แน่นอนว่าเมื่อตั้งครรภ์หัวใจของคุณแม่จะเปี่ยมด้วยความสุข ความหวัง และความตื่นเต้น แต่ก็มีคุณแม่บางคนที่อาจต้องเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่คาดคิดอย่างภาวะ “ท้องลม” ซึ่งมักถูกเข้าใจว่าเป็นภาวะ “แท้ง” ทั้งสองภาวะนี้ เหมือนหรือต่างกันยังไง? แล้ว ท้องลมจะหลุดตอนไหน บทความนี้จะไขข้อข้องใจและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเอง เพื่อให้คุณแม่รู้จักและเข้าใจถึงสภาวะนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นค่ะ
“ท้องลม” คืออะไร
“ท้องลม” หรือ “Blighted Ovum” เป็นภาวะที่ไข่ซึ่งได้รับการปฏิสนธิแล้วสามารถฝังตัวในผนังมดลูกได้ตามปกติ แต่ตัวอ่อนกลับไม่เจริญเติบโต เหลือเพียงถุงตั้งครรภ์เปล่าๆ ภายในมดลูก ไม่พบตัวอ่อน ทั้งนี้ การตั้งครรภ์ปกติจะมีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิที่ท่อนำไข่ จากนั้นไข่ที่ผสมแล้วจะเคลื่อนตัวเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูก แล้วมีการแบ่งเซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตัวอ่อนและพัฒนาเป็นทารก แต่เมื่อเกิดความผิดปกติจากสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เซลล์ที่เกิดจากการปฏิสนธิไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ต่อไปได้ หรือทารกเสียชีวิตตอนที่อายุครรภ์ยังน้อย ก็จะเกิดท้องลมขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วท้องลมจะเกิดในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ใหม่ๆ ประมาณ 8-13 สัปดาห์ หรืออาจเกิดก่อนที่จะรู้ตัวว่ามีการตั้งครรภ์
ภาวะท้องลมนี้สามารถเกิดได้กับหญิงที่ตั้งครรภ์ในทุกช่วงอายุ เป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถป้องกันได้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ทางพันธุกรรม ยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสเสี่ยงยิ่งมากตามไปด้วย ดังนั้น หากวางแผนว่าจะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการตั้งครรภ์ เพื่อติดตามสุขภาพครรภ์อย่างเหมาะสม
ทำไม? แม่ตั้งครรภ์จึงเกิดภาวะ “ท้องลม”
สาเหตุของการเกิดท้องลมนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด โดยพบว่าส่วนใหญ่ประมาณ 45-50% เกิดจากตัวอ่อนมีความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้ไม่สามารถเจริญต่อเป็นทารกได้ตามปกติ และสลายตัวไป คงเหลือแต่ถุงการตั้งครรภ์ หรือเกิดจากสาเหตุที่เป็นไปได้อื่นๆ ดังนี้
- เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สืบพันธุ์เพศชายหรือหญิง เช่น ไข่หรืออสุจิมีความผิดปกติทางโครโมโซม
- เซลล์ที่ปฏิสนธิแล้วไปฝังตัวในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือได้รับสารพิษ ทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ ในขณะที่ระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมนต่างๆ ของคุณแม่ยังทำงานตามปกติ จึงแสดงสัญญาณเหมือนคนท้องทั่วไป
- ไข่หรืออสุจิที่มาผสมกันไม่แข็งแรงพอ หรือมีคุณภาพไม่ดีพอ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานหนัก ความเครียด กินอาหารและพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการต่อไปได้
“ท้องลม” VS “แท้ง” เหมือนหรือต่างกันยังไง?
