ในช่วงที่ผ่านมา ไวรัสซิการะบาดหนัก ในหลายพื้นที่ ผู้ปกครองจึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแม่ท้องที่อาจมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไวรัสนี้สามารถส่งต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ วันนี้เราจะพามาดูกันว่าเชื้อไวรัสนี้เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และทำไมถึงอันตรายกับคนท้อง ไปติดตามกันค่ะ
ไวรัสซิการะบาดหนัก เตือนคนท้องให้ระวัง
ไวรัสซิการะบาดหนัก ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ให้เฝ้าระวังโรคไวรัสซิกา โดยเฉพาะในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งโรคไวรัสซิกานี้ เป็นโรคที่นำโดยยุง มีลักษณะคล้ายกับไข้เลือดออก แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า แต่บางรายก็อาจทำให้เส้นประสาทอักเสบ และมีผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจ และเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับคนท้อง อาจส่งผลให้ลูกในครรภ์พิการทางสมอง และมีศีรษะที่เล็ก
ล่าสุดมีการระบาดของโรคนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างแพร่หลาย ไม่เว้นแม้กระทั่งในวัด หลายคนอาจคิดว่าโรคนี้เป็นโรคหัด แต่จริง ๆ แล้ว โรคหัดผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ แต่ไวรัสซิกาจะไม่มีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยไวรัสซิกาต้องแยกจากโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้สูงรุนแรง และเกล็ดเลือดต่ำที่นำโดยเห็บ โดยเฉพาะไข้ไวรัสซิกาที่รุนแรง จะมีอาการเส้นประสาทอักเสบ อ่อนเพลีย และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้จะนำโดยยุงลาย คนท้องจึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ด้วยการหาวิธีป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด
ไวรัสซิกา คืออะไร อันตรายไหม
การติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการถูกยุงที่ติดเชื้อกัด มักจะมีอาการไข้ต่ำ ออกผื่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อ การติดเชื้อไวรัสซิกามักจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจส่งผลที่ร้ายแรงต่อหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรืออาจให้กำเนิดทารกที่มีศีรษะขนาดเล็กกว่าปกติ
ไวรัสซิกาเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเฟลวิไวรัส (Flavivirus) ตระกูลเดียวกับเชื้อไข้เลือดออกหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสเหล่านี้มียุงลาย (Aedes) เป็นพาหะนำโรค ทำให้มีการติดต่อได้ง่าย สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญมันสามารถแพร่เชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตอบให้เคลียร์ 10 คำถาม ไวรัสซิกากับแม่ท้อง
อาการของผู้ที่ป่วยเป็นไวรัสซิกา
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หรือมีไข้เล็กน้อย อยู่ประมาณ 2-7 วัน แต่ไม่มีอาการร้ายแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งยังมีอาการร่วมดังต่อไปนี้
- มีผื่นแดง (Maculopapular) ตามลำตัว แขน และขา
- อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- ตาแดง บริเวณดวงตามีอาการอักเสบของเยื่อบุตา
- อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
อย่างไรก็ตาม หากคนท้องมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันนานถึง 1 สัปดาห์ และมีอาการคล้ายกับไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยจะดีกว่า
ไวรัสซิกาอันตรายกับคนท้องอย่างไร
กรณีที่แม่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่อาจส่งผ่านไวรัสไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเสี่ยงต่อภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) และโรคทางสมองที่ร้ายแรง เนื่องจากสมองของทารกหยุดพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์ หรือหยุดพัฒนาเมื่อคลอด จึงทำให้ศีรษะมีขนาดเล็กลงตามสมองไปด้วย ทารกที่เกิดภาวะนี้ขึ้นจะมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน มีปัญหาทางด้านการได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการรับประทานอาหาร ฯลฯ
สำหรับโรคนี้ ยังไม่มีวัคซีนหรือยาในการรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการของผู้ป่วยที่พบเป็นหลักค่ะ สำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่าตัวเองเป็นหรือไม่เวลาเกิดอาการไข้หรือปวดหัว ให้ทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น ไม่ควรทานยาแอสไพริน ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เป็นอันเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น
แม่ให้นมเป็นไวรัสซิกาลูกน้อยจะติดไหม
ในกรณีที่แม่อยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร ทารกสามารถรับนมแม่ได้ตามปกติ เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อทารก อีกทั้งยังไม่พบข้อมูลมากพอยืนยันเรื่องการแพร่เชื้อชนิดนี้ผ่านทางการให้นมแม่ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องต้องระวังติดเชื้อไวรัสซิกา ลูกเสี่ยงเป็นโรคข้อต่อยึดติด
ความแตกต่างของโรคไวรัสซิกา และโรคติดต่ออื่น ๆ
- โรคไวรัสซิกา ยังไม่พบอาการที่ชัดเจน แต่มักมีผื่นที่ผิวหนัง และบางส่วนมีเยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
- โรคไข้เลือดออก มีไข้สูง อาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรง และอาการแทรกซ้อนเมื่อไข้เริ่มลด เช่น มีเลือดออกบริเวณตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
- โรคชิคุนกุนยา มีไข้สูง อาการปวดข้ออย่างรุนแรง ปวดตามมือ เท้า หัวเข่า และหลัง จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติได้
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ พยายามป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด สวมผ้าสีอ่อนหรือเนื้อหนา ปิดประตู หรือหน้าต่างบ้านให้มิดชิด หรือใช้การกางมุ้ง หรือใช้ม่านกันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณที่อยู่อาศัยและบริเวณรอบบ้าน และอาจใช้ยากันยุงที่ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
เพื่อปกป้องลูกในครรภ์ คุณแม่จึงต้องเฝ้าระวังเชื้อไวรัสนี้เป็นพิเศษ รวมถึงต้องคอยดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัดด้วย เพราะคุณแม่หลายคนมักเข้าใจโรคนี้ผิด คิดว่าเป็นอาการอย่างอื่น ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 54 คนท้องโดนยุงกัด เป็นอันตรายหรือไม่
ยาจุดกันยุงอันตรายสำหรับคนท้องไหม ลูกในท้องจะเป็นอะไรหรือเปล่า?
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
ที่มา : thaipbs, khaosod, podpad, paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!