ่อนในครรภ์
- ตรวจการเติบเจริญเติบโตของทารกได้แม่นยำ
- สามารถตรวจพบสัญญาณการเต้นของหัวใจ
- สามาถพยากรณ์ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ที่ดี (ร้อยละ 90 จะสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อได้ตามปกติ)
การวินิจฉัยขณะที่ปากมดลูกปิด
เมื่อเกิดภาวะแท้งค้าง จะทำการวินิจฉัยด้วยวิธีอัลตร้าซาวน์ที่ค่อนข้างนิยมและแม่นยำ นอกจากนี้แพทย์ยังใช้การวินิจฉัยอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด โดยมีเกณฑ์การวินิจฉัยว่าการตั้งครรภ์ไม่มีชีวิตรอด ดังนี้
- Crown-rump length ความยาวตัวอ่อน มากกว่าหรือเท่ากับ 7 มิลลิเมตร แต่ไม่พบการเต้นของหัวใจทารก
- Mean gestational sac diameter ถุงน้ำตั้งครรภ์มีเส้นผ่านศูนย์กลาง มากกว่าหรือเท่ากับ 25 มิลลิเมตรและไม่พบตัวอ่อนภายใน
- ตรวจพบถุงการตั้งครรภ์ Gestational sac และพบถุงไข่แดง Yolk sac แต่ไม่พบตัวอ่อนและเมื่อติดตามการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง อีก 11 วันถัดไป ยังไม่พบตัวอ่อน
- ตรวจพบถุงการตั้งครรภ์ Gestational sac ไม่พบถุงไข่แดง Yolk sac และไม่พบตัวอ่อน เมื่อติดตามการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง อีก 14 วันถัดไป ยังไม่พบตัวอ่อน
คุณแม่ท่านใดเสี่ยงมีภาวะแท้งค้าง
หากผู้หญิงที่กำลังวางแผนที่จะมีลูก ควรพิจารณาก่อนว่า เรามีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแท้งค้างหรือไม่ ถ้ามีภาวะต่อไปนี้ ก็ควรปรึกษาก่อนที่จะตั้งครรภ์ เพราะสามารถลดความเสี่ยงต่อการที่ตัวอ่อนจะหยุดการเจริญเติบโต หรือตัวอ่อนเสียชีวิตในครรภ์ เรามาดูกันว่า ภาวะแบบใดที่มีความเสี่ยงนี้บ้าง
-
เคยแท้งบุตร
ในการแท้งบุตรแต่ละครั้ง จะทำให้ผู้หญิงเกิดสภาวะจิตใจที่อ่อนแอ มดลูกได้รับการบอบช้ำเพราะการขูดรักษาเนื่องจากการแท้งลูก หากเคยแท้งมาแล้ว 2 ครั้งยิ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้หญิงมีภาวะแท้งค้างได้
-
เคยท้องลม
สตรีที่เคยมีประวัติเป็นท้องลม หรือ ตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อนมาก่อน ซึ่งไม่มีการเจริญเติบโต และอาจจะต้องรักษาคล้ายกับการแท้งลูก
-
เคยตั้งครรภ์นอกมดลูก
เคยมีประวัติการท้องนอกมดลูกครรภ์นอกมดลูก คือภาวะตัวอ่อนจะไปค้างอยู่ในท่อน้ำไข่ ตัวอ่อนไม่มีการเจริญเติบโตจนเสียชีวิต และต้องรักษษคล้ายกับการแท้งลูกเช่นกัน
-
มีก้อนเนื้องอกในมดลูก
สตรีที่มีเนื้องอกบริเวณกล้ามเนื้อมดลูกขนาดใหญ่ ซึ่งเนื้องอกหรือซีสต์อาจรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อนได้
-
เคยตั้งครรภ์โดยเด็กหลอดแก้ว
คุณแม่ที่อายุมากหรือมีบุตรยาก และต้องการมีลูกจึงพึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์จากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อย่าง เด็กหลอดแก้ว
-
มีประวัติโรคประจำตัวเรื้อรัง
โรคประจำตัวเรื้อรัง และควบคุมไม่ได้ เช่น เบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
-
มีอาการนำหรือสัญญาณบางอย่างผิดปกติ
อาการนำที่ว่านี้คือสัญญาณเตือนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวสีน้ำตาลไหม้ ปวดหน่วงท้องน้อย เป็นต้น
สาเหตุที่ตัวอ่อนเสียชีวิตในครรภ์
ภาวะแท้งค้าง แล้วตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโต โดยไม่มีพบสัญญาณหัวใจเต้นนั้น หมายถึง ตัวอ่อนเสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งมีได้หลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติของตัวอ่อนเอง โดยอาจมีโครโมโซมผิดปกติสูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งเกี่ยวข้องกับอายุของมารดาเป็นสำคัญ รวมไปถึงสาเหตุอื่นๆ ได้แก่
