เส้นเลือดขอด แม่หลังคลอด ปัญหากังวลใจของผู้หญิงหลังตั้งครรภ์ไม่แพ้ปัญหาหน้าท้องลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดเส้นเลือดขอดบริเวณต้นขา เหนือหัวเข่า หลังต้นขา มีลักษณะเส้นเลือดปูดโปนหรือเป็นเส้นเล็ก ๆ คล้ายหนอนเห็นได้ชัดเจน บางคนหายไปหลังคลอด แต่บางคน นอกจากจะไม่หายแล้วกลับมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เราควรมีวิธีป้องกันอาการเส้นเลือดขอดมากกว่าการรักษา หรือดูแลตัวเองอย่างไรให้เกิดปัญหานี้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
เส้นเลือดขอด แม่หลังคลอด ที่ขาและแขน เกิดจากอะไร
ภาวะเส้นเลือดขอด เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่า ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาผู้หญิงหลังคลอด เท่านั้น คนที่มีพฤติกรรมในชีวิตประจำวันก็มีความเสี่ยงอันตรายต่ออาการนี้ เช่น การยืนนาน ๆ สวมรองเท้าส้นสูง จะทำให้เส้นเลือดดำของขา ที่มีหน้าที่ควบคุมการไหลของเลือดดำจากปลายเท้าและน่อง ขึ้นสู่ช่วงบน และไหลเวียนเข้าสู่หัวใจนั้นมีปัญหาตีบตัน จนเกิดเส้นเลือดปูดโปน นอกจากการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น
1. เกิดจากฮอร์โมนทางเพศ
อย่างที่กล่าวไปว่ามักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นฮอร์โมน เพศหญิงจึงมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่า อีกทั้งความบอบบางของผิวหนังที่น้อยกว่าผู้ชาย
2. น้ำหนักตัว
การมีน้ำหนักที่มากเกินไป ทั้งผู้หญิงตั้งครรภ์และคนที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ เพราะเลือดในร่างกายนั้น ไหลเวียนไม่สะดวก จึงเกิดการคั่งค้างของเลือดบริเวณขา จึงทำให้เกิดเส้นเลือดขอดทั้งข้อพับหลังเขาและลามขึ้นไปตามต้นขา
3. กรรมพันธุ์
หากพ่อแม่เป็นเส้นเลือดขอด ลูกก็สามารถเป็นได้ หากไม่ดูแลตัวเองให้ดี ซึ่งหากทราบว่าพ่อแม่เป็น เราควรระวังการใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้น
4. อายุกับเส้นเลือดขอดที่แขน
สังเกตไหมว่า คุณตาคุณยาย มักจะมีเส้นเลือดขอดที่มือและแขน นั่นไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักตัวเยอะแล้วถึงเป็น แต่อายุมาก ๆ ร่างกายอ่อนแอลง ทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง เราจึงจะเห็นท่านมีเส้นเลือดขอดตามแขนและหลังมือ
5. อาชีพและการใช้ชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นการยืนนาน ๆ เมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ตามอาชีพ เช่น พ่อครัว แม่ครัว พนักงานยืนขายสินค้า อาชีพที่ต้องเดินและยืนนาน ๆ อีกทั้งยังต้องใส่รองเท้าส้นสูงอีก ก็คือปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดขอดได้มากเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง: เส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ อีกปัจจัยทำให้มีลูกยาก

ทำไม เส้นเลือดขอดที่ขา จึงมักเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์?
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 3-4 เดือน จะสังเกตได้ว่าเริ่มมีเส้นเลือดขอด เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดดำบางลง ต้องบอกว่า ปัญญานี้หลีกเลี่ยงได้ยากค่ะ เพราะทารกในครรภ์จะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น ทำให้ท้องขยาย น้ำหนักมากขึ้น ที่สำคัญร่างกายของทารกจะไปทับเส้นเลือดบริเวณหน้าท้องและต้นขา ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ค่อยดีนัก เมื่อเลือดคั่งอยู่ในเส้นเลือดฝอยมาก ๆ ตรงต้นขา จะส่งผลให้เป็นเส้นเลือดขอดได้ง่าย พร้อมปัญหาอื่น ๆ เช่น
- ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์อายุมาก ยิ่งเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดขอดมากกว่าคุณแม่อายุน้อย
- เส้นเลือดขอดฝอย ๆ จะปรากฏอย่างชัดเจนบริเวณเข่า หลังต้นขา
- คุณแม่ท้องจะมีเส้นเลือดขอดมากขึ้นบริเวณหลังเท้า ข้อเท้า หากสวมรองเท้าไม่เหมาะสม
- เส้นเลือดขอดอาจเกิดบริเวณใบหน้าได้ เส้นเลือดฝอยแตกสาขาย่อยไปเรื่อย ๆ ทำให้บริเวณกรามมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม
การป้องกันภาวะเส้นเลือดขอดระหว่างตั้งครรภ์
- ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องควรนอนตะแคง และใช้ขาก่ายหมอนข้าง วิธีนี้จะช่วยลดการกดทับของมดลูกบนเส้นเลือดดำได้
- คุณแม่ท้องควรสวมถุงน่องแบบเต็มขา อาจช่วยลดภาวะการคั่งเส้นเลือดดำให้น้อยลง
- ควรรับประทานอาหารที่ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ช่วยลดอาการท้องผูก ซึ่งจะไปเสริมให้มีเส้นเลือดขอดรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคริดสีดวงทวารหนักระหว่างการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
วิธีป้องกัน เส้นเลือดขอดของคุณแม่หลังคลอด
จริง ๆ แล้วอาการเส้นเลือดขอดตอนท้อง จะค่อย ๆ จางหายไปเองหลังคลอด ลูกแล้ว เนื่องจาก น้ำหนักลดลง มีการปรับพฤติกรรมใหม่ แต่คุณแม่หลังคลอดบางคนยังไม่หายดี มีอาการปวดมาก ซึ่งแพทย์อาจตัดสินใจให้คนไข้ผ่าตัด แต่ต้องทำหลังจาก 3 เดือนหลังคลอดไปแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันเส้นเลือดขอดรุนแรง เรามาดูวิธีป้องกันเบื้องต้นกันค่ะ
1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเดิม ๆ
การเคลื่อนไหวร่างกายนั้นสำคัญที่สุดค่ะ คุณแม่หลังคลอดพยายามเปลี่ยนท่าทาง ไม่ว่าจะเป็นการยืน การนั่ง เพราะจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเส้นเลือดดำ อีกทั้งยังลดการเกิดการคั่งของเลือดในบริเวณช่วงล่าง ทั้ง เท้า เข่า และขา
2. ควบคุมน้ำหนัก
ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรระวังเรื่องน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มากเกินไป นอกจากจะช่วยลดปัญหาเส้นเลือดขอดของคุณแม่หลังคลอดได้แล้ว ยังช่วยควบคุมน้ำหนักไม่เกิดโรค เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ลดภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ของแม่ท้องและลูกในครรภ์ได้อีกด้วย
3. ไม่ควรนั่งไขว่ห้างนาน ๆ
จริงอยู่การนั่งไขว่ห้างคือการพักขาให้สบายมากขึ้น แม้จะติดหน้าท้องแต่คุณแม่ท้องหลายคนยังติดการนั่งท่านี้ตอนยังไม่ตั้งครรภ์ ดังนั้นเมื่อท้องเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ ควรลดการคั่งของเลือด ลดการขยายตัวของผนังหลอดเลือด ควรพักเท้าโดยการหาเก้าอี้เล็ก ๆ มาพักเท้า หรือเวลานอนควรหาหมอนมารองเท้าให้สูงกว่าศีรษะเล็กน้อย อย่ายืนในท่าเดิมนาน ๆ แม้คุณแม่จะไม่เมื่อย รู้สึกแข็งแรง แต่ร่างกายอาจจะไม่สู้ ยังไงตรงนี้ต้องฟังเสียงของร่างกายเราด้วยว่า มีความล้าหรือไม่

4. ลดอาหารประเภทโซเดียม
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด เผ็ดจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด และโซเดียม อาหารเหล่านี้จะทำให้ตัวบวม ยิ่งโซเดียมจะทำให้ร่างกายอุ้มน้ำมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของเท้าบวม ขาบวม มือบวม อาจทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่แขน ขา เท้าได้ค่ะ ดังนั้น ก่อนรับประทานอาหาร ควรดูโภชนาการที่ระบุไว้บนฉลาก อาหารเพื่อสุขภาพ ไร้ไขมันบางอย่าง แต่โซเดียมสูงจนน่าตกใจเลยค่ะ
5. หมั่นแช่เท้าในน้ำอุ่น
ไม่ว่าจะก่อนคลอดและหลังคลอด สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการยืนและเดิน ฉะนั้นควรหมั่นแช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15-20 นาทีก่อนนอน จะช่วยลดอาการเท้าบวม และช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น อาการเส้นเลือดขอดจะค่อย ๆ ดีขึ้น
6. ประคบร้อนและใช้ผ้าพันแผล
หากคุณแม่หลังคลอดยังเป็นเส้นเลือดขอด สามารถใช้วิธีประคบร้อน โดยเอาผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ชุบน้ำอุ่น บีบผ้าหมาดแล้วประคบบริเวณที่มีเส้นเลือดขอด เพื่อให้หลอดเลือดขยายตัว จากนั้นใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดพันรอบขาไว้ให้พอดี อย่าพันแน่นเกินไป ผ้าพันแผลจะช่วยลดอาการเส้นเลือดขอดได้ อาจพันได้ทั้งข้อเข่า ลำขา ลำแขนได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: แม่ท้องแก่ เจอแน่อาการเหล่านี้ 4 อาการสุดฮิตของแม่ท้องไตรมาสสุดท้าย
