พ่อแม่รู้ไหมว่าลูกน้อยมีการเจริญเติบโตอย่างไร เมื่อพวกเขาลืมตาดูโลกได้ไม่นาน มาดูกันดีกว่าว่า พัฒนาการทารก 3 เดือน มีทักษะไหนที่ลูกน้อยควรได้รับการพัฒนาในช่วง 3 เดือนแรกบ้าง และคุณที่เป็นคนดูแลเด็ก ๆ นั้นควรทำอย่างไรให้ลูกน้อยของคุณเติบโตสมวัย มาติดตามกันได้ในบทความนี้ค่ะ
พัฒนาการทารก 3 เดือน มีอะไรบ้าง?
เมื่อลูกน้อยของคุณเริ่มลืมตาดูโลกได้ไม่นาน พวกเขาจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย จนคุณเองก็อาจคาดไม่ถึง มาดูกันดีกว่าค่ะว่าในช่วง 3 เดือนหลังจากที่พวกเขาได้ออกมาใช้ชีวิตน้องท้องของคุณแม่นั้นพวกเขามีพัฒนาการด้านใดบ้าง
พัฒนาการทารก 3 เดือน หนูน้อยวัยนี้ คอและช่วงท้องจะเริ่มมีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้นขาทั้งสองข้างก็เริ่มยืดมากขึ้น เริ่มที่จะแตะขาได้แรงๆ แล้วนะแม่ ส่วนมือน้อยๆ จะสามารถที่จะหยิบจับของเล่นมาสำรวจใกล้ๆ ได้ แต่อย่าเผลอนะ เพราะน้องจะเริ่มหยิบเข้าปากแล้ว ช่วงนี้พ่อแม่ก็ควรระวังสิ่งของใกล้ลูกให้มากๆนะคะ เพราะเดี๋ยวลูกจะคว้าเอาเข้าปากแล้วติดคอได้ นอกจากนี้ลูกน้อยยังจะชอบสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เขาสนใจมากขึ้น เพื่อสำรวจดูว่าสิ่งที่สัมผัสมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ทำให้ลูกน้อยหยุดมองสิ่งที่ตัวเองสัมผัสอยู่นาน และยังชอบยิ้มหรือหันไปหาเสียงเพลงที่ชื่นชอบ แถมยังชอบจ้องตากับพ่อแม่มากขึ้นด้วย คุณอาจสังเกตว่าลูกของคุณเริ่มจะตัวสูงขึ้นและผอมบางลง นั่นไม่ใช่ว่าลูกได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะเป็นช่วงที่กระดูกและกล้ามเนื้อของลูกกำลังเติบโตและแขนขาของลูกตอนนี้คลายออกได้มากขึ้น
-
พัฒนาการทางด้านความรู้ความเข้าใจ
- ความเป็นเหตุเป็นผลของเด็กอายุ 3 เดือน
หากคุณได้ห้อยโมบายแขวนไว้เหนือศีรษะของลูกน้อย ลูกจะจ้องมองสิ่งนั้นและจะเริ่มทำความเข้าใจ รวมถึงหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น มันอยู่ได้ยังไง ถ้าหมุนหรือเคลื่อนที่ด้วย เด็กจะโฟกัสกับสิ่งนั้นและจะเคลื่อนไหวตามทางสายตา หรือมือน้อยๆ ทั้งสองข้าง
-
- เผยรอยยิ้มน่ารัก เด็ก3เดือน
ลูกน้อยจะเริ่มยิ้มให้กับคนอื่นนอกจากพ่อกับแม่ และเริ่มที่จะไว้ใจคนอื่นเพิ่มขึ้น หากพ่อแม่พาไปเจอเพื่อนๆ เด็กน้อยไว้เดียวกัน พวกเขาก็จะแสดงความเป็นมิตรกับเด็กคนอื่นด้วยเช่นกันค่ะ
เมื่ออายุครบ 3 เดือน ลูกน้อยจะพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสารด้วย โดยที่เขาจะทำการเชื่อมต่อกันระหว่างสีหน้า ท่าทาง แววตาของคุณกับน้ำเสียงที่เปร่งออกมา
-
พัฒนาการทางด้านการสื่อสาร
ก่อนหน้านี้เด็กๆ มักจะร้องไห้เป็นการสื่อสาร แต่หลังจากนี้หนูน้อยจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้อื่นๆ ออกมา เช่น โอ, โอ้ว, อ้า หากพ่อแม่เห็นว่าลูกน้อยเริ่มมีการสื่อสารแบบนี้เมื่อไหร่ ให้พยายามพูดคุยกับลูกได้ทันทีเลยนะคะ
กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการของทารก 3 เดือน มีอะไรบ้าง?
