กลัวการคลอดลูกมาก
เคยเป็นกันไหม กลัวการคลอดลูกมาก ยิ่งใกล้คลอด ยิ่งกลัว โรคกลัวการคลอดลูก เป็นยังไง สาเหตุที่แม่กลัวการคลอดลูก กลัวการผ่าคลอด คืออะไรบ้าง
ทำไมแม่ท้องถึงกลัวการคลอดลูกมาก
ก่อนจะไปรู้จักโรคกลัวการคลอดลูก แม่ ๆ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการกลัวการคลอดลูกมาก ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนท้องแทบทุกคน ซึ่งความกลัวการคลอดบุตรส่งผลกระทบต่อคนท้อง ทั้งในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
ข้อมูลจากการวิจัยความกลัวการคลอดบุตรในสตรีมีครรภ์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตอนหนึ่งระบุว่า ความกลัวการคลอดบุตรเป็นการตอบสนองทางด้านอารมณ์และความรู้สึกไม่สบายใจของสตรีมีครรภ์ ที่เกิดจากการรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าเป็นภัยคุกคามหรือเป็นอันตราย ความกลัวการคลอดบุตรในสตรีครรภ์แรกเริ่มจากกลัวการเจ็บครรภ์คลอด กลัวการสูญเสียความสามารถของตนเองซึ่งเกิดจากความไม่รู้ กลัวจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ในระยะคลอด ซึ่งเกิดจากการได้รับฟังประสบการณ์เกี่ยวกับการคลอดจากผู้ที่เคยมีประสบการณ์ โดยเฉพาะในเรื่องความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จากการขาดความรู้ และขาดประสบการณ์เกี่ยวกับการคลอด สตรีครรภ์แรกจึงมีความกลัวการคลอดบุตรในระดับที่รุนแรงกว่าสตรีครรภ์หลัง
แม่ท้องแรกจึงมีความกลัวการคลอดลูกมากกว่าแม่ท้องที่ผ่านประสบการณ์คลอดลูกมาแล้ว
ที่มา : https://www.tci-thaijo.org
ความกลัวการคลอด (Fear of Childbirth)
ผลกระทบของความกลัวการคลอด
สามารถแบ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความกลัวการคลอดเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบต่อตัวผู้คลอด และผลกระทบต่อผลของการคลอด ดังนี้
ผลกระทบต่อตัวผู้คลอด ความกลัวการคลอด มีผลกระทบต่อตัวผู้คลอดหลายอย่าง ได้แก่ มีความเครียด มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น คิดมาก นอนไม่หลับ ฝันร้าย หวาดระแวง ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน หงุดหงิด พักผ่อนไม่ได้ ขาดสมาธิ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มีภาวะเครียดภายหลังภาวะวิกฤติ (Post traumatic stress disorder) วิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า อารมณ์ด้านลบในการตั้งครรภ์และการคลอด เกิดความอ่อนล้าหลังคลอด การเห็นคุณค่าในตนเองลดลง และสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง เช่น การศึกษาของ Nilsson et al (2009) ที่ศึกษาวิจัยโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ระหว่าง 24-37 สัปดาห์ที่มีความกลัวการคลอดในระดับรุนแรง ผลการศึกษาพบว่า ความกลัวการคลอดที่รุนแรง ทำให้หญิงตั้งครรภ์รู้สึกโดดเดี่ยวและ สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตนเองอ่อนแอและด้อยกว่าผู้หญิงคนอื่น รู้สึกผิดและละอายใจ มีการศึกษาพบว่า
แม่จะรู้ตัวได้อย่างไรว่า กลัวการคลอด
หญิงตั้งครรภ์ที่มีความกลัวการคลอด จะแสดงออกใน 4 ลักษณะ ได้แก่
- มีอาการของความเครียด เช่น ร้องไห้ในระยะรอคลอด นอนไม่หลับในระยะรอคลอด คิดมากเกี่ยวกับความกลัวการคลอด ในระยะรอคลอดมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หงุดหงิด และพักผ่อนไม่ได้ในระยะรอคลอด
- อิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน เช่น มีความตึงเครียด นับการดิ้นของทารกบ่อยกว่าปกติ ปรับเปลี่ยนการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน รู้สึกหวาดระแวง ไม่ยินดีกับการตั้งครรภ์
- ความต้องการผ่าตัดคลอด ต้องการผ่าตัดคลอด หรือ ร้องขอการผ่าตัดคลอดจากแพทย์/พยาบาล มีความคิดจะขอให้แพทย์ผ่าตัดคลอด รู้สึกไม่แน่นอน
- ความต้องการหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์และการคลอด อยากเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไปก่อน คิดเกี่ยวกับการทำแท้ง ตกอยู่ในความหวาดกลัวและอยากหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์
ผลกระทบต่อผลของการคลอด (Birth outcomes)
