เมื่อลูกเป็นไข้ นอกจากเช็ดตัวดูอาการแล้ว ควรจะซื้อยาลดไข้ให้ลูกกินเองได้ไหม หรือมีอาการไข้ขนาดไหนจึงจะพาไปหาหมอดี
ไข้ คือ อุณหภูมิของร่างกายขึ้นสูงกว่าปกติ ในเบื้องต้นคุณแม่จะรู้ได้จากการสัมผัสหน้าผาก ซอกคอ หรือบริเวณข้อพับของร่างกายของลูก และอาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หนาว ๆ ร้อน ๆ ปากแห้ง คอแห้ง ปวดศีรษะ หนาวสั่นหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกมีไข้สูงเกินไป (เกินกว่า 37 องศา) ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะมีอาการชักจากไข้สูงได้
โดยทั่วไปเวลาเด็กเล็กมีไข้จะสังเกตได้คือ มีอาการตัวร้อน หน้าแดงตัวแดง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังขยายตัว เพื่อระบายความร้อน แต่เด็กบางคนอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าเย็นและซีด ทำให้ดูไม่ออกว่ากำลังมีไข้สูง เมื่อลูกแสดงอาการเป็นไข้ คุณแม่ควรทำการวัดอุณหภูมิลูกด้วยปรอทวัดไข้ทุกครั้ง การใช้อุปกรณ์วัดไข้สามารถประเมินอุณหภูมิร่างกายได้อย่างละเอียดและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการใช้มือสัมผัสลูก
อุปกรณ์วัดไข้สำหรับลูกน้อยที่ควรมีติดบ้าน ได้แก่ แบบปรอท แบบดิจิตอล เครื่องวัดอุณหภูมิทางหูแบบดิจิตอล และแถบวัดอุณหภูมิ
การมีไข้แบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้
ไข้ระดับต่ำ: อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37.5 – 38.4 องศาเซลเซียส
ไข้ระดับปานกลาง: อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 38.5 – 39.4 องศาเซลเซียส
ไข้ระดับสูง: อุณหภูมิ 39.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
เมื่อลูกเป็นไข้ ซื้อยาลดไข้ให้กินได้มั้ยหรือมีอาการแค่ไหนถึงพาลูกไปหาหมอ?
- ในกรณีที่มีไข้ต่ำ คุณแม่อาจใช้การเช็ดตัวด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นเล็กน้อยเพื่อลดไข้ เน้นตำแหน่งซอกคอ ใบหน้า ท้อง ข้อพับแขน หลังเข่า ให้เช็ดย้อนทิศทางการไหลของเลือด และวางผ้าชุบน้ำตามตำแหน่งที่เป็นซอกแขน ขาหนีบ เพื่อช่วยดึงความร้อนออกจากเส้นเลือดได้มาก ลดโอกาสชักจากภาวะไข้สูงได้ ช่วยทำให้ลูกงอแงน้อยลง นอนหลับพักผ่อนได้
- สามารถกินยาลดไข้ ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำโดยคำนวณปริมาณยาตามน้ำหนักตัวของลูก การใช้ไซริงค์จะช่วยให้คุณแม่ตวงปริมาณยาได้แม่นยำที่สุด ซึ่งหากลูกได้รับขนาดยาที่มากเกินไปอาจส่งผลเป็นพิษกับตับ และไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 5 วัน การทานยาลดไข้ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ เป็นเพียงบรรเทาอาการไข้เท่านั้น หากลูกเป็นไข้นานเกินควรพาไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของไข้
- ให้ลูกได้ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะความร้อนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว หากร่างกายขาดน้ำก็จะทำให้ไข้สูงมากขึ้นถ้าลูกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ นมแม่เป็นยาปฏิชีวนะที่จะช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างดี
- ปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นสบาย มีอากาศถ่ายเท
- ให้ลูกสวมเสื้อผ้าเนื้อบาง เนื้อผ้าฝ้ายที่ระบายความร้อนออกได้ง่าย และห่มผ้าห่มบาง ๆ หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือห่มผ้าหนา ๆ เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยทำให้ไข้ลดเร็วขึ้น จะยิ่งเพิ่มความร้อนให้ร่างกายทำให้ไข้ขึ้นสูงจนชักได้
คุณแม่ควรพาลูกพบหมอทันที หากลูกมีไข้ร่วมกับอาการต่อไปนี้
- ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน เมื่อมีไข้เกินกว่า 37 องศาพร้อมกับมีอาการอื่นที่แทรกซ้อน เช่น มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ผื่นขึ้น เซื่องซึม ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนสี การหายใจติดขัด หรือลูกคุณมีอาการปวดเจ็บ โดยเฉพาะบริเวณคอควรพาไปพบแพทย์ทันที
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือนถึงหนึ่งขวบ หากมีไข้นานเกินกว่า 1 วัน หรือว่ามีอาการแทรกซ้อนเพิ่มเติม ตามที่ได้กล่าวอาการเหล่านั้นไว้ข้างต้น ควรจะรีบพาเขาไปพบแพทย์ทันที
- เด็กที่อายุระหว่าง 1-2 ขวบ หากมีไข้สูงสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนมากกว่า 39 องศา และไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยาลดไข้หรือวิธีอื่น และมีไข้นานเกินกว่า 2 วัน พร้อมกับมีอาการอื่นแทรกซ้อนเข้ามา ควรพาไปพบแพทย์ทันที
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ขวบ ที่มีไข้เกินกว่า 39 องศา และได้รับการรักษาจากยาแผนปัจจุบันมานาน 6 วัน ถ้ายังมีไข้เกินกว่า 6 วัน พร้อมกับมีอาการอื่นแทรกซ้อน ควรพาไปพบแพทย์ทันที
อ้างอิงข้อมูล : www.breastfeedingthai.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
ฟันซี่แรกของลูกกำลังขึ้น ต้องมีอาการไข้ไม่สบายทุกคนไหม?
น้ำอุ่นผสมมะนาว หรือน้ำต้มใบมะขามหัวหอม แบบไหนลดไข้ ไล่หวัดลูกได้ดีกว่ากัน
แชร์ประสบการณ์ของคุณได้ที่นี่
ทารกเป็นไข้ ลูกตัวร้อน เป็นไข้ ต้องทำยังไง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!