- โรคประจำตัวของมารดา
- การรับประทานยาบางชนิด
- การประสบอุบัติเหตุ
- การติดเชื้อในโพรงมดลูก
จากสาเหตุดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า คุณแม่ท้องอาจไม่มีอาการใดๆ เลย แต่ทราบจากการตรวจอัลตร้าซาวน์ภายหลัง หรือบางรายที่มีประวัติความเสี่ยง ร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ตระหนักถึงสภาวะนี้ได้ ซึ่งเมื่อตรวจพบตัวอ่อนที่หยุดการเจริญเติบโต แพทย์มักสังเกตพบว่าขนาดถุงน้ำคร่ำอาจไม่ได้สัดส่วนกับขนาดตัวอ่อน เช่น ถุงน้ำคร่ำบิดเบี้ยวผิดรูป
การรักษาภาวะแท้งค้างสามารถทำได้ 3 แนวทาง คือ
1. สังเกตอาการจนกว่าจะเกิดการแท้งเอง (Expectant Management)
- สตรีมีครรภ์ถึงร้อยละ 80 จะเกิดการแท้งเอง หรือสามารถรอได้ถึง 8 สัปดาห์ จึงทราบว่ามีภาวะแท้งค้างในมดลูก ซึ่งคุณแม่ที่ปากมดลูกเปิดแล้วจะมีโอกาสแท้งเองได้มากกว่าภาวะปากมดลูกปิดหรือไม่มีอาการ
- แพทย์จะแนะนำให้สังเกตอาการปวดท้องน้อย และควรมาโรงพยาบาลทันที หากมีเลือดออกทางช่องคลอดมากหรือมีการหลุดของก้อนเลือดจากการตั้งครรภ์ ทั้งนี้คุณแม่ต้องนำก้อนเลือดนั้นให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยดูด้วย เพื่อยืนยันว่าเกิดการแท้งจริง
- หากคุณแม่ไม่มีการแท้งเอง หรือแท้งไม่ครบยังมีความจำเป็นในการรับการรักษาโดยใช้ยา หรือขูดชิ้นเนื้อ ทางโพรงมดลูก ซึ่งอาจเป็นขั้นตอนที่แพทย์ต้องใช้เมื่อยามจำเป็น
2. การทำให้แท้งโดยการใช้ยา (Medical Management)
- การสังเกตอาการจนกว่าจะเกิดการแท้งมีข้อดีคือ ช่วยเพิ่มโอกาสในการแท้งครบโดยไม่ต้องดูดหรือ ขูดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก เป็นการลดระยะเวลาในการเกิดการหลุดออกของก้อนการตั้งครรภ์ ลดอาการเจ็บปวด
- แพทย์จะใช้ยา Misoprostol หรือ Prostaglandin E1 โดยให้ 800 ไมโครกรัม เหน็บทางช่องคลอดหรืออมใต้ลิ้น จากนั้นจะให้ซ้ำหากคุณแม่ยังไม่เกิดการแท้ง โดยเว้นระยะ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อลดระยะเวลาในการหลุดของก้อนการตั้งครรภ์ทางช่องคลอด
- หากคุณแม่ไม่สามารถแท้งเอง หรือแท้งไม่ครบ และจำเป็นต้องรับการรักษาโดยใช้ยาหรือการดูดหรือขูดชิ้นเนื้อ หากไม่เกิดการแท้ง แพทย์จะรอดูอาการต่อเพื่อทำการดูดหรือขูดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก
3. การดูดหรือขูดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก (Surgical Management)
- การขูดมดลูกมีข้อดี คือใช้เวลารวดเร็วในการรักษา แต่ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงกว่าการรักษาด้วยการสังเกตอาการหรือการใช้ยา แถมยังมีภาวะแทรกซ้อนได้ คือ อาจเกิดพังผืดในโพรงมดลูก ซึ่งการดูดชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่อง Manual Vacuum Aspirator จะช่วยลดความเสี่ยงอันตรายต่อการรักษามากกว่าใช้เครื่อง Sharp Curette ขูดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก
- หากต้องการความเร่งด่วนในการรักษา การขูดมดลูกคือทางเลือกแรกๆ แม้จะเจ็บตัวมากกว่า เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์พบว่าตนเองมีภาวะเลือดออกทางช่องคลอดอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก แถมยังมีการติดเชื้อในมดลูก หรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อภาวะเลือดออกหรือติดเชื้อ เช่น ภาวะซีด หรือ โรคหัวใจ เป็นต้น