แม้ภาวะท้องลมและการแท้งต่างก็เป็นสถานการณ์ของความสูญเสียลูกน้อยในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองภาวะยังคงมีกระบวนการและสาเหตุที่แตกต่างกันค่ะ
- ภาวะท้องลม เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วสามารถฝังตัวในผนังมดลูกได้ตามปกติ แต่ตัวอ่อนกลับไม่เจริญเติบโต ทำให้เหลือเพียงถุงตั้งครรภ์เปล่าๆ ภายในมดลูก เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ถูกปลูกแต่ไม่สามารถงอกเป็นต้นกล้าได้
- การแท้ง (Miscarriage) หมายถึงการสูญเสียทารกในครรภ์ก่อนสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม การติดเชื้อ หรือปัญหาสุขภาพของมารดา
|
ความแตกต่างระหว่างภาวะท้องลมและการแท้ง
|
ลักษณะ |
ภาวะท้องลม |
การแท้ง |
การเจริญเติบโต
ของตัวอ่อน |
ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโตเลย |
ตัวอ่อนเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่งแล้วจึงหยุดและหลุดออกจากร่างกาย |
อาการ |
อาการคล้ายการตั้งครรภ์ปกติในช่วงแรก เช่น ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน แต่เมื่อตรวจอัลตราซาวด์จะพบเพียงถุงตั้งครรภ์เปล่า ๆ |
อาจมีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อย และมีลิ่มเลือดออกมา |
สาเหตุ |
ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน |
มีหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม การติดเชื้อ ปัญหาสุขภาพของมารดา ภาวะผิดปกติของมดลูก |
รู้ได้ยังไง? ว่าเป็น ท้องลม
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะท้องลมจะยังคงมีอาการต่างๆ ในระยะแรกอาจเหมือนอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ เต้านมคัดตึง จากนั้นอาการเหล่านี้จะหายไป แล้วอาจสังเกตได้ว่าเมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้วท้องก็ไม่โตขึ้น อาจพบว่ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ รวมทั้งอาจมีอาการปวดท้องน้อยก่อนจะมีเลือดออกผิดปกติด้วย
ซึ่งการตรวจหาว่าแม่ท้องเป็นท้องลมหรือไม่นั้น แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อหาฮอร์โมนยืนยันการตั้งครรภ์ร่วมกับตรวจอัลตราซาวนด์ กรณีตั้งครรภ์ปกติ อายุครรภ์ประมาณ 5–6 สัปดาห์ จะต้องเริ่มเห็นถุงการตั้งครรภ์ ต่อมาจะเห็นตัวเด็กและเห็นหัวใจเต้น แต่หากตรวจดูแล้วไม่เห็นหรือเห็นถุงการตั้งครรภ์ว่าง ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นท้องลม
|
การวินิจฉัยว่าเกิด “ท้องลม” ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์
|
- Gestational sac หรือ ถุงการตั้งครรภ์ มีขนาดมากกว่า 18 มิลลิเมตร จากการตรวจทางช่องคลอด หรือมากกว่า 25 มิลลิเมตร จากการตรวจทางหน้าท้อง แต่ยังไม่พบตัวอ่อน (Embryo)
|
- ถุงการตั้งครรภ์ ขนาดมากกว่า 10 มิลลิเมตร จากการตรวจทางช่องคลอด หรือมากกว่า 20 มิลลิเมตร จากการตรวจทางหน้าท้อง แต่ยังไม่พบถุงอาหารของตัวอ่อน (Yolk sac)
|
- ถุงการตั้งครรภ์มีรูปร่างบิดเบี้ยวผิดปกติอย่างชัดเจน (deformed)
|
ทั้งนี้ แพทย์อาจทำการตรวจติดตามอีกครั้ง 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากมีโอกาสเป็นครรภ์ปกติได้ ต่อเมื่อพบลักษณะที่ตรงตามเกณฑ์การวินิจฉัย และไม่พบการเจริญเติบโตของถุงการตั้งครรภ์ ก็จะสามารถสรุปได้ว่าเป็น ท้องลม
ท้องลมจะหลุดตอนไหน