1. อ่านนิทานแสนสนุก
- ทักษะที่ลูกควรทำได้ : การมอง ภาษา การพูด
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ : หนังสือภาพสีสันสดใส
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย : ลูกน้อยของคุณอาจยังไม่เข้าใจคำพูดที่คุณพูด และยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่การอ่านออกเสียงดังๆ ให้ลูกน้อยฟัง ไม่ว่าเขาจะอายุน้อยแค่ไหน จะช่วยให้เขาคุ้นเคยกับเสียง คำ ภาษาที่แตกต่าง และยังช่วยให้เขารู้จักคุณค่าและความสนุกจากหนังสืออีกด้วย
2. คว้าจับ ขยับมือ
- ทักษะที่ลูกควรทำได้ : การเคลื่อนไหว การประสานสัมพันธ์มือและตา
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ : ของเล่นที่เป็นห่วง ของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียง สีสันสดใสที่เหมาะกับวัย
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย : ในช่วงนี้ลูกน้อยคอแข็งขึ้น และสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวศีรษะได้ดีขึ้น ต้องการการช่วยประคองน้อยลง เขาจะสนุกกับการเอื้อมคว้า และจับของเล่น และสิ่งต่างๆ เพื่อเรียนรู้โลกรอบตัวเขา จากนั้นให้พ่อแม่ลองยื่นของเล่นสีสดใส ที่เป็นห่วง หรือที่เขย่าได้ให้ลูกเอื้อมคว้า และดูเวลาที่เขายืดแขนเพื่อคว้าจับ
3. พลังแห่งดอกไม้
- ทักษะที่ลูกควรทำได้ : การดมกลิ่น
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ : ดอกไม้ เครื่องเทศ คุกกี้ หรือสิ่งอื่นๆ ที่มีกลิ่นหอม
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย : ลูกน้อยวัย 3 เดือน จะพยายามใช้ประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่น เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างคนที่เขารู้จัก และคนแปลกหน้า จากนั้นให้ลองนำของที่มีกลิ่นหลายๆ แบบมาให้ลูกลองดม เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นคุกกี้ แล้วดูว่ากลิ่นแบบไหนที่ลูกชอบ
4. ลองสัมผัสดูซิจ๊ะ
- ทักษะที่ลูกควรทำได้ : การสัมผัส การเคลื่อนไหว
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ : ผ้ากำมะหยี่นุ่ม ผ้าฝ้ายขนปุย หนังผิวเรียบ ผิวสัมผัสขรุขระ
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย : คุณจะเห็นว่าลูกสนุกกับการสำรวจทุกอย่างรอบตัวโดยการสัมผัสและรู้สึกด้วยมือ และนิ้ว พ่อแม่ควรใช้สิ่งรอบตัวมาเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นให้ลูกรู้จักแบ่งประเภทผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน เช่น ผ้ากำมะหยี่นุ่ม ผ้าฝ้ายขนปุย หนังผิวเรียบ ผิวสัมผัสขรุขระ และอื่น ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีการเล่นให้เป็นประโยชน์ การเล่นเพิ่มพัฒนาการ ทักษะของเด็ก เล่นอย่างไรให้ดี?
อาการแบบไหนที่บอกว่าลูกมีพัฒนาการถดถอย
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงดัง เช่น เสียงปิดประตู เสียงสัญญาณกันขโมย
- ไม่สนใจมองมือตัวเอง
- ไม่ยิ้มตอบเมื่อได้ยินเสียงของแม่
- ไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนที่
- ไม่คว้าจับ และถือวัตถุ
- ไม่ยิ้มให้คนอื่น
- ไม่สามารถควบคุมศีรษะได้
- ไม่เอื้อมมือเพื่อคว้าของเล่น หรือสิ่งต่างๆ รอบตัว
- ไม่พูดอ้อแอ้ หรือไม่พูดภาษาทารก ไม่เลียนแบบเสียงที่คุณทำ
- ไม่เอาของเข้าปาก
- กรอกตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้างไปในทิศทางต่างๆ ได้อย่างลำบาก
- ไม่สบตา
- ไม่สนใจใบหน้าใหม่ๆ หรือ ดูเหมือนกลัวใบหน้าใหม่และสิ่งรอบตัวอย่างมาก
หากคุณพบว่าทารกวัย 3 เดือนมีอาการแบบนี้ หลังจากที่กระตุ้นลูกแล้วก็ไม่ดีขึ้น อย่าลืมพาลูกน้อยไปพบคุณหมอนะคะ
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯ จะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ทารกหลับยาก เป็นเรื่องปกติความที่คุณคิด วิจัยเผยว่าคือเรื่องธรรมชาติ
ทารกท้องร้อง เกิดจากอะไร? เป็นสัญญาณแจ้งเตือนของลูกใช่หรือไม่?
โครงการเงินอุดหนุนทารกแรกเกิด คืออะไร? ทำอย่างไรถึงได้สิทธิ อัปเดต 2566
ที่มา: sg.theasianparent
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!