- ข้อเสียของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งวิธีการรักษาโดยวิธีนี้ เมื่อเทียบกับสองวิธีแรกอย่างการสังเกตอาการการใช้ยา มีโอกาสในการติดเชื้อในโพรงมดลูกมากกว่า โดยมีอัตราร้อยละ 1-2 แนะนำให้มีการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อหลังการดูดหรือขูดมดลูก โดยให้ยา Doxycycline 200 มิลลิกรัม รับประทาน 1 ชั่วโมงก่อนการรักษาขั้นต่อไป
วิธีการป้องกันภาวะตัวอ่อนไม่พัฒนา หรือตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโต
เมื่อคุณแม่อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและวิธีสังเกตอาการ พร้อมทั้งการรักษาในเบื้องต้นหลังจากที่คุณหมอวินิจฉัยโรค ดังนั้นเราลองมาดูว่า ในอนาคตสามารถจะป้องกันเล็กๆ น้อยๆ หรือบอกต่อคนใกล้ชิดที่ต้องการตั้งครรภ์ได้อย่างไรบ้าง
1. ตั้งครรภ์เมื่อพร้อม
ด้วยสภาวะปัจจุบันทำให้ผู้คนแต่งงานช้า เนื่องจากต้องรอความพร้อมในเรื่องของอนาคต แต่อยากแนะนำว่า หากพร้อมในระดับหนึ่งที่สามารถมีบุตรได้ ควรรีบมาเสีย อย่ามีตอนอายุมากๆ เนื่องจากสภาพร่างกายแต่ความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
2. เมื่อตั้งครรภ์ให้ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง
เมื่อพร้อมที่จะตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ และเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้วควรดูแลตัวเองให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร ไม่ควรทานอาหารที่ไม่สุก ลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นอันตรายทุกชนิด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ หันมาดูแลตัวเองและลูกในครรภ์ให้มากขึ้น พร้อมกับดูแลสภาพจิตใจตนเองให้ดี อย่าเครียด
3. ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า คุณแม่มีโรคประจำตัวใดๆ หรือไม่ เสี่ยงเป็นหัดเยอรมันไหม มีเบาหวานไหม เป็นความดันโลหิตสูงหรือเปล่า ซึ่งคุณแม่และคุณพ่อจำเป็นต้องมาปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากไม่แน่ใจให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
ภาวะแท้งคืออะไร อาการแท้ง เป็นอย่างไร
ภาวะแท้งลูก คือ อาการที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้สูญเสียทารกในครรภ์ไปอย่างฉับพลัน มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยจากการสำรวจในอดีต พบว่า 15 % ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ จะมีโอกาสแท้งลูก แต่เนื่องจากในปัจจุบันสามารถตรวจครรภ์ได้ไว จึงทำให้ทราบได้ว่าแท้งบุตรหรือไม่ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งผู้หญิงที่กำลังแท้งลูก มักมีเลือดไหลจากช่องคลอด ปวดท้องน้อยอย่างหนัก มีเสมหะและน้ำมูกสีขาวหรือชมพู เป็นตะคริว รวมทั้งมีอาการเวียนหัว หรืออาเจียน อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะไม่มีอาการใด ๆ
ทำไมคนเราถึงแท้ง อาการแท้ง ภาวะแท้งเกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์แท้ง อาจแบ่งออกได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ชีวิต หรือปัญหาด้านสุขภาพของแต่ละคน ซึ่งอาจมีดังต่อไปนี้
1. อาการแท้ง ปัญหาจากโครโมโซม
ปัญหาเรื่องโครโมโซม ถือเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนแท้งลูก คนส่วนใหญ่มากกว่า 70% มักจะแท้งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยปกติแล้ว เมื่อตั้งครรภ์ พ่อและแม่ควรมีโครโมโซมอย่างน้อย 46 แท่ง หากมีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแท้งได้
2. โรคที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