วิธีรักษาเส้นเลือดขอดโดยทางการแพทย์
เส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ อาจหายไปได้ในช่วงหลังคลอด แต่ก็มีคุณแม่บางท่านยังคงทุกข์ทรมานกับปัญหานี้ เช่น เป็น ตะคริว ที่น่องบ่อย ๆ หรือพบภาวะแทรกซ้อนเช่น การมีแผล เลือดออก มีผื่นผิวหนังที่รักษายาก หรือเกิดลิ่มเลือดขึ้นภายในเส้นเลือดขอดที่แข็งตัว ดังนั้นการรักษาควรเริ่มเมื่อมีอาการชัดเจน และวางแผนว่าจะไม่ตั้งครรภ์อีก ซึ่งแพทย์อาจจะใช้วิธีดังนี้
- ฉีดยาเพื่อทำให้เส้นเลือดมีการแข็งตัว ซึ่งเหมาะกับคุณแม่ที่เป็นเส้นเลือดขอดแบบฝอยเล็ก ๆ และต้องฉีดหลายครั้งจนกว่าจะดีขึ้น
- การผ่าตัดตัดโดยการเลาะเส้นเลือดที่มีลิ้นเสีย (Venous Stripping) ออก ซึ่งอาจต้องพักฟื้นนาน
- การรักษาด้วยเลเซอร์ผ่านหลอดเลือดดำ รักษาที่ปัญหาของหลอดเลือดดำและลิ้นให้ฝ่อตัวและแฟบลงแผลจะมี ขนาด 2-3 มิลลิเมตร บริเวณเข่า ใต้เขา หลังต้นขา ไม่ต้องพักฟื้น มีรอยแผลน้อยมาก ไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อน

วิธีดูแลตัวเอง หลังคลอด ดูแลยังไงให้ไม่โทรม มีน้ำนมเพียงพอ
นอกจากปัญหาภายนอกอย่างเส้นเลือดขอด ที่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สวยสดใส คุณแม่ต้องบำรุงตัวเองให้สดใสมากจากภายในด้วยค่ะ ที่สำคัญยังต้องมีน้ำนมเพียงพอให้ลูกน้อยอีกด้วย
ร่างกายต้องการน้ำในการผลิตน้ำนมออกมาให้ลูกได้ดื่มอย่างเพียงพอ ดังนั้นคุณแม่ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้วขึ้นไป เพื่อทดแทนน้ำนมที่ร่างกายสูญเสียไป ให้ร่างกายได้รักษาสมดุล ทำให้สามารถผลิตน้ำนมให้ลูกได้ดื่มรับประทานอย่างต่อเนื่อง
-
ไม่สูบ ไม่ดื่ม งดแอลกอฮอล์ ชาและกาแฟ บุหรี่
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ ทั้งหมดนี้คือเครื่องดื่มที่คุณแม่ควรเลี่ยงมากที่สุดในช่วงหลังคลอดและช่วงให้นมบุตร เพราะสารพิษอันตรายมากมายในบุหรี่ โทษจากแอลกอฮอล์ รวมถึงคาเฟอีนจากชาและกาแฟ จะส่งผลให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว สารต่าง ๆ ยังสามารถปนเปื้อนไปกับน้ำนมที่ลูกดื่มได้ด้วยค่ะ
-
พยายามหลับให้เพียงพอ ลูกงีบ แม่ก็ควรงีบ
เรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะการนอนไม่พอนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายทุกส่วน รวมถึงส่งผลต่อปริมาณการสร้างน้ำนมโดยตรง ดังนั้นคุณแม่ควรวางแผนให้นมลูกเป็นระยะเวลาสม่ำเสมอในแต่ละวันเพื่อไม่ให้ลูกหิวนมกลางดึกจนเราต้องตื่นมาให้นม และควรจัดเวลาพักผ่อนระหว่างวัน เมื่อลูกงีบหลับ ก็ขอแนะนำให้งีบไปพร้อมลูกเลยค่ะ เพื่อให้ได้พักผ่อนเพียงพอ
แม้ฟังดูทำได้ยาก แต่อยากให้คุณแม่เข้าใจก่อนว่าความเครียดนั้นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวนสูงมาก เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาน้ำนมน้อย ดังนั้น ขอแนะนำให้คุณแม่หาวิธีจัดการกับความเครียดค่ะ เช่นการทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือหาเวลาพักผ่อนบ้างค่ะ
อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพทั้งภายในภายนอก คุณแม่ที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองไว้ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง หลังตั้งครรภ์ให้เป็นนิสัย เพื่อป้องกันและลดอาการของภาวะต่าง ๆ ที่น่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดขอดอย่างที่กล่าวมา ปัญหาโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน อีกทั้งต้องดูแลเรื่องโภชนาการเพื่อตัวคุณแม่เองและเพื่อส่งต่อให้ลูกน้อยของคุณแม่ด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการเส้นเลือดขอดช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่มีความเสี่ยงและอันตรายหรือไม่?
เส้นเลือดฝอยที่ขา เส้นเลือดฝอยในตาแตก รักษาอย่างไรให้หายขาด
26 สิ่งที่คนท้องไม่ควรทำ ท่าที่คนท้องไม่ควรทำ มีอะไรบ้างคนท้องควรรู้
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดขอดช่วงคลอดและหลังคลอด ได้ที่นี่!
เส้นเลือดขอด ช่วงหลังคลอด แบบนี้ปกติไหมคะ แล้วอันตรายไหม
ที่มา : rakluke
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!