เมื่อลูกมีไข้ทารกน้อยมักจะงอแง โยเยมากกว่าปกติ เนื่องจากเจ้าหนูรู้สึกไม่สบายตัวนั่นเอง ซึ่งอาการไข้ในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กแรกเกิด หรือเด็กโตแล้วก็ตาม เป็นอาการที่พบบ่อยมาก และคอยเป็นความกังวลใจให้คุณพ่อ คุณแม่อยู่เสมอ วันนี้ theAsianparent มีบทความ วิธีการดูแลเมื่อลูกเป็นไข้ ทารกเป็นไข้ มาฝากให้อ่านกัน พร้อมแล้ว ไปติดตามกันค่ะ
ไข้ คืออะไร
ไข้ คือ อุณหภูมิของร่างกายขึ้นสูงกว่าปกติในเบื้องต้นทราบได้โดยคลำหน้าผาก ซอกคอ หรือบริเวณข้อพับของร่างกาย อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หนาว ๆ ร้อน ๆ ปากแห้ง คอแห้ง ปวดศีรษะ หนาวสั่นหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
สาเหตุของการมีไข้ ทารกมีไข้
1. เป็นโรคจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ปอดบวม เป็นต้น
2. มีปฏิกิริยาแพ้สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ภายหลังได้รับวัคซีน มักจะเป็นไข้
3. จากการเป็นแผล หรือจากการผ่าตัด
ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการไข้
การมีไข้สูงหรือต่ำไม่ได้หมายความว่า โรคไหนจะรุนแรงมากน้อยกว่ากัน ไข้ต่ำ ๆ อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ในขณะที่ไข้สูงอาจเป็นโรคที่หายเองได้ ดังนั้น เมื่อลูกมีไข้ ควรจะพาไปหาคุณหมอ หากปล่อยให้หายเองอาจจะเป็นมากกว่าเดิม
วิธีวัดปรอททางรักแร้
1. ซับรักแร้ให้แห้ง สลัดปรอทให้ต่ำลงถึง 35 องศาเซลเซียส
2. กางแขนลูกแล้ววางปรอทไว้ที่กึ่งกลางรักแร้ ต้องดูไม่ให้ปลายปรอทโผล่มาจากด้านหลัง
3. ทิ้งปรอทไว้นาน 3-5 นาที
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการใช้ปรอทวัดไข้เมื่อลูกไม่สบาย
วิธีอ่านผลปรอท
1. ถือปรอทระดับสายตา
2. อ่านค่าอุณหภูมิที่ได้ แล้วบวกเพิ่มอีก 0.5 องศาเซลเซียส
3. ถ้าค่าที่อุณหภูมิที่อ่านมากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส แสดงว่าเจ้าหนูมีไข้แล้วค่ะ
การเช็ดตัวลดไข้ ทารกมีไข้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเช็ดตัว
1. อ่างน้ำหรือกะละมังใบเล็ก
2. น้ำธรรมดา (น้ำก๊อก)
3. ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 3 ผืน
4. ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน
5. เสื้อผ้าเนื้อบาง 1 ชุด
เรื่องน่ารู้ อุณหภูมิของน้ำสำหรับการเช็ดตัวลดไข้
อุณหภูมิของน้ำ ก็มีผลต่อการลดไข้ด้วยเช่นกัน โดยปกติเราจะใช้น้ำที่มีอุณหภูมิต่าง ๆ ดังนี้
1. น้ำอุ่น ( Warm Sponge )
การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ด้วยน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 40 C โดยเชื่อว่าน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว หลังการเช็ดตัวอุณหภูมิร่างกายจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนการให้การเช็ดตัว ดังนั้นการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น จะไม่ได้หวังผลในการลดอุณหภูมิ แต่เป็นการกระตุ้นให้กระบวนการขับพิษในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
2. น้ำธรรมดาที่อุณหภูมิปกติ ( Tepid Sponge )
การเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาที่อุณหภูมิประมาณ 27-37 C จะกระทำเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 38.5 C ขึ้นไป ในขณะเช็ดตัวด้วยผ้าเปียกจะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ความร้อนภายในร่างกายออกมาสู่ผิวหนังมากขึ้นโดยการถ่ายเทความร้อนจากผิวหนังมาสู่ผ้าเปียก
วิธีการเช็ดตัว
1. ห้องที่ใช้เช็ดตัวไม่มีควรมีลมโกรกและควรปิดพัดลมหรือแอร์ เพื่อไม่ให้ลูกหนาวสั่นระหว่างเช็ดตัว
2. การเตรียมเด็ก ถอดเสื้อผ้าให้ลูกออก หากเป็นเด็กโตให้ใช้ผ้าคลุมตัวขณะเช็ดตัวเพื่อความสะดวกในการเช็ด
บทความที่เกี่ยวข้อง : การเช็ดตัวลดไข้ ลูกเป็นไข้ อยากให้ลูกหายไว ต้องเช็ดให้ถูกวิธี
เทคนิคการเช็ดตัวเมื่อมีไข้
1. ใช้ผ้าชุบน้ำที่เตรียมไว้บิดหมาด ๆ เริ่มเช็ดที่หน้า และวางพักที่คอ นำผ้าอีกผืนเช็ดที่หน้าอกและลำตัวให้ทั่ว หลังจากนั้นเช็ดแขนด้านไกลตัวของคุณแม่ เช็ดตัวเริ่มจากปลายแขนค่อย ๆ เข้าสู่ช่วงบริเวณหัวใจ แล้ววางพักที่ข้อพับ รักแร้ จากนั้นเช็ดแขนด้านใกล้ตัวด้วยวิธีเดียวกัน ต่อไปพลิกตะแคงตัวเพื่อที่จะเช็ดด้านหลัง เช็ดขา 2 ข้าง โดยเช็ดเข้าหาหัวใจเช่นเดียวกัน
2. ผ้าที่ใช้เช็ดตัวแล้ว ควรเปลี่ยนชุบน้ำใหม่บิดหมาด ๆ ทุกครั้ง นอกจากนี้ผ้าบิดหมาดให้นำมาวางตามข้อพับต่าง ๆ ด้วย และเปลี่ยนทุก 3 – 5 นาที เช่นกัน
3. ระยะเวลาในการเช็ดตัวใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที
4. หลังเช็ดตัว 30 นาที ควรวัดปรอทซ้ำ เพื่อประเมินว่าเด็กมีไข้ลงหรือไม่
5. หลังเช็ดตัวให้แห้งแล้ว ให้เด็กสวมเสื้อผ้าเนื้อบาง ๆ แล้วนอนพัก
คุณหมอฝากบอก
1. ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกให้มากขึ้นทางเหงื่อและปัสสาวะ
2. เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับฤดูกาล ไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้จนกว่าตัวจะเย็นลง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ความร้อนระบายออกได้ยาก
3. การให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล ถ้าสงสัยว่าเด็กจะเป็นไข้เลือดออก ห้ามให้ยาแอสไพรินเด็ดขาดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
4. ถ้ามีอาการชัก ให้จับนอนหงายศีรษะตะแคงไปด้านหนึ่ง ห้ามกรอกยาหรือน้ำเข้าปากจะทำให้สำลักลงหลอดลมได้
ข้อควรระวัง : ห้ามนำช้อนหรือไม้สอดเข้าในปากหรืองัดปากเด็กเด็ดขาด อาจทำให้ฟันหักและหลุดลงไปในหลอดลมได้
เมื่อทารกเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำวิธีการดูแลลูกข้างต้นไปปฏิบัติตามกันได้นะคะ หากดูแลลูกไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอยู่ตลอดเวลา หากอาการไข้ของลูกยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างปลอดภัย
ร่วมบอกเล่า และแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีลดไข้เด็ก เช็ดให้ลูกน้อยไข้ลดอย่างมีประสิทธิภาพต้องทำยังไง
ยาลดไข้เด็ก ยาแก้ไข้เด็ก ใช้ยังไงให้ถูกวิธี ให้ลูกหายป่วยอย่างรวดเร็ว
เมื่อลูกเป็นไข้ ซื้อยาลดไข้ให้กินได้มั้ยหรือมีอาการแค่ไหนถึงพาลูกไปหาหมอ?
ที่มา : paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!