คุณแม่ตั้งครรภ์ ทารกน้อยกำลังจะคลอดหรือเปล่า สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ นมแม่ ที่ต้องมีความพร้อม ยิ่งเป็นคุณแม่ที่มีลูกคนแรก ยิ่งจำเป็นที่จะต้องรู้จัก นมแม่ 3 ระยะ ที่มีความแตกต่างกัน
นมแม่ 3 ระยะ แตกต่างกันอย่างไร
คุณแม่มือใหม่รู้หรือไม่ว่าน้ำนมของคุณแม่ไม่ได้เหมือนกันตลอดนะ นมแม่หลังคลอดจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามจำนวนวันนับตั้งแต่คลอดทารกน้อยออกมา โดยสิ่งที่ทำให้น้ำนมในแต่ละระยะต่างกัน นอกจากสีของน้ำนมแล้ว ยังรวมไปถึงปริมาณ และรูปแบบของสารอาหารบางส่วนด้วย
ระยะที่ 1 น้ำนมเหลือง 1-3 วันหลังคลอด
ในช่วงระยะแรกเกิดนี้เอง ถือเป็นระยะที่มีความสำคัญที่สุดของทารก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยยังมีภูมิคุ้มกันตั้งต้นไม่มาก ได้รับภูมิจากแม่ผ่านทางรกและระหว่างคลอดเท่านั้น และหากผ่าคลอด ก็จะไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากแบคทีเรียดีที่อาศัยอยู่บริเวณช่องคลอดของแม่ ก็ยิ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่างจากเด็กที่ผ่านการคลอดธรรมชาติ
น้ำนมแม่ระยะที่เป็น น้ำนมเหลือง (Colostrum) จัดได้ว่าเป็นนมระยะที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับทารก โดยเฉพาะปริมาณของ แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) ที่พบสูงที่สุดในระยะน้ำนมเหลือง
แลคโตเฟอร์รินเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเล็กน้อย จึงช่วยลดอาการติดเชื้อของทารกวัยแรกเกิด น้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์รินจึงเปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่
นอกจากนี้นมแม่ในระยะ น้ำนมเหลือง ยังมี MFGM ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นจุดแรกของการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หากป้องกันเชื้อได้ โอกาสที่จะเป็นโรคก็ลดลง สารอาหารเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของทารกรอบด้าน โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภูมิคุ้มกันและสมอง
แม้น้ำนมเหลืองจะมีประโยชน์มากต่อทารก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทารกสามารถกินน้ำนมระยะนี้ได้เพียงหลังคลอด 1-3 วันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองคุณแม่จึงควรนำทารกเข้าเต้าให้ไวที่สุด ส่วนในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 นมแม่ก็ยังมีประโยชน์ มีสารอาหารที่จำเป็น และยังคงสำคัญต่อทารกน้อยอยู่ แม้จะไม่เทียบเท่าน้ำนมเหลืองแล้วก็ตาม
ระยะที่ 2 ช่วงน้ำนมใส 4-14 วันหลังคลอด
เป็นช่วงต่อจากน้ำนมเหลือง แทบจะในทันทีหลังหมดระยะ 1-3 วันไปแล้ว โดยสีของน้ำนมแม่ในระยะที่ 2 จะมีความใส่กว่าน้ำนมระยะแรก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “น้ำนมช่วงปรับเปลี่ยน (Transitional milk)” โดยสารอาหารหลักในช่วงนี้จะเป็นวิตามิน, ไขมัน และแล็กโทส ในช่วงนี้จะมีปริมาณพลังงานมากกว่าน้ำนมเหลือง สอดคล้องกับการเติบโตของทารก ที่ขนาดตัวจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นในอนาคต
น้ำนมใสจะอยู่เพียงช่วงประมาณ 4-14 วันหลังคลอดเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะทั่วไปที่คุณแม่จะสามารถให้นมลูกได้ แม้ว่าสารอาหารจะไม่เท่าน้ำนมเหลือง คุณแม่ก็ต้องพยายามเอาลูกเข้าเต้า เพื่อเป็นการกระตุ้นปริมาณน้ำนมของคุณแม่ในระยะต่อไปด้วย
นมแม่ระยะที่ 3 ช่วงน้ำนมแม่ 2 สัปดาห์หลังคลอดเป็นต้นไป
ช่วงนี้น้ำนมจะมีสีขาวชัดเจน เป็นที่มาของชื่อ “น้ำนมแม่ (Mature milk)” ถือเป็นระยะทั่วไป มีความโดดเด่นในเรื่องของปริมาณน้ำนม ที่มีมากกว่าในช่วงระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่แต่ละคน และการกระตุ้นมากน้อยแค่ไหนด้วย น้ำนมแม่จะมีปริมาณไขมันเพิ่มมากขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีโปรตีน มีกรดไขมัน และโพรไบโอติก (Probiotics)
