แม่ท้องที่มีอายุครรภ์ 1 – 12 สัปดาห์ หรือ อยู่ในช่วงไตรมาสแรก ควรเลือกสรรอาหารการกินเป็นพิเศษ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะในช่วง 3 เดือนแรก แม่ท้องจะมีอาการแพ้ท้อง กินอะไรไม่ค่อยได้ บางคนจึงเลือกกินเฉพาะอาหารที่ชอบ และอยากกิน แต่อาจไม่มีคุณประโยชน์เพียงพอสำหรับลูกในท้อง อาหารบำรุงครรภ์ 3 เดือนแรก มีอะไรบ้าง ควรจะมีอะไรเป็นส่วนประกอบ มาดูกัน
อาหารบำรุงครรภ์ 1 – 4 สัปดาห์แรก
แม่ท้องควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยเมนูผักต่าง ๆ และผลไม้สด โดยอาหารบำรุงครรภ์ช่วงเดือนแรก แม่ท้องควรเลือกกินดังนี้
- อาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต จำพวกเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์ของตัวอ่อน รวมทั้งช่วยป้องกัน และลดปัญหาความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง และระบบประสาท ของทารกในครรภ์ด้วย
- อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอด ไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ช่วยไม่ให้เกิดเลือดจาง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กจะทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้มากพอที่จะลำเลียงออกซิเจนจากเลือดแม่ ไปสู่ส่วนต่าง ๆ ส่งต่อไปยังลูก ผ่านทางรกด้วย อาหารที่มีธาตุเหล็กประกอบ มีอยู่หลายชนิด เช่น อาหารกลุ่มธัญพืช ถั่วตระกูลต่าง ๆ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียว และเนื้อสัตว์ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เมนูคนท้องกินแล้วไม่อ้วน สุดยอดเมนูอาหารของคุณแม่ตั้งครรภ์
อาหารบำรุงครรภ์ 5 – 8 สัปดาห์แรก
- อาหารที่มีโปรตีนสูง ในช่วงนี้คุณแม่ควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูง จำพวกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา เป็ด ไก่ ไข่ นม ถั่ว เต้าหู้ นม โยเกิร์ต ชีส และพืชตระกูลถั่ว จะช่วยในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ และส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกได้ดี
- ดื่มน้ำผลไม้สด ห้ามอดอาหารเด็ดขาด แม้ว่าจะไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหารก็ตาม ให้ทานเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อตลอดทั้งวันแทน ถ้ามีอาการแพ้ท้องรุนแรง สามารถบรรเทาได้ด้วยการจิบน้ำขิง หากไม่อยากรับประทานจริง ๆ หรือไม่สามารถทานได้ อย่างน้อย ๆ ให้คุณแม่ดื่มน้ำผลไม้สดแทน ก็สามารถช่วยได้
- โอเมก้า 3 สารอาหารที่จำเป็นอีกอย่าง คือ โอเมก้า 3 ซึ่งจะทำให้ทารกในครรภ์ ฉลาด และเสริมสร้างการมองเห็น ทำให้ลูกสายตาดี และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด ข้ออักเสบ รวมทั้งมะเร็งเต้านม โอเมก้า 3 มีอยู่ในอาหารจำพวก น้ำมันปลา ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ถั่วต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ ถั่วเหลือง เมล็ดฟักทอง คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ควบคู่ไปกับสารอาหารที่มีวิตามินอื่น ๆ เพราะวิตามินจะช่วยให้ร่างกายนำโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- โฟเลต อย่าลืมทานอาหารที่มีโฟเลต โฟลิก อย่างสม่ำเสมอ
อาหารบำรุงครรภ์ 9 – 12 สัปดาห์แรก
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คุณแม่บางคนยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ ในขณะที่บางคนอาการแพ้ท้องลดลงมาก จนหายไปแล้ว แต่การเลือกรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน โฟเลต แคลเซียม วิตามินต่าง ๆ เป็นประจำ ก็ยังจำเป็นสำหรับแม่ท้อง และควรจะรับประทานให้ครบ 5 หมู่ เพื่อบำรุงครรภ์อีกด้วย
- วิตามินบี 3 อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะเร็วกว่าปกติ การรับประทานวิตามินบี 3 ที่พบมากในอาหารจำพวก ปลา เนื้อสัตว์ ไก่ เห็ด ถั่ว มีส่วนช่วยในเรื่องกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย และยังช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ด้วย
