งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกุมารแพทย์ เผยว่า การกินของทารก กับ การนอน ของทารก มีความเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ เท่านั้น โดยทีมวิจัยได้ศึกษารูปแบบการนอนของแม่และทารกอายุ 2-12 สัปดาห์ พบว่า การตื่นขึ้นมาระหว่างคืน คุณภาพการนอน และจำนวนชั่วโมงรวมของการนอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการให้นมแม่หรือให้นมขวดเลย การกินนมขวดปริมาณมากๆ ก่อนนอนไม่ได้ส่งผลให้นอนหลับได้ดีในตอนกลางคืนแต่อย่างใด รายงานจากวารสารกุมารแพทย์ ยังระบุว่าการให้ทารกกินนมขวดปริมาณมากในตอนกลางคืนส่งผลเสีย เช่น จะทำให้แม่มีนมแม่ปริมาณลดลง ในช่วงเย็นทารกอาจจะรู้สึกหงุดหงิดเป็นเรื่องธรรมชาติ หากแต่มีแม่บางคนคิดว่านั่นเป็นเพราะลูกยังกินนมไม่อิ่ม จึงป้อนนมขวดลูกเพิ่มให้อีก (โดยไม่ได้ปั๊มนมแม่ออก) ผลก็คือ ผ่านไปสองสามสัปดาห์ คุณแม่คนนั้นมีปริมาณนมแม่ลดลง
ความเป็นจริงที่คุณแม่ควรทราบเกี่ยวกับการกินและ การนอน ของทารก
การที่เด็กหงุดหงิดร้องโยเยช่วงเย็นและการที่ต้องให้นมแม่บ่อยๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับเด็กทารก เป็นการปรับสมดุลการทำงานของระบบประสาท และกินนมบ่อยครั้งเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สถาบันกุมารแพทยศาสตร์ของสหรัฐอเมริการะบุว่า “การที่ทารกร้องโยเยในตอนกลางคืนหรือต้องการกินนมอย่างสม่ำเสมอในช่วงกลางคืน ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า นมไม่พอและต้องการนมผงเสริม” อย่างไรก็ดี รูปแบบการกินของทารก และ การนอนของทารก จะเปลี่ยนไปตามวัยที่โตขึ้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะกล่อมลูกนอนให้ได้ผลก็คือ การเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูก
ในช่วงเดือนแรกของชีวิต ทารกจะตื่นบ่อยและการตอบสนองลูกด้วยการให้กินนมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทารกวัย 1 เดือนจะมีกระเพาะที่เล็ก และความสามารถในการเก็บพลังงานเพียงเล็กน้อย การให้นมแม่บ่อยครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก และเมื่อร่างกายเจริญเติบโต การตื่นในตอนกลางคืนไม่ได้หมายความว่าหิวเสมอไป ข้อเท็จจริงก็คือ ทารกตื่นเพราะเหตุผลมากมาย เช่น เสียงดัง อุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวเกินไป ความเคยชิน ความต้องการการปลอบประโลม เป็นต้น เด็กทารกมีวงจรการนอนหลับวนซ้ำ ทุกๆ 60 นาที และเป็นไปได้ที่จะตื่นเพราะเสียงดังหากยังหลับไม่สนิท
และหลังจากอายุ 6 เดือน นาฬิกาชีวิตของทารกก็จะบอกเด็กว่า ได้เวลานอนเมื่อถึงเวลากลางคืน และได้เวลาตื่นเมื่อถึงเวลากลางวัน แต่ก่อนหน้านั้นที่ทารกตื่นง่ายก็เพราะการทำงานของระบบประสาทนั่นเอง
และหลังอายุ 1 ปี พฤติกรรมการนอนของทารก และ การกินของทารก เด็กก็จะเหมือนผู้ใหญ่อย่างเราๆ มากขึ้น ถ้าเรากินอาหารมื้อใหญ่ หนักท้องและปริมาณมากก่อนนอนทันที จะทำให้ระบบประสาทของคุณทำงานอย่างหนัก คุณอาจจะนอนหลับอย่างอึดอัดและ ต้องตื่นมาปัสสาวะระหว่างคืน สำหรับเด็กก็เช่นกัน เมื่อโตขึ้นก็จะ มีความสามารถในการนอนหลับได้ยาวขึ้น เมื่อกินอิ่มมากก็จะทำให้เป็นการกระตุ้นร่างกายมากขึ้น และปัสสาวะใส่ผ้าอ้อมมากขึ้นด้วย
การนอนของทารก ช่วงวัย 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือนแรก นอนแค่ไหนดี?