หากแม่เป็นโรคใดโรคหนึ่งในขณะที่ท้อง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง และโรคติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น อาจส่งผลต่อลูกในครรภ์และทำให้แท้งได้ หากรู้ว่าตัวเองเป็นโรคเหล่านี้ ให้เข้าพบแพทย์โดยด่วน เพื่อเข้ารับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง
3. ฮอร์โมนในร่างกายแม่ไม่สมดุลกัน
ฮอร์โมนในร่างกาย ก็สามารถทำให้แท้งได้เช่นกัน หากร่างกายผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพอในขณะที่ท้อง อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่แข็งแรง ส่งผลทำให้แท้งได้ในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการปวดมดลูก 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 71
ไม่อยากแท้งต้องรู้ ภาวะแท้ง คืออะไร เกิดจากอะไร
4. ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเยอะเกินไป สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายของแม่และเด็กได้ จากงานวิจัยของ Kaiser Permanente พบว่า คนที่บริโภคคาเฟอีนมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือกาแฟ 2 แก้ว) มีความเสี่ยงต่อการแท้ง สูงกว่าคนปกติมากถึง 2 เท่า นอกจากนี้ หากชอบดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ ก็ทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้เช่นเดียวกัน
5. น้ำหนักตัวมาก
คนที่น้ำหนักตัวเยอะ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเบาหวานถือเป็นสาเหตุที่ทำให้คนแท้งได้ง่าย ดังนั้น คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงจะเป็นเบาหวานมากแค่ไหน
6. อาการแท้ง อายุมาก
ส่วนใหญ่ คนที่แท้งบุตร มักเป็นคนที่มีอายุเยอะแล้ว เพราะไข่ของผู้หญิงกลุ่มน้ีจะมีอายุมาก ทำให้ไข่เกิดความผิดปกติขึ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น
ประเภทของภาวะแท้งลูก
ภาวะแท้ง แบ่งออกได้หลายประเภท ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- แท้งคุกคาม เป็นภาวะที่มีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอย และมักจะไม่ปวดท้อง จึงอาจทำให้สังเกตได้ยาก ว่าตัวเองกำลังแท้งหรือไม่
- แท้งซ้ำ เป็นภาวะแท้งที่เกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งอาจเกิดจากการที่ปากมดลูกปิดไม่สนิท ฮอรโมนหรือโครโมโซมเกิดความผิดปกติ
- แท้งแบบเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีภาวะนี้ คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอดและปวดท้องอย่างมาก เนื่องจากมดลูกหดตัว และอาจต้องให้แพทย์ช่วยดึงตัวอ่อนออกมาจากโพรงมดลูก
- แท้งแบบสมบูรณ์ คือ ภาวะที่ตัวอ่อนจะหลุดออกมาเองจนหมด และคุณแม่จะมีเลือดไหลออกทางช่องคลอด จนเลือดหยุดไหลไปเอง
- แท้งแบบไม่สมบูรณ์ ภาวะนี้ ทำให้มดลูกบีบตัวได้ไม่ค่อยดี คุณแม่จะปวดท้องไม่มาก แต่อาจมีเลือดออกมากจนช็อกได้ โดยอาจมีตัวอ่อนหลงเหลืออยู่ในโพรงมดลูก และต้องให้แพทย์ช่วยดึงออก
- แท้งค้าง เป็นภาวะที่คุณแม่ไม่ทราบว่าตัวเองแท้ง ทั้งที่ลูกได้เสียชีวิตไปมากกว่า 2 เดือนแล้ว ซึ่งตัวอ่อนจะยังไม่ถูกขับออกมา แถมคุณแม่เองก็ไม่แสดงอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก คุณแม่จะเริ่มมีอาการแท้งบุตรภายหลัง
- แท้งติดเชื้อ เป็นการแท้งที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดอาการอักเสบหรือการติดเชื้อขึ้นกับคุณแม่ โดยคุณแม่อาจปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด และมีไข้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความเห็นจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง กับการ แก้ไขกฎหมายทำแท้ง ในรอบ 60 ปี
