มวยปล้ำ WWE หรือค่ายอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งบันเทิงยามว่างสำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องการผ่อนคลายไปกับการสนุกของการต่อสู้โดยในบางครั้งด้วยความที่พวกเขาเป็นเด็กอาจส่งผลให้เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้ระหว่างมวยปล้ำที่เน้นความบันเทิงกับมวยปล้ำที่เป็นกีฬาจริง ๆ และการจัดการไม่ให้เด็กทำตามจนเกิดความรุนแรง
มวยปล้ำคืออะไร ?
มวยปล้ำ (Wrestling) เป็นกีฬาศิลปะการป้องกันตัวชนิดหนึ่งที่ถูกบรรจุการแข่งขันระดับสากลอยู่หลายรายการ โดยใช้เทคนิคการล็อกหรือการจับทุ่มเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันความนิยมกีฬาประเภทนี้ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเป็นทางการจาก Olympic หรือ Asian Games แต่เป็นการแข่งขันมวยปล้ำกีฬาลูกครึ่ง Entertainment ที่เราเห็นได้จากทางช่องทีวี ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายค่าย เช่น WWE หรือ AEW เป็นต้น ซึ่งใน 2 ค่ายที่กล่าวมานี้เป็นค่ายที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง
มวยปล้ำเป็นการแสดงหรือไม่
หากจะกล่าวถึงการรับชมหน้าทีวีที่ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเป็นทางการ และเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่เด็ก ๆ มาอย่างยาวนานว่าทั้งหมดนั้นเป็นการแสดงหรือไม่ คำตอบคือ “ใช่” ไม่ว่าจะเป็นจากค่ายไหนก็ถือเป็นการแสดงทั้งหมดทั้งเรื่องราวบาดหมาง การต่อสู้กันของแต่ละคนล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นไปตามเส้นเรื่องที่ถูกวางไว้ล่วงหน้าแล้ว สำหรับในจอทีวีนี้เองถือเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับดูเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคล้ายกับการดูละคร
ทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบดูมวยปล้ำ
จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่ามวยปล้ำมีการเขียนบทบาทให้กับตัวละครต่าง ๆ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงได้ไม่ต่างกับการดูภาพยนตร์ หรือการ์ตูนที่พวกเขาชอบ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ได้แก่
- เอกลักษณ์ของตัวละคร : จากการวางโครงเรื่องไว้ก่อนตัวละครที่เป็นนักกีฬาแน่นอนว่าจะมีบทตัวดี-ตัวร้ายไม่แตกต่างจากหนังฮีโร่ และด้วยตัวละครที่มักจะมีสูตรสำเร็จคือธรรมะชนะอธรรมยิ่งทำให้เด็กสามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
- ความสนุกจากการต่อสู้ : จริงอยู่ที่เป็นการแสดงแต่การต่อสู้ใน มวยปล้ำ มีความแตกต่างจากตัวกีฬาจริง ๆ อยู่พอสมควรนอกจากการล็อกหรือจับทุ่มที่เราเห็นใน Olympic แล้ว สำหรับ WWE หรือ AEW มีทั้งการเตะ, ต่อย, ท่าไม้ตาย ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการต่อสู้
- หาดูจากแหล่งอื่นไม่ได้ : หากจะพูดถึงกีฬาชนิดอื่นที่สามารถนำนักกีฬามาสวมบทบาทแล้วทำการต่อสู้กันจริง ๆ โดยมีคนดูรอบสนามคงไม่มีกีฬาชนิดไหนทำได้นอกเหนือจากมวยปล้ำ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่เห็นกีฬาประเภทอื่นทำเช่นนี้เหมือนกัน นั่นทำให้เด็กติดเอกลักษณ์ตรงจุดนี้มาหลายสมัย
- Event ตลอดปี : หากการแสดงในทุกอาทิตย์ไปเรื่อย ๆ เป็นประจำคงน่าเบื่อแย่ ทางค่ายหลายค่ายจึงมีสิ่งที่เรียกว่า “Main Event” ที่มีความยาวของการต่อสู้เท่ากับการดูหนังเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้โดยรายการดังกล่าวจะมีเดือนละเพียง 1 ครั้งเท่านั้น แล้วแต่ละครั้งจะไม่มีบทพูด แต่จะเป็นการต่อสู้ของแต่ละคู่ตลอดเวลาที่ Event ถูกจัดขึ้น ไม่แปลกที่เด็ก ๆ จะเฝ้ารอเวลานี้จนติดงอมแงม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูก ๆ ติดทีวี แก้ปัญหานี้ยังไงดี มาดูวิธีรับมือก่อนที่จะสายเกินไป
