สัญญาณอันตรายของทารก ที่ต้องพาไปพบแพทย์ด่วน
สัญญาณอันตรายของทารก พ่อแม่รู้ไหมว่าอาการแบบไหนที่อันตราย ลูกมีลักษณะแบบไหนควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน รวมถึงวิธีการสังเกตอาการลูกอย่างละเอียด
1.ริมฝีปากเขียว
คนทั่วไปจะมีริมฝีปากสีชมพู แต่ถ้าลูกของคุณมีริมผีปากเป็นสีเขียว ลิ้นเขียว หรือแม้แต่เล็บออกเขียวคล้ำปนม่วง แสดงว่าลูกน้อยของคุณอาจเกิดภาวะเขียว หรือ ซัยยาโนสิส (cyanosis) เนื่องจากเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดได้ค่ะ
สำหรับเด็กเล็กอาจจะมีสีเขียวคล้ำได้เมื่อถูกความเย็น แต่พอร่างกายอบอุ่นควรจะกลับมาเป็นสีชมพู หรือเวลาที่ลูกร้องจะมีหน้าตาจะเขียวคล้ำพอสงบลงก็จะกลับมาเป็นปกติ ถ้าเป็นแบบนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ หากลูกมีสีซีดไม่ยอมหาย และตัวเขียวทั่วตัว อาจเป็นไปได้ว่าเขามีปัญหาที่หัวใจหรือปอดได้ค่ะ สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย หากพบว่าวิ่งเล่นแล้วเหนื่อยง่าย และมีลิ้นเขียว ปากเขียว เล็บเขียว ก็พึงพาเด็กไปปรึกษาหมอโดยด่วนค่ะ
2.หายใจถี่เร็ว
การหายใจของลูกบ่งบอกถึงอันตรายได้ เช่น ถ้าลูกหายใจเหมือนนกหวีด แสดงว่ามีนมอุดตันที่จมูก ถ้าไอแหบ อาจเกิดเสมหะในลหลอดลม ถ้าหายใจแหลมสูงแสดงว่าหลอดลมตีบ ซึ่งอันตรายควรพบแพทย์โดยด่วน ไอหนักระหว่างหายใจ เกิดจากหลอดลมอุดตัน หายใจเร็วอาจเกิดเสมหะในปอด หรือเกิดการติดเชื้อ หายใจเหนื่อยหอบ เกิดจากหลอดลมอุดตัน หากปล่อยไว้จะทำให้ลูกเป็นหอบเมื่อโตขึ้นได้ค่ะ
โดยปกติแล้วทารกจะหายใจตามปกติที่ประมาณ 20-40 ครั้งต่อนาทีในขณะที่ลูกหลับ หากลูกหยุดหายใจนาน 15 วินาทีหรือมากกว่านั้น ต้องพาไปพบคุณหมอแล้วค่ะ วิธีการสังเกตคุณแม่สามารถทำได้ ดังนี้
- ฟัง เสียงการหายใจของลูกระหว่างหลับ โดยเอาหูแนบกับปากหรือจมูกลูก ซึ่งคุณจะได้ยินเสียงแปลกๆ หากมีความผิดปกติ
- ดู และสังเกตบริเวณหน้าอกของลูกเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากพบสิ่งผิดปกติขึ้นลงจากหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์
- ลอง เอาแก้มแนบกับจมูกหรือปากของลูก เพื่อสัมผัสความชื้นหรืออุณหภูมิของลมหายใจลูก
สัญญาณอันตรายของทารก
3.มีไข้สูงกว่า 38 องศา
อาการป่วยเป็นโรคที่เจอมากในเด็กเล็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่มากนัก ถ้าลูกมีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการชักได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่มีไข้ แต่หากมีอาการชักเกิดหลังจากวันที่มีไข้ เป็นไปได้ว่า มีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อระบบประสาท การอักเสบของทางเดินหายใจ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม ทางเดินปัสสาวะอักเสบ หลังการฉีดวัคซีน ร่างกายลูกขาดน้ำ เช่น อุจจาระร่วง หรือแม้แต่การบาดเจ็บค่ะ
ที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อทารกหรือเด็กเล็กๆ มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ต้องไปพบแพทย์ทันที แม่ๆ ยังสามารถสังเกตอาการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ลูกซึม ท้องเสีย ไม่กินนม อาเจียนค่ะ
4.ลูกตัวเหลือง
