เมื่อทารกกินนมเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดูดนมแม่จากเต้าหรือดูดนมจากขวด ขั้นตอนต่อไปคือการจับเรอ เพราะตอนกินนมลูกมักจะกินลมเข้าไปด้วยโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถเรอออกมาได้เอง ดังนั้น การจับเรอจะช่วยให้ลมที่ผ่านเข้าไปในท้องออกมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ดูดนมจากขวด วันนี้ theAsianparent จะพามาดู วิธีจับลูกเรอ พร้อมบอกเทคนิคจับลูกเรอว่าควรทำอย่างไร ไปดูกัน
ทำไมต้องจับลูกเรอ
การเรอช่วยให้ระบบย่อยในท้องน้อย ๆ ของลูกทำงานได้ดีขึ้น ขณะดูดนม ลูกจะกลืนลมเข้าไป และรู้สึกอิ่มอึดอัดมากกว่าที่เป็น การกำจัดลมในท้องทั้งระหว่างและหลังให้นมแต่ละมื้อ จะช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง และทำให้ท้องว่างรับนมเพิ่มขึ้นได้อีกด้วยค่ะ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องรู้จักวิธีอุ้มลูกเรอที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้ลูกน้อยสบายท้องมากขึ้นนั่นเอง ลมที่ติดอยู่ในท้องอาจนำไปสู่อาการโคลิค (หรือที่คนไทยเราเรียกว่าร้องร้อยวัน) ซึ่งลูกจะปวดมาก การเรียนรู้วิธีพาลูกเรอแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ คุณสามารถขอคำปรึกษาจากกุมารแพทย์หรือคลินิกนมแม่ได้ทุกเมื่อค่ะ
ควรจับเรอตอนไหนบ้าง
โดยส่วนมากมักต้องไล่ลมในช่วงครึ่งทางของการให้นม และทำอีกครั้งหลังให้นมเสร็จ การไล่ลมก่อนให้นมจะช่วยบรรเทาอาการได้ หากลูกมีอาการแน่นท้องมากหรือแหวะนมออกมามากหลังให้นม คุณแม่หลาย ๆ ท่านมักมีความกังวล เนื่องจากไม่สามารถช่วยให้ลูกเรอได้อย่างถูกต้อง วิธีการจับลูกเรอและท่าอุ้มเรอนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องเรียนรู้
จับลูกเรอถึงกี่เดือน
แน่นอนว่าในช่วง 0-3 เดือน จำเป็นต้องอุ้มลูกเรออยู่นะคะ เพราะระบบการย่อยอาหารของลูกยังทำงานได้ไม่ดีค่ะ ทารกบางคนคุณแม่อาจจะต้องอุ้มเรอยาวนาน 6-7 เดือนก็มีค่ะ แต่ส่วนใหญ่เมื่อลูกพลิกคว่ำพลิกหงายได้เองแล้ว คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องไล่ลมให้ทุกมื้อก็ได้ค่ะ
หากลูกไม่ยอมเรอควรทำอย่างไร
หลังจากลูกทานนม แล้วอุ้มให้ลูกเรอด้วยท่าใดท่าหนึ่งแล้วลูกยังไม่ยอมเรอเป็นระยะเวลานาน อาจลองเปลี่ยนเป็นอีกท่าหนึ่ง แต่หากเปลี่ยนท่าแล้ว ลูกก็ยังไม่เรอจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจเพียงสังเกตอาการ หากลูกดูปกติ สบายดี ท้องไม่อืด ในบางมื้อนมลูกอาจจะไม่ได้มีแก๊สในกระเพาะเยอะ จึงไม่จำเป็นต้องเรอก็ได้ค่ะ
ขั้นตอนการจับลูกเรอให้ได้ผลชะงัด
- อุ้มลูกให้นั่งตรง ๆ พิงอกคุณโดยใช้หัวไหล่และคางของคุณช่วยรับน้ำหนักลูกไว้ ใช้มือหนึ่งประคองคอของลูกและอีกมือตบหลังลูกเบา ๆ
- ให้ลูกนั่งตรง ๆ บนตักคุณและใช้มือหนึ่งประคองส่วนอกของลูกไว้ เอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อยและตบหลังลูกเบา ๆ คุณอาจลูบหลังลูกเป็นวงกลมเพื่อกระตุ้นให้เรอด้วยก็ได้ค่ะ
- วางลูกคว่ำลงบนตักของคุณ ใช้มือหนึ่งประคองใต้อกลูก ขณะที่อีกมือลูบหลังเป็นวงกลมหรือตบเบา ๆ
- ถ้าลูกเรอไม่ออก ลองงอขาลูกขึ้นไปที่หน้าอก วิธีนี้อาจช่วยขับลมออกมาได้ค่ะ
