ลูกนอนห้องแอร์ เหงื่อออกหัว เวลานอน อันตรายหรือไม่?
คุณพ่อคุณแม่ที่ให้ลูกนอนห้องแอร์โดยเฉพาะเด็กเล็ก ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศา สังเกตว่าลูกไม่ชอบห่มผ้าห่ม ห่มให้ทีไรเป็นต้องดึงออกทุกที แถมนอนแอร์แล้วเหงื่อยังออกอีก หัว ผม นี้เปียกแฉะไปหมด ติดตามอ่านกันค่ะว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกนอนห้องแอร์ เหงื่อออกหัว แล้วจะอันตรายหรือไม่
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช อธิบายถึง ทำไมเด็กเล็กนอนห้องแอร์แต่ยังมีเหงื่อออกไว้ดังนี้ “เด็กต้องการพลังงานเทียบกับน้ำหนักตัวสูงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโตและสร้างเนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆจึงต้องการใช้พลังงานสูงมาก เช่น เพื่อการสร้างเซลล์สมอง การสร้างเซลล์กล้ามเนื้อ ในขณะที่ผู้ใหญ่ต้องการพลังงานเพื่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
ในขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจในเด็กทารกเป็นเซลล์กล้ามเนื้อชนิดที่ล้าง่ายต้องการพลังงานสูง ชีพจรของเด็กจึงเต้นเร็วกว่าผู้ใหญ่ เด็กแรกเกิดชีพจรเต้น 140 ครั้งต่อนาที และลดลงเรื่อยๆเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจนเป็น 60-80 ครั้งต่อนาทีเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานก็ย่อมมีมาก การระบายความร้อนออกจากร่างกายทำได้โดยการขับออกเป็นเหงื่อ
ส่วนในกรณีที่เด็กทารกนอนดูดนมเฉย ๆ ทำไมถึงมีเหงื่อเยอะจัง เพราะภายในร่างกายของเขามีการทำงานอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ผิดปกติค่ะ ขณะที่ผู้ใหญ่จะใช้พลังงานสูงเท่ากับที่เด็กทารกต้องการ ก็ต่อเมื่อมีการออกกำลัง จนชีพจรเต้นเร็วเท่ากับเด็กทารก ถึงเวลานั้นเราก็มีเหงื่อออกเต็มตัวเหมือนเด็กทารกเวลาดูดนมเช่นกัน อย่างไรก็ดีมีโรคบางอย่างที่ทำให้ทารกมีเหงื่อออกมากผิดปกติกว่าเด็กคนอื่น เช่น โรคหัวใจ โรคธัยรอยด์เป็นพิษ แต่ลูกควรมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เลี้ยงไม่โต ดูดนมแล้วดูเหนื่อยต้องหยุดเป็นพักๆ ตรวจร่างกายฟังได้ยินเสียงผิดปกติที่หัวใจ หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคเหล่านี้ ให้ปรึกษากุมารแพทย์ได้ค่ะ หากตรวจแล้วพบว่าลูกปกติดี การมีเหงื่อออกเวลาดูดนม นอกจากช่วยระบายความร้อนแล้วยังช่วยให้ต่อมเหงื่อทำงานขับของเสียออกทางผิวหนังอีกทางหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ให้ลูกตลอดเวลา เพียงใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ง่าย และอยู่ในที่อากาศถ่ายเทจะดีกว่าค่ะ”
จากที่คุณหมอได้ให้ข้อมูลไว้ สามารถสรุปได้ว่า การที่เด็กทารกหรือเด็กเล็กนอนห้องแอร์แล้วแต่เหงื่อยังออกเกิดจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมีมาก จึงเกิดการระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำได้โดยการขับออกเป็นเหงื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้จากคำชี้แจงของคุณหมอถือว่าไม่มีอันตรายใด ๆ นะคะ แต่คุณแม่ควรสังเกตประเด็นอื่น ๆ ร่วมกับเหงื่อออก เช่น เลี้ยงไม่โต ดูดนมแล้วเหนื่อย เป็นต้น เช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดปกตินะคะต้องรีบปรึกษาคุณหมอ
เรื่องน่ารู้ เปิดแอร์อย่างไรให้เหมาะสม
1. ปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่พอดีไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ที่ประมาณ 25-27 องศาเซลเซียส
2. ตั้งปรับพัดลมของแอร์ให้เป็นระบบ Auto Swing และตั้ง Sleep โหมด เพื่อทำให้อุณหภูมิในห้องไม่เย็นจนเกินไป และกระจายความเย็นทั่วห้อง
3. หลีกเลี่ยงการเปิดแอร์ในตอนเช้าและตอนกลางคืน เพราะอากาศค่อนข้างเย็นอยู่แล้ว
4. ตั้งเตียงหรือเบาะนั่งเล่นของลูกเลี่ยงทิศทางลม ไม่ให้อยู่ในระดับทางลมแอร์พัดโดยตรง เพราะเมื่อลมแอร์ตกลงที่ศีรษะเด็กโดยตรงอาจทำให้ลูกไม่สบายได้
5. เปิดห้องให้อากาศบริสุทธิ์ภายนอกไหลเวียนเข้ามาบ้าง อย่างน้อยวันละ 3-4 ชั่วโมงขึ้นไป รวมทั้งเปิดม่านให้แดดส่องเพื่อฆ่าเชื้อโรคในห้อง
6. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเฟอร์นิเจอร์ให้ปราศจากฝุ่นดีกว่าการปัดฝุ่น เพราะการปัดจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายยิ่งขึ้น
7.หลีกเลี่ยงการใช้แอร์เคลื่อนที่ชนิดเติมน้ำหรือเติมน้ำแข็ง เพราะว่าจะทำให้ลูกหายใจเอาละอองน้ำเข้าไปด้วย ส่งผลให้ปอดบวมหรือปอดชื้นได้
ห้องแอร์ที่มีเด็กทารกหรือเด็กเล็กนอนควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องความสะอาด ต้องหมั่นปัดกวาดเช็ดถูก และที่สำคัญควรให้ช่างแอร์มาล้างแอร์ด้วยนะคะจะช่วยประหยัดไฟและปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย
แล้วการนอนในอุณหภูมิหรือนอนแบบไหนจะเหมาะสมสำหรับทารก มาหาคำตอบได้จากข้างล้างนี้ค่ะ
นอนแอร์ นอนพัดลม
ลูกน้อยในวัยทารกนอนแอร์หรือนอนพัดลม แบบไหนถึงจะดี นอนแอร์ นอนพัดลม ถ้าในห้องหนาวเกินไปทารกก็ป่วย ถ้าในห้องร้อนเกินไปก็นอนไม่ได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการนอน แบบไหนหลับสบาย ไม่ป่วยไข้
อุณหภูมิห้องที่เหมาะสมกับการนอนของทารกควรเป็นอย่างไร?
