แม่ท้องสงสัย ปกติเวลาไหว้เจ้า หลังจากลาไหว้แล้ว คนในครอบครัวส่วนใหญ่ก็มาตั้งวงล้อมกินของจากที่วางเอาไว้ไหว้เจ้า คนท้องกินของไหว้ได้ไหม จะเป็นอะไรหรือไม่ คนโบราณเค้าถือกันไหม หรือมีความเชื่อที่ห้ามคนท้องกินของไหว้ไหม มาหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ
เวลาไหว้เจ้าเสร็จแล้ว คนท้องกินของไหว้ได้ไหม ถือกันมั้ย?
ของไหว้พระไหว้เจ้าส่วนใหญ่จะถือเป็นของที่มีสิริมงคล ไหว้เสร็จแล้วสามารถนำมารับประทานได้เพื่อเป็นมงคล แม้แต่ทางประเพณีจีนไหว้เจ้าเสร็จ ก็นำของไหว้มารับประทานได้ตามความเชื่อนี้เหมือนกัน แต่โดยปกติการไหว้เจ้าส่วนใหญ่มักจะใช้เวลา ต้องรอเวลาที่เหมาะสมก่อนจะลา บางครอบครัวจะลาไหว้ อาจต้องรอให้ธูปหมดดอกไปซะก่อน จึงจะกล่าวคำขอลาเพื่อนำอาหารมารับประทานหรือนำไปแจกจ่ายญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการแบ่งปันกัน
ดังนั้นช่วงเวลาที่วางอาหารไหว้เจ้าบนโต๊ะอยู่นั้น อาจโดนทั้งลม ขี้ฝุ่น ขี้ธูปหรือมีแมลงวันมาตอม สำหรับบ้านไหนที่มีคุณแม่ตั้งครรภ์ร่วมอยู่ด้วย ก็สามารถทานอาหารไหว้เจ้าร่วมกับคนในครอบครัวได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าควรเน้นเรื่องความสะอาดมาก ๆ หน่อย อาหารที่ตั้งไว้นานควรนำมานึ่งอุ่นเดือดใหม่ก่อนกิน และถ้าเป็นของที่เสียง่าย บูดง่าย เช่น พวกที่มีมะพร้าวหรือแป้ง อย่างขนมต้มแดง ขนมต้มขาว บัวลอย ฯลฯ บางทีไหว้ตั้งแต่เช้า ตากแดดนาน หรืออยู่ในที่ร้อนครึ่งค่อนวัน สำหรับแม่ท้องก็ไม่ควรที่จะกินนะคะ
ข้อห้าม! ของคนท้องตามความเชื่อโบราณ
คนที่กำลังตั้งท้อง มีหลายสิ่งที่คนโบราณมักจะเตือนหรือห้ามทำ เพราะเชื่อว่าจะเป็นผลกระทบที่ไม่ดีต่อคุณแม่และลูกในท้องได้….และนี่คือ 10 ความเชื่อของคนท้องตามความเชื่อของโบราณ
- ห้ามไปงานศพ เพราะจะทำให้วิญญาณเร่ร่อนที่อยู่ในวัดตามกลับบ้านมาด้วย แต่น่าจะเป็นกุศโลบายที่ไม่ต้องการให้คนท้องไปงานที่มีบรรยากาศหดหู่ เศร้าหมอง
- ควรกินข้าวกับปลาแห้ง เพราะหากว่าบำรุงดีเกินไปเด็ก เด็กจะตัวใหญ่และคลอดยาก ซึ่งคล้องจองกับเทคโนโลยีในอดีตที่ไม่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบันนี้ และอีกนัยหนึ่งเมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องสูญเสียแคลเซียมเป็นจำนวนมาก จึงบังคับให้กินปลาแห้งจำนวนเยอะ
- ห้ามกินหัวปลี เพราะยางจากหัวปลีจะทำให้คลอดลูกยาก
- ห้ามแหงนหน้ามองพระจันทร์ เพราะจะทำให้ลูกตาเหล่ ความเชื่อโบราณ เรื่องนี้จริง ๆ แล้วเป็นกุศโลบายค่ะ เพราะหากแหงนหน้าแล้วจะทำให้หน้ามืด เป็นอันตรายได้ค่ะ
- ห้ามอาบน้ำตอนดึก โบราณเชื่อว่าจะทำให้มีน้ำคร่ำเยอะ แต่น่าจะมาจากการกลัวเป็นอันตรายลื่นล้ม หรือจากสัตว์ร้ายที่มีพิษ เพราะในสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า
- ห้ามซื้อของใช้เด็กอ่อน มาตั้งไว้ที่บ้านก่อนที่เด็กจะคลอด โดยเชื่อว่าถ้าซื้อมาแล้ว เด็กอาจจะไม่ได้เกิด เพราะมีวิญญาณที่อิจฉา จะมาพรากเด็กไปไม่ให้เด็กเกิด แต่ถ้าตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว การซื้อของมาไว้นานเกิน ถ้าหากฝุ่นจับ หรือ เกิดเชื้อรา อาจจะมีผลต่อสุขภาพเด็กได้ค่ะ
- ติดเข็มกลัดที่เสื้อเมื่อต้องออกจากบ้านตอนเย็น เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามาทำร้าย ซึ่งในความเป็นจริงอาจต้องการให้เข็มกลัดสะท้อนตาผู้พบเห็นจะได้สังเกตได้ง่าย ไม่เดินชน
- อย่าด่าหรือสาปแช่งคนอื่น เพราะจะทำให้ลูกตัวเองได้รับผลกรรมนั้นแทน ความเชื่อนี้คงอยากให้คุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่อาฆาตแค้นใครมากกว่านะคะ
