คุณแม่หลายท่าน อาจจะเกิดความสงสัยว่า ลูกกินนมแม่ ไม่ถ่ายได้กี่วัน ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับเด็กนมแม่ล้วน ในเดือนแรกควรจะถ่ายทุกวัน เพื่อขับสารเหลืองออกมา ทางอึ และฉี่ โดยลูกควรฉี่ทุกวันอย่างน้อย 6 ครั้ง และอึอย่างน้อย 1 ครั้ง ถึงจะเรียกว่าได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ
ลูกถ่ายบ่อย ท้องเสียหรือไม่
การที่ลูกถ่ายบ่อย เป็นเพราะนมแม่ย่อยง่าย ลูกอาจถ่ายได้บ่อย 8-10 ครั้งต่อวัน หรือทุกครั้งหลังจากดูดนมแม่ก็ยังได้ ทั้งนี้ให้คุณแม่คอยสังเกตอึของลูก รวมถึงอาการของลูกด้วย หากอุจจาระนิ่มและเป็นสีเหลืองทอง กลิ่นไม่รุนแรงเหม็นคาว ลูกไม่งอแง ไม่ซึม ไม่เป็นไข้ กินนมได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าท้องเสีย จนเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 สำไส้ของลูกน้อยจะพัฒนาและดูดซึมดีขึ้น ลูกจะไม่ถ่ายบ่อยเหมือนช่วงแรก
ถ้าลูกไม่ถ่ายหลายวัน ปกติไหม
สำหรับทารกนมแม่ล้วนนั้น เมื่อลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ร่างกายของลูกสามารถย่อยนมแม่ได้หมด โดยไม่เหลือกากอาหารไว้สำหรับขับถ่าย ก็อาจจะไม่ถ่ายหลายวันได้ บางรายอาจจะไม่ถ่ายนานถึง 2-3 สัปดาห์ ก็ยังถือว่าปกติ หากถ่ายออกมาแล้วไม่แข็ง คุณแม่ควรสังเกตว่า ลูกถ่ายสะดวก อุจจาระนิ่ม อาจมีส่วนแข็งเล็กน้อยในช่วงต้น ๆ บ้าง ยังไม่ต้องเป็นกังวลใจไป
ลูกไม่ถ่ายหลายวันควรทำอย่างไร
ถึงแม้คุณแม่จะทราบแล้วว่า เด็กนมแม่ล้วน ถึงจะไม่ถ่ายหลายวันก็ถือว่ายังไม่เป็นไร แต่คุณแม่คงร้อนใจ อยากให้ลูกถ่ายจะดีกว่าใช่ไหม หากลูกไม่ถ่ายหลายวัน เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก
- ให้คุณแม่พยายามทานผักผลไม้ที่ช่วยระบาย โดยเฉพาะมะละกอ ส้ม พรุน หรือ มะขาม
- ให้คุณแม่ดื่มน้ำเยอะ ๆ
- เน้นให้ลูกกินนมส่วนต้น ซึ่งมีแลคโตส เพราะจะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
- นวดท้องลูก เพื่อช่วยให้ลูกถ่ายออกมาได้เร็วขึ้น
คำเตือน ยังให้ลูกกินผักผลไม้ และน้ำไม่ได้ จนกว่าจะอายุเกิน 6 เดือน คุณแม่ต้องเป็นคนกินแทนลูก
ลูกไม่ถ่าย ควรสวนอุจจาระหรือไม่
ไม่แนะนำให้สวนอุจจาระให้ลูก หากไม่มีข้อบ่งชี้ และทำโดยแพทย์ เพราะการสวนอุจจาระเด็ก เป็นการรบกวนกระบวนการทำงานของสำไส้ และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งยังทำให้ลูกเคยตัว และไม่ยอมอึด้วยตัวเอง
แบบไหนถึงเรียกว่าท้องผูก
หากลูกโตแล้ว กินอาหารเสริมแล้วไม่ถ่าย มีอาการอึดอัดงอแง เบ่งหน้าดำหน้าแดง ถ่ายแข็งจนเจ็บก้น เลือดออก อย่างนี้จึงเรียกท้องผูก ควรปรับเปลี่ยนการกิน เพิ่มอาหารที่มีกากใยมากขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ผักต้ม ผลไม้เป็นอาหารว่าง ไม่กินแต่นมจนไม่ยอมทานอาหารอื่น ในกรณีที่ท้องผูกมาก ๆ ควรปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด
สีของอุจจาระบอกได้นะว่าสุขภาพหนูเป็นอย่างไร
บทความ : สีอุจจาระของลูก สีไหนปกติ สีไหนอันตรายกันนะ