ไม่อยากแท้งต้องรู้ ภาวะแท้งลูก รักษายังไงได้บ้าง
ภาวะแทรกซ้อนจากการแท้ง
โดยปกติ หากแท้งเองโดยที่ไม่ได้ขูดมดลูก และไม่ได้ติดเชื้อ ก็มักจะไม่เกิดอาการแทรกซ้อนใด ๆ เพียงแค่จะมีเลือดออกทางช่องคลอดสักพัก และเลือดก็จะหยุดไหล แต่หากเข้ารับการขูดมดลูกเพื่อเอาเด็กออก อาจทำให้เสียเลือดมากจนเสียชีวิต ติดเชื้อทางช่องคลอด กลายเป็นหมัน มีลูกยากขึ้นในอนาคต หรือเลือดเป็นพิษจนเสียชีวิตได้หากใช้เครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อมีอาการแท้ง ควรทำอย่างไร
หากมีอาการที่คาดว่าตัวเองจะแท้ง ให้พยายามใจเย็นก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นให้รีบไปโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการตรวจให้ไวที่สุด หากตัวอ่อนยังไม่หลุด คุณหมออาจให้ยาทานและให้กลับบ้านได้ เพราะยังมีโอกาสที่เด็กจะเติบโตจนถึงกำหนดคลอด ซึ่งในช่วงนี้ คุณแม่ต้องนอนพักเยอะ ๆ ไม่ขยับตัวบ่อย งดออกกำลังกาย และงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน แต่หากคุณแม่เลือดไหลไม่หยุด จนตัวอ่อนหลุดออกมา คุณแม่ต้องนอนพักโรงพยาบาลสักช่วงหนึ่งก่อน
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังจากแท้ง
เมื่อทราบว่าตัวเองแท้ง ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจเช็คร่างกาย และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่แท้งลูกมักจะได้รับผลกระทบทางจิตใจ โดยเฉพาะคนที่สูญเสียลูกไปเป็นครั้งเเรก ดังนั้น หากเครียด หรือต้องการความช่วยเหลือ ก็ให้ปรึกษาหมอ หรือพูดคุยกับคนในครอบครัวได้ทุกเมื่อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ติ่งเนื้อปากมดลูก อันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร รักษาได้หรือไม่
แท้งลูกเกิดจาก อะไร? ไม่อยากแท้งต้องรู้
วิธีรักษา หลังการแท้งลูก
หากคุณแม่สูญเสียลูกไปแล้ว คุณหมอจะแนะนำให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งการรักษาอาจทำได้ทั้งการให้ยาบำรุงมดลูก การฉีดยาบีบมดลูก การขูดมดลูก หรือการเย็บปากมดลูก โดยคุณหมอจะวินิจฉัยก่อน ว่าสาเหตุของการแท้งมาจากอะไร คุณแม่มีโรคประจำตัวหรือไม่ หรือว่ายังมีสิ่งอื่นตกค้างอยู่ในโพรงมดลูกหรือเปล่า นอกจากนี้ หากคุณแม่แท้งเพราะโรคที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ ก็อาจต้องทำการรักษา เพื่อไม่ให้กลับมาแท้งได้อีก
วิธีป้องกันไม่ให้แท้ง
หากกังวลใจ กลัวว่าตัวเองจะแท้งลูก สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้
- เมื่อรู้ว่าตัวเองท้อง ก็ควรเข้ารับการฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้คุณหมอตรวจร่างกายอย่างละเอียด และควรเข้าพบแพทย์ทุกครั้งตามนัด เพื่อป้องกันภาวะแท้งหรือปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
- หมั่นสังเกตอาการของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการเลือดออก หรือรู้สึกปวดท้อง ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ และควรอยู่ให้ห่างควันบุหรี่
- ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป
- ไม่ทำงานบ้านหนักเกินไป หรือออกแรงทำกิจกรรมมากจนเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด
- รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ทั้งผักและผลไม้
แท้งไปแล้ว มีโอกาสกลับมาแท้งได้อีกไหม
