ความเข้าใจธรรมชาติของ การนอนหลับของทารกแรกเกิด ถึง 1 เดือน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรหาความรู้ไว้ เพราะเมื่อคุณเข้าใจกลไกการนอนของลูก จะทำให้คุณแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ทั้งการนอนและการให้นมลูกได้อย่างถูกวิธี วันนี้เราจะพาไปดูการนอนหลับของทารกแรกเกิด เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้วางแผนในการดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้องค่ะ
เข้าใจธรรมชาติ การนอนหลับของทารกแรกเกิด ถึง 1 เดือน
การนอนหลับของทารกแรกเกิดอายุ 1 วัน
- เคยได้ยินที่ฝรั่งเขาพูดกันมั้ย “Sleeping like a baby” “นอนยังกับเด็กทารก” ก็เพราะเด็กทารกโดยเฉพาะช่วงแรกเกิดจะนอนนานมาก และตื่นขึ้นมาเพียงไม่นาน แน่นอนการตื่นครั้งแรกคือ ตอนที่เกิดมาดูโลก และใน 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น เด็กจะนอนเป็นพัก ๆ นี่เป็นรูปแบบการนอนปกติของเด็กแรกเกิด วันแรกของชีวิต คุณแม่ควรปลุกให้ลูกตื่นมาดื่มนมทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ในช่วงนี้นะคะ
- อายุครรภ์ของคุณแม่ส่งผลกับรูปแบบการนอนของเจ้าตัวน้อย โดยใช้วันกำหนดคลอดเป็นตัวตั้ง ถ้าลูกของคุณคลอดก่อนวันกำหนดคลอดสัก 3 สัปดาห์ และตอนนี้อายุ 1 เดือนแล้ว เท่ากับว่าลูกน้อยยังอายุเพียง 1 สัปดาห์นะ
- ถ้าลูกคุณเกิดก่อนวันกำหนดคลอด เบบี๋น้อยคนนี้จะนอนนานเป็นพิเศษ จนถึงวันกำหนดคลอด ลูกจะตื่นมากกว่าเดิม
- ทารกแรกเกิดมักจะนอนทันที หลังจากทานนมเสร็จ หรือนอนคาเต้ากันเลย
- การนอนวันนี้จะยังไม่มีรูปแบบใด ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่ ก็ยังไม่สามารถจะฝึกการนอนของลูกในตอนนี้ได้
- ถ้าสังเกตดี ๆ ใต้เปลือกตาลูกตอนนอน จะเห็นได้ว่าดวงตาของลูกมีการเคลื่อนไหว และลูกอาจจะขมวดคิ้ว ทำท่าดูด ขยับนิ้วมือนิ้วเท้า เพราะเด็กน้อยกำลังหลับแบบ REM (rapid eye movement) หรือกำลังฝัน เด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือน จะหลับ และเข้าสู่การนอนแบบ REM ได้ทันที แตกต่างจากเด็กที่โตกว่านั้น หรือผู้ใหญ่
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวมขั้นตอน ฝึกทารกนอนหลับ ให้เป็นเวลาเพื่อคุณแม่ได้งีบนานขึ้น
- เด็กทารกจะนอนแบบ REM ประมาณครึ่งหนึ่งของการนอนทั้งหมด ส่วนผู้ใหญ่จะนอนแบบ REM ประมาณ 1 ใน 4 ของระยะเวลานอนทั้งหมด
- เด็กแรกเกิดจะหลับแบบ REM สลับกับ non-REM และในระหว่างที่มีการสลับนี้ ลูกอาจจะมีอาการกึ่งหลับกึ่งตื่น แต่บางทีอาการกึ่งหลับ กึ่งตื่นนี้อาจจะเป็นการปลุกลูกขึ้นมาเลยก็ได้
- ช่วงใกล้ ๆ เช้า เด็กแรกเกิด มักจะตื่นมากกว่าช่วงอื่น ๆ
- คุณควรให้ลูกได้นอนห้องเดียวกับคุณในช่วง 6 เดือนแรกนะ
- เด็กแรกเกิดอาจจะนอนได้ตั้งแต่ 11-20 ชั่วโมงต่อวันเลย แล้วแต่คน
- การที่ลูกนอนกระตุกเป็นเรื่องปกติ เพราะเกิดการดึงของกล้ามเนื้อ บางทีการกระตุกก็ไม่มีเหตุผล แต่หลาย ๆ ครั้งถ้าเกิดเสียงดัง เด็กจะนอนกระตุก เพราะเสียงนั่นเอง คุณพ่อคุณแม่อย่ากังวลไป การกระตุกเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ระบบประสาทของลูกทำงานได้ดี
