เมื่อทารกร้องไห้ช่วงกลางคืนบ่อย ๆ ในเวลาเดิม แต่ไม่รู้ว่าทำไมร้อง อาการเหล่านี้ คือ อาการของโคลิค สงสัยหรือไม่ว่า โคลิคเกิดจากอะไร อาการนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เกิดจากสภาวะร่างกายหลายอย่างของทารก ที่ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า ทำได้เพียงคอยรับมือจนกว่าอาการจะหายไป หากผู้ปกครองมีความกังวลควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม
โคลิคคืออะไร เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับจริงไหม?
เป็นอาการของทารกวัย 2 – 6 สัปดาห์ ที่ร้องไห้ไม่หยุด โดยไม่ทราบสาเหตุ หากมองด้วยตาเปล่า และไม่สามารถหาวิธีตายตัวเพื่อทำให้ทารกหยุดร้องได้ ปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับทารกทุกคน ถึงแม้ว่าทารกคนนั้นจะมีสุขภาพดี ไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ มาก่อนก็ตาม โดยการร้องนั้นจะร้องไห้มาก ในเวลาเดิม ๆ ในแต่ละวัน เสียงของทารกจะดัง และแหลม ส่วนมากจะพบว่าร้องช่วงเย็น หรือกลางคืน โดยจะร้องรวมแล้ววันละประมาณ 3 ชั่วโมง และอาการโคลิคจะเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ละ 3 วัน และเป็นต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ อาการโคลิคนี้จะบรรเทาได้เองเมื่อทารกมีอายุได้ 3 – 4 เดือน
โดยสาเหตุที่ทำให้ทารกร้องนั้นส่วนมากจะเป็นสาเหตุที่ผู้ปกครองไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า แต่ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ทารกร้องนั้นอยู่ในร่างกายของทารกเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮอร์โมนในร่างกาย, ทารกกำลังป่วยเป็นโรคบางโรคอยู่ในขณะนั้น รวมไปถึงการให้นมทารกแบบผิดวิธี เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกร้องไม่หยุด แม่อุ้มไม่ไหว ทำยังไงให้ทารกหยุดร้องไห้ แม่วางลูกได้บ้าง
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
โคลิคเกิดจากอะไร
ปัญหาที่ทารกร้องไม่หยุดตอนกลางคืน เป็นปัญหาที่มีสาเหตุเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ถึงแม้จะดูแลทารกเป็นอย่างดี ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ทารกเป็นโคลิคได้ หากพบว่าลูกมีอาการโคลิค อาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- เกิดจากภายในร่างกายของทารกเอง หรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น การหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร, ระบบประสาทที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์, เป็นกรดไหลย้อน, เกิดการติดเชื้อที่บริเวณระบบทางเดินปัสสาวะ, แพ้นมวัว, หูอักเสบ หรือไม่สบายตัวจากผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
- เกิดจากทารกมีปัญหาบริเวณช่องท้อง เช่น มีลม หรือแก๊สปริมาณมากในท้อง เนื่องจากการที่ทารกร้องไห้มาก ๆ จะส่งผลให้ทารกกลืนลมจำนวนมากเข้าไปในท้องด้วย หรือเกิดจากอาการปวดท้อง จากการที่ฮอร์โมนในร่างกายของทารกกำลังเปลี่ยนแปลงตามวัย
- สภาพแวดล้อมของทารกอาจมีความไม่เหมาะสมต่อการนอนหลับ การถูกรบกวน หรือถูกกระตุ้นจากสิ่งรอบตัว เช่น แสงไฟสว่างมากเกินไป หรือมีเสียงดังจากบริเวณโดยรอบมากเกินไป เป็นต้น
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ทารกเป็นโคลิค เช่น ทารกมีพื้นฐานทางอารมณ์เป็นของตนเอง หรือทารกที่ได้รับอิทธิพลทางด้านพันธุกรรมจากพ่อแม่ที่มีปัญหาทางอารมณ์ รวมไปถึงปัญหาจากการป้อนนม ได้แก่ ป้อนนมไม่พอดี หรือป้อนผิดวิธี เป็นต้น
