ลูกไม่พอกิน น้ำนมน้อย จะทำยังไงดี คำเหล่านี้มักกลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้คุณแม่หลายคนกังวล ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เมื่อใดที่พบปัญหาที่น้ำนมไม่เพียงพอ หรือลูกไม่ยอมดูดนมแม่ ในทางเป็นจริงแล้วควรปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับคำแนะนำและวิธีแก้อย่างถูกต้อง แต่ในบางกรณีก็อาจจะสามารถแก้ได้ด้วยตัวคุณแม่เอง ด้วยการใช้วิธีอื่น ๆ กระตุ้นน้ำนมแม่ควบคู่กันไป เช่น เปลี่ยนวิธีการป้อนนม ปรับเปลี่ยนยาที่รับประทาน และดูแลสุขภาพของคุณแม่ให้แข็งแรง จะช่วยให้คุณแม่หมดกังวลกับปัญหาน้ำนมน้อย และช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตตามวัยได้อย่างสมบูรณ์
วิธีสังเกตอาการ น้ำนมน้อย
เพราะการให้ลูกดื่มน้ำนมแม่จะทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ซึ่งปัญหาน้ำนมน้อยอาจทำให้คุณแม่มือใหม่เป็นกังวล แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหานี้พบได้น้อยมาก เพราะร่างกายของผู้หญิงสามารถผลิตน้ำนมออกมาได้มากกว่าปริมาณที่ทารกต้องการ แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลให้คุณแม่หลายคนมีน้ำนมน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก
วันนี้ theAsianparent จะพาคุณแม่ที่ประสบปัญหาน้ำนมน้อย มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และมีวิธีสังเกตได้อย่างไรบ้าง
คุณแม่ให้นมอาจกังวลว่าตนเองมีน้ำนมน้อย และทำให้ลูกได้ดื่มนมไม่เพียงพอ อาจจะต้องเริ่มจากวิธีง่าย ๆ เช่น การสังเกตได้จากอาการผิดปกติของลูกน้อยดังต่อไปนี้
- ความถี่และปริมาณอุจจาระของลูกน้อยกว่าปกติ โดยควรถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน ปัสสาวะอย่างน้อย 6 ครั้งต่อวัน และอุจจาระควรเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเทาช่วงแรกเกิดเป็นสีเหลือง ลักษณะนิ่มภายใน 4–7 วัน
- น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ โดยปกติแล้วน้ำหนักของทารกอาจเล็กน้อยหลังคลอด หากน้ำหนักลดลงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์และไม่เพิ่มเป็นปกติใน 2 สัปดาห์ แสดงว่าลูกอาจได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
- มีอาการขาดน้ำ เช่น ไม่ปัสสาวะติดต่อกันหลายชั่วโมง ร้องไห้แล้วไม่มีน้ำตา กระหม่อมบุ๋มอ่อนเพลีย หรือง่วงนอนผิดปกติ
- ลักษณะการดูดนมของลูก เช่น ไม่ยอมดูดนม ไม่ได้ยินเสียง หรือไม่เห็นลักษณะการกลืนนม คายเต้านมออกเอง หรือหลับไปทั้งที่ยังไม่คายเต้านม
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีกระตุ้นน้ำนม ให้มีน้ำนมเยอะ ๆ สำหรับแม่มือใหม่กลัวน้ำนมน้อย ลูกไม่พอกิน
อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่านมแม่ไม่พอต่อความต้องการของลูก ซึ่งความจริงแล้วความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะที่บ่งบอกว่าคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย
- การที่ลูกร้องไห้งอแง ตื่นง่าย หรือให้อุ้มบ่อย นั้นเป็นอาการปกติของทารก
- ลูกใช้เวลาดูดนมน้อยหรือสั้นเกินไป อาจเป็นเพราะทารกมีนิสัยดูดนมเร็ว
- ลูกต้องการดูดนมมากกว่าปกติ หรือไม่ง่วงหลังดูดนม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเปลี่ยนไปเมื่อลูกโตขึ้น
- เต้านมคุณแม่มีขนาดเล็ก หรือนิ่มกว่าปกติ และไม่มีน้ำนมไหลออกจากเต้า ซึ่งเป็นลักษณะทางสรีระ และไม่ใช่ปัจจัยที่บ่งบอก
- ปั๊มนมด้วยตัวเองแล้วได้ปริมาณน้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากทารกมักดูดนมได้มากกว่าปริมาณที่ปั๊ม
สาเหตุที่ทำให้ น้ำนมน้อย ลูกไม่พอกิน
1. ยาคุมกำเนิด
คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกอยู่ควรรับประทาน ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณที่น้อยที่สุดหรือถ้าไม่มีเลยก็จะยิ่งดี เพราะฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้การสร้างน้ำนมน้อยลง ในปัจจุบันมียาเม็ดคุมกำเนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนที่ชื่อว่า โปรเจสเตอโรน เท่านั้นวางจำหน่ายให้คุณแม่ที่ให้นมลูกเลือกใช้ได้ แต่ทางที่ดี ก่อนที่จะซื้อยาคุมกำเนิดมากิน ให้ปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนจะดีที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอื่นที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างเช่น ห่วงคุมกำเนิด หรือถุงยางอนามัย ให้เลือกใช้โดยที่ไม่มีผลต่อการให้นมลูก
2. ใช้ขวดนมบ่อยขึ้น
การที่คุณแม่ใช้ขวดนมบ่อยขึ้น แม้กระทั่งตอนที่มีน้ำนมมากอยู่ ก็อาจทำให้ทารกงับหัวนมตอนที่กินนมแม่ได้ไม่สนิทดี ถึงแม้ว่าคุณแม่จะให้กินนมจากขวดที่ใส่นมแม่เพียงอย่างเดียวก็ตาม แต่หากลูกดูดเต้า และคาดหวังว่าน้ำนมจะไหลเร็ว แต่หากน้ำนมไหลช้าลง ทารกก็จะผละจากอกแม่ ทำให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง และปริมาณน้ำนมก็จะลดลงไปด้วย
3. ทำงานมากเกินไป
คุณแม่ที่ทำงานมากเกินไป จนไม่มีเวลาพักผ่อน ก็จะส่งผลต่อการผลิตน้ำนมได้ ดังนั้น คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาคนมาช่วยทำงานบ้าน หรือหาเวลางีบหลับบ้างในตอนกลางวัน
4. ยาบางชนิด
ยาบางชนิดที่คุณแม่ทานอาจทำให้น้ำนมลดลงได้ เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด (เช่น เบ็นดรีล) ยาลดน้ำมูกบางชนิด (เช่น ซูดาเฟ็ด) ดังนั้น คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนซื้อยามาทานทุกครั้ง
5. ให้ลูกกินนมแค่ข้างเดียว
การที่คุณแม่ให้ทารกกินนมแค่ข้างเดียวในการกินนมแต่ละครั้ง เพราะอยากให้ทารกได้รับนมส่วนหลัง หรือ hindmilk ซึ่งมีไขมันสูง แต่อย่าลืมว่า ถ้าทารกดูดนมไม่ถูกวิธี เขาก็จะกินนมได้น้อย หรือไม่กินนมเลย และถ้าเขากินนมได้น้อย หรือไม่กินนมเลย ลูกก็จะไม่มีทางได้นมส่วนหลังเช่นกัน ดังนั้น คุณแม่ควรให้ทารกกินนมให้หมดข้างหนึ่งก่อน และถ้าเขายังต้องการกินต่อก็ควรให้เขากินอีกข้างหนึ่งต่ออีกข้าง
6. เจ็บป่วย
การเจ็บป่วยที่เกิดกับคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะไม่ทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง แต่ก็มีบางครั้ง ที่การป่วยอาจทำให้น้ำนมลดลงได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคที่มีอาการไข้ร่วมด้วย รวมทั้งโรคติดเชื้อที่หัวนม
7. คุณแม่กำลังตั้งครรภ์
การที่น้ำนมลดลง นั่นก็อาจมีสาเหตุมาจากการที่คุณแม่มีเจ้าตัวเล็กอีกคนอยู่ในท้องได้เช่นกัน
8. ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
บางครั้ง ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรืออาการช็อก ก็มีส่วนทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้เช่นกัน
การที่น้ำนมแม่ลดลงนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นรวมกัน สิ่งสำคัญก็คือคุณแม่ต้องพยายามไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน และหากคุณแม่ท่านใดที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีเพิ่มน้ำนม หรืออาหารเพิ่มน้ำนมต่าง ๆ ก็สามารถติดตามอ่านได้จากบนความด้านล่างนี้ได้เลยครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สมุนไพรเพิ่มน้ำนม เห็นผลทันใจ แถมให้ประโยชน์ทั้งแม่และลูก
คัพไหนก็สบาย ด้วย เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ 7 วิธี
ไวท์ดอท เรื่องที่ทำแม่ให้นมต้องนอนร้องไห้ เช็คหัวนมด่วน มีจุดขาวไหม
ที่มา : breastfeedingthai, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!