- อย่ากังวล ถ้าลูกหลับแทบไม่ขยับเลย ถ้าลูกหลับสนิทเราจะแทบมองไม่เห็นการขยับจากการหายใจของลูกเลยล่ะค่ะ
การนอนหลับของเด็กแรกเกิดวัย 2 วัน
- วันที่ 2 ของเด็กแรกเกิด เด็กจะตื่นมากกว่าวันแรก นอกเสียจากว่าช่วงที่เกิด มีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือเด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้ทารกเหล่านี้นอนนานกว่าปกติในช่วง 2 – 3 วันแรก
- ทารกแรกเกิดโดยปกติจะนอนประมาณ 16 – 19 ชั่วโมง ลูกน้อยจะตื่นทุก ๆ 2 – 4 ชั่วโมง ร้องไห้เพื่อขอกินนม และหลังจากนั้นจะตื่นในอีก 1 – 2 ชั่วโมง แล้วก็นอนต่อ
- ลูกน้อยแรกเกิดจะนอนตอนกลางคืน น้อยกว่ากลางวัน เพราะเด็กยังคงพัฒนานาฬิกาของร่างกายตัวเองอยู่ ทำให้ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่คือเวลานอน เมื่อไหร่คือเวลาตื่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : การถดถอยการนอนหลับทารก อาการของทารก ตื่นบ่อย ตื่นถี่ ไม่เป็นเวลา
การนอนหลับของเด็กแรกเกิดวัย 1 สัปดาห์
- เด็กส่วนใหญ่จะนอนเท่ากันช่วงกลางวันประมาณ 8 ชั่วโมง และกลางคืนอีก 8 ชั่วโมง
- เด็กแรกเกิดจะต้องการดื่มนมทุก 2 – 3 ชั่วโมง
- ถ้าเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีความต้องการมากเป็นพิเศษ เด็กจะตื่นบ่อยหน่อยตอนกลางคืน การนอนของทารกจะยังคาดเดาอะไรไม่ได้ และใช้เวลาปรับตัวนานกว่าเด็กปกติ
- การฝึกหากให้นอนเป็นเวลายังทำไม่ได้ช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำใจปรับตัวกับรูปแบบการนอนของลูกช่วงนี้ไปก่อน
การนอนหลับของทารกแรกเกิดวัย 2 สัปดาห์
- เมื่อทารกถึงวัย 2 สัปดาห์ การให้นมเริ่มจะลงตัวแล้ว และสิ่งที่จะทำให้ลูกตื่นส่วนใหญ่ก็คืออาการหิวนมนั่นเอง
- ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มรู้แล้วว่า ลูกคุณชอบตื่น และชอบนอนตอนไหน ซึ่งทารกส่วนใหญ่มักจะตื่นช่วงเย็น ๆ
- ทารกวัย 2 สัปดาห์ จะมีช่วงเติบโตเร็ว (growth spurt) เป็นครั้งแรก ช่วงนี้เด็กอาจมีอาการกระสับกระส่ายและดื่มนมเยอะ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน ช่วงที่เด็กโตเร็วนี้ อาจจะมีระยะเวลา 2:3 วัน แต่สำหรับเด็กบางคนอาจจะนานถึง 1 อาทิตย์
- หลังจากช่วงเติบโตเร็วจบไปแล้ว คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกนอนได้มากกว่าช่วงที่ผ่านมา
- คุณแม่บางท่านอาจจะคิดว่า ควรให้ลูกทานนมผง เพื่อให้เด็กนอนได้นานขึ้น แต่นั่นคือความเชื่อที่ผิด การนอนของทารกแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งมีผลวิจัยออกมายืนยันแล้วว่า นมผง หรือนมแม่ไม่มีส่วนกับการนอนหลับของเด็ก เพราะฉะนั้นควรให้นมแม่ เพราะเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย
- โคลิกเป็นอีกอาการหนึ่งที่ทำให้ทารกแรกเกิดไม่ยอมนอน ซึ่งอาการนี้จะเริ่มเกิดขึ้นช่วงนี้แหละ ประมาณ 20% ของทารกทั้งหมดจะมีอาการโคลิค ซึ่งเด็กมักจะมีอาการโคลิกนาน 3 เดือน หรือมากกว่า แล้วก็จะหายไปเอง
