ชีวิตในตู้อบของทารกคลอดก่อนกำหนด
คลอดก่อนกำหนด
ตามปกติแล้วการตั้งครรภ์เริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย นับไปอีก 38 – 40 สัปดาห์ จึงจะเป็นวันครบกำหนดคลอดซึ่งในทางการแพทย์หากทารกน้อยคลอดออกมาก่อน 37 สัปดาห์จะหมายถึง ทารกคลอดก่อนกำหนด ยิ่งคลอดเร็วขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเป็นอันตรายต่อทารกมากขึ้นเท่านั้น
สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนดเกิดได้จากปัจจัยที่หลากหลาย มีทั้งปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ และปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้
ปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้
1. มาจากพันธุกรรม มีคนในสายเลือดเดียวกันหรือคนในครอบครัวมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
2. มีระบบสืบพันธุ์ที่ผิดปกติ ปากมดลูกสั้น เคยผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน
3. โพรงมดลูกขยายใหญ่เกินไปจากสภาพของครรภ์ ครรภ์แฝดน้ำ มีเนื้องอกในมดลูก
4. รกผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ รกหลุดลอกก่อนกำหนด
5. มีโรคประจำตัที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
บทความแนะนำ รกลอกตัวก่อนกำหนด อาการที่แม่ท้องต้องระวัง
ปัจจัยที่ป้องกันได้
1. คุณแม่รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้คลอดก่อนกำหนดเช่น สังกะสี แมกนีเซียม
2. สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์หรือทั้งสองอย่างในขณะตั้งครรภ์
3. แม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
4. แม่ท้องที่มีน้ำหนักมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
5. กินยาบางชนิดโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ
6. การติดเชื้อบางชนิดในถุงน้ำคร่ำและช่องคลอด
เข้าตู้อบ ทารกคลอดก่อนกำหนด
ทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นอย่างไร
ทารกคลอดก่อนกำหนด ร่างกายจะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบทางเดินหายใจ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าทารกจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ทารกจะพัฒนาปอดที่บรรจุด้วยถุงลมจนเต็มมีรูปร่างสมบูรณ์และทำงานได้ เมื่ออยู่ในครรภ์จนอายุครบ 35 สัปดาห์ และใช้เวลาที่เหลือในครรภ์เพื่อหัดหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอดเพื่อฝึกความพร้อมไว้ก่อนคลอดออกสู่โลกภายนอก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มีอายุในครรภ์น้อยกว่า 30 สัปดาห์ส่่วนหนึ่งจะไม่รอดชีวิต
ส่วนทารกที่มีชีวิตรอดมักจะมีปัญหาสุขภาพติดตัว ต้องได้รับการดูแลระยะยาว เช่น สมองไม่สมบูรณ์ มีสติปัญญาต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแอ โครงสร้างไม่แข็งแรง พิการ ตาบอด หูหนวกหรือเป็นโรคหัวใจชนิดที่พัฒนาไม่สมบูรณ์
ชีวิตในตู้อบของทารกคลอดก่อนกำหนด
1. การรักษาชีวิตของทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นสิ่งสำคัญ ทารกแรกเกิดจำเป็นต้องได้รับการรักษาอุณหภูมิให้อบอุ่นทันทีหลัง คลอด
2. เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วส่วนใหญ่จะถูกย้ายเข้าตู้อบ ที่ประกอบด้วยที่นอนแบนสำหรับทารกล้อมรอบด้วยกล่องที่มีผนังด้านข้างและเพดานคล้ายพลาสติกใส ยาวประมาณ 75 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และกว้าง 50 เซนติเมตร ตู้อบวางอยู่บนตู้เพื่อให้ทารกแรกเกิดอยู่สูงจากพื้นขึ้นมาระดับเอว ครึ่งบนของผนังข้างนั้นยังมี 2 ช่อง มีประตูกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร และห่างกัน 30 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่พอที่จะยื่นมือและท่อนแขนส่วนล่างเข้าไปโดยไม่ต้องเปิดประตูใหญ่ทิ้งไว้
3. ในตู้อบ ทารกคลอดก่อนกำหนดจะได้รับการปกป้องจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่มีการให้ความร้อน ในเวลาเดียวกันจากภายนอกก็สามารถมองเห็นและสังเกตทารกได้ตลอดเวลา
4. การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดในตู้อบสามารถป้อนนมและทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น อาบน้ำ เจาะเลือด และเริ่มให้ยาทางหลอดเลือดดำ ทำได้โดยไม่ต้องนำทารกออกมาภายนอกตู้อบเลย