ความกลัวการคลอด นอกจากมีผลกระทบต่อตัวผู้คลอดแล้ว ยังมีผลกระทบต่อผลของการคลอดได้แก่ มารดาที่มีความกลัวการคลอด จะมีระดับความเจ็บปวดในระยะคลอดสูงกว่ามารดาทั่วไป มีความต้องการใช้ยาแก้ปวดในระยะคลอดมากขึ้น มีการคลอดยาก (Dystocia) และการคลอดยาวนาน (Protracted labor) มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างหญิงตั้งครรภ์ที่มีความกลัวการคลอดและได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด เปรียบเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีความกลัวการคลอดและได้รับการดูแลตามปกติ ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด มีระยะเวลาในการคลอดตั้งแต่เริ่มเจ็บครรภ์ไปจนถึงเวลาคลอด สั้นกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลตามปกติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีความกลัวการคลอด
นอกจากนี้ ความกลัวการคลอด ยังทำให้มารดาต้องการหลีกเลี่ยงการคลอดทางช่องคลอด โดยมีความต้องการการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมากขึ้น และความกลัวการคลอด ทำให้อุบัติการณ์ของการผ่าตัดคลอดฉุกเฉินสูงขึ้นเช่นกัน มีการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับความกลัวการคลอดต่อผลของการคลอด ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ ที่มีความกลัวการคลอดในระดับปานกลางถึงระดับมาก มีความสัมพันธ์กับการผ่าตัดคลอดฉุกเฉินมากขึ้น และความต้องการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมากขึ้น
ที่มา : https://maternalandnewbornnursing.blogspot.com
โรคกลัวการคลอดบุตร (Tokophobia) คืออะไร
โทโคโฟเบีย (tokophobia) มาจากภาษากรีซ tokos หมายถึง การคลอดบุตร และ phobos หมายถึง ความกลัว ความกลัวการคลอดบุตรสามารถเกิดได้กับคุณแม่ท้องเกือบทุกคนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ โดยระดับความกลัวจะเพิ่มขึ้น เมื่อใกล้คลอด และเมื่อเข้าสู่ระยะคลอด และส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงหลังคลอด แม้ว่าการคลอดบุตรจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม
อาการของ โรคกลัวการคลอดบุตร (Tokophobia)
พบว่าคุณแม่ที่กลัวการคลอดบุตรจะมีอาการทางร่างกายและจิตใจ ดังต่อไปนี้
- รู้สึกกลัวเมื่อพูดถึง หรือมีคนพูดถึงเรื่องการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร บางคนถึงขั้นร้องไห้ก็มี
- ฝันร้ายเกี่ยวกับการคลอด หรือการตั้งครรภ์
- เรียกร้องการผ่าคลอด และปฏิเสธการคลอดทางช่องคลอด
- วิตกกังวลและหวาดกลัว รวมถึงมีภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์
- คิดแต่เรื่องความตายและการเสียชีวิต
- อยากมีลูกอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะตั้งครรภ์
โรคกลัวการคลอดบุตร (Tokophobia) รักษาอย่างไร
โรค Tokophobia เป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจ ที่ควรได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนการรักษา โดยสูติแพทย์จะต้องทำงานใกล้ชิดกับจิตแพทย์ในการจัดการกับภาวะดังกล่าว เพื่อให้คุณแม่สามารถผ่านพ้นการคลอดไปได้ด้วยดี คุณแม่มีสุขภาพดี และมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกน้อยที่คลอดออกมาด้วย สิ่งสำคัญในการรักษาคุณแม่ที่กลัวการคลอดบุตรคือ คุณแม่ต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง ได้รับการบอกเล่าประสบการณ์ในด้านบวกเกี่ยวกับการคลอด รวมถึงรู้จักตัวเลือกในการจัดการความเจ็บปวดขณะคลอด นอกจากนี้ การมีบุคคลที่คุณแม่เชื่อใจอยู่ด้วยขณะคลอดก็สามารถช่วยลดหรือขจัดความกลัวการคลอดบุตรของคุณแม่ท้องได้
วิธีป้องกันความกลัวการคลอดลูกมาก ๆ อย่างแรกคือ แม่ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลายด้วยการนั่งสมาธิ บำบัดตัวเองด้วยการฟังเพลง เลือกรับสื่อด้านบวก อย่าดูละครหรือหนังที่น่ากลัว ไม่ควรรับฟังประสบการณ์ที่ไม่ดีเรื่องการคลอดลูก พยายามไม่เครียด มองโลกแง่ดีไว้เสมอนะคะแม่
รู้กันไปแล้วว่าการกลัวการคลอดลูกมาก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนท้องแทบทุกคน มาโหวตกันหน่อยว่า คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อท้องโต ขณะตั้งครรภ์ ถ้ากดโหวตไม่ได้ คลิกที่นี่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ท่าคลอดลูกธรรมชาติ มีท่าอะไรบ้าง แม่ท้องคลอดลูกเองควรเลือกท่าอะไรดี?
เรื่องจริงที่แม่ท้องใกล้คลอดต้องเจอ โค้งสุดท้ายแล้วคนท้องต้องเจออะไรบ้าง?
ท้องนี้ฝากครรภ์ ทำคลอดที่ไหนดีนะ? รวม 10 สูติ-นรีแพทย์ฝีมือดี ที่คนไข้ต่างก็ยกนิ้วให้
7 เคล็ดลับช่วยคุณแม่คลอดง่ายขึ้น อยากคลอดลูกง่าย ทำไงดี วิธีให้คลอดลูกง่าย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!