- ถ้าลูกน้อยของคุณน้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์หลัง 2 สัปดาห์ คุณอาจจะต้องปลุกลูกขึ้นมาให้นมทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง
- ทารกวัย 2 สัปดาห์นี้ ยังไม่สามารถตื่นอย่างต่อเนื่องได้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมงได้ ถ้าคุณทำให้ลูกตื่น เพื่อเล่นกับคุณ หรือมีสิ่งเร้าให้เด็กไม่หลับเกินกว่า 2 ชั่วโมง จะทำให้เด็กเหนื่อยเกินไป ทีนี้ล่ะยิ่งทำให้นอนยากกว่าเดิม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกนอนกี่ชั่วโมง เทคนิคจัดตาราง การนอนของทารก เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี
การนอนหลับของทารกแรกเกิดวัย 3 สัปดาห์
- ลูกน้อยต้องปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศภายนอกครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็ยังเป็นช่วงปรับตัวอยู่ จะเห็นได้จากอาการร้องไห้ และการหลับ ๆ ตื่น ๆ ของลูก
- การนอนของลูกก็ยังคงคาดเดาอะไรมากไม่ได้ และก็ยังฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลาไม่ได้อยู่
- ช่วงนี้คุณแม่ส่วนใหญ่จะได้หลับประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น แต่แม่ทุกคน ก็จะสู้มันได้
- ถึงตอนนี้แล้ว ลูกน้อยจะเริ่มรู้สึกถึงสิ่งรอบตัว และจะไม่หลับได้ง่าย ๆ เท่ากับช่วงที่เพิ่งเกิด และจะตื่นได้ง่ายขึ้น เมื่อมีเสียงดัง ลูกจะต้องการการอุ้ม ไกวเปล หรือร้องเพลงกล่อมถึงจะนอนได้ง่าย
กลไกการนอนหลับของทารก 1 เดือน
- เด็กจะนอนกลางวันประมาณ 7 ชั่วโมง และนอนกลางคืนประมาณ 9 ชั่วโมง
- ถึง 1 เดือนแล้ว ลูกจะนอน และตื่นได้นานขึ้น เริ่มตื่นได้นานถึง 1-3 ชั่วโมง
- ลูกจะนอนต่อเนื่องได้นานขึ้นเป็น 3 – 4 ชั่วโมง
- แต่การนอนหลับยาวตลอดคืน ช่วงอายุเพียง 1 เดือน อาจจะไม่ดีกับลูกนะ ถ้าลูกนอนยาวต่อเนื่องเกิน 5 ชั่วโมง แปลว่าลูกอาจจะป่วยอยู่ หรือหมดพลังงานที่จะตื่น และร้องหิวนมก็ได้ นอกจากนั้นถ้าลูกไม่ค่อยตื่นมาดูดนมบ่อยเท่าที่ควร นมของคุณแม่ ก็จะไม่ได้รับการกระตุ้นมากเพียงพอ ซึ่งจะทำให้น้ำนมน้อยได้
เรื่องการนอนหลับของทารกแรกเกิดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่ควรจัดตารางเวลาการนอนของลูกเพื่อช่วยให้เขาได้รับการพักผ่อนที่เหมาะสม หากลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยให้เขาไม่ตื่นกลางดึก และเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญาของลูกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกนอน อย่าทำแบบนี้! 5 สิ่งที่ต้องห้ามเกี่ยวกับการนอนของทารก
ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัย ท่านอนทารก ที่นอนทารกแรกเกิด ต้องเป็นแบบไหน
ทารกนอนแอร์กี่องศา ทารกนอนพัดลมได้ไหม กลัวลูกปอดติดเชื้อ ปอดบวม แม่ต้องทำอย่างไร
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการนอนของลูก ได้ที่นี่!
การนอนของลูก สามารถบ่งบอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้างคะ
ที่มา : thealphaparent
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!