นอกจากความถี่ในการถ่ายของลูกแล้ว ทุกครั้งที่ลูกถ่าย คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมสังเกตสีของอุจจาระด้วย เพราะสีต่าง ๆ สามารถบอกได้ว่า ลูกน้อยมีสุขภาพเป็นอย่างไร
อุจจาระปกติ จะมีสีดังนี้
-
สีเขียวเข้ม สีคล้ำ หรือขี้เทา
มีลักษณะเหนียวเหมือนยางมะตอย เป็นอึของทารกแรกคลอด หรือที่เรียกกันว่าขี้เทานั่นเอง โดยตามธรรมชาติแล้ว ทารกจะขับถ่ายของเสียออกมาภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากเลย 24 ชั่วโมงไปแล้วลูกยังไม่ขับถ่ายขี้เทาออกมา ต้องรีบแจ้งคุณหมอด่วนนะครับ เพราะอาจเป็นอาการของลำไส้อุดตันได้
-
สีเหลือง หรือเหลืองมัสตาร์ด
สีแบบนี้เป็นลักษณะของอึลูกน้อยที่คลอดออกมาแล้ว 3 – 4 วัน ถือว่าเป็น สีอุจจาระ ปกติของทารกที่กินนมแม่ครับ โดยอึของลูกจะมีลักษณะเหลว และลูกจะอึประมาณวันละ 6-10 ครั้ง หรือทุกครั้งที่ทานนมแม่อิ่มครับ แต่ก็เป็นไปได้ที่ลูกจะไม่อึเป็นอาทิตย์เลยก็มีนะครับ อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นอาการปกติทั้งสิ้นครับ
-
สีน้ำตาลอ่อน และมีกลิ่นแรง
อึของลูกจากการให้นมผงจะมีสีเข้มและเหนียวกว่าอึของลูกจากการให้นมแม่ บางครั้งอาจจะมีลักษณะคล้ายเนยถั่วและมักจะเหนียวและติดอยู่บนผ้าอ้อม อึสีนี้เป็นสีปกติครับ
ไม่ต้องตกใจไปครับ เมื่อลูกเริ่มกินอาหารแข็งได้แล้วสีของอึลูกอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่เค้ากิน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่าสีของอึลูกอาจจะมีสีส้มหรือเหลือง ก็เป็นเรื่องปกติครับ
อึของลูกที่มีสีเขียวเข้มและมีลักษณะข้นเหนียวนั้น ถือว่าปกติครับโดยอาจเกิดจากการที่คุณแม่กินผักใบเขียวในช่วงให้นมลูกหรืออาจเกิดจากการที่คุณแม่กินอาหารที่มีธาตุเหล็กเข้าไป ทำให้อึของลูกมีสีเขียวเข้มนั่นเอง
สีอุจจาระของลูกแบบนี้ คุณพ่อ คุณแม่ต้องระวัง
อึของลูกไม่ควรเป็นสีแดงนะครับ หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าอึของลูกเป็นสีแดงควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน การที่อึของลูกป็นสีแดงนั้นอาจเพราะมีเลือดปนมากับอึของลูก หากมีเลือดปนออกมาน้อยอาจเกิจจากอาการท้องผูก แต่หากมีเลือดปนมาเยอะ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วนครับ
หากอึของลูกเป็นสีขาวซีด อาจเกิดจากความผิดปกติของตับหรือถุงน้ำดี ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุครับ
หลักจากหมดขี้เทาแล้ว หากอึของลูกเป็นสีดำคล้ำกว่าปกติโดยอาจมีมูกเลือดติดออกมาด้วย อาการแบบนี้อาจเกิดจากระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจนะครับ ควรพาลูกไปพบแพทย์จะดีที่สุด
ที่มา www.breastfeedingthai.com, เฟซบุ๊ค thaibreastfeeding
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ
วิธีนวดกระตุ้นพัฒนาการทารก เสริมสร้างสมอง ช่วยลูกสุขภาพดี
7 เทคนิคปั๊มนมอย่างไรให้สำเร็จเมื่อให้นมจากเต้าไม่ได้
ทารกท้องผูก ลูกไม่ถ่ายหลายวัน ทำยังไงดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!