- ห้ามไม่ให้เจาะ ทุบ ขุด ตัด เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน โดยเชื่อว่าวิญญาณหรือขวัญของเด็กที่มาเกิดอาจจะสถิตอยู่ในบ้าน
- ห้ามกินกล้วย ห้ามกินทุเรียน เด็กจะตัวสกปรก มีแป้งเกาะเต็มตัวตอนคลอด
อย่างที่เรารู้กันดีว่าความเชื่อของโบราณมีมากมายหลายแบบ เป็นกุศโลบายที่ป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับเรา ดังนั้นหากเราจะเชื่อและทำตามความเชื่อของโบราณเอาไว้บ้างบางข้อก็ได้ค่ะ ส่วนข้อไหนไม่สะดวกทำก็ไม่จำเป็นต้องทำตามนะคะ เอาความสะดวกของคุณแม่เป็นหลัก แต่อยู่ในความปลอดภัยตามที่คุณหมอแนะนำจะดีที่สุดค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลายข้อสงสัย คนท้องกินทุเรียนได้ไหม คำถามคาใจคุณแม่หลาย ๆ คน
สิ่งที่แม่ท้องควรทำ เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกน้อย
ห้ามละเลยนัดฝากครรภ์
คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์เมื่อรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ โดยการฝากครรภ์ครั้งแรกนั้นควรทำในสัปดาห์ที่ 10 หรืออาจเป็นช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ก็ได้ ในระหว่างนี้ สูตินรีแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประจำเดือนครั้งสุดท้าย ประวัติทางการแพทย์ของคุณแม่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการแพ้ท้องที่เผชิญ และหากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ก็จะถามถึงครรภ์ครั้งก่อนด้วย รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การกิน การออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีการตรวจต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจเลือด และการตรวจวัดความสูงและน้ำหนักเพื่อคำนวณดัชนีมวลกายของคุณแม่
งดแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าในปริมาณเท่าใดก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะปลอดภัยต่อครรภ์ของคุณแม่ เพราะแอลกอฮอล์สามารถส่งผ่านรกไปสู่ลูกน้อยได้อย่างรวดเร็ว คุณแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์บ่อยหรือดื่มหนักจะส่งผลกระทบต่อสมองและอวัยวะของทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดด้านการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงระดับรุนแรง รวมถึงความผิดปกติทางด้านร่างกาย ความผิดปกติต่อระบบประสาทส่วนกลาง และยังมีงานวิจัยที่พบว่าอาจพัฒนาไปเป็นปัญหาด้านพฤติกรรมในภายหลังด้วย
เลิกสูบบุหรี่และเลี่ยงสูดดมควันบุหรี่มือสอง
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ยังมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่อยู่นั้นมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และการเสียชีวิตของทารกตั้งแต่แรกเกิดได้ นอกจากนี้ควันบุหรี่ที่สูดดมเข้าไป ทั้งที่สูบเองหรือเป็นควันบุหรี่มือสอง ยังอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวเมื่อแรกเกิดน้อย ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างตั้งครรภ์ยังไม่มีข้อมูลบ่งบอกมากนัก แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงไว้เป็นดีที่สุด เพราะควันจากบุหรี่มักประกอบไปด้วยนิโคตินและสารพิษต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ลดคาเฟอีน
อาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนนั้นสามารถรับประทานได้ระหว่างการตั้งครรภ์ แต่การได้รับในปริมาณมาก ๆ ในแต่ละวัน ทั้งคาเฟอีนจากกาแฟ ชา โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือช็อกโกแลต ต่างก็มีความเชื่อมโยงกับโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตรที่เพิ่มมากขึ้น โดยงานวิจัยพบว่าหญิงที่บริโภคคาเฟอีนตั้งแต่วันละ 200 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือเทียบเท่ากับกาแฟสำเร็จรูปตั้งแต่ 2 แก้ว ถ้าเป็นกาแฟชงสดจะเทียบเท่ากับ 1 แก้ว หรือน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนกระป๋อง 355 มิลลิลิตร จำนวน 5 กระป๋อง มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ดื่มคาเฟอีน โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : งานวิจัยชี้ ดื่มกาแฟเกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก และแท้งบุตร
อาหารที่ไม่ควรรับประทาน
สิ่งที่คุณแม่ทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้
- เนื้อหรือสัตว์น้ำมีเปลือกที่ปรุงไม่สุกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหอยนางรม หอยกาบ หอยแมลงภู่ และอื่น ๆ เนื้อวัวและสัตว์ปีกที่ไม่ผ่านความร้อนจนสุกหรือปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ รวมถึงไข่ดิบหรืออาหารใด ๆ ก็ตามที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ เหล่านี้ล้วนอาจเจือปนเชื้อท็อกโซพลาสมา สาเหตุของโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง หรือเชื้อซัลโมเนลลาที่เป็นต้นเหตุของอาการอาหารเป็นพิษได้
- เนื้อปรุงสำเร็จ เนยแข็งชนิดอ่อน และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ ที่สามารถพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียลิสทีเรียซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เชื้อชนิดนี้เมื่ออยู่ในร่างกายจะสามารถแทรกผ่านรกและแพร่ไปสู่ทารกในที่สุด ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อในมดลูกยังอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและทำอันตรายต่อทารกจนถึงแก่ชีวิตได้ หากต้องการรับประทานอาหารดังกล่าวจึงควรปรุงด้วยความร้อนอีกครั้งเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน
- ปลาบางชนิดอาจมีสารปรอทในระดับสูง เช่น ปลาอินทรี ส่วนปลาทูน่าที่นิยมรับประทาน บางชนิดก็พบสารชนิดนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ปลอดภัยไว้ก่อนก็ไม่ควรรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป
นอกจากอาหารเหล่านี้ที่ควรเลี่ยงแล้ว คุณแม่ยังควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ทดแทนให้ครบถ้วน 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเน้นผักผลไม้ อาหารโปรตีนสูง ไขมันชนิดดี และดื่มน้ำให้มาก
ไม่ลืมรับประทานวิตามินที่จำเป็น
การรับประทานกรดโฟลิกเป็นสิ่งจำเป็นในหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก คุณแม่อาจรับประทานตั้งแต่ตอนวางแผนตั้งครรภ์ แต่หากยังไม่ได้รับประทานก็ควรเริ่มทันทีที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นสารอาหารสำคัญที่จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากความพิการทางสมองของทารก สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยปริมาณกรดโฟลิกที่แนะนำต่อวัน คือ 400 ไมโครกรัม นอกจากนี้ สารอาหารสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ยังอาจต้องรับประทานทุกวันเช่นเดียวกันก็คือวิตามิน ดี หรือจะเลือกรับประทานในรูปแบบวิตามินรวมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารประจำวันในสัดส่วนที่เหมาะสมและครบถ้วนก็จะช่วยให้คุณแม่ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต้องใช้เช่นเดียวกัน
เลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นและตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้ยาทุกชนิด
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แม้ว่ายาชนิดนั้น ๆ จะเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปก็ตาม เพราะยาบางชนิดอาจทำอันตรายหรือส่งผลข้างเคียงร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้ การจะใช้ยารักษาโรค หรือแม้แต่อาหารเสริมและสมุนไพรใด ๆ จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เสียก่อน เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยาที่คนท้องห้ามใช้ ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ข้อควรระวังการใช้ยาของคนท้อง
ห้ามละเลยสัญญาณอันตราย
เมื่อครรภ์เริ่มเติบโตขึ้น คุณแม่อาจรู้สึกปวดบีบในท้องในระดับไม่รุนแรงหรือปวดเสียวแปลก ๆ เมื่อมีอาการดังกล่าวให้ระมัดระวังไว้ก่อน โดยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูเสมอ และในกรณีที่มีเลือดออกร่วมกับอาการปวดบีบนั้นจะต้องไปพบแพทย์โดยเร่งด่วนที่สุด
เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง
กิจกรรมหรืองานบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อทารกน้อยในท้องได้ เช่น การเล่นกีฬาที่มีแรงปะทะมาก เช่น บาสเกตบอล การดำน้ำลึก รวมถึงการเผชิญสารเคมีอันตรายทั้งหลาย เช่น การทำงานบ้านที่ต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมจากสารเคมีต่าง ๆ
ไม่ควรใส่รองเท้าที่มีส้นสูงเกินไป
รองเท้าที่คุณแม่ตั้งครรภ์สวมใส่ไม่ควรมีส้นสูงมากนัก หากต้องการใส่ควรเลือกที่มีความสูงพอประมาณ ทั้งนี้ก็เพราะขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นจะส่งผลให้จุดศูนย์ถ่วงเปลี่ยนไป คุณแม่อาจรู้สึกเดินได้อย่างไม่ค่อยมั่นคงดังเดิมและเสี่ยงต่อการหกล้มได้
อย่าแช่น้ำร้อนหรืออบซาวน่านาน ๆ
แม้ว่าการผ่อนคลายด้วยการแช่น้ำร้อนจะเป็นทางเลือกที่หลายคนคิดว่าน่าจะดีในการรับมือกับอาการเจ็บหรือปวดท้องที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงนี้ ทว่าอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้นอาจนำไปสู่ภาวะพิการแต่กำเนิดของลูกน้อยได้ ทางที่ดีจึงควรแช่น้ำแต่พออุ่นแทน
อย่ายืนหรือนั่งนานเกินไป
การอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไป ไม่ว่าจะท่ายืนหรือท่านั่งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้สารพัด เช่น ข้อเท้าบวม หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด คุณแม่ควรพักด้วยการเคลื่อนไหวหรือลุกขึ้นเดินเป็นระยะ ๆ หรือหากต้องยืนนานก็ควรยกขาขึ้นเพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักบ้าง
ถึงข้อห้ามสำหรับแม่ท้องจะเยอะหลายข้อ แต่รับรองว่าเพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณแม่และเจ้าตัวเล็กในท้องแล้ว รับรองว่าคุ้มค่าอย่างแน่นอนค่ะ ส่วนความเชื่อโบราณให้ถือเป็นกุศโลบายเตือนใจแม่ท้อง ห้ามทำอะไรที่เสี่ยงต่อลูกในท้องเท่านั้นเองค่ะ หากแม่ท้องอยากรู้ว่าอาหารแบบไหนกินได้ แบบไหนกินไม่ได้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ theAsianparent ได้เลยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินของเวฟในร้านสะดวกซื้อได้ไหม ? สายชิล เน้นสะดวกต้องระวัง
คนท้องกินจิ้มจุ่มหม้อไฟได้ไหม อากาศเริ่มเย็นกินฟิน ๆ แบบนี้จะได้ไหม ?
เอาแล้วสิ คนท้องกินผัดกะเพราได้ไหม เมนูง่าย ๆ ต้องระวังอีกเหรอ ?
ที่มา : pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!