ประเด็นมวยปล้ำที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
ด้วยความที่เข้าถึงง่ายตามช่องทีวีคงไม่แปลกที่ มวยปล้ำ จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กได้ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเด็กในอนาคต และบ่งชี้ว่าสำหรับเด็กที่ชอบกีฬาชนิดนี้พวกเขาคิดอะไรอยู่
- เจ็บจริงไม่ควรลอง : ถึงแม้จะเป็นเพียงการแสดงเน้นบทบาทเพื่อการ Entertainment ก็ตาม แต่ด้วยการต่อสู้ที่อาจพลาดหรือเรียกได้ว่าเจ็บจริงก็เกิดขึ้นตลอดการแสดงนั่นจึงเป็นที่มาว่านักมวยปล้ำจะต้องได้รับการฝึกฝนทางด้านร่างกายให้แข็งแรง เพราะถึงแม้บทบาทของพวกเขาจะถูกกำหนดแล้วว่าแพ้หรือชนะ แต่พวกเขาเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแสดงได้เช่นกัน ดั่งนิยามที่เรามักเห็นบ่อย ๆ เอาไว้เตือนเด็ก ๆ ว่า “Don’t Try This at Home”
- อิทธิพลของนักแสดง : นักมวยปล้ำหลายคนที่เริ่มมาจากกีฬาต่อสู้ชนิดนี้ และเริ่มโด่งดังมากขึ้นจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงชื่อดังแถวหน้าของโลกได้ เช่น Dwayne Johnson หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า “The Rock” จากหนังเรื่อง Jumanji, Rampage หรือจะเป็น Dave Bautista ที่มีผลงานภาพยนตร์ฮีโร่ชื่อดังอย่าง The Guardians of the Galaxy ด้วยช่องทางที่เห็นนักมวยปล้ำผ่านสื่อที่หลากหลายย่อมส่งผลให้เด็กหันมาติดตามมากขึ้น
- ความสะใจ และการเชียร์ : เป็นปกติที่เด็ก ๆ จะมีตัวละครโปรดเป็นของตัวเองและเฝ้ารอชัยชนะของตัวละครนั้น ๆ อยู่อย่างใจจดใจจ่อ จนเมื่อเส้นเรื่องเป็นไปอย่างที่เด็ก ๆ ต้องการพวกเขาก็ต้องดีใจกระโดดโลดเต้นอยู่หน้าทีวี นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด จนหลายครั้งเด็ก ๆ อาจเป็นแฟนตัวยงถึงขนาดอยากซื้อเสื้อมาใส่ หรืออยากไปนั่งเชียร์ที่ขอบสนามจริง ๆ
และด้วยปัจจัยที่เรากล่าวไปทั้งความชอบที่เด็ก ๆ มีต่อ มวยปล้ำ รวมไปถึงอิทธิพลต่าง ๆ ที่มีต่อเด็ก สามารถส่งผลให้เด็ก ๆ เกิดความคิดก้าวผ่านคำเตือน “Don’t Try This at Home” กลายเป็นการ “ลอกเลียนแบบ” ดูสักครั้ง
ทำอย่างไรไม่ให้ลูกเลียนแบบมวยปล้ำ ?
ปกติแล้วมักจะมีคำเตือนจากทั้งนักมวยปล้ำเองที่มักออกมาบอกในระหว่างที่รายการกำลังดำเนินอยู่ หรือแม้แต่นักพากย์เองก็คอยพูดเตือนอยู่หลายครั้ง เนื่องจากพวกเขารู้ดีว่ากลุ่มเป้าหมายของกีฬาประเภทนี้คือเด็ก ๆ ที่อาจขาดการวิเคราะห์ถึงความเป็นจริงจนเกิดอิทธิพลต่อจิตใจความรู้สึกจนกลายมาเป็นการอยากลองอยากทำตามในที่สุด ถึงแม้จะถูกเตือนอยู่แล้วผู้ปกครองก็ไม่ควรไว้วางใจว่าเด็กจะไม่เลียนแบบ ยิ่งถ้าลูกมีพี่น้องหรือมีเพื่อนเล่นเยอะ ๆ ยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือคอยสอดส่องดูแลลูกอยู่เสมอ หรือหาโอกาสพูดคุยกับลูกว่าไม่ควรเลียนแบบ หากเลียนแบบแล้วจะเป็นอย่างไร ส่งผลอย่างไร หรืออาจใช้วิธีที่เด็ดขาดคือการบอกเขาว่าแท้จริงแล้วมันคือการแสดงที่ต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจ
วันนี้ ลูก ออกกำลังกาย มากพอหรือยังนะ? แล้วออกกำลังกายมากแค่ไหนถึงจะดี
ทำความรู้จัก “การ์ดยูกิ” ความคลาสสิคที่ครองใจเด็ก ๆ มาหลายยุคหลายสมัย
30 ชื่อลูกจากนักกีฬาไทย ที่ได้เหรียญโอลิมปิก ชื่อจริงลูก จากนักกีฬาดัง
ที่มาข้อมูล : en.wikipedia.org , en.wikipedia.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!