4 ท่าอุ้มเรอให้ได้ผลชะงัด เทคนิคจับลูกเรอ
คุณแม่ควรจับลูกเรอ โดยเน้นที่ 2 ส่วนหลัก คือ ประคองศีรษะและคอของลูกให้มั่นคง แล้วจัดวางท่าให้กระเพาะลูกอยู่ในลักษณะตั้งตรงไม่งอ จากนั้นค่อย ๆ ตบหลังเบา ๆ ให้ลูกเรอ โดยท่าอุ้มเรอที่คุณแม่ทำได้ มีดังนี้
1. ท่าอุ้มเรอแบบพาดบ่า
ท่าอุ้มพาดบ่า เป็นท่าอุ้มเรอที่นิยมที่สุดและทำได้ง่าย โดยคุณแม่อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาตัว ประคองศีรษะลูกวางบนบ่าหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง ใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้ ส่วนมืออีกข้างประคองก้นลูกไว้ ท่านี้ไหล่ของคุณแม่จะช่วยนวดลิ้นปี่ของลูกไปในตัวอย่างเบา ๆ ทำให้ลูกเรอได้
2. ท่าอุ้มเรอแบบนั่งบนตัก
ท่าอุ้มเรอแบบนั่งบนตัก ท่าอุ้มเรอท่านี้ให้คุณแม่จับลูกนั่งตักใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงคางลูกเอาไว้ จากนั้นโน้มตัวลูกเล็กน้อย หลังตรง อุ้งมือของคุณแม่จะอยู่บริเวณลิ้นปี่ของลูก ให้ทิ้งน้ำหนักตัวลูกมากดทับที่มือของคุณแม่ จะช่วยคลึงท้องลูกเพื่อช่วยไล่ลมออก ส่วนมืออีกข้างให้ลูบหลังเบา ๆ ทำสักพัก 5-10 นาที ลูกก็จะเรอออกมาค่ะ
3. จับลูกเรอแบบวางเด็กบนหน้าตัก
ท่าอุ้มเรอท่านี้ให้คุณแม่อุ้มลูกให้นอนคว่ำ ให้ช่วงหน้าอก บริเวณลิ้นปี่ของลูกอยู่บนหน้าขา โดยคุณแม่นั่งบนเก้าอี้ท่าชันเข่า ใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงไหล่ลูก ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังลูกเบา ๆ หน้าขาคุณแม่จะช่วยนวดเบา ๆ ที่ท้องลูก เพื่อช่วยไล่ลมให้ลูกได้เช่นกัน
4. ท่าสำหรับลูกไม่ยอมเรอ
หากลูกไม่ยอมเรอ คุณแม่ควรจับลูกนอนหงายแล้วงอขาลูกขึ้นไปที่หน้าอก โดยอาจใช้ท่าอุ้มเรอท่าใดก็ได้ที่คุณแม่ถนัด วิธีนี้จะช่วยระบายลมออกจากท้องของลูกน้อยได้
ข้อควรรู้และควรระวังในการจับลูกเรอ
- ทุกครั้งที่จับลูกเรอ ให้คุณแม่เตรียมผ้าอ้อมสะอาดไว้ใกล้มือ เวลาที่ลูกแหวะนมออกมาจะได้หยิบใช้สะดวก
- ทุกครั้งที่คุณแม่อุ้มลูก ต้องใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้เสมอนะคะ เพราะกล้ามเนื้อต้นคอของเจ้าหนูยังไม่แข็งแรงพอนั่นเอง
- แม้ในช่วงกลางคืนที่ลูกตื่นมากินนม คุณแม่ก็ต้องจับลูกเรอเช่นกันนะคะ ลูกจะได้สบายท้อง นอนหลับต่อได้ไม่โยเย สำหรับเด็กที่ดูดนมจากเต้าจะมีลมเข้าท้องน้อยกว่าเด็กที่ดูดนมจากขวดนมค่ะ
- ให้ลูกกินนมแม่ เพราะการกินนมแม่จะช่วยลดการเอาลมเข้าปาก เข้าท้องมากกว่าการกินนมจากขวดนม ปัจจุบันมีขวดนมที่ป้องกันลมเข้าท้อง ขวดจะมีลักษณะโค้งงอ เมื่อลูกยกขวดดูดนม น้ำนมในขวดจะไหลออกมากันอากาศเข้า
- เวลาที่คุณแม่ป้อนนมจากขวด ท่าอุ้มให้อุ้มลูกเข้าอกเหมือนกับเวลาที่ให้นมแม่ค่ะ เพราะท่านี้เมื่อลูกยกขวดนมน้ำนมจะเต็มขวดอยู่เสมอไม่เหลือที่ว่างลดการดูดอากาศจากขวดนม ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนแล้วยกขวดป้อนลูก เพราะมีโอกาสที่ลมจะเข้าท้องได้มากค่ะ
สิ่งที่คุณแม่ควรระวังทุกครั้งในการจับลูกเรอ ให้เตรียมผ้าอ้อมสะอาดไว้ใกล้มือ เวลาที่ลูกแหวะนมออกมาจะได้หยิบใช้สะดวก และทุกครั้งที่อุ้มลูก ต้องใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้เสมอ เพราะกล้ามเนื้อต้นคอของลูกยังไม่แข็งแรง