คุณพ่อ คุณแม่ที่เลี้ยงลูกน้อยวัยทารกแล้วจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำเนื่องจากบริเวณที่อยู่อาศัยมีสิ่งแวดล้อมอันไม่สามารถที่จะเปิดหน้าต่างได้บ่อย ๆ เช่น
- อยู่ริมถนน
- อยู่ใกล้โรงงานบริเวณที่มีฝุ่นเยอะ
- หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศร้อนมาก ๆ
พ่อแม่อาจมีความกังวลว่า ควรจะตั้งอุณหภูมิห้องจากเครื่องปรับอากาศไว้ที่เท่าไรจึงจะเหมาะสมกับการนอนของทารกอย่างปลอดภัย เรามาดูข้อมูลและคำแนะนำกันดีกว่านะคะ
อุณหภูมิห้องที่เหมาะสมกับทารกคือประมาณเท่าใด?
จากข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่า หากทารกอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) แต่ก็ไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าอุณหภูมิห้องเท่าใดที่เหมาะสมต่อการนอนของทารก
วิธีสังเกตลูกนอนหลับสบาย
หลักการที่ถูกต้องคือ ควรให้ทารกอยู่ในอุณหภูมิห้องที่อากาศกำลังสบาย ไม่ร้อนจนเกินไป อันจะทำให้นอนหลับไม่สนิทและเกิดผดร้อนได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรหนาวจนเกินไปเพราะอาจทำให้ทารกไม่สบายได้ง่าย ซึ่งอุณหภูมิที่พอเหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทยแบบสบาย ๆ ไม่หนาวและไม่ร้อนจนเกินไปคือประมาณ 25 องศาเซลเซียส ดังที่มีคำแนะนำให้ปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ระดับนี้ ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่กังวลว่าลูกจะหนาวจนเกินไป อาจตั้งไว้ที่อุณหภูมิ 26-27 องศาเซลเซียสก็ได้ค่ะ
วิธีสังเกตทารกนอนสบาย
ทราบได้อย่างไรว่า ทารกอยู่ในที่อุณหภูมิเหมาะสมแล้ว?
- วิธีสังเกตอุณหภูมิที่เหมาะสมอย่างง่ายที่สุดก็คือ ผู้ใหญ่ เช่น คุณพ่อคุณแม่ก็รู้สึกว่าไม่ได้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ซึ่งทารกก็อาจรู้สึกเช่นเดียวกัน
- หากไม่แน่ใจว่าทารกตัวร้อนหรือเย็นเกินไปหรือไม่ ก็สามารถใช้ปรอทวัดไข้มาวัดอุณหภูมิของทารกได้
- หรืออาจใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือสัมผัสบริเวณท้องและหลังของทารกว่าร้อนหรือเย็นเกินไปหรือไม่ มีเหงื่อออกเยอะมากกว่าปกติหรือเปล่า หากพบว่าทารกตัวอุ่นดีก็ไม่ต้องกังวลค่ะ
สามารถอ่านเพิ่มเติมต่อได้เลยที่นี่ คลิก
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.healthandtrend.com
https://www.facebook.com/SuthiRa
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เตือนภัย เปิดแอร์นอนในรถอันตราย อาจตายปริศนาไม่รู้ตัว!
วิธีรับมือผิวภูมิแพ้ในเด็กช่วงหน้าร้อน
ร้อนขนาดนี้ทำยังไงดี? วิธีคลายร้อนของคนท้อง คนท้องกับหน้าร้อน
ลูกเหงื่อออกตอนนอน สัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ต้องระวัง
นอนแอร์ นอนพัดลม ทารกนอนห้องแอร์ หรือเปิดพัดลมนอน นอนแบบไหนหลับสบาย ไม่ป่วยไข้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!