หากหมั่นดูแลตัวเองอย่างดี ทำตามที่หมอแนะนำทุกอย่าง โอกาสที่จะแท้งอีกก็เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองไม่ดี ป่วยเป็นโรคระหว่างตั้งครรภ์จนส่งผลต่อเด็ก หรือหากทารกมีร่างกายไม่สมบูรณ์ขณะอยู่ในครรภ์ ก็สามารถกลับมาแท้งได้อีกเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงควรเข้าพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีความเสี่ยงใด ๆ ก็อาจช่วยให้ป้องกันได้ทันเวลาก่อนที่จะเสียลูกไปอีก
9 สัญญาณอันตราย ลูกในท้องหยุดเจริญเติบโต
แม่ท้องหลายคนคงมีคำถามมากมาย เช่น เด็กปฏิสนธิเมื่อไหร่ มีพัฒนาการอย่างไร ได้รับสารอาหารครบถ้วนไหม กังวลไปต่างๆ นานา และคำถามสำคัญคือ ลูกเจริญเติบโตหรือไม่ เรามาดูกันว่า 9 สัญญาณอันตราย บ่งบอกว่า ลูกในท้องหยุดเจริญเติบโต ที่แม่ท้องต้องระวัง มีอะไรบ้าง
1: – ไม่ได้ยินเสียงหัวใจลูกเต้น
คุณหมอจะเริ่มหาชีพจรของเด็กในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 9 – 10 ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาจากไข่จะกลายเป็นตัวอ่อน หากไม่ได้ยินเสียงหัวใจลูกช่วงดังกล่าว ควรระวังว่าลูกในท้องอาจจะหยุดเจริญเติบโต
2: – เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์
การมีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์เป็นสัญญาณของการแท้ง หากแม่ท้องพบว่ามีหยดเลือดหรือมีเลือดไหลระหว่างตั้งครรภ์ อาจสันนิษฐานได้ว่า มีโอกาสเสี่ยงกับการแท้งได้
3: – ตกขาวมากผิดปกติ
อาการตกขาวเป็นอาการปกติระหว่างตั้งครรภ์ แต่หากมากเกินไป ควรปรึกษาคุณหมอนะครับ ตกขาวจะมีน้ำคร่ำปนอยู่ ซึ่งช่วยปกป้องเด็กในครรภ์ การที่มีของเหลวปนออกมา แสดงว่าอาจมีน้ำคร่ำรั่วออกมา ซึ่งอาจทำให้เด็กหยุดเจริญเติบโตได้ครับ
4: – ตะคริวแบบเจ็บปวดมากๆ
หากคุณเป็นตะคริวแบบเจ็บปวดเกินทนได้ระหว่างตั้งท้อง นั่นก็อาจเป็นสัญญาณว่าตัวอ่อนมีปัญหา และเป็นสัญญาณเบื้องต้นของการแท้ง เพราะมีการบีบตัวให้ตัวอ่อนออกจากมดลูก
ติดตามสัญญาณอันตราย ลูกในท้องหยุดเจริญเติบโต ต่อในหน้าถัดไป >>>
5: – ผลอัลตราซาวนด์ผิดปกติ
คุณหมอจะทำการอัลตราซาวนด์ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจสอบพัฒนาการ ขนาด และความผิดปกติ หากมีความผิดปกติ คุณหมอก็ทราบได้จากผลอัลตราซาวนด์
6: – ไข้ขึ้นสูง
ระหว่างตั้งครรภ์ หากแม่ท้องไข้ขึ้นสูง ก็อาจจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน หากแม่ท้องจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ไม่ว่าจะกรณีใด แม่ท้องไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะไข้ขึ้นสูงเป็นอีกสัญญาณเตือนของอาการแท้ง
7: – ลูกไม่ดิ้นในช่วงไตรมาสที่ 3
หากลูกดิ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่หยุดดิ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 แม่ท้องควรปรึกษาคุณหมอทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กไม่เจริญเติบโตอีกต่อไป
8: – ฮอร์โมน HCG ลดฮวบ
ฮอร์โมน HCG คือฮอร์โมนที่มีในคนท้องเท่านั้น ซึ่งเป็นที่มาของผลบวกเมื่อตรวจครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ฮอร์โมนนี้จะขึ้นๆ ลงๆ แต่หากฮอร์โมนลดลงทันที แม่ท้องควรระวัง
9: – ภาวะครรภ์โตช้า
หากแม่ท้องมีภาวะครรภ์โตช้า แสดงว่าตัวอ่อนในมดลูกมีขนาดเล็กกว่าปกติ ภาวะนี้มักเกิดกับครรภ์แฝด ที่แฝดคนหนึ่งเติบโตปกติ ขณะที่อีกคนอาจเติบโตช้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ภาวะครรภ์โตช้าเกิดจากรกมีปัญหา ซึ่งสามารถทำให้เด็กหยุดเจริญเติบโตได้
แม้ว่าสัญญาณด้านบนอาจเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น แต่แม่ท้องไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรรีบปรึกษาคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกในท้องนะครับ
รับมือกับการ แท้งลูก อย่างไร?