คุณแม่ที่มีภาวะท้องลมอาจสงสัยว่า ท้องลมจะหลุดตอนไหน ซึ่งคำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะแม้ตัวอ่อนจะฝ่อหายไป แต่ถุงการตั้งครรภ์ก็ยังอยู่และไม่ฝ่อ จึงต้องมีการจัดการให้ถุงการตั้งครรภ์หลุดออกมาด้วย บางคนอาจหลุดเร็ว หลุดได้เอง แต่บางคนที่ไม่หลุด แต่โดยทั่วไปแล้ว ท้องลมจะหลุดออกจากร่างกายภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากที่ตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม บางกรณีอาจใช้เวลานานกว่านั้น หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา
|
แนวทางการรักษาท้องลม
|
ปล่อยให้แท้งออกมาเองตามธรรมชาติ |
แม่ท้องบางคนอาจรู้ว่าเป็นท้องลมหลังตัวอ่อนหลุดออกมาแล้ว ประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นการแท้งในระยะแรกของการตั้งครรภ์ จึงไม่เสียเลือดมาก |
ใช้ยาเหน็บช่องคลอด |
เพื่อกระตุ้นให้ตัวอ่อนที่เสียชีวิตแล้วหลุดออกมา ด้วยการใช้ยา Misoprostal ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อให้แท้งโดยสมบูรณ์ |
ขูดมดลูก |
เป็นวิธีที่รวดเร็ว และไม่เหลือเศษรกติดค้างอยู่ภายใน แต่อาจเจ็บสักหน่อย และต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น |
ทั้งนี้ แพทย์อาจขูดเนื้อเยื่อที่ค้างอยู่ในมดลูกออก หรือปล่อยให้ร่างกายขับถุงการตั้งครรภ์ในมดลูกออกมาเองตามธรรมชาติเมื่อฮอร์โมนตั้งครรภ์ลดลง แต่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อระยะเวลาที่ภาวะท้องลมจะหลุดขึ้นอยู่กับ
- ขนาดของถุงตั้งครรภ์ ถุงตั้งครรภ์ที่มีขนาดใหญ่ อาจใช้เวลานานกว่าจะหลุดออกจากร่างกาย
- สุขภาพร่างกายของคุณแม่ หากร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดี ก็อาจช่วยเร่งให้ร่างกายขับถุงตั้งครรภ์ออกไปได้เร็วขึ้น
ท้องลมจะหลุดตอนไหน ? อาการที่บ่งบอกว่าท้องลมกำลังจะหลุด
แม้โดยปกติจะไม่สามารถระบุได้ว่า ท้องลมจะหลุดตอนไหน แต่คุณแม่อาจสามารถสังเหตุจากอาการต่างๆ ที่บ่งบอกได้ว่าท้องลมกำลังจะหลุด ดังนี้
- เลือดออกทางช่องคลอด อาจมีเลือดออกน้อย หรือมากก็ได้ อาจมีลิ่มเลือดปนออกมา
- ปวดท้องน้อย อาจรู้สึกปวดท้องน้อยเป็นบางครั้ง หรือปวดมากจนทนไม่ไหว
- อาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาการที่คล้ายการแพ้ท้องเหล่านี้อาจจะลดลงหรือหายไป
ดูแลตัวเองยังไง หลังเกิดภาวะท้องลม จะมีลูกได้อีกมั้ย
นอกจากคุณแม่จะต้องใช้เวลาในการให้ร่างกายได้ฟื้นตัว โดยหลีกเลี่ยงการยกของหนักเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ต้องดูแล “สภาพจิตใจ” ของตัวเองให้ดี ระลึกไว้เสมอว่าการสูญเสียครรภ์ด้วยภาวะท้องลมไม่ใช่ความผิดของตัวเอง แต่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ รวมถึงต้องให้เวลาตัวเองในการทำใจ พยายามพูดคุยกับคนใกล้ชิด จะช่วยให้คุณแม่สามารถก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
ทั้งนี้ อาการท้องลมจะไม่เป็นอันตราย หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง และคุณแม่หลายคนอาจมีความกังวลว่าจะสามารถมีลูกได้อีกหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะถือว่าคนที่แท้งหรือเกิดท้องลมมาแล้ว 1 ครั้ง มีโอกาสมีลูกได้ปกติโดยไม่ต้องกังวล แต่ก็อาจเกิดท้องลมอีกได้ และหากเกิดท้องลมซ้ำๆ 2–3 ครั้งขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมค่ะ
ที่มา : www.praram9.com , www.pobpad.com , hd.co.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องเหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน หายใจไม่สะดวก อันตรายไหม รับมือยังไง
ทายเพศลูกตามความเชื่อ จริงไหม ท้องแหลมได้ลูกชาย ท้องกลมได้ลูกสาว
Do & Don’t คนท้องอ่อน ไม่ควรทำอะไร และเรื่องไหนแม่ท้องต้องใส่ใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!