พ่อแม่ของเด็กชายวัย 5 ขวบที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ กล่าวถึงลูกชายของตนว่าเป็นเด็กที่ “ไม่เคยป่วยเลยตลอดช่วงชีวิตสั้นๆ ของเขา” แต่เมื่อได้ติดเชื้อโรคไข้หวัดหมู ผลกระทบกลับสร้างความสูญเสียที่รุนแรงและรวดเร็วมาก
หนูน้อยได้รับการรักษาเบื้องต้นจากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลท้องถิ่น Sligo และโรงพยาบาลเด็ก Our Lady’s ในครัมลิน นครดับบลิน แพทย์ได้รีบส่งตัวหนูน้อยไปยังห้องไอซียู แต่อาการของเขาทรุดลง และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาโดยมีสมาชิกในครอบครัวอยู่เคียงข้าง
กุมารแพทย์ท่านหนึ่งในโรงพยาบาลเด็ก Temple Street ได้ยืนยันว่าพบการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในเด็กเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม โดยรวมถึงเด็กเล็กที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีสุขภาพดีด้วย
“เด็กบางคนที่ติดเชื้อมีอาการหนักมาก” นายแพทย์กล่าว
โรคไข้หวัดหมู ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปของไวรัส H1N1 ได้กลายมาเป็นโรคระบาดรุนแรงทั่วโลกในปี 2552 โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18,500 คนใน 214 ประเทศ ปัจจุบัน สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน
นอกจากนี้ แพทย์ยังให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่า หากต้องการความมั่นใจก็สามารถนำบุตรหลานที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปที่มีสุขภาพแข็งแรงมารับวัคซีนได้ ส่วนเด็กที่มีอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหลอดลมอักเสบหรือโรคหัวใจ จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีน
อาการของโรคไข้หวัดหมู H1N1
อาการของโรคไข้หวัดหมูคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งได้แก่:
- มีไข้สูงฉับพลัน โดยมีอุณหภูมิร่างกาย 38 องศาเซลเซียส (100.4F) ขึ้นไป
- รู้สึกเหนื่อย
- ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
- ปวดศีรษะ
- มีน้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- ไอแห้ง
หากคุณมีอาการที่คล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่และมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดตามฤดูกาลสูงกว่าปกติ ให้ไปพบแพทย์ประจำตัวของคุณ โดยผู้มีความเสี่ยงสูง ได้แก่:
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- หญิงตั้งครรภ์
- เด็กและผู้ใหญ่ที่มีภาวะทางสุขภาพที่เป็นอยู่แต่เดิม (โดยเฉพาะโรคหัวใจหรือโรคทางเดินหายใจระยะยาว)
- เด็กและผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
วิธีปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ H1N1
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นเป็นประจำ
- ทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ เช่น แป้นพิมพ์ โทรศัพท์ และลูกบิดประตูเป็นประจำเพื่อกำจัดเชื้อโรค
- ใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม
- ทิ้งกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วลงในถังขยะทันที
- วิธีรักษาตัวที่ดีที่สุด คือ การพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ทำร่างกายให้อบอุ่น และดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- รับประทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวด
- หากจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมหรือมีอาการแทรกซ้อน ให้ไปพบแพทย์ทันที
ที่มา: https://sg.theasianparent.com/
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 อีกโรคที่แม่ควรรู้จักและป้องกันให้ลูก
5 โรคติดต่อควรเฝ้าระวังในปี 2559
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!