- ดื่มน้ำมาก ๆ อย่าลืมดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เพราะช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของแม่ท้อง จะมีความต้องการน้ำมากขึ้นกว่าปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องควรรู้! อาหารคนท้อง แต่ละช่วงเดือน อะไรกินได้ อะไรห้ามกิน
อาหารบำรุงครรภ์ 3 เดือนแรก และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารบำรุงครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เมนูอาหารไตรมาสแรกควรจะประกอบไปด้วยอาหารที่มีวิตามินบี 6 ได้แก่ ส้ม ไข่ ผักใบเขียว มันฝรั่ง จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ ทานอาหารแคลเซียมสูง และเลือกทานคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืช โฮลเกรน (Whole grain)
อาหารที่มีไอโอดีน พบมากในพืช และสัตว์ทะเล เช่น ปลาทะเล กุ้งทะเล สาหร่ายทะเล หรืออาหารที่ปรุงด้วยเกลือเสริมไอโอดีน และผลิตภัณฑ์ปรุงรสเค็มที่เสริมไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม หญิงมีครรภ์ และแม่ให้นม ต้องการประมาณไอโอดีน 250 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด และช่วยไม่ให้แท้งได้ง่าย
ส่วนอาหารที่ไม่ควรรับประทานในช่วง 3 เดือนแรก เช่น อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีรสจัด เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด เป็นอาหารที่คนท้องไม่ควรรับประทาน อย่าลืมว่า ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการยุติการตั้งครรภ์ได้
เคล็ดลับสุขภาพดีทั้งแม่และลูก ในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
สิ่งที่แม่ท้องไตรมาสแรกควรทำ
- รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์
- ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ
- หมั่นออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบช่องคลอด (Kegel excercise)
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และลดอาหารที่มีไขมันสูง
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- รับประทานอาหารมากขึ้นประมาณ 300 แคลอรีจากปกติ
สิ่งที่แม่ท้องไตรมาสแรกไม่ควรทำ
- ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนัก สร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายบริเวณท้องได้
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือสารเสพติด
- ลดการดื่มคาเฟอีน (ไม่ควรเกินวันละ 1 แก้ว)
- ไม่ควรรับประทานอาหารดิบ ๆ หรือ กึ่งสุก กึ่งดิบ เช่น ซูชิ ซาชิมิ ถั่วงอกดิบ เป็นต้น
- ระวังการรับประทานปลา หรืออาหารทะเลที่มีการสะสมของสารปรอท เช่น ปลาแมกเคอเรล ปลากะพงขาว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแมว และทรายแมว เนื่องจากแมวสามารถเป็นพาหะที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจากปรสิต (Toxoplasmosis) ได้
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนม ที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
- หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารแปรรูป
หากคุณแม่คนไหนอยากรู้เรื่องอาหารการกินของคนท้องเพิ่มอีก สามารถเลือกอ่านได้เลยที่นี่ คลิก และยังมีเคล็ดลับการดูแลครรภ์สำหรับคุณแม่อีกมากมาย สามารถติดตามได้ใน theAsianparent Thailand รวมทั้งคุณแม่สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพลต่าง ๆ ได้ คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อท้องโต ขณะตั้งครรภ์ ถ้ากดโหวตไม่ได้ คลิก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
7 เมนู อาหารกลางวันคนท้อง กินอะไรดี ได้ประโยชน์ด้วย
10 เมนูอาหารเช้าคนท้อง ไม่อ้วน แถมมีประโยชน์ ได้สารอาหารครบถ้วน
15 อาหารคนท้อง ไตรมาส 3 ท้องไตรมาสนี้กินอะไรให้ลูกแข็งแรงมาดูกัน!
ที่มา : Healthline
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!