ลูกตัวเตี้ย ปัญหาที่พ่อแม่กังวล ตัวเตี้ย คุณพ่อคุณแม่หลายคน มักจะมีความกังวลเรื่องความสูงของลูก ไม่อยากให้ ลูกตัวเตี้ย พอเห็นลูกยืนเทียบกับเด็กคนอื่นก็สงสัย ว่าทำไมตัวเตี้ยกว่าเพื่อน จนเครียดเพราะกลัวว่าลูกจะโตไม่ทันเพื่อน ในขณะที่บางคนก็อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ ถ้าพ่อแม่ตัวเตี้ย แล้วลูกจะเตี้ยไปด้วยไหม แล้วจะมีวิธีใดที่จะช่วยเพิ่มความสูงของลูกได้บ้าง ไปหาคำตอบพร้อมกัน
ทำไมลูกตัวเตี้ย
1. พันธุกรรม ตัวเตี้ย
สาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เด็กตัวเตี้ย นั่นก็คือเตี้ยตามพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพันธุกรรมจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดส่วนสูงของลูก แต่ถ้าลูกได้รับการกระตุ้นอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้สูงได้เช่นกัน
2. มีภาวะหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ
ภาวะการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์, ขาดฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโต (Growth Hormone), หรือมีฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป ก็สามารถส่งผลต่อความสูงของเด็กได้
3. มีภาวะเป็นสาวก่อนวัย
ภาวะเป็นสาวก่อนวัย หมายถึง การที่เด็กผู้หญิงมีพัฒนาการทางเพศก่อนวัยอันควร คือ มีพัฒนาการของเต้านมก่อนอายุ 8 ขวบ หรือมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 9 ขวบ เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองที่เข้าไปกระตุ้นรังไข่ จนทำให้มีการผลิตฮอร์โมนเพศเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ความสูงของเด็กจะค่อย ๆ ช้าลงและหยุดสูงใน 2-3 ปีได้
4. การเลี้ยงดู
การเลี้ยงดู ก็มีผลต่อความสูงของเด็กเช่นกัน ได้แก่เรื่องอาหารการกิน ซึ่งก็รวมถึงเรื่องอาหารที่คุณแม่กินในระหว่างตั้งครรภ์ และอาหารที่ลูกกินหลังคลอดออกมาแล้วด้วย และการออกกำลังกาย เพราะหากเด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยกระตุ้นให้กระดูกมีการเติบโตได้ดี และมีการหลั่งฮอร์โมนช่วยเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น
5. ความเครียด
ความเครียดของเด็กจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งในครอบครัว และในโรงเรียน โดยเฉพาะการเรียนในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ผลสำเร็จ และมีการแข่งขันสูง ส่งผลให้เด็กเครียดมากขึ้น ซึ่งความเครียดนั้น สามารถส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่ผิดปกติได้
6. ความเจ็บป่วยอื่น ๆ ตัวเตี้ย
เด็กบางคนที่ไม่สบายบ่อย หรือมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคปอด ก็อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้เช่นกัน
เตี้ยแค่ไหนถึงเรียกผิดปกติ
พญ.ดบัสวินี สุขโขใจวรัตถ์กุล กุมารแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพญาบาลพญาไท ศรีราชา ได้ให้คำแนะนำผ่านทางเวปไซต์ของโรงพญาบาล phyathai-sriracha.com เอาไว้ดังนี้
“การประเมินส่วนสูงของเด็กตามพันธุกรรมว่า “ควรจะสูงได้เท่าไร” คำนวณได้คร่าวๆ จากความสูงของพ่อและแม่ โดยคิดดังนี้”
เด็กผู้หญิง = (ความสูงของพ่อ +ความสูงของแม่ – 13) หาร 2 โดยความสูงที่ควรจะเป็นมีค่า บวกหรือลบ 8 ซม.
เด็กผู้ชาย = (ความสูงของพ่อ +ความสูงของแม่ + 13) หาร 2 โดยความสูงที่ควรจะเป็นมีค่า บวกหรือลบ 10 ซม.
กลัวลูกเตี้ย ทำอย่างไรดี
โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีแรก ดังนั้น การดูแลปัจจัยพื้นฐานของเด็กในช่วงวัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการกินอาหาร การออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะเด็กที่ตัวเตี้ยจากพันธุกรรม กล่าวคือ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะไม่สูง แต่ถ้าลูกได้รับการกระตุ้นอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้สูงได้เช่นกัน
วิธีป้องกันและแก้ไข ได้แก่
- ให้ลูกกินอาหารให้ครบ 5 ดื่มนม งดดื่มน้ำอัดลม
- ส่งเสริมให้ลูกได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตการเจริญเติบโตของลูก ถ้าเตี้ยกว่าเกณฑ์ หรือโตเร็วกว่าปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ที่มา healthychildren.org, phyathai-sriracha.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
8 สัญญาณเตือน ลูกพัฒนาการช้า ที่พ่อแม่สังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด
16 วิธีพัฒนา EF ช่วยให้ลูกเก่ง ฉลาด เสริมสร้างทักษะการคิด
10 ข้อคิดสอนลูกยุคใหม่ ทำอย่างไรให้เก่งกว่าพ่อแม่อย่างเรา
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!