เคล็ดลับการป้อนนมลูกไม่ให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
สาเหตุหลักที่ทำให้ลูกท้องอืดนั้น มาจากกระบวนการย่อยอาหาร ดังนั้น การป้อนนมของคุณแม่นั้นจึงมีผลโดยตรงกับอาการท้องอืด ท้องเฟ้อของลูกน้อย ซึ่งเทคนิคที่จะทำให้คุณแม่ป้อนนมลูกได้อย่างถูกต้อง มีดังนี้
- เลือกโภชนาการย่อยง่ายให้ลูก กล่าวคือ “นมแม่” เนื่องจากนมแม่ดีที่สุด เพราะเป็นนมย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบลำไส้ของลูก รวมถึงนมแม่มี MFGM และ DHA ที่ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ทำให้พัฒนาการสมองของลูกดียิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูก โดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่ย่อยง่าย
- ใช้ขวดนมป้องกันโคลิค เพราะขวดนมเหล่านี้ออกแบบมาเป็นพิเศษ ป้องกันไม่ให้ลมอยู่ในน้ำนมเมื่อลูกน้อยดื่ม และสามารถไล่ลมออกจากน้ำนมได้
- ป้อนนมในปริมาณพอเหมาะ ไม่ให้ลูกดูดนมเร็วหรือช้าเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะอาหาร ทำให้ลูกท้องอืดได้ค่ะ
- จัดท่าทางอุ้มลูกให้เหมาะสมขณะให้นม ไม่ว่าจะให้นมจากเต้าหรือจากขวด คุณแม่ก็ควรอุ้มลูกขึ้นมา ยกศีรษะลูกให้อยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย จะทำให้น้ำนมไหลลงสู่ท้องได้ดีกว่านอนดูดนมค่ะ
- ยกขวดนมขึ้นระหว่างป้อนนม หรือเอียงขวดทำมุม 30-45 องศา เพื่อให้อากาศลอยอยู่ที่ก้นขวด ป้องกันอากาศไหลผ่านช่องว่างบริเวณจุกนม
- ทิ้งนม 2-3 นาทีหลังจากชงเสร็จ เพื่อให้ฟองอากาศแตกตัว ก่อนให้ลูกดูดจากขวด
- จับลูกเรอหลังให้นมเสร็จ ด้วยการอุ้มลูกพาดบ่า คางเกยไหล่ แล้วลูบหลังเขาเบา ๆ ประมาณ 10-20 นาที หรือจับลูกนั่งตัก ใช้มือประคองหัวลูกให้สูงกว่าหน้าอก แล้วใช้มืออีกข้างค่อย ๆ ลูบหลังเขาอย่างแผ่วเบา อ่อนโยน
- นวดท้องลูกเบา ๆ ด้วยการใช้น้ำมันนวดที่ช่วยลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง โดยให้คุณแม่ทาน้ำมันบนท้องของลูก จากนั้นเหยียดขาลูกให้ตรงและจับไว้เฉย ๆ แล้วใช้น้ำมันนวดวนท้องลูกเบา ๆ ก็จะช่วยให้ลูกสบายตัวมากยิ่งขึ้น
วิธีจับลูกเรอ คุณแม่สามารถเลือกใช้ตามที่ถนัดเลยนะคะ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะต้องขยันจับลูกเรอบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้ลูกสบายตัว และป้องกันการร้องโคลิค ทั้งนี้อย่าลืมเตรียมผ้าอ้อมและผ้าพาดบ่าติดตัวเสมอ เพราะลูกอาจเกิดอาการแหวะนมได้ตลอดเวลาค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แชร์เคล็ด(ไม่)ลับลดปัญหาไม่สบายท้องของลูกรัก
จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ทารกไม่สมดุล ระวังลูกเป็นโรค!
ลูกมี แก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ ทำอย่างไรดี? อาหารอะไรที่ทำให้เกิดแก๊ส
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิธีทำให้ลูกเรอ ได้ที่นี่!
burping ลูก คืออะไรเหรอคะ แล้วช่วยอะไรบ้างคะ
เรอ จับให้ลูกเรอยังไงดีคะ แล้วทำไมต้องทำให้ลูกเรอคะ
ที่มา :kidshealth ,healthline ,whattoexpect , premierehomehealthcare
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!