น้ำนมแม่ที่คุ้นเคยนี้จะมีตั้งแต่หมดระยะที่ 2 ช่วง 2 สัปดาห์นับจากหลังคลอด และจะเป็นมื้ออาหารหลักของลูกในระยะยาวอีกด้วย เราแนะนำให้ทำการกระตุ้นนมแม่ด้วยการปั๊มนมเก็บเอาไว้ใช้ในช่วงที่ต้องกลับไปทำงาน และเอาลูกเข้าเต้าให้บ่อยที่สุด เพื่อรักษาปริมาณน้ำนมแม่ให้เพียงพออยู่ตลอดเวลา
สรุปจุดเด่นของนมแม่ทั้ง 3 ระยะ
หลังจากทำความรู้จักนมแม่ครบทุกระยะแล้ว ลองมาเปรียบเทียบข้อมูลว่านมแม่แต่ละระยะมีจุดเด่นที่ต้องรู้ต่างกันอย่างไร ทำไมเราจึงบอกว่านมแม่ระยะที่ 1 ดีที่สุด
- ระยะที่ 1 น้ำนมเหลือง : นมแม่ระยะนี้มีเพียง 1-3 วันเท่านั้น โดดเด่นในเรื่องของสารอาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดย แลคโตเฟอร์ริน ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันกำจัดแบคทีเรีย หากทารกได้รับนมช่วงนี้จะดีมากต่อพัฒนาการโดยรวม แม้ว่าน้ำนมเหลืองให้พลังงานไม่มากเท่ากับระยะอื่น แต่เพียงพอตามขนาดตัวของทารก ที่ไม่ได้ต้องการน้ำนมมากอยู่แล้ว
- ระยะที่ 2 น้ำนมช่วงปรับเปลี่ยน : สารอาหารมีพอสำหรับทารก แต่สารอาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจะลดลงจากระยะแรก ช่วงนี้จะโดดเด่นเรื่องของการให้พลังงานกับทารกมากกว่า เพื่อรองรับการเติบโตของทารกในช่วงนี้
- นมแม่ระยะที่ 3 น้ำนมแม่ : จุดเด่น คือ มีสารอาหารที่ครบถ้วน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก มีปริมาณของไขมัน และโปรตีนที่สูงมาก ให้พลังงานกับลูกได้ดี นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องของปริมาณที่มากกว่า ทำให้ลูกกินได้ยาวนานกระทั่งถึง 2 ขวบ
อยากให้ลูกได้รับสารอาหารเสริมภูมิคุ้มกันในน้ำนมเหลืองไปอีกนาน ๆ ควรทำอย่างไร
หากคุณแม่อ่านมาจนถึงจุดนี้แล้ว เชื่อว่าคุณแม่คงอยากให้ลูกกินนมแม่ในช่วงระยะที่ 1 ที่เป็นน้ำนมเหลืองอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีเพียง 1-3 วันหลังคลอดก็ตาม ในส่วนนี้คุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำนมเหลืองมีประโยชน์มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำนมระยะอื่น ๆ ไม่ดี หากคุณแม่ยังสามารถให้นมทารกได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ก็หายห่วงเรื่องความแข็งแรง และพัฒนาการของลูกได้เลย ลูกจะมีพัฒนาการสมวัยอย่างแน่นอน เว้นแต่ว่าคุณแม่จะประสบปัญหาน้ำนมน้อย ที่ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป
คุณแม่บางคนที่อาจมีปัญหาการให้นม มีปริมาณน้ำนมไม่พอ และปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญแล้ว สามารถใช้นมผงสลับกับนมแม่ได้ แต่ไม่ควรผสมเข้าด้วยกัน ให้ใช้วิธีเอาลูกเข้าเต้าเป็นหลัก เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนม และใช้นมผงเป็นมื้ออาหารเสริม โดยเน้นสูตรที่ปลอดภัย และอาจพิจารณาเลือกสารอาหารเสริมภูมิคุ้มกันที่พบในน้ำนมแม่อย่างแลคโตเฟอร์ริน และสารอาหารในนมแม่อื่นๆ ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมองอย่าง MFGM และ DHA ด้วย
การให้ลูกกินนมแม่ดีที่สุดเสมอ หากคุณแม่มีน้ำนมมากพอ ก็สามารถปั๊มเก็บไว้ได้ และเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกรัก คุณแม่ยังต้องให้ความสำคัญกับทั้งท่าอุ้มลูกตอนเข้าเต้า และการสังเกตด้วยว่าลูกกินนมอิ่มไหม และควรดูแลร่างกายของคุณแม่ให้ดี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้นมลูกในอนาคต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
นมผงแต่ละสูตรต่างกันอย่างไร ก่อนเปลี่ยนนมให้ลูกแม่ต้องรู้อะไรบ้าง
นอกจากนมแม่ ให้ลูกกินอะไรได้อีก สารอาหารอะไรบ้างที่สำคัญกับทารก ?
รู้หรือไม่!! MFGM คือ สารอาหารในนมแม่ ช่วยพัฒนาสมองของลูกรัก ให้พร้อมเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ที่มา : enfababy, multimedia
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!