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกตัวเหลืองโดยกดที่ผิวของลูก จะเห็นบริเวณที่กดเป็นสีเหลือง ถ้าเห็นสีเหลืองเฉพาะใบหน้าและลำตัว ถือว่าเหลืองไม่มาก แต่ถ้าลงมาที่ขาและเท้า ถือว่าเหลืองมาก ถ้าสงสัยว่าลูกตัวเหลืองมากผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย และเจาะเลือดตรวจระดับสารเหลืองในเลือด เพราะหากปล่อยไว้สารเหลืองหรือบิลิรูบินจะเข้าไปที่สมอง ทำให้มีอาการชัก และอาจมีผลต่อประสาทการได้ยินของเด็กได้ค่ะ
อาการผิดปกติของทารก
5.ปัสสาวะน้อย
การฉี่ของลูกมีส่วนสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ที่ทำให้คุณรู้ได้ว่าลูกเราสุขภาพดีหรือไม่ หากลูกน้อยในช่วงดื่มนมแม่ ไม่ฉี่เกินครึ่งวัน อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยเกิดภาวะขาดน้ำได้ และต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน แต่ถ้าในช่วงหน้าร้อนลูกน้อยอาจจะฉี่น้อยลงคุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ ถ้าลูกฉี่ทุกๆ 3-4 ชม. ค่ะ ภาวะขาดน้ำมีทั้งหมด 3 ระดับ คุณแม่สามารถสังเกตตามอาการได้นะคะ
- เด็กขาดน้ำน้อย อาการคือ ฉี่น้อยลง ลูกน้อยดูปกติดี
- เด็กขาดน้ำปานกลาง อาการคือ ลูกเริ่มกระสับกระสาย กระหม่อมหรือตาบุ๋มเล็กน้อย ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบลึก ฉี่น้อย น้ำตาน้อย
- เด็กขาดน้ำมาก อาการคือ กระวนกระวายและซึม แปกแห้ง ไม่มีน้ำตา ตาโหล กระหมุ่มบุ๋มมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การช็อคได้ค่ะ
6.อาเจียน
อาการอาเจียนเป็นสิ่งที่พบบ่อยในเด็ก สาเหตุมีมากมายแต่ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแล้วทำให้เกิดโรค เช่น ไข้หวัดหรือไวรัสลงกระเพาะ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ ไส้ติ่งอักเสบ หรือลำไส้อุดตัน โรคทางเดินประสาทและระบบทางเดินปัสสาวะก็เช่นกัน แม้แต่ยาบางตัวหรือการเมารถด้วย
เมื่อคุณเห็นลูกน้อยอาเจียน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องสังเกตสีและลักษณะของอาเจียน เช่น มีสีแดงคล้ายเลือดปนหรือไม่ หรือมีสีเหลืองเขียวคล้ายน้ำดี แสดงว่าอาการรุนแรงมากค่ะ ลูกอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้กลืนกันได้ หรืออาเจียนออกมาเป็นอาหารที่เพิ่งทานเข้าไป จากนั้นพาไปพบคุณหมอ เพราะว่าสีของอาเจียนสามารถบอกสาเหตุของโรคได้ค่ะ หลังจากนั้นคุณหมอจะรักษาตามโรคหรือตามอาการ อาจจะให้ยามาทานที่บ้านหรือพักฟื้นที่โรงพยาบาลค่ะ
หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกมีอาการซึมลง ปวดหัวร่วมด้วย อาจเกิดจากความดันสูงในสมองค่ะ หากมีอาการคอแข็ง และไข้สูงด้วย ให้นึกถึงการติดเชื้อของสมอง ไข้สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ หรืออาจเกิดจากการมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ หรือเส้นโลหิตแตกในสมอง ฯลฯ
ที่มา: webmd
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ทารกปวดท้อง อาการทารกป่วย เจ็บ ๆ ปวด ๆ ใต้พุง ลูกน้อยเป็นอะไรได้บ้าง
ล้างจมูก วิธีล้างจมูกให้ลูก ลูกป่วยภูมิแพ้ เป็นหวัด มีน้ำมูก ล้างจมูกให้ลูกโล่ง ช่วยให้ทารกหายป่วยไว
วิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อย แรกเกิด-1 ปี พัฒนาการของวัยทารก ฝึกอย่างไรให้สมวัยในขวบปีแรก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!