หลังจาก ที่ลูกคลอดออกมาแล้ว สิ่งที่คุณแม่กังวลต่อมา ก็คงจะเป็นเรื่อง การให้นม เพราะเด็กทารก ต้องได้รับสารอาหาร จากนมแม่ เพราะฉะนั้น เคล็ดลับเรื่อง ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง จัดท่าเตรียมดูดนม ก็เป็นเรื่องที่ theAsianparent เว็บไซต์และคอมมูนิตี้อันดับหนึ่งที่คุณแม่เลือก อยากจะมาให้คำแนะนำกับคุณแม่ ในเรื่องของ ท่าให้นมลูก เรื่องที่แม่ควรรู้ เพราะถ้าหากอุ้มลูกได้ถูกท่าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในท่านั่ง ท่านอน หรือท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน ก็จะช่วยให้คุณแม่มือใหม่ไม่เกร็ง และผ่อนคลายได้มากขึ้น การให้นมก็จะง่ายดาย ไม่เครียด
วิธีอุ้มลูกกินนมแม่ วิธีให้ลูกเข้าเต้า ควรทำอย่างไรบ้าง
- ต้องตะแคงลำตัวและศีรษะของลูกให้หันเข้าหาแม่
- ลำตัวลูกจะต้องแนบชิดกับตัวแม่
- ประคองศีรษะ ไหล่ และสะโพกของลูก ควรอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
- ตัวของทารกจะรู้สึกมั่นคง จากการรองรับด้วยมือแม่ที่ประคองหรือหมอนที่รองช้อนไว้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง จัดท่าเตรียมดูดนม จัดเตรียมอย่างไรให้ถูกต้อง
4 ท่าให้นมลูก ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้
การให้นมลูกในท่านั่งนั่นมีหลายท่า โดยคุณแม่ประคองลูกไว้ในอ้อมแขน นั่งหลังตรงตามสบาย ไม่ต้องเกร็ง แต่ในขณะให้นม ท่าให้นมลูก ไม่ควรโน้มตัวไปข้างหน้าหรือเอนไปข้างหลังมากเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อยหลังได้ ขณะอุ้มลูกคุณแม่สามารถเตรียมหมอนเล็ก ๆ ไว้หลายใบเพื่อรองหลัง รองแขนหรือวางบนตักรองรับตัวลูก ช่วยหนุนลูกให้สูงขึ้นมาถึงบริเวณเต้านม เมื่อหัวตัวลูกเข้าหาแม่ ปากลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่พอดี และท่านิยมสำหรับการเอาลูกเข้าเต้า คือ
1. ท่าให้นมลูก ท่าลูกนอนขวางบนตัก (Cradle hold)
เป็นท่าที่คุณแม่อุ้มลูกวางไว้บนตัก มือและแขนประคองตัวลูกไว้ ท้ายทอยลูกวางอยู่บริเวณแขน โดยศีรษะลูกอยู่สูงกว่าลำตัวแม่เล็กน้อย ให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่
2. ท่าให้นมลูก ท่าลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์ (Cross cradle hold)
ท่านี้คือการประคองลูกโดยใช้มือรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูก และใช้มืออีกข้างประคองเต้านม เมื่อทารกอ้าปากให้เคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมทันที โดยไม่ใช่ให้ตัวแม่เป็นฝ่ายโน้มเต้าเข้าหาลูกนะคะ ท่านี้ช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้ดี เอาลูกเข้าเต้าแล้วให้ลูกได้อมถึงลานนมได้ ไม่ช่วยทำให้แม่เจ็บหัวนม
3. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Football hold)
ทารกจะอยู่ในกึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย โดยอยู่ในอ้อมกอดกระชับกับสีข้างแม่ และขาชี้ไปทางด้านหลัง มือแม่ประคองที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก ทารกจะดูดเต้าแม่ข้างเดียวกับมือที่ประคองลูก ส่วนมืออีกข้างจับประคองเต้านม ท่านี้เหมาะสำหรับ
- แม่ที่เพิ่งผ่าท้องคลอด เพื่อไม่ให้ตัวของลูกไปสัมผัสกับหน้าท้องแม่ที่มีรอยผ่าตัดอยู่
- แม่ที่มีเต้านมใหญ่ หรือทารกที่ตัวเล็ก ท่านี้จะช่วยให้ลูกเข้าเต้าดูดนมได้ดี
- แม่ที่คลอดลูกแฝด สามารถใช้ท่านี้เพื่อให้ลูกแฝดดูดนมจากทั้งสองเต้าพร้อม ๆ กันได้
4 ท่านอน (Side lying position)