อาการโคลิคอาจหายได้เอง แต่ต้องระวังภัยแฝง
จากที่ได้กล่าวไปว่าอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน และจะหายไปได้เองตามช่วงวัยใน 3 – 4 เดือน แต่การที่ทารกร้องนั้น ยังมีสัญญาณบางอย่างแอบแฝงอยู่ด้วย ซึ่งผู้ปกครองจะต้องคอยสังเกตให้ดี หากมีความกังวลเกี่ยวกับอาการร้องไห้ของทารกไม่ควรรอช้า ให้รีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาการร่วมที่ต้องระวัง ดังนี้
- ทารกร้องไห้หนักผิดปกติร้องเสียงแหลม ดูกระวนกระวาย กระสับกระส่ายจนเกินไป หรือมีอาการชัก
- มีไข้ขึ้นสูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป หากพบว่าทารกเหมือนมีอาการป่วยควรพาไปพบแพทย์ทันทีไม่ต้องรอให้ตัวร้อนมาก
- ทารกไม่ยอมกินนม แม้จะไม่ได้กินนมมาก่อนหน้านี้ ไม่แสดงอาการงอแงอยากนม เมื่ออุ้มทารกขึ้นมา จะเห็นได้ว่าทารกดูไม่มีแรง หรือดูตัวอ่อนปวกเปียก
- ทารกอุจจาระออกมาเป็นเลือด หรืออาเจียนออกมาเป็นสีเขียว
- พบอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น หายใจผิดปกติเร็วไป หรือช้าไป, กระหม่อมบุ๋ม หรือสีผิวเปลี่ยนไปเป็นสีซีด ๆ หรือสีเขียว เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการโคลิค Vs ความเชื่อโบราณ อะไรคือความจริง!! สิ่งที่พ่อแม่หลายคนต้องเจอ
4 วิธีรับมือกับโคลิค ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
ทารกเป็นโคลิคได้ไม่แปลก แต่สำคัญคือ ผู้ปกครองจะรับมืออย่างไร อาการนี้ถึงแม้จะหายไปได้เอง แต่ก็ไม่สามารถปล่อยเอาไว้เฉย ๆ ได้ เราจึงมีวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นมาให้ลองทำดู ได้แก่
- ทำการตรวจสอบผ้าอ้อมของทารกก่อนว่ามีความชื้นมากเกินไปหรือไม่ เพราะจะทำให้ทารกไม่สบายได้ นอกจากนี้อย่าลืมที่จะตรวจสอบสภาพแวดล้อมให้มีแสงสว่างไม่มากจนนอนไม่หลับ หรือมีเสียงดังรบกวนการนอนของทารก เป็นต้น
- ช่วยทารกให้ผ่อนคลายมากขึ้น ด้วยการอุ้มทารกไว้ในอ้อมแขน และโยกไปมาเบา ๆ ให้ทารกรู้สึกถึงความอบอุ่น หรือจะพาทารกออกไปเดินรับบรรยากาศรอบ ๆ บ้านแทนห้องนอนก็มีส่วนช่วยได้เช่นกัน
- สามารถนวดเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับทารกได้ ซึ่งทำได้หลายท่า เช่น ท่าก้นหอย โดยใช้นิ้วโป้งนวดบริเวณสะดือของทารกเป็นรูปก้นหอยตามเข็มนาฬิกา หรือท่านวดวน คือ ให้ทารกอยู่ในท่าที่สบาย แล้วใช้นิ้วโป้งนวดวนเป็นก้นหอยตรงฝ่าเท้า หรือฝ่ามือ เป็นต้น
- ลองให้นมกับทารกดู โดยหลังจากป้อนนมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้จับทารกนั่งลงซักพักก่อน หรืออุ้มพาดบ่าเอาไว้เพื่อให้ทารกได้เรอเอาลมออกมา
- ในบางครั้งทารกบางคนอาจร้องไห้ แต่ไม่ได้หิวนมเสมอไป แต่อาจต้องการ หรืออยากจะดูดอะไรบางอย่างเท่านั้นเอง โดยผู้ปกครองอาจให้ลูกน้อยดูดจุกหลอกไปก่อนได้
นอกจากการรับมือกับปัญหาทารกเป็นโคลิคแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ การร้องของทารกต่อเนื่องที่อาจไม่หยุด หรือหยุดได้ยากเป็นเวลานาน สามารถส่งผลต่อความเหนื่อยล้า และสภาพจิตใจของผู้ปกครองได้ การปรับตัวและความเข้าใจในสถานการณ์ พร้อมกับพยายามผ่อนคลายตนเองไม่ให้เครียดเกินไปจึงสำคัญมากเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ถอดรหัส เสียงร้องไห้ทารก รู้มั้ย? หนูร้องไห้แบบนี้เพราะอะไร
ทารกชอบร้องกลั้น เป็นอันตรายไหม ต้องรับมืออย่างไร ?
ทารกร้องไห้ ไม่หยุด ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไรดี ?
ที่มา : samitivejhospitals, pobpad, paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!