ทารกแรกเกิด เมื่อเกิดมาช่วงแรกๆ จะไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายมาก ส่วนใหญ่จะมีแค่กินกับนอน และเล่นบ้างเล็กน้อย คุณแม่มือใหม่หลายคนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า การนอนของทารก ในช่วงขวบปีแรกนี้ เขาควรนอนมากเท่าไหร่ถึงจะพอดี วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
การนอนของทารกแรกเกิดวัย 6 สัปดาห์
เด็กหลาย ๆ คนมีช่วงการเติบโตเร็ว (growth spurt) ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกตอน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้เด็กตื่นมาหิวนมตอนกลางคืนเอง
- ช่วง 1-2 วันหลังการเติบโตเร็วผ่านไป คุณแม่จะสังเกตได้เองว่าลูกนอนนานเป็นพิเศษ
- การที่ลูกวัย 6 สัปดาห์ตื่นตอนกลางคืน 3-4 ครั้งเป็นเรื่องปกติ
- เด็กวัยนี้บางคนยังไม่พร้อมที่จะนอนตามที่คุณแม่ต้องการได้ อย่าเพิ่งฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลา หรือปล่อยให้ลูกร้องไห้จนหลับ เพราะสิ่งที่เข้ามากวนใจลูกช่วงแรกเกิดถึง 3 เดือนจะทำให้ลูกเครียด และจะยิ่งกลายเป็นเด็กนอนยาก
- คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ประโยชน์จากการอยู่ที่ไหนก็หลับได้ของลูกตอนนี้ เพราะเด็กมักจะชอบนอนในคาร์ซีทหรือรถเข็นได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ร้านอาหาร บ้านเพื่อน หรือห้างสรรพสินค้า แต่ความสามารถนี้จะเริ่มหายไปเมื่อลูกเริ่มอายุ 4 เดือน ซึ่งเขาจะต้องการนอนในที่มืดและเงียบ
การนอนของทารกวัย 2 เดือน
คุณจะเริ่มรู้แล้วว่าลูกชอบหลับเวลาไหน สัก 3-4 ครั้งต่อวัน เราอยากให้คุณปล่อยให้ลูกนอนเวลาตามธรรมชาติของเขา ปล่อยไปซักพัก แล้วเวลาไหนเวลานั้น จะเป็นช่วงเวลาการนอนหลับที่สม่ำเสมอของลูก
- การหลับตอนกลางคืนของทารกวัย 2 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 9 ชั่วโมง (แบบมีตื่นบ้าง) และจะนอนตอนกลางวันรวม ๆ ประมาณ 5 ชั่วโมง
- การรับรู้เรื่องกลางวันกลางคืนยังไม่ค่อยดีนัก เด็กวัยนี้จะนอนกลางวันมากหน่อยและบางคนอาจจะนอนไม่เป็นเวลา ลูกจะเป็นแบบนี้ไปจนอายุประมาณ 4 เดือนและค่อยเริ่มนอนสม่ำเสมอประมาณ 3-4 ครั้งตอนกลางวัน
- เมื่อลูกเริ่มอายุ 2 เดือนปลาย ๆ หรือประมาณ 12 สัปดาห์ การนอนตอนเช้าจะเริ่มเข้าที่ โดยนอนประมาณ 1- 1 ชั่วโมงครึ่ง และจะเป็นเวลาที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ
- ช่วงกลางคืน ลูกอาจจะนอนได้ยาวขึ้นถึง 4 ชั่วโมงหรือมากกว่า เด็กบางคนอาจนอนกลางคืนนานถึง 8 ชั่วโมง (แต่เกิดขึ้นกับน้อยคนนัก) และทารกส่วนมากจะเริ่มลืมตาตื่นมาสำรวจโลกมากขึ้นช่วงกลางวัน
- ทารกช่วงนี้จะตื่นอย่างน้อย 1 ครั้งช่วงกลางคืน
- ตอนกล่อมนอน คุณแม่ควรอุ้ม กอด ให้นม โยกเยก หรือเดิน การทำแบบนี้ไม่ได้ทำให้เด็กติดนิสัยในช่วงนี้
- เด็กบางคนมีเสียงเหมือนนอนกรน ซึ่งอาจเกิดจากน้ำมูกที่อยู่ในลำคอหรือจมูก บางทีการหายใจอาจจะหยุดแป๊บนึง กระบังลมของเด็กจะค่อย ๆ ปรับตัวไปเองอาจจะใช้เวลาถึง 1 ปี เรื่องการหายใจแบบนี้คุณแม่ไม่ต้องห่วง แต่หากคุณเป็นห่วงการหายใจของลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความแน่ใจ
- การฉีดวัคซีนอาจจะทำให้ลูกนอนไม่ค่อยสบายได้นะ ไม่ต้องตกใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21059713
นี่คือเหตุผลที่ว่าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีดีอย่างไร
5 สิ่งที่ห้ามทำเกี่ยวกับการนอนของทารก
ท่านอนที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!