ท่านี้เหมาะสำหรับแม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง หรือตอนที่แม่กำลังรู้สึกเพลีย อยากจะพักผ่อน หรือตอนให้นมลูกเวลากลางคืน โดยแม่ลูกนอนตะแคงเข้าหากัน ศีรษะของแม่ยกสูงเล็กน้อย ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ ใช้มือประคองตัวลูกให้ชิดลำตัว หรือใช้หมอนหนุนหลังลูกแทนแขนแม่ เมื่อลูกเข้าเต้าดูดได้ดีอาจจะคลายมือออก ช่วยให้แม่ผ่อนคลายได้ชิล ๆ เมื่อให้นมลูกในท่านี้
ท่าให้นมที่เหมาะสม หลังผ่าตัดคลอดลูก
ท่าให้นมที่เหมาะสมที่สุด หลังผ่าตัดคลอดลูก คือ ท่านอนตะแคง หรือ นอนพิงพนัก โดยใช้หมอนนิ่ม ๆ วางไว้บนท้อง เพื่อป้องกันลูกดิ้นโดนแผล หากวางหมอนไว้ใต้แขน ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกไม่เกร็งแขน และ สบายมากขึ้น
ถ้าคุณเลือกที่จะนอนตะแคงให้นมลูก ควรให้ลูกนอนตะแคงหันหน้าเข้าหาคุณ ให้ระดับปากของลูกอยู่ระดับเดียวกับหัวนม และ ใช้แขนประคองลำตัวลูก หากคุณต้องการให้ลูกดูดนมอีกข้าง ก็เพียงแค่อุ้มลูกไว้บนอก แล้วค่อยพลิกตัวไปอีกด้านหนึ่ง หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันหลังการผ่าตัด คุณถึงจะเปลี่ยนเป็นท่านั่งให้ลูกกินนมได้ แต่ ไม่ต้องฝืนนะคะ ปล่อยให้ค่อยเป็นค่อยไป และ ให้สมาชิกในครอบครัวช่วยวางลูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ หากคุณยังเจ็บแผลอยู่
เทคนิคให้นมลูกอย่างไร ให้สบาย
การให้นมลูกแต่ละครั้ง อาจกินเวลานานถึง 40 นาที ดังนั้นจึงควรเลือกที่นั่งที่สบาย ในแต่ละครั้งที่ให้นมลูก อาจจะหามุมเงียบสงบเพื่อให้นมลูก หากคุณคิดว่าเวลาให้นมลูกค่อนข้างเงียบหรือน่าเบื่อ ก็ลองเปิดทีวีดูรายการโปรดของคุณ ขณะให้นมลูกก็ได้ แต่คุณควรฝึกให้นมลูก จนคล่องก่อน แล้วค่อยทำกิจกรรมอื่นร่วมกับเวลาให้นมลูก แม่บางคนนั่งอ่านหนังสือ หรือหาข้อมูลต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต ขณะให้นมลูก พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง คุณก็จะหาท่าให้นมลูก และมุมโปรดของคุณตลอดจนกิจกรรมที่คุณสามารถทำร่วมกับการให้นมลูกได้เหมาะสมกับตัวคุณเอง
ที่สำคัญคุณแม่ควรอุ้มลูกในท่าที่จะไม่ทำให้คุณปวดหลัง และควรใช้หมอนหนุน เพื่อช่วยพยุงจะได้ไม่ปวดแขน ทั้งคุณและลูกควรอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย ตลอดการให้นมทุกครั้ง ถ้าลูกดูดนมจนคุณเจ็บหัวนมให้ใช้นิ้วก้อยแหย่เข้าไป ระหว่างเหงือกและหัวนมคุณเพื่อให้ลูกคลายปากออกจากการดูดนม แล้วค่อยลองให้ลูกดูดนมอีกครั้ง เมื่อลูกดูดนมได้ถูกต้องแล้ว ลูกจะดูดต่อไปจนอิ่ม
สิ่งที่แม่ได้รับจากการให้นมลูก
- ลูกดูดนมแม่จะเผาผลาญพลังงาน ทำให้น้ำหนักกลับสู่ปกติได้เร็ว การให้นมลูกจะเผาผลาญแคลอรี่ได้ถึง 500 กิโลแคลอรี่/ วัน เปรียบเทียบได้กับการออกกำลังกายว่ายน้ำไปกลับ 30 รอบหรือขี่จักรยาน 1 ชั่วโมง
- ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ ลดอาการวัยทอง ลดการเกิดมะเร็งเต้านม
- ป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทั้งชนิดที่1 และ 2 จะมีระดับน้ำตาลที่ต่ำลด และต้องการอินซูลินลดลง
- ช่วยเลื่อนการมีประจำเดือน ทำให้การตั้งครรภ์ไม่ถี่เกินไป
- ทำให้มดลูกกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น
- ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก
- ไม่มีปัญหาเรื่องคัดเต้านม
- ประหยัดเวลาไม่ต้องเตรียมนม
- ประหยัดค่าใช้จ่าย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เอาลูกเข้าเต้าท่าไหน ไม่เจ็บหัวนม มีน้ำนมมาเยอะ
แชร์ให้พ่อได้อ่าน 10 เรื่องที่คุณพ่อมือใหม่ช่วยได้ในเวลาที่แม่ให้นมลูก
ท่าให้นมลูกแฝด แม่ลูกแฝดจะให้นมลูกพร้อมกันได้ท่าไหน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!