วางแผนมาตั้งนาน ตั้งใจว่าหมดโควิดแล้วจะได้ไปท่องเที่ยวกันให้สบายใจสบายตัว แต่โควิดเจ้ากรรมกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง ให้ได้กักตัวอยู่กับบ้านกันตาม ๆ กัน ดีไม่ดี กระเป๋าที่แพ็คเก็บเอาไว้ตั้งใจ เรามาเตรียม 16 ไอเท็ม เตรียมของเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม แทนซะงั้น เรามาเช็คลิสกันดีกว่าว่า หากเราจะต้องเตรียมของเพื่อกักไปตัวนั้น จะต้องมีอะไรกันบ้าง
16 ไอเท็ม เตรียมของเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่ก็ไม่อยากให้วิตกกังวลมากจนเกินไป การเตรียมตัว และการไม่ประมาทเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ เพราะเนื่องจากโควิดรอบที่ 3 นี้ แพร่ระบาดไวเหลือเกิน จนเราเองก็เริ่มวิตกกังวลว่า เราจะมีภาวะเสี่ยงเมื่อไหร่
โรงพยาบาลสนามคืออะไร?
ณ ปัจจุบัน โรงพยาบาลหลายแห่ง ต่างเนืองแน่นไปด้วยผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะวิกฤติ อีกทั้งผู้ป่วยที่ติดโควิดนั้น จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษา และดูอาการในห้องเฉพาะ ส่วนคนไหนที่ติดโควิดแล้ว แต่ยังไม่มีอาการรุนแรง โดยมากก็จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับทางโรงพยาบาลอีกทางหนึ่งนั่นเองค่ะ
หลักสำคัญของโรงพยาบาลสนามนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวถึงปัจจัยหลักของโรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นนั้น จำเป็นจะต้องมีระบบตัวอาคารที่พร้อม มีระบบการจัดการน้ำเสีย อากาศถ่ายเท มีการจัดโซนนิ่ง หรือพื้นที่ให้มีระยะห่างตามความเหมาะสม อีกทั้งยังต้องมีเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขคอยดูแลอย่างทั่วถึง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย กักตัว 14 วัน ได้ที่ไหนบ้าง
โรงพยาบาลสนามมีไว้ทำไม?
ความเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลสนาม
เบื้องต้นโรงพยาบาลสนามนั้น เป็นการจัดตั้งฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาสถานการณ์แพร่เชื้อโควิด19 ไม่ให้กระจายออกไปเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นจะต้องย้ายผู้ติดเชื้อมาอยู่ในพื้นที่ควบคุม เพื่อความปลอดภัย และสามารถดูแล และเฝ้าระวังได้อย่างทั่วถึง โดยเบื้องต้นเป้าหมายของการสร้างโรงพยาบาลมีดังนี้
1. เพื่อสามารถควบคุมการกระจายของเชื้อโควิด 19
หลายคนอาจจะมองว่า การนำคนจำนวนมาก ไปรวมเอาไว้ในที่เดียวกันนั้น จะเป็นการส่งผลเสียให้กับผู้ติดเชื้อหรือไม่ แต่หากมองย้อนกลับอีกด้านหนึ่งว่า หากปล่อยให้คนที่ติดเชื้อ ยังใช้ชีวิตปกติภายนอก เขาก็จะสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้ไปสู่ผู้อื่นได้อีกจำนวนมาก และเมื่อผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการป่วย กว่าจะถึงมือแพทย์ ก็อาจจะไม่ทันการแล้ว แต่หากยังอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ก็ยังอยู่ในสายตาของบุคลากรทางการแพทย์ และส่งตัวรักษาทัน ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
2. ผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 70-80% ไม่มีอาการ
การจัดตั้งโรงพยาบาลภาคสนามขึ้นมานั้น เนื่องมาจากลักษณะของผู้ที่ติดเชื้อเบื้องต้น มักจะไม่มีอาการแสดงออกมา อาจจะเป็นเพราะเราสามารถตรวจพบได้อย่างรวดเร็ว จนกว่าเชื้อจะลงสู่ปอด ทำให้มีผลกับสุขภาพร่างกายดังที่เป็นข่าว หากกลุ่มที่ไม่มีอาการไปใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลปกติ ก็จะทำให้เตียงผู้ป่วย ที่จำเป็นจะต้องรักษาเคสฉุกเฉิน หรือผู้ที่มีอาการน่าเป็นห่วง ไม่มีพื้นที่ในการรักษาตัว จึงจำเป็นจะต้องแยกผู้ติดเชื้อเบื้องต้นให้มาอยู่ที่โรงพยาบาลสนามก่อน
3. มีการปรับปรุง แนวทางการรักษาพยาบาล เพื่อให้เป็นไปตามสภาวะของผู้ติดเชื้อที่ต้องเฝ้าระวัง
สำหรับการรักษาพยาบาลนั้น ทางกรมการแพทย์ได้ทำแนวทางและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ปลอดภัยที่สุด และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็จะมีรถเอกซเรย์ไว้คอยบริการ หากจำเป็นจะต้องเข้ารักษา ก็จะถูกย้ายไปตามโรงพยาบาลที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ในช่วงเวลานั้น ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดแล้วอันตรายหรือเปล่า ฉีดได้ตอนไหน
อยู่โรงพยาบาลสนามลำบากจริงหรือ?
ภาพถ่ายจาก thairath.co.th
เมื่อมีการเริ่มทยอยนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม ก็จะเริ่มมีรีวิวต่าง ๆ ออกมาให้เห็นทางสื่อออนไลน์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงแรง ทางรัฐบาลก็ได้ออกมายอมรับถึงความเตรียมพร้อม ที่อาจจะติดขัดไปบ้าง ซึ่งก็จะมีการปรับปรุง พัฒนา และแก้ไขให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน
จากสำนักข่าว BBC News Thailand ได้เปิดเผยถึงประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด (ผู้ป่วย) ที่เข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า
“ในช่วงแรก จะมีผู้ป่วยน้อย มีคนบริจาคของมาเยอะ ห้องน้ำสะอาดดี แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อเข้ามาเยอะขึ้น ปัญหาก็จะเริ่มตามมา เพราะคนดูแลความสะอาดน้อย และปริมาณผู้ติดเชื้อที่เข้ามาเริ่มหนาแน่น จนล้นออกไปด้านนอกของห้องประชุม มีการประกอบเตียงกล่องเพิ่มขึ้น” เป็นการสัมภาษณ์คุณ ชัยพิพัฒน์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา
โดยสังเกตุได้ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในการระบาดครั้งนี้ จะเป็นคนหนุ่มสาว การเข้าไปสู่โรงพยาบาลสนาม จะต้องมีการวัดไข้ทุก ๆ วัน วัดความดัน และค่าออกซิเจน วันละ 2 ครั้ง และส่งให้ทางคุณหมอ พยาบาล ที่ดูแล ผ่านทางแอปพลิเคชั่น (Application Line) ไลน์แอด
สำหรับตู้เก็บของนั้น ในผู้ติดเชื้อรายแรก ๆ ได้มีการตระเตรียมตู้เก็บของไว้ให้ผู้ติดเชื้อแต่ละคน เพื่อความปลอดภัย แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเยอะขึ้น อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะไม่เพียงพอสำหรับคนใหม่ ๆ ที่เข้าไปในโรงพยาบาลสนาม ทำให้เกิดความติดขัด และรู้สึกไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร
เช็คลิสสิ่งของต้องใช้ที่ รพ.สนาม
ถึงแม้ตอนนี้ เราจะยังไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ แต่การตระเตรียมอุปกรณ์เบื้องต้น ก็จะทำให้เรามีความเตรียมพร้อม และไม่ตื่นตระหนก เมื่อเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับเรา งั้นเรามามองโลกในแง่ดีกันนิดนึงว่า แทนที่เราจะแพ็คกระเป๋า เตรียมไปเที่ยวทะเล เราเปลี่ยนมาแพ็คกระเป๋า เตรียมไป โรงพยาบาลสนามกันดีกว่า (ถ้าไม่ได้ไปก็จะดีที่สุดค่ะ)
16 สิ่งของต่าง ๆ ที่ควรเตรียม
เตรียมของสำหรับไปโรงพยาบาลสนาม
1. เสื้อผ้าใส่กลับ 1 ชุด
- ควรแพ็คใส่ถุงจับแยกให้มิดชิด ไม่ปะปนกับสิ่งของอื่น ๆ
- ส่วนเสื้อผ้าที่จะต้องใส่ระหว่างอยู่ในรพ.สนามนั้น ทาง สสจ. ได้จัดเตรียมยูนิฟอร์มให้กับทุกคนแล้วค่ะ
2. ของใช้ส่วนตัว
- เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ แชมพู ครีมทาตัว ครีมทาหน้า หรือแม้กระทั่งผ้าเช็ดตัว ก็ควรพกไปเองค่ะ
3. ไดร์เป่าผม
- ใครที่คิดว่าขาดเจ้าสิ่งนี้ไม่ได้ ก็สามารถพกของตัวเองไปได้เช่นกันค่ะ
4. ยาประจำตัวรักษาโรค
- สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นภูมิแพ้ ความดัน ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย ยาดม ถ้ามีก็ควรเตรียมพกไปเผื่อไว้เพื่อความไม่ประมาทค่ะ
5. ปลั๊กไฟต่อพ่วง
- เผื่อเอาไว้ย่อมดีเสมอค่ะ เลือกปลั๊กที่มีสายยาว ๆ เอาไว้ก่อนจะมีประโยชน์มากสำหรับที่นี่
6. แบตสำรอง
- เตรียมสำรองเอาไว้เผื่อฉุกเฉินค่ะ
7. กระดาษทิชชู่เปียก
- ห้องน้ำที่โรงพยาบาลสนามส่วนมาก จะไม่มีสายฉีด ดังนั้นทิชชู่เปียกจึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่รักความสะอาดค่ะ
8. ผ้าปิดตา และจุกอุดหู
- เนื่องจากผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอและพยาบาล ทางโรงพยาบาลสนามจึงต้องเปิดไฟอยู่ตลอดเวลา ใครที่ไม่สามารถหลับได้หากมีแสงแยงตา ก็ควรเตรียมผ้าปิดตาเอาไว้บ้างก็ดีค่ะ ส่วนจุกอุดหู ก็ป้องกันเอาไว้สำหรับคนที่ไม่มีภูมิต้านทานเสียงกรนจากคนอื่นนะคะ
9. หมอน ผ้าห่ม ที่รองนอน ผ้าคลุมเตียง
- ใครนอนยากนอนเย็น ก็ขนกันมาเองเลยจ้า โดยเฉพาะผ้าปูที่นอน เพราะคงมีให้เปลี่ยนได้บ่อยครั้งตามจำนวนผู้ป่วยค่ะ
10. ชุดชั้นใน กางเกงใน สำหรับ 14 วัน
- ควรเตรียมมาให้พอดีค่ะ เพราะที่นี่ไม่มีเครื่องซักผ้าให้ ต่อให้ซักมือ ก็ไม่มีที่ให้ตาก อีกทั้งหากเราตากบริเวณที่เรานอน เชื้อโควิดอาจจะมาติดที่ชุดชั้นใจของเราแทนก็ได้นะคะ ถ้าเลี่ยงไปใช้กางเกงในกระดาษ ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้เลยก็ว่าได้
11. ผ้าอนามัยสำหรับสุภาพสตรี
- ปัญหาใหญ่ของผู้หญิงทั้งหลายก็ประจำเดือนที่เราจะต้องเจอกันเป็นประจำ ดังนั้นพกติดตัวชอบแบบไหน พกแบบนั้นไปเลยค่ะ
12. อุปกรณ์แก้เหงา
- คิดเอาไว้เลยค่ะว่า 14 วัน เราจะไม่สามารถไปไหนได้ การมีเพื่อนแก้เหงา ก็จะช่วยให้เราไม่อารมณ์เสีย หรือเครียดจนมากเกินไป อาจจะเตรียมหนังสือที่เราอยากอ่าน การ์ตูน เกมส์กด(เอาแบบที่ใส่หูฟังได้ไม่รบกวนคนอื่น) คอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ได้ตามแต่จะครีเอทกัน แต่ต้องคำนึงถึงการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นด้วยเช่นกันค่ะ เช่น ไม่เปิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น แสงจากจอคอมพิวเตอร์ ต้องไม่ไปรบกวนคนรอบข้าง เป็นต้น
13. ขนมขบเคี้ยว ตามอัธยาศัย
- ใครที่คิดว่าตัวเองขาดความหวาน ขาดความเคี้ยวจุกจิกไม่ได้ ก็สามารถเตรียมขนมที่ตัวเองชอบแพ็คไปได้ด้วยค่ะ แต่ที่โรงพยาบาลสนามก็มีขนมแจกให้จากผู้บริจาคเช่นกัน แต่ต้องคำนึงถึงจำนวนคนที่มาก มีเท่าไหร่ก็คงจะไม่พอ เตรียมไปเองน่าจะสะดวกสุดแถมยังถูกใจตัวเองอีกด้วย
14. อาหารเสริม
- ก็ไม่ได้รับการยืนว่าอาหารเสริมแบบไหนที่จะช่วยรักษาเจ้าโควิดได้ แต่การพกวิตามินซี คอลลาเจน อะไรก็แล้วแต่ไปทานให้อุ่นใจก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก
15. กุญแจล็อคกระเป๋า
- เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สิน และของใช้ส่วนตัว บางครั้งตู้เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ อาจจะมีให้ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ดังนั้น เบื้องต้น เราควรจะเตรียมกุญแจล็อคกระเป๋า เพื่อเวลาที่คุณเข้าห้องน้ำ หรือทำธุระส่วนตัว จะได้ไม่ต้องคอยเป็นกังวล หรือหากกระเป๋าที่เตรียมไปเป็นแบบล็อครหัส ก็สามารถใช้ได้เช่นกันค่ะ
16. หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย
- หากใช้หน้ากากอนามัย ควรนำไปให้เพียงพอจำนวนวันที่จะต้องไปกักตัว เพราะคุณจำเป็นจะต้องใส่อยู่ตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าทุกคนต่างก็มีเชื้อเหมือนกัน แต่คุณจะรู้หรือไม่ว่า เชื้อของเขาอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์กับที่คุณติดอยู่ แล้วหากต่างสายพันธุ์มาเจอกัน ก็ยากจะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น
- สำหรับหน้ากากผ้า อาจจะต้องเตรียมสำรองไปซักนิดค่ะ เนื่องจาก บริเวณซักตากนั้น อาจจะไม่สะดวกสบาย เหมือนกับอยู่บ้าน ดังนั้น การเตรียมหน้ากากผ้า ไปสำรองเผื่อเอาไว้ ก็จะทำให้การใช้ชีวิตในรพ.สนามนั้น สะดวกสบายขึ้นค่ะ
ทั้งหมดนี้ เป็น 16 ลิสรายการที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะต้องเข้ากักตัวที่โรงพยาบาลสนาม แต่ทางที่ดี หากคุณได้แพ็คกระเป๋าไปเที่ยวทะเล ก็น่าจะดีกว่าที่จะต้องแพ็คกระเป๋าเข้าสู่โรงพยาบาลสนามใช่ไหมล่ะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ให้นมลูกได้ไหม ส่งผลกระทบถึงลูกหรือไม่
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้กักตัวดูอาการที่บ้าน ควรทำอย่างไร
ในกรณีที่คุณมีความเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่ทราบผลตรวจ การกักตัวที่บ้านช่วง 14 วัน จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ถ้าหากคุณอยู่คนเดียวอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีที่คุณอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่นคนในครอบครัว หรืออาศัยอยู่ตามอพาร์ตเมนต์ คอนโด ที่มีคนอยู่จำนวนมากควรจะปฏิบัติดังนี้
การกักตัว 14 ภายในบ้าน เพื่อเฝ้าระวัง
1. ผู้ที่อยู่บ้านเพียงลำพัง
- ให้เตรียมพื้นที่วางรับ-ส่งอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการใกล้ชิด หรือสัมผัสจากบุคคลภายนอก
- แจ้งเพื่อนบ้านที่อยู่ละแวกใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการป้องกัน และระมัดระวัง
- ติดตามผลการตรวจเชื้อโควิดอย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก
- พยายามทำความสะอาดบ้าน เพื่อไม่ให้มีแหล่งสะสมของเชื้อโรคภายในบ้านได้
- โทรแจ้ง 1669 กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
2. ผู้ที่อาศัยกับครอบครัว
- ให้แยกห้อง และของใช้ส่วนตัวออกอย่างชัดเจน
- เปิดหน้าต่างให้เกิดอากาศถ่ายเท
- ใช้แผ่นกั้นห้อง หรือพลาสติกกั้น เพื่อแบ่งสัดส่วน กรณีที่ไม่สามารถแยกห้องออกจากกันได้
- สวมหน้ากากอนามัยภายในบ้านอยู่ตลอดเวลา
- รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร
- ทำความสะอาดร่างกายบ่อย ๆ
- ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ใช้สุขาเฉพาะ (ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดชำระล้าง)
- แยกขยะติดเชื้อ
3. ผู้เฝ้าระวังที่อาศัยอยู่ตามอพาร์ตเมนต์ คอนโด หรือหอพัก
- ควรแจ้งทางนิติ หรือผู้ดูแลตึก ว่าตนมีความเสี่ยง
- กรณีต้องการสั่งอาหาร ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ตึก เพื่อทำการจัดซื้ออาหาร และนำมาส่งที่ห้อง โดยการแขวนไว้บริเวณหน้าประตู
- ไม่ออกไปใช้พื้นที่ส่วนกลางของตึกโดยไม่จำเป็น
- สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา
- เมื่อมีการอัพเดตอาการ หรือเมื่อได้รับผลการตรวจโควิด-19 แล้วให้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ตึกอย่างสม่ำเสมอ
หากมีอาการฉุกเฉินติดต่อได้ที่ไหนบ้าง?
สำหรับใครที่มีข้อสงสัย หรือรู้สึกว่าตนเองเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการเกิดขึ้นแล้ว สามารถโทรศัพท์แจ้งโดยตรงได้ที่ สายด่วน 1669 (กรุงเทพมหานคร) โดยศูนย์เอราวัณ หรือโทร สายด่วน 1668 กรมการแพทย์ สายด่วน 1330 สำนักงานประกันสุขภาพ และ Line @sabaideebot ซึ่งจะเป็นการเปิดรับสายตลอด 24 ชั่วโมง
สายด่วน 1668, 1669, 1330 และ Line @sabaideebot
เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเราจะผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ไปด้วยกันนะคะ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงกันทุกคนค่ะ
ที่มา : hfocus . chiangmaihealth
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!