5. คุณแม่สามารถดูแลทารก สัมผัสลูกน้อยผ่านช่องได้จนกระทั่งทารกแข็งแรงพอที่จะได้รับการอนุญาตจากคุณหมอให้ออกมากอดหรืออุ้ม
6. ตู้อบจะไม่กันเสียง ดังนั้น คุณแม่สามารถพูดคุยกับลูก หรือร้องเพลงให้ลูกฟังจากด้านนอก เพื่อกระตุ้นทารกน้อยได้นะคะ ตู้อบจึงเปรียบได้กับสถานที่หลบภัยของทารกคลอดก่อนกำหนดเพื่อรอวันที่เจ้าหนูแข็งแรงพอที่จะออกมาสู่โลกภายนอก
7. เมื่อทารกคลอดก่อนกำหนดได้รับอนุญาตให้ออกมานอกตู้อบ ก็จะได้รับการห่อหุ้มเป็นอย่างดีรวมถึงสวมหมวกเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกาย
8. ตามปกติแล้วเมื่อทารกคลอดก่อนกำหนดมีอายุเทียบเท่า 35 – 36 สัปดาห์ในครรภ์แล้วจะค่อย ๆ ปรับลดอุณหภูมิด้านในตู้อบดูว่า ขณะที่สวมเสื้อผ้าอยู่ทารกน้อยสามารถรักษาอุณหภูมิตามปกติของร่างกายได้หรือไม่ หากเป็นผลสำเร็จ ทารกน้อยจะได้ย้ายไปอยู่ เตียงคอกเปิดค่ะ
การป้อนนมทารกคลอดก่อนกำหนดในตู้อบ
– ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ตัวเล็กมากจได้รับการป้อนนมในขั้นต้นโดยใช้ท่ออาหารที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางแคบผ่านจมูกหรือปาก ไปสิ้นสุดที่กระเพาะอาหาร ทารกยังไม่สามารถดูดได้แรง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ท่ออาหารช่วย น้ำนมแม่ที่บีบออกมาจะได้รับการตวงในกระบอกฉีดยา และหยดหรือปั๊มเข้าไปในกระเพาะอาหารของทารกทางท่อ
– เมื่อทารกอายุมากขึ้น คุณแม่สามารถป้อนขวดนมที่ปั๊มนมแม่ไว้ในขณะที่เจ้าตัวน้อยยังอยู่ในตู้อบได้ โดยนั่งชิดกับตู้อบ สอดมือและแขนท่อนล่างผ่านช่อง ใช้ทั้ง 2 มือ จับลูกขึ้นนั่งเกือบ 90 องศาใช้มือข้างหนึ่งประคองด้านหลังของคอและศีรษะ ใช้มืออีกข้างหนึ่งถือขวดและใส่เข้าปากของลูก ปล่อยให้ลูกพักประมาณทุก 1 นาที จนกระทั่งลูกได้รับนมแม่ตามปริมาณที่คุณหมอกำหนดเข้าสู่ร่างกาย
– พยาบาลที่มีหน้าที่ดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีเคล็ดลับทำให้ทารกที่ดูดนมช้าและไม่เต็มใจดูดให้ดีขึ้นได้ เช่น ลูบแก้มใกล้ปากเบา ๆ มักทำให้เกิดปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ต่อการดูดและทำให้ทารกน้อยเริ่มดูดนมได้ดีขึ้น
เรื่องน่ารู้ การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดแบบจิงโจ้
การสัมผัสแนบเนื้อระหว่างคุณแม่และทารกคลอดก่อนกำหนดโดยไม่สวมเสื้อผ้า (ยกเว้นผ้าอ้อม) และมีผ้าหรือผ้าห่มคลุมผิวหนังเปลือยเปล่านั้น ทั้งคุณพ่อและคุณแม่สามารถมีส่วนร่วมนี้ได้เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกกับลูกได้ และการให้ลูกดูดนมในลักษณะนี้มักสำเร็จมากกว่าและแสดงให้เห็นว่า ทารกคลอดก่อนกำหนดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับไปบ้านได้เร็วกว่าการดูดนมแบบธรรมดา
การอุ้มทารกคลอดก่อนกำหนด
การอุ้มทารกคลอดก่อนกำหนดในผ้าอุ้ม หรือเป้อุ้มนั้นจะทำให้ลูกได้ดยินเสียงหัวใจเต้น การหายใจ และการเคลื่อนไหวของแม่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเจริญเติบโตได้ดีและมีความผูกพันกับแม่มากขึ้น จะทำให้เจ้าหนูเติบโตและแข็งแรงเร็วขึ้นขณะที่ซุกอยู่ในผ้าอุ้ม เป็นการเลียนแบบขณะที่ยังอยู่ในท้องของคุณแม่นั่นเอง
ได้ทราบกันแล้วนะคะสำหรับตู้อบที่มีความสำคัญในการช่วยต่อชีวิตให้ทารกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรงและเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดที่สามารถออกมาจากตู้อบแล้ว หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ต่อไปคือการดูแลให้ความอบอุ่นอย่างเต็มที่ต่อไป ยิ่งได้รับนมแม่อย่างเพียงพอทารกจะเติบโตและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอน
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ คัมภีร์การดูแลเด็กทารกและเด็กเล็ก ฉบับสมบูรณ์ ผศ.ดร.อรกัญญ์
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ภาพทารกคลอดก่อนกำหนดที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก
ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงกระดูกพรุน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!