จิตใจและอารมณ์ของทารก เติบโตไปพร้อมกับร่างกาย
วัยทารก (แรกเกิด – 1 เดือน)
ในช่วงนี้ทารกน้อยจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางร่างกาย สมองและจิตใจ พร้อมทั้งมีการปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน ทารกแรกเกิดไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย จึงต้องการการดูแลเอาใส่ใจอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย ได้แก่ อาหาร ความอบอุ่น ความสะอาด และการนอนหลับที่เพียงพอ ดังนั้น สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก คุณแม่ควรจัดให้สะดวกสบายและเงียบสงบ อีกทั้งการดูแลเอาใจใส่ การโอบกอด อุ้มแนบอก เพื่อให้ความอบอุ่นและความรู้สึกปลอดภัยแก่ทารก สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเจ้าหนูสำหรับการเจริญเติบโตในระยะต่อไปค่ะ
จิตใจและอารมณ์ของทารก 1 – 2 เดือนแรก
ในระยะนี้ทารกน้อยยังมีการพัฒนาด้านประสาทสัมผัสได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งด้านการเห็น การได้ยิน หรือการสัมผัส เมื่อมีสิ่งใดมา รบกวนจะแสดงออกโดยการร้อง สะดุ้งหรือเคลื่อนไหวทั้งตัว สายตาจะมองไปไม่มีจุดหมาย บางครั้งจะยิ้มคนเดียว แต่ถ้าได้รับการดูแลใกล้ชิด สม่ำเสมอ ในสัปดาห์ที่ 4 หรือ 6 ทารกจะเริ่มยิ้มกับผู้ที่เลี้ยงดูใกล้ชิด เป็นความชื่นใจของคุณพ่อคุณแม่จริง ๆ นะคะที่เห็นรอยยิ้มครั้งแรกที่ทารกยิ้มให้ เจ้าหนูจะชอบการโอบกอด สัมผัสทางกาย ซึ่งจะทำให้ทารกเกิดความมั่นใจมีความสุข เมื่อได้ใช้ปากดูดนมและอิ่มทอง เป็นความสุขของทารก เมื่อเป็นเช่นนี้ หากลูกต้องการนมเพิ่มในบางมื้อ คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะว่าลูกจะกินนมมากไปหรือเปล่า ควรยืดหยุ่นให้ลูกได้รับการตอบสนองตามความต้องการของทารกน้อยนะคะ
บทความแนะนำ เช็คพัฒนาการลูกน้อยวัย 12 เดือน
จิตใจและอารมณ์ของทารก 4 – 6 เดือน
ในช่วงนี้ทารกน้อยเริ่มจำหน้าคุณแม่ได้แล้วนะคะ และเริ่มไว้ใจผู้ที่เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด จะเริ่มร้องเมื่อมีคนแปลกหน้าที่เจ้าหนูไม่คุ้นเคยมาอุ้ม แสดงให้เห็นว่าลูกเริ่มมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคุณแม่แล้วค่ะ
จิตใจและอารมณ์ของทารก ในครึ่งปีหลัง
การเจริญเติบโตในช่วงนี้จะเติบโตขึ้นมาทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ เริ่มนั่ง คลาน และเจ้าหนูบางคนตั้งไข่ได้แล้ว บางคนสามารถพูดคำง่าย ๆ ได้บางคำ ตอนนี้คุณแม่ต้องเรียนรู้ความต้องการของลูกและให้ความทะนุถนอมเท่าที่ควร ไม่ควรเลี้ยงดูตามใจมากเกินไป เช่น ให้กินนมทุกครั้งที่ร้อง หรืออุ้มตลอดเวลา ทำให้ลูกไม่รู้จักการรอคอย หรือการอยู่ลำพังคนเดียว
ลูกควรได้เรียนรู้ความรู้สึกของตนเอง ทำความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม และเริ่มมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นนอกจากคุณแม่ด้วย เพราะคือรากฐานของความไว้วางใจของแม่และผู้อื่น นำมาซึ่งความมั่นใจของตนเองในระยะต่อไป
ได้ทราบกันแล้วนะคะการเจริญเติบโตทางร่างกาย ความสัมพันธ์กับจิตใจของทารก สิ่งสำคัญ คือ การเลี้ยงดูจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง มาดูกันค่ะว่า การเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้ทารกมีพัฒนาที่ดีสมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ติดตามอ่านค่ะ
อ่าน คำแนะนำเลี้ยงอย่างไรให้ทารกมีพัฒนาการดีสมวัย คลิกหน้าถัดไป
คำแนะนำเลี้ยงอย่างไรให้ทารกมีพัฒนาการดีสมวัย
1. คุณพ่อคุณแม่ควรได้สัมผัสใกล้ชิดลูกตั้งแต่แรกเกิด คุณพ่อและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวควรช่วยเหลือและส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
