เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจต้องลำบากใจ เมื่อเจอกับปัญหาลูก ‘ติดผ้าเน่า’ หลายคนจึงสงสัยว่า ควรจะทิ้งเลยดีไหม แล้วจะส่งผลกระทบอะไรต่อลูกหรือเปล่า วันนี้ theAsianparent Thailand ได้รวบรวมวิธีการช่วยให้ลูกเลิกติดผ้าเน่า พร้อมขั้นตอนการป้องกันไม่ให้ลูกติดผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่า หรือผ้าห่มเน่าเหมือนเดิมอีกครั้ง พร้อมแล้ว ไปอ่านกันได้เลย
คุณพ่อคุณแม่สามารถทิ้งผ้าเน่าของลูกได้ไหม ?
พญ.ณัฐวรรณ จารุวรพลกุล กุมารแพทย์พัฒนาการ และพฤติกรรมเด็กศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายถึงการติดผ้าเน่า ติดหมอนเน่า ตุ๊กตาเน่า ว่าเป็นพฤติกรรมปกติ ที่พบได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ความเข้าใจภาษาและการพูดยังไม่มาก เช่น ในเด็กทารกไปจนอายุ 1- 3 ปี เนื่องจากเด็ก ๆ วัยนี้ ยังไม่สามารถบอกความต้องการหรือความรู้สึกของตนเองให้กับผู้ใหญ่ รับรู้ได้ดีเท่าที่ควร ทำให้บางครั้งผู้ใหญ่อาจตอบสนองเด็กได้ไม่ตรงตามความต้องการ ส่งผลให้เด็กหงุดหงิด อย่างไรก็ตาม การมีสิ่งของแทนใจ เช่น ผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่า หรือผ้าห่มเน่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กคุ้นเคยตั้งแต่เล็ก อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอบอุ่นใจ และสงบลงได้
ลูกติดผ้าเน่า ดีหรือไม่ ?
จากการวิจัยของสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่า การที่ลูกติดผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่า และหมอนเน่า ยังส่งผลดีให้แก่พวกเขา ซึ่งหากเราปล่อยให้ลูกเล่นอยู่ในห้องที่ไม่คุ้นเคย โดยมีผ้าเน่าด้วย ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย กล้าเล่น กล้าสำรวจสิ่งต่าง ๆ และอดทนไม่ร้องไห้ด้วย เพราะผ้าเน่าทำให้เด็กรู้สึกผูกพัน และคุ้นเคยนั่นเอง
นอกจากนี้ การติดผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่า และผ้าห่มเน่าของเด็ก ยังช่วยให้พวกเขาได้ผ่อนคลายความกระวนกระวาย รวมถึงช่วยลดความเครียดกับตัวลูกด้วย ซึ่งในทางจิตวิทยานั้น ผ้าเน่าถือว่ามีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่ต้องเริ่มนอนคนเดียว สิ่งของเหล่านี้สามารถช่วยให้ลูกนอนหลับได้อย่างสบายใจมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกติดตุ๊กตา ลูกติดหมอนเน่า แม่เอาไปทิ้งเลยได้ไหม แต่กลัวทำร้ายจิตใจลูก
เคล็ดลับช่วยให้ลูกเลิก ติดผ้าเน่า
คุณพ่อคุณแม่มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ลูกเลิกติดผ้าเน่าได้ และหากมีการเตรียมตัวที่ดี การเลิกก็จะราบรื่น และมีความสุขกันทุกฝ่ายได้ค่ะ ซึ่งวิธีการที่จะเลิกผ้าเน่า ควรมีการเตรียมพร้อมมาก่อน ซึ่งสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่หลัง 1 ขวบ เป็นต้นไป โดยเคล็ดลับที่ช่วยให้ลูกเลิกติดผ้าเน่า มีดังนี้
- พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้คาดเดาได้ว่าการที่ลูกเริ่มหงุดหงิดเป็นเพราะหิว ง่วง หรือเพลีย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กหงุดหงิดได้บ่อยอันดับต้น ๆ เลยค่ะ ยิ่งคุณพ่อคุณแม่จัดการได้ทันก่อนที่ลูกหงุดหงิดก็จะช่วยลดการร้องหาผ้าเน่าของเด็กได้
- ทำสิ่งต่างๆ ให้ลูกสามารถคาดเดาได้ เช่น การบอกลูกล่วงหน้า หรือการให้โอกาสลูกได้มีเวลาเตรียมตัวก่อนเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดความเครียดและความกังวลให้กับเด็ก
- ให้เวลากับลูก หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะจะทำให้ลูกซึมซับความรู้สึกดี ๆ ที่มีกับคุณพ่อคุณแม่ ส่งผลให้เด็กไว้ใจ และพยายามสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่แทนที่จะยึดผ้าเน่า อีกทั้งการทำกิจกรรมที่สนุกจะทำให้เด็กเพลินจนคิดถึงผ้าเน่าน้อยลงด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักนิสัยของลูกมากขึ้นทำให้คาดเดาพฤติกรรมได้ง่าย รวมถึงเป็นการส่งเสริมทักษะทางภาษาซึ่งจะช่วยให้เด็กสื่อสารเรื่องอารมณ์กับคุณพ่อคุณแม่ได้ดีทำให้ลดความหงุดหงิดลงไปได้
- ส่งเสริมให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเอง ฝึกระเบียบวินัย ฝึกการคิด แก้ไขปัญหาและทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ตามระดับพัฒนาการ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจตัวลูก
- หมั่นชมลูกเมื่อทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอยากทำสิ่งต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สอน อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง และสามารถให้กำลังใจตัวเองได้ ทำให้การยึดติดผ้าเน่าลดลง
- เลี่ยงการดุ ด่าหรือลงโทษที่รุนแรง เพราะจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้ควรฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเอง ด้วยการสอนด้วยเหตุผล รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างการจัดการอารมณ์ตัวเองให้ลูกได้เห็น และทำตามเพื่อลูกจะได้มีความมั่นคงทางอารมณ์ และจัดการอารมณ์ตัวเองได้อย่างเหมาะสม
วิธีช่วยให้ลูกเลิก ติดผ้าเน่า
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมตัวลูกมาอย่างดีแล้ว ก็สามารถช่วยให้พวกเขาเลิกติดผ้าเน่า ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ค่อย ๆ เอาผ้าเน่าออกห่างจากเด็ก โดยขยับความห่างทีละน้อย ๆ ค่ะ เช่น เริ่มจากเอาผ้าเน่าวางไว้ข้าง ๆ แทนที่จะถือไว้ตลอด ต่อมาก็เอาผ้าเน่าวางไว้ในระยะที่มือเอื้อมไม่ถึง ต่อมาก็ไว้ที่มุมห้อง ไว้ที่ห้องข้าง ๆ ไว้บนรถ ไปจนถึงเอารอไว้ที่บ้านเมื่อพาลูกออกไปข้างนอก เป็นต้น
- ไม่ควรเอาผ้าเน่ามาขู่เด็ก เช่น บอกว่า “ถ้าดื้อแบบนี้ แม่จะเอาผ้าเน่าไปทิ้งนะ” เพราะอาจทำให้เด็กกังวลและยิ่งติดผ้าเน่ามากขึ้น
- ทุกขั้นตอนควรทำด้วยความใจเย็น ไม่เร่งรีบ ถ้าไม่สำเร็จให้ครั้งแรก ๆ ก็หมั่นทำเรื่อยๆ เลี่ยงการบ่น หรือดุ ด่าที่ลูกยังเลิกไม่ได้เพราะจะยิ่งส่งผลให้เลิกยากมากขึ้น
- หมั่นทำความสะอาดผ้าเน่า เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ยึดติดกับกลิ่นเดิม ๆ จะทำให้เลิกได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการรักษาสุขอนามัยที่ดีอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธี ช่วยลูกบอกลาของเน่าแบบไม่เสียน้ำตา
วิธีป้องกันลูก ติดผ้าเน่า
- พ่อแม่ต้องตอบสนองให้ตรงตามความต้องการของลูกตั้งแต่อายุ 4 – 6 เดือนเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงอายุที่ความต้องการเด็กยังมีไม่มาก และเริ่มมีกิจวัตรที่เป็นเวลาได้
- สาเหตุส่วนใหญ่ที่เด็กหงุดหงิดในวัยนี้คือ การง่วง เหนื่อย หิว เพลีย และเบื่อ ถ้าคุณพ่อคุณแม่จัดการได้ถูกต้องและรวดเร็วก็จะลดโอกาสการใช้ผ้าเน่า ทำให้สุดท้ายลูกก็จะลืมการใช้ผ้าเน่าไปได้ก่อนอายุ 1 ปี
- ส่วนข้อดีของการไม่ติดผ้าเน่าหรือการเลิกผ้าเน่าได้เร็วคือเด็กจะได้เรียนรู้การจัดการอารมณ์และมีความมั่นใจในตัวเอง สุดท้ายจะส่งผลให้เด็กปรับตัวได้ง่าย และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ผ้าเน่า สามารถทำให้ลูกป่วยได้ไหม ?
ผ้าเน่าของลูก อาจเป็นที่สะสมของไรฝุ่น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่บ่อย ๆ ว่าลูกกำลังติดของชิ้นไหน หากลูกติดหมอน หรือผ้าห่ม ก็ควรนำมาซักทำความสะอาดบ่อย ๆ ไม่ควรให้ลูกนำผ้าเข้าปาก เพราะซึ่งถ้าผ้าผืนนั้นสกปรกมาก ก็ยิ่งเป็นที่สะสมของแหล่งรวมเชื้อโรค อาจทำให้ลูกเกิดอาการผื่นคันได้ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่จะนำผ้าเน่า ตุ๊กตา หรือหมอนเน่าไปซักนั้น ก็ควรใช้วิธีการพูดให้ลูก ๆ เข้าใจ เช่น ตัวลูกยังต้องอาบน้ำ ตุ๊กตา และผ้าก็ควรจะอาบน้ำเช่นกัน ซึ่งเป็นการช่วยทำความสะอาดสิ่งของที่พวกเขาผูกพัน ไม่ให้เกิดอันตรายจากโรคแพ้ฝุ่น
การติดผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่า หรือของเล่นอื่น ๆ นับเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กในวัย 1-2 ขวบ แต่ถ้าหากลูกเริ่มโตขึ้น และยังไม่เลิกติดผ้าเน่า คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามพูดคุยกับพวกเขา เพื่อให้ลูกเลิกติดของเหล่านั้น เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้หายไปไหน ทั้งยังช่วยให้พวกเขาห่างไกลจากเชื้อโรคที่อยู่ในผ้าเน่า และทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ เมื่อต้องพบกับความผิดหวังได้ ส่งผลให้เด็ก สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แก้ปัญหาลูกติดผ้าห่ม ทำอย่างไรลูกถึงจะเลิกได้ มีเคล็ดลับ
วิธีให้ลูกเลิกดูดขวด วิธีเลิกขวดมื้อดึก ลูกติดขวดนมมาก พ่อแม่ควรทำอย่างไร
5 ผ้าห่มสำหรับเด็ก แบบไหนดีที่สุด? เลือกอย่างไรให้เหมาะสม
ที่มาข้อมูล : amarinbabyandkids, maerakluke
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!