1.ดูแลตัวเองดีๆ
อย่าจมอยู่กับอารมณ์เศร้านานๆ ค่ะ การ แท้งลูก และอย่าปล่อยให้ร่างกายของตัวเองโทรมหรือสุขภาพแย่ลง หากิจกรรมที่คุณแม่ชอบอย่างเช่น การออกกำลังกาย งานอดิเรกต่างๆ กินอาหารดีๆ เพื่อสุขภาพ หรือแม้แต่หาคนคุยด้วย ไม่จำเป็นว่าจะต้องคุยแบบเห็นหน้า ส่งข้อความหรือโต้ตอบอีเมลก็ช่วยได้ค่ะ
2.อย่าลืมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่
ไม่ว่าจะเป็นคุณสามี อยู่อย่าลืมว่าลูกที่จากไปแล้วก็เป็นลูกของคุณสามีด้วยนะคะ เวลานี้คุณสามีคงเสียใจไม่แพ้คุณแม่ เวลาที่คุณแม่อ่อนแอหากคุณสามีคอยอยู่เคียงข้าง เป็นไหล่ให้ซบ เป็นที่ซับน้ำตา คราวนี้ก็ถึงตาคุณแม่แล้วที่จะเป็นที่พักใจของคุณสามีบ้าง ลูกคนโต หากคุณแม่ยังมีลูกอีกคน ก็คอยทนุถนอมเข้าให้ดี และตักตวงช่วงเวลาเหล่านี้ไว้ให้เต็มที่ค่ะ
3.หยุดคิดวนไปเวียนมา
การจมอยู่กับความคิดและโทษตัวเองหรือสิ่งอื่นๆ ซ้ำๆ นอกจากจะไม่ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการสะกดจิตตัวเองด้วยพลังงานในด้านลบอีกด้วยค่ะ สิ่งที่ผ่านไปแล้วมันไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว มีสติแล้วอยู่กับปัจจุบัน ทำทุกๆ วันให้ดีที่สุด
4.หาคนคุยด้วย
คุณสามี เพื่อนสนิท และคนในครอบครัว คุณแม่สามารถพูดคุยในเรื่องการแท้งลูกในครั้งนี้ กับคนที่หวังดีต่อคุณแม่ได้ อย่างน้อยๆ คือได้ระบายสิ่งที่คิดสิ่งที่ตั้งใจอยู่ออกไป ปล่อยให้ความคิดและอารมณ์ในด้านลบออกไปจากตัว ไม่แน่ว่าอาจจะได้ความคิดหรือคำแนะนำดีๆ กลับมาก็ได้ค่ะ
5.หาผู้เชี่ยวชาญ
ผู้หญิง 1 ใน 6 คนเคยเจอกับสถานการณ์แท้งลูกเช่นเดียวกับคุณแม่ และเผชิญกับความเศร้าเช่นเดียวกันนี้ คุณแม่ไม่ได้เป็นคนๆ เดียวที่ต้องเสียลูกไปค่ะ ถ้าคุยกับคนอื่นแล้วยังไม่สบายใจ การปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางออกถึงวิธีคลายเศร้าดูนะคะ
บทความที่น่าสนใจ
ยากันแท้ง คืออะไร เมื่อไหร่ควรได้รับยากันแท้ง
โรค APS ในแม่ท้องเสี่ยงแท้งลูกได้ คนท้อง อย่าประมาทว่าแค่ขาบวม!
ท้องแข็งถี่ อันตรายไหม ห้ามทำอะไร เมื่อมีอาการท้องแข็ง
แพ้ท้อง อยากกินดิน อยากกินงู เหม็นผัว อาการคนท้องไตรมาสแรก แม่ท้องจะกินสามีห้ามขัด
ที่มา: meded.psu
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!