2. ส่งเสริมลูกให้มีประสบการณ์เรียนรู้และฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามความสามารถและวินัย หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้ว่าเด็กวัยใดมีความสามารถระดับใดจะได้คาดหมายได้ถูกต้อง ไม่คาดคั้นหรือปล่อยปละละเลย ทารกจะเรียนรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ตั้งแต่แรกเกิดและมีการฝึกทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
- การมองเห็น เช่น อุ้มทารกแรกเกิดให้มองเห็นหน้าคนอุ้มในระยะ 10 นิ้ว แขวนสิ่งของที่เป็นสีสดๆ ให้ทารกมองตาม หรือไขว่คว้า ชี้ให้ดูรูปภาพหรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวหรือเมื่อลูกอายุ 6 – 8 เดือน การเล่นจ๊ะเอ๋ ซ่อนของเล่นให้ลูกหาเป็นการฝึกพัฒนาการด้านการมองเห็นได้อย่างดี
บทความแนะนำ โมบายล์สีขาวดำดีต่อพัฒนาการมองเห็นของลูก
- การสัมผัส เช่น อุ้ม กอด สัมผัสแขนขาและใบหน้าของลูกอย่าอ่อนโยน ให้โอกาสลูกได้สัมผัสตัวและเสื้อผ้าของพ่อแม่ขณะอุ้ม ทารกในวัย 6 – 8 เดือนมักจะชอบหยิบของเข้าปาก ต้องระวังสิ่งของหรือของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ที่เป็นอันตราย ให้ลูกเล่นถือของเพื่อได้เรียนรู้น้ำหนัก เบา – หนัก สัมผัสรูปทรงพื้นผิววัตถุแบบต่าง ๆ เรียบ หยาบ เย็น อุ่น แต่ต้องระวังความปลอดภัยเป็นสำคัญ
- การได้ยินและการเรียนรู้ภาษา เช่น เล่นดีดนิ่วจากซ้ายไปขวาให้ลูกมองตามหาแหล่งกำเนิดเสียง พูดกับลูกเวลาที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ทานอาหาร หมั่นเรียกชื่อลูก เรียกชื่อสิ่งของหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ให้ลูกได้ฟังเพลง ตบมือ เคาะจังหวะ หมั่นคุยกับลูกเสมอ ๆ ในแต่ละวัน มองหน้าเวลาคุย พูดคุยอย่างนุ่มนวล เล่นกระซิบ เล่านิทาน เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกได้อย่างดี
- การทรงตัวและการเคลื่อนไหว ให้ทารกได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลความปลอดภัยอยู่ใกล้ชิด เปลี่ยนอิริยาบถ ท่าทางให้ลูกได้คว่ำ หงาย อุ้มนั่ง หรืออุ้มพาดบ่า ให้ลูกได้ออกกำลังกายบ้าง เล่นโยกเยก แมงมุมไต่ จับปูดำ ตบมือ จัดที่ว่างที่ปลอดภัยให้ลูกคลาน เกาะ หัดยืน หัดเดิน ปีนป่าย กระโดด หัดเตะบอล ตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย เลือกของเล่นให้ลูกเหมาะสมกับวัยจะทำให้เขาสนุกได้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว
บทความแนะนำ เทคนิคเลือกของเล่น ให้พัฒนาการลูกสมวัย
- การชิมรสและการดมกลิ่น เช่นเดียวกับการมองเห็นและการได้ยิน ทารกเริ่มรู้รสและจำกลิ่นแม่ของตนเองได้ในสัปดาห์แรก สำหรับเรื่องอาหารเสริมไม่ควรเริ่มอาหารเสริมเร็วเกินไป เพราะระบบลำไส้และระบบการย่อยของทารกยังทำงานได้ไม่ดีพอหากเริ่มเร็วอาจเกิดอันตรายได้ อาหารเสริมควรเริ่มในช่วงอายุ 6 เดือน โดยให้ควบคู่ไปกับนมแม่
บทความแนะนำ อันตรายจากการป้อนอาหารเสริมเร็วเกินไป
3. พาลูกไปตรวจสุขภาพและให้วัคซีนตามคำแนะนำของคุณหมอ หากสงสัยว่าลูกมีความสามารถหรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับวัยควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้น จะได้รีบแก้ไขเสียแต่แรก ไม่ปล่อยจนกลายเป็นปัญหาร้ายแรงต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
เอกสาร การดูแลเจ้าตัวเล็ก แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
เอกสร ความรู้ในการดูแลเด็ก แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยทั้งพ่อและแม่มีความฉลาดมากกว่า
โอกาสทอง!!!เพิ่มเซลล์สมองให้